ไม่บ่อยครั้งนักที่พสกนิกรชาวไทย จะได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์ในเครื่องแบบปกติขาวคอพับแขนสั้น ของทหารเรือ สำหรับตัวผมเอง ต้องบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็น เพราะโดยส่วนมากหากพระองค์จะทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเรือ จะเห็นพระองค์ท่านในเครื่องแบบชุดใหญ่ อย่างชุดปกติขาว ชุดปกติกากีคอแบะ เครื่องแบบเต็มยศสำหรับใช้ในต่างประเทศที่มีอากาศหนาว ชุดปกติกากีคอพับทั้งแขนสั้นและแขนยาว หรือไม่ก็เป็นชุดฝึกไปเลย
แต่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2555 ต้องถือว่าเป็นโชคดีของพสกนิกรชาวไทย ที่ได้เห็นพระองค์ท่านในเครื่องแบบทหารเรือขาวสะอาดนี้ โดยพระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจในการเสด็จไปทรงเปิดโครงการชลประทานในพระราชดำริจำนวน 5 โครงการ ณ กรมชลประทาน เขตสามเสน กรุงเทพมหานคร โดยพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคโดยประทับบนเรืออังสนา ที่กองทัพเรือจัดถวายเป็นเรือพระที่นั่ง
ในการเสด็จพระราชดำเนินในวันนั้น พระองค์ทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องแบบปกติขาวคอพับแขนสั้น หรือเครื่องแบบหมายเลข 2 ตามระเบียบกองทัพเรือว่าด้วยเครื่องแบบทหารเรือ และการแต่งเครื่องแบบ พุทธศักราช 2529 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เครื่องแบบนี้ทหารเรือเราจะเรียกกันว่า “ชุดขาวน้อย”
เนื่องจากในบรรดาเครื่องแบบสีขาวล้วนของทหารเรือนี้ ยังมีเครื่องแบบอีกชุดหนึ่ง ที่ใช้ใส่ในโอกาสสำคัญๆ เช่น ในพระราชพิธีสำคัญ พิธีกรรมทางศาสนา หรือในพิธีสำคัญอื่นๆ นั่นก็คือ ชุดปกติขาว ซึ่งเราจะเรียกกันว่า “ชุดขาวใหญ่”
การที่ได้เห็นพระองค์ท่านทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องแบบทหารเรือ ย่อมยังความปลาบปลื้มให้แก่เหล่าทหารเรือเป็นธรรมดา ยิ่งพระองค์ทรงเครื่องแบบปกติขาวคอพับแขนสั้น ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยๆ ยิ่งทำให้พวกเรารู้สึกดีใจมากขึ้น
แต่ก็ไม่ดีใจไปกว่าการที่ได้เห็นพระองค์ยังทรงพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทยของพระองค์ท่าน นั่นย่อมเป็นความปลื้มปีติของทหารเรือไทย และประชาชนชาวไทยอีกหลายล้านคนอย่างหาที่สุดมิได้
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประดับอินทรธนูแข็งตำแหน่งจอมพลเรือ เครื่องหมายความสามารถนักบิน และแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระอุระ(หน้าอก) ด้านซ้าย เครื่องหมายแสดงความสามารถผู้ทำการรบพิเศษที่พระอุระข้างขวา และบริเวณกระเป๋าฉลองพระองค์ด้านขวาเหนือกระดุมประดับเครื่องหมายผู้บังคับการเรือ ส่วนบนกระเป๋านั้นเป็นเครื่องหมายนาวิกาธิปัตย์
ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเรืออยู่หลายครั้งหลายครา และหลายชุด ผมจะขอย้อนอดีตนำท่านไปชมพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระองค์ท่านทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบต่างๆ ของทหารเรือกันสักครั้งครับ
ฉลองพระองค์เครื่องแบบปกติขาว หรือ เครื่องแบบหมายเลข 1 หรือ ชุดขาวใหญ่
เครื่องแบบปกติขาว เป็นฉลองพระองค์ที่พสกนิกรชาวไทยจะได้เห็นบ่อยครั้งในหลายโอกาส เช่น
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์นิวัติพระนคร ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2493 โดยทางเรือ ซึ่งกองทัพเรือได้จัดกระบวนเรือและเครื่องบินรับเสด็จฯ ที่สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบด้วย เรือหลวง จำนวน 11 ลำ เครื่องบิน จำนวน 3 หมู่ มี ร.ล.ศรีอยุธยาเป็นเรือพระที่นั่งทรง และ ร.ล.สุราษฎร์เป็นเรือพระที่นั่งรอง
ในวันนั้นกองทัพเรือได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องยศ จอมพลเรือ ณ ห้องโถงนายทหาร ร.ล.ศรีอยุธยาด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับ แล้วมีพระราชดำรัสตอบ มีความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้เห็นบรรดาเหล่าทหารเรือทั้งหลาย ได้พร้อมใจนำเครื่องยศจอมพลเรือมาให้ และอวยพรให้ข้าพเจ้าในโอกาสที่กลับสู่พระนครในวันนี้ ข้าพเจ้าขอรับด้วยความขอบใจ และจะรักษาเกียรติศักดิ์นี้ด้วยดีอยู่เสมอ”
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปยังกรมอู่ทหารเรือ เพื่อทรงประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือยนต์รักษาฝั่ง ต.91 เมื่อ วันพุธ ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2510
เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทรงกระทำพิธีปล่อยเรือ ต. 99 ซึ่งเป็นเรือในชุดเรือ ต.91 ลำสุดท้ายลงน้ำ
สำหรับเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.91 นั้น เป็นเรือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชวินิจฉัยในทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบเรือ จนกระทั่งถึงการต่อออกมาเป็นเรือเลยทีเดียว ดังนั้น เรือลำนี้จึงให้หมายเลขขึ้นต้นด้วย เลข 9 อันหมายถึงรัชกาลที่ 9 นั่นเอง
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มายังอู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เพื่อทรงประกอบพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ลงน้ำ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2550
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงกระทำพิธีปล่อยเรือ ต.991 ลงน้ำ
ฉลองพระองค์เครื่องแบบปกติกากีคอแบะ หรือเครื่องแบบหมายเลข 5
เป็นเครื่องแบบที่เราอาจจะเคยเห็นพระองค์ท่านทรงฉลองพระองค์อยู่บ่อยๆ อีกเช่นกัน เช่น
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์กเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2504
ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2536
ในโอกาสที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนิน เพื่อทรงเจิม ร.ล.จักรีนฤเบศร เมื่อครั้งที่ ร.ล.จักรีนฤเบศร เดินทางจากราชอาณาจักรสเปน มาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2540
ฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศสำหรับใช้ในต่างประเทศที่มีอากาศหนาว
หรือ เครื่องแบบหมายเลข 7 (ค.)
พระองค์จะทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบนี้ ในโอกาสที่ทรงเสด็จประพาสยังต่างประเทศ ในช่วงที่มีอากาศหนาว เช่นการเสด็จประพาสยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ในพระบรมฉายาลักษณ์นี้ พระองค์ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ จอมพลเรือ ทรงฉายพระรูปร่วมกับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และพระราชินีอลิซาเบธ ที่ 2 และเจ้าชายฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ ณ พระราชวังบัคกิ้งแฮม ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1960
พระบรมฉายาลักษณ์ด้านล่างนี้ ทรงฉายขณะเสด็จเยือนราชอาณาจักรสเปน เมื่อปี ค.ศ.1960
ฉลองพระองค์เครื่องแบบปกติน้ำเงินดำสำหรับใช้ในต่างประเทศที่มีอากาศหนาว หรือ เครื่องแบบหมายเลข 9 หรือ ชุดทูนิค หรือ ชุดบลู
ฉลองพระองค์นี้ เป็นเช่นเดียวกับเครื่องแบบหมายเลข 7 (ค.) คือใช้ในโอกาสที่ทรงเสด็จประพาสยังต่างประเทศ ในช่วงที่มีอากาศหนาว แต่มีข้อแตกต่างคือ หากผู้ใส่มีสายยงยศประกอบเครื่องแบบ จะใส่อินทรธนูที่ด้านขวาติดกับสายยงยศเพียงข้างเดียว และใช้กางเกงสีน้ำเงินดำ ที่ไม่มีแถบไหมทอง
ฉลองพระองค์เครื่องแบบครึ่งยศ หรือ เครื่องแบบหมายเลข 6
เครื่องแบบนี้เสื้อจะเป็นเช่นเดียวกับชุดปกติขาว แต่กางเกงจะใช้กางเกงขายาวสีดำแถบไหมทอง รองเท้าดำ ฉลองพระองค์นี้พระองค์เคยทรง เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศอินโดนีเซีย
อีกครั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน พร้อมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
ฉลองพระองค์เครื่องแบบปกติกากีคอพับแขนยาว หรือ เครื่องแบบหมายเลข 4
พระองค์ทรงเคยฉลองพระองค์ด้วยเครื่องแบบนี้ในหลายโอกาส โดยเฉพาะในโอกาสที่พระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองชายทะเล และตามเกาะแก่งต่างๆ ที่เข้าถึงไม่ได้ทางรถยนต์และเฮลิคอปเตอร์
ฉลองพระองค์เครื่องแบบปกติลำลองคอพับแขนสั้น หรือ เครื่องแบบหมายเลข 10
ฉลองพระองค์นี้ เป็นฉลองพระองค์ในสมัยก่อน ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย เช่น บ่าที่ในปัจจุบันเป็นบ่าอ่อนคือเป็นแถบผ้าติดกระดุมเป็นทรงอินทรธนู แต่ไม่ประดับอินทรธนู แต่ในยุคสมัยนั้นจะใช้เสื้อแบบเดียวกับ ชุดปกติกากีคอพับแขนสั้น และเครื่องหมายยศจะติดที่ปกเสื้อ กับสวมหมวกกระบังอ่อนสีกากี ซึ่งในปัจจุบันได้เลิกใช้ไปแล้ว
พระองค์เคยทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบปกติลำลองคอพับแขนสั้นนี้ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรยังเกาะพะลวย
เกาะพะลวยเป็นเกาะเล็กๆ ใกล้กับเกาะสมุยซึ่งในสมัยก่อนนั้นถือเป็นเกาะที่อยู่ไกล และทุรกันดารมาก ในปัจจุบันเกาะพะลวยนี้ ได้ถูกสร้างเป็นเกาะสีเขียวหรือ Green Island เช่นที่ประเทศอิตาลี คือเป็นเกาะอนุรักษ์ธรรมชาติที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น ไฟฟ้าตามบ้านเรือนใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ โดยจะไม่มีการใช้ไฟฟ้าที่ได้จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือเครื่องยนต์ดีเซล นอกจากนี้รถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้บนเกาะ ก็ยังใช้พลังงานไฟฟ้าอีกด้วย โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างทัพเรือภาคที่ 2 กองทัพเรือ กับกระทรวงพลังงาน
ส่วนพระบรมฉายาลักษณ์นี้ เป็นอีกเหตุการณ์ในการเสด็จเยี่ยมประชาชนตามหัวเมืองชายทะเลของพระองค์ท่าน
ฉลองพระองค์เครื่องแบบปฏิบัติราชการสนามของหน่วยทหารนาวิกโยธิน
เมื่อครั้งทรงนำธงราชนาวิกโยธินเสด็จไปกับเรือเวคา เรือใบประเภทโอเค ที่พระองค์ท่านทรงต่อด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงแล่นใบจากพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มายังอ่าวเตยงาม กองบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อนำธงมาพระราชทานให้กับนาวิกโยธิน โดยพระองค์ได้ทรงปักธงนั้นไว้ที่ก้อนหินใหญ่บนชายหาดหน้าอ่าวเตยงาม
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การฝึกยกพลขึ้นบก “ทักษิณ ๑๒” ของกองทัพเรือ ณ หาดบ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ในฐานะจอมทัพไทย พร้อมด้วยเรือตรีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ(พระอิสริยยศขณะนั้น) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2512
เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมทหารในหน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขง (นปข.) ที่สถานีเรือบ้านเขตตำบลโพนทอง อำเภอบ้านแพง จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2518 โดยในภาพพระองค์ทรงประทับอยู่บนเรือลาดตระเวนลำน้ำ
และฉลองพระองค์ทิ้งท้ายสำหรับบทความนี้ ก็คือฉลองพระองค์ชุดกะลาสี ซึ่งคาดเดาว่าจะเป็นเครื่องแบบกะลาสีของประเทศทางยุโรป สมัยที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ โดยในพระบรมฉายาลักษณ์ พระองค์ทรงฉายพระรูปร่วมกับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ สมเด็จพระเชษฐาธิราชของพระองค์
ในฐานะที่ตัวผมเองเป็นทหารเรือ จึงปลื้มใจทุกครั้งที่ได้เห็นพระองค์ท่านทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องแบบทหารเรือ ที่ก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เห็นบ่อยครั้งนัก ซึ่งผมเองก็เชื่อว่าประชาชนผู้จงรักภักดี และมีความรักในพระองค์ท่านจะต้องปลื้มปีติไปกับความงามสง่าของพระองค์ท่านด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เครื่องแบบหรือฉลองพระองค์นั้นก็เป็นเพียงสิ่งภายนอกที่เราอาจชื่นชมด้วยสายตา
แต่สิ่งที่เราได้เห็นจากพระราชรณียกิจของพระองค์ท่าน ก็คือสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อประชาชนของพระองค์อย่างแท้จริง ทั้งการกระทำเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ผ่านโครงการพระราชดำริ และพระจริยวัตรของพระองค์ท่านที่เราสามารถน้อมนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นสิ่งที่ผู้ที่มองเห็นในความดีของพระองค์ สามารถรับรู้และซาบซึ้งได้ด้วยใจ
—————————————–
ที่มา : บันทึกไม่ประจำวันของเจ้าชายน้อย
ขอขอบคุณภาพบางส่วนจากเว็บ Sanook News และ สารคดีกองทัพเรือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น