วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

“ราชา”เป็นสง่าแห่งแคว้น...

เป็นการโพสต์ของคุณปริยวาที ที่เว็บพันทิพ

วันนี้มีภาพจากหนังสือ “ทวิสมโภช” มาฝากค่ะ
พิมพ์ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2533
.....“ราชา” เป็นสง่าแห่งแคว้น.....
ขอจงทรงพระเจริญ




พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9
...รศ.ธงทอง จันทรางศุ เรียบเรียง...

2470 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเสตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จพระราชสมภพ ในครั้งกระนั้นไม่มีใครหยั่งทราบได้ว่า พระราชกุมารพระองค์น้อยจะได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของสยามประเทศในอนาคต



2471 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พระบรมฉายาลักษณ์ภาพนี้ ฉายเมื่อวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2471 ที่เมืองโลซานน์ สวิสเซอแลนด์


2472 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เจริญพระชนมพรรษาได้เกือบ 2 ปี มีเหตุสำคัญเกิดขึ้นในพระชนมชีพ ด้วยสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ซึ่งทรงทำงานหนักเพื่อคนอื่นมาตลอดเวลา สวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พุทธศักราช 2472 คงมีแต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นผู้อภิบาลรักษาพระราชโอรส และพระราชธิดาทั้ง 3 พระองค์ พระบรมฉายาลักษณ์ภาพนี้ ฉายเมื่อวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2472 ที่วังสระปทุมเพียง 4 วัน ก่อนหน้าวันสวรรคตของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก


2473 ในสมัยเมื่อประทับอยู่ที่วังสระปทุมนั้น ผู้ทรงเป็นเจ้าของวังคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ผู้ทรงเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เจ้านายน้อย ๆ ทั้ง 3 พระองค์ จึงได้ทรงพำนักอยู่ในรั้ววังแห่งนั้นด้วยความสงบร่มเย็นใต้พระบารมี บางคราวได้เสด็จออกงานพิธีข้างนอกวังตามควรแก่โอกาส เช่น งานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 2 ที่พระราชอุทยานสราญรมย์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2473 เป็นต้น


2474 ในปีนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเข้าโรงเรียนเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนอนุบาลของมิสซิสเดวีส อันเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเปิดสอนกันเองที่บ้าน ในเวลานั้น พระเชษฐภคินีทรงเป็นนักเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 โรงเรียนราชินี ส่วนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงเรียนอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนมาแตร์เดอี


2475 ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่มิสซิสเดวีส และครอบครัวเดินทางกลับประเทศ โรงเรียนอนุบาลเล็ก ๆ ต้องปิดไป พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช จึงทรงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอี แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอันยิ่งใหญ่กว่านั้นยังมีอีก นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตย มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2475


2476 เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปดังนั้นแล้ว สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ทรงเห็นว่าสภาพบ้านเมืองไม่เรียบร้อย อาจมาพัวพันกับพระราชนัดดาของท่านได้ จึงโปรดให้พระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์ไปศึกษาและรักษาพระพลานามัยที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2476


2477 เป็นปีที่นำความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงมาสู่ราชสกุลมหิดล ด้วยเหตุว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลจึงเสด็จขึ้นผ่านพิภพเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8 ในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระราชสถานะของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในเวลานั้นจึงทรงเปลี่ยนแปลงไปด้วย ด้วยทรงดำรงอยู่ในฐานะพระอนุชาในแผ่นดินใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น


2478 จนปีรุ่งขึ้น ในวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2478 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช จึงทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปดังนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าสนุกนักสำหรับเด็กชายที่อยู่ในวัยกำลังเล่นกำลังเรียน แต่ถึงกระนั้นก็ดูเหมือนว่าไม่มีใครไปห้ามโชคชะตาและวันเวลาให้หยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ สมเด็จพระบรมราชชนนีซึ่งทรงอยู่ในที่ลำบากพระราชหฤทัยเป็นที่สุด ทรงได้แต่เพียงตั้งความหวังว่าขอให้ได้ทรง “มีโอกาสอบรมลูกให้เป็นคนดี จะได้ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองได้”



2479 “พระเจ้าอยู่หัว” และ “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ” อาจจะฟังดูยิ่งใหญ่ และหรูหรามากนักสำหรับคนทั้งหลาย แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2 พระองค์ แล้วทรงเป็นพี่น้องที่รักกันมาก พระเกียรติยศที่ทรงได้รับในฐานะที่ทรงเป็นเจ้านาย มิได้เป็นอุปสรรคในการที่จะทรงสนุกสนานกันตามประสาเด็กที่เหมาะแก่พระชามายุ


2480 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระราชอัธยาศัยโปรดการกีฬา และงานช่างมาตั้งแต่พระชนมายุยังน้อย การที่ประทับอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์ในเวลานั้น แม้จะทรงอยู่ห่างไกลจากเมืองไทย แต่ก็มีคุณอยู่มาก เพราะได้ทรงพบเห็นอะไรหลายอย่างที่เป็นประโยชน์แก่หน้าที่ของพระมหากษัตริย์ในเวลาต่อมา ในปีนี้สายพระเนตรสั้นลงเป็นเหตุให้ต้องทรงฉลองพระเนตรนับแต่นั้นมา


2481 ปลายปีพุทธศักราช 2481 ราชสกุลมหิดลทั้ง 4 พระองค์ ได้เสด็จกลับมาเมืองไทยชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนเฝ้าชมพระบารมี ครั้งนั้นเป็นคราวแรกที่คนไทยได้เห็นพระเจ้าอยู่หัวพระองค์น้อย ๆ และพระอนุชา เสียดายแต่ว่าทรงมีเวลาอยู่ในเมืองไทยเพียงไม่กี่เดือน ก็ต้องเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อท่ามกลางความอาลัยรักและภักดีของพสกนิกรทั้งปวง


2482 เสด็จกลับไปสวิสเซอร์แลนด์ได้ไม่นาน มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช 2482 สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่จะประทับอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์ต่อไป ด้วยทรงเห็นว่าเป็นประเทศที่เป็นกลาง การสงครามรบพุ่งกันคงไม่เป็นอันตรายต่อราชสกุลมหิดล


2483 ทุกปีในเวลาหยุดหน้าร้อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จประพาสตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ บางที่เขาจัดให้มีการออกกำลังกายบริหารทุกวัน มีบ่อน้ำให้ว่ายเล่น หรือได้ตีกรรเชียงในทะเลสาบบนภูเขา ซึ่งเป็นการสนุกและเหมาะแก่พระราชอัธยาศัยโดยแท้


2484 ระหว่างที่เกิดมหาสงครามขึ้นทั่วโลกนั้น ทุกพระองค์ยังคงประทับอยู่ในเมืองโลซานน์ เวลานั้นต้องทรงพบกับความลำบากเนื่องจากสงครามบ้าง เช่น ยามสงครามมีน้ำมันน้อยต้องหันมาทรงใช้รถจักรยานแทน


2485 ระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์นั้น รัฐบาลเช่าพระตำหนักถวายเป็นที่ประทับ เป็นบ้านขนาดใหญ่ 3 ชั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานชื่อพระตำหนักแห่งนี้ว่าวิลล่าวัฒนา ณ พระตำหนักแห่งนี้ ราชสกุลมหิดลได้ใช้เป็นที่ประทับ ตลอดระยะเวลาของมหาสงครามโลกครั้งนั้น


2486 พระบรมฉายาลักษณ์ภาพนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์ ทรงฉายกับนายเซอร์ราย ดาลิส พระอาจารย์ที่มาถวายสอนพิเศษที่พระตำหนัก ผู้มีหน้าที่มาเฝ้าที่พระตำหนักทุกวันเพื่อให้ทั้ง 2 พระองค์ทำการบ้าน สอนงานฝีมือช่างไม้ หรือนำเสด็จไปเที่ยวไหนต่อไหน เป็นต้น



2487
สองพระองค์ทรงศรีสวัสดิ์
คือร่มฉัตรคุ้มศิระไทย
พ้นเข็ญอยู่เย็นใจ
ดั่งสุริย์จันทร์มิ่งขวัญเมือง....


2488 เมื่อสงครามทางเอเชียสิ้นสุดลงกลางปีพุทธศักราช 2488 ทางรัฐบาลไทยกราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้เสด็จกลับมาเป็นมิ่งขวัญของพสกนิกร แม้เพียงชั่วคราวก่อนเสด็จไปทรงศึกษาต่อก็ยังเป็นการดี เสด็จกลับมาเมืองไทยคราวนั้น เสด็จถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2488 คนทั้งหลายพากันตื่นเต้นยินดีมากเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระอนุชา ไม่ใช่เจ้านายน้อย ๆ น่ารักอย่างเช่นที่ได้ชมพระบารมีเมื่อคราวก่อน หากแต่ทรงพระเจริญขึ้นเป็นเจ้านายที่งดงาม ทั้งพระวรกาย และทั้งพระราชหฤทัย สมใจราษฎร


2489 เช้าวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 เกิดเหตุร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทยขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนสวรรคต ค่ำวันนั้นรัฐสภาลงมติกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นทรงราชย์ ทรงตัวสินพระราชหฤทัยรับภาระอันหนัก ขณะพระชนมายุเพียง 18 พรรษาเท่านั้น



2490 เมื่อเสร็จงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพตามโบราณราชประเพณีแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังสวิสเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ แต่คราวนี้ทรงเปลี่ยนวิชาจากวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งทรงสนพระราชหฤทัยมาแต่เดิม มาทรงศึกษาทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ซึ่งเหมาะแก่พระราชภาระที่จะต้องทรงเป็นพระประมุขของประเทศ


2491 ระหว่างเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ประทับอยู่ในทวีปยุโรปนั่นเอง ต้นเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2491 รถยนต์พระที่นั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับด้วยพระองค์เองประสบอุบัติเหตุร้ายแรง เป็นเหตุให้ต้องเสด็จไปประทับในโรงพยาบาลเป็นเวลานานหลายวัน ข่าวอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ผู้คนทางเมืองไทยวิตกทุกข์ร้อนกันมาก ด้วยทรงเป็นความหวังของคนไทยทั้งแผ่นดิน


2492 หลังจากพระอาการประชวรเนื่องจากอุบัติเหตุค่อยดีขึ้นตามลำดับ คนไทยทั้งแผ่นดินก็ได้รับทราบข่าวอันเป็นมงคลด้วยความปลื้มปิติ นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปฏิพัทธ์ในหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาของพลเอกพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถและท่านผู้หญิงหม่อมหลวงบัว กิติยากรฯ ในที่สุดได้ทรงกระทำพิธีหมั้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2492


2493 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นองค์ประธานในพิธี วันเดียวกันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ตามขัตติยราชประเพณี


2493 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงรับบรมราชาภิเษกตามธรรมเนียมอันมีมาในสยามประเทศ วันนั้นเอง ณ ท่ามกลางมหาสมาคมในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงหลั่งพระเต้าทักษิโณทกตั้งสัตยาธิษฐาน พระราชทานอารักขาแก่ทวยพสกนิกร พร้อมทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”


2493 ในตอนท้ายแห่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง อันเป็นพระวิมานที่ประทับของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์แต่อดีต ทั้ง 2 พระองค์ ประทับแรมคืน ณ พระที่นั่งแห่งนั้นเป็นสิริมงคลแห่งรัชกาล 1 ราตรี แล้วจึงเสด็จไปประทับยังพระราชวังดุสิตตามปกติ


2494 หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พร้อมสมเด็จฯ พระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินกลับไปประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อรักษาอาการประชวรพระเนตรอันเนื่องจากอุบัติเหตุเมื่อครั้งก่อน และในวันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2494 ได้มีพระประสูติกาลของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกในรัชกาล คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดีฯ หลังจากพระประสูติกาลแล้วไม่นาน ทั้ง 3 พระองค์ก็เสด็จกลับเมืองไทยพร้อมกัน ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของข้าแผ่นดินทั้งปวง


2495 ปีรุ่งขึ้น วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2495 หน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์จารึกว่าสมเด็จเจ้าฟ้าราชกุมาร ได้เสด็จพระราชสมภพมาสู่ชาติ หลังจากที่เมืองไทยว่างเว้นการมี “เจ้าฟ้าชาย” มาเป็นเวลาหลายสิบปี วันนั้นดอกสายน้ำผึ้งที่พระที่นั่งอัมพรสถานออกดอกงามสะพรั่ง รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ด้วยความปราโมทย์รื่นเริง เช่นเดียวกับหัวใจของคนไทยนับล้านดวง



2496 พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระราชอัธยาศัยโปรดการดนตรีมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ เครื่องดนตรีที่ทรงถนัดที่สุด คือเครื่องเป่า ที่เรียกว่า แซกโซโฟน ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงอันไพเราะถึงกว่า 40 เพลง ไว้เป็นศรีสง่าแก่วงการดุริยางคศิลป์ของชาติ


2497 นอกจากเครื่องดนตรีที่ทรงโปรดปรานยิ่งนักแล้ว งานอดิเรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งอีกเรื่องหนึ่ง คือ กิจกรรมของสถานีวิทยุ อส. ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เพื่อเป็นสื่อกลางที่จะประสานสายใยความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับพระองค์เอง



2498 กลางฤดูร้อนของวันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2498 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีประประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธร เทพรัตนสุดากิติวัฒนาดุลยโสภาคย์ ผู้ทรงเป็นพระปิยชาติที่รักยิ่งของคนไทยในทุกวันนี้


2499 ปลายปีพุทธศักราช 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี โดยเสด็จออกทรงผนวชในพระพุทธศาสนา มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ เสด็จประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทุกวันเวลาเสด็จลงทำวัตร มหาชนจากทุกสารทิศหลั่งไหลมาเฝ้าชมพระบารมี


2500 ณ วันที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2500 หลังเสร็จพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รีบเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระที่นั่งอัมพรสถาน ด้วยในวันเดียวกันนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชธิดาพระองค์น้อยในรัชกาลปัจจุบัน พระบรมฉายาลักษณ์นี้ ฉายเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระชนมายุ ราว 3 พรรษา



2501 พระราชกิจเรื่องหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงถือเป็นเรื่องสำคัญใหญ่หลวง คือ การเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนครและเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎรด้วยพระองค์เอง อันเป็นต้นเค้าหรือที่มาของโครงการตามพระราชดำริในภายหลัง พระบรมฉายาลักษณ์นี้ฉายเมื่อคราวเสด็จเยี่ยมราษฎรตามจังหวัดในภาคเหนือของประเทศ เมื่อพุทธศักราช 2501


2502 ในปีนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเป็นทางการครั้งแรกในรัชกาล เริ่มจากประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และพม่า ตามลำดับ ที่ประเทศพม่าได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระมหาเจดีย์ชเวดากองด้วย


2503 ปีพุทธศักราช 2503 เป็นสมัยที่พระเกียรติยศได้เผยแผ่ไปในนานาไพรัชประเทศ เพราะได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ในยุโรป และสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสในที่ประชุมสภาครองเกรส พระราชดำรัสที่พระราชทานวันนั้น ชนะใจผู้ฟังไม่มีเว้นตัว


2504 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นที่ยิ่งในงานด้านเกษตรกรรม ด้วยทรงเห็นว่าเป็นอาชีพหลักของราษฎรทั้งประเทศ ได้ทรงทดรองริเริ่มการเกษตรแผนใหม่ขึ้นในเขตพระราชฐานที่ประทับ คือ บริเวณพระตำหนักจิตรลดาก่อนเป็นแห่งแรก แล้วจึงขยายผลเป็นโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในภายหลัง


2505 ต้นปีพุทธศักราช 2505 สมเด็จพระเจ้าเฟเดอริค พระราชธิบดีแห่งกรุงเดนมาร์ก เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย ปลายศกเดียวกัน เกิดมหาวาตภัยร้ายแรงที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช มีผู้คนต้องเสียชีวิตจำนวนนับร้อย ทรัพย์สินเงินทองเสียหายมากจนประมาณมิได้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงอำนวยการช่วยเหลือประชาชน ตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดเหตุ และภายหลังทรงก่อตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นการถาวร


2506 วันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2506 เป็นมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ นอกจากพระราชพิธีตามปกติแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค จากพระบรมมหาราชวังไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร ผู้ที่เฝ้าชมพระบารมีอยู่ตามหนทางที่กระบวนยาตราผ่าน ต่างออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า ทรงงามสง่าเกินถ้อยคำจะบรรยาย


2507 ปีนี้ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกระพง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นถิ่นฐานที่ภูมิประเทศแห้งแล้ง ราษฎรทำนาทำไร่ไม่ได้ผลบริบูรณ์ ทรงแนะนำวิธีการเกษตรกรรมแผนใหม่และระบบสหกรณ์ เป็นผลให้ชาวบ้านหุบกะพงสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ในเวลาต่อมา


2508 ปีนี้ทรงเจริญพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลนมงคลวโรกาสข้างต้นตามโบราณราชประเพณีที่นิยมเฉลิมฉลองโอกาสที่เจริญพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชบุรพการี


2509 งานอดิเรกอย่างหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพอพระทัยยิ่ง คือ กีฬาเรือใบ ทรงต่อเรือด้วยพระองค์เองหลายแบบ ได้แก่ แบบ “ราชปะแตน” “มด” “ซุปเปอร์มด” และ “ไมโครมด” กับทั้งยังทรงส่งเสริมการแข่งขันกีฬาประเภทนี้ จนเป็นที่นิยมแพร่หลายกว้างขวางตราบจนทุกวันนี้



2510 ปีพุทธศักราช 2510 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงร่วมการแข่งขันกีฬาประเภทเรือใบ ในฐานะทีมชาติไทยด้วย ผลการแข่งขันปรากฏว่าทรงได้รับรางวัลเหรียญทองร่วมกัน


2511 ปีนี้ทรงเริ่มโครงการพัฒนากลุ่มชาวไร่ดอนขุนห้วย ตามพระราชประสงค์ตามแนวทางที่ได้เคยทดลองจนได้รับผลดีแล้วที่หุบกะพง ทุกวันนี้ตามหนทางถนนเพชรเกษม จากกรุงเทพฯ ไปยังภาคใต้เมื่อผ่านดอนขุนห้วย จ.เพชรบุรี เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรกรรมที่เป็นผลงานของสมาชิกสหกรณ์วางขาย สำหรับผู้ผ่านไปมาได้ซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน


2512 ปีพุทธศักราช 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเริ่มต้นโครงการหลวง อันเป็นโครงการช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาในภาคเหนือของประเทศ โดยทรงพระราชดำริว่า ราษฎรเหล่านี้ส่วนมากมีอาชีพทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่นซึ่งเป็นยาเสพติดร้ายแรง ทรงแนะนำการเพาะปลูกพืชพันธุ์อย่างใหม่ กอปรด้วยเทคนิควิธีการที่ทันสมัย ทำให้ราษฎรชาวไทยภูเขามีรายได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน นับว่าเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม


2513 วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2513 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธยพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็นที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ พระบรมราชชนก กับทั้งเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็นที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี


2514 วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2514 เป็นสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหราราช ทรงดำรงอยู่ในสิริราชสมบัติครบ 25 ปีบริบูรณ์ ทางราชการและประชาชนพร้อมใจกันจัดงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก


2515 วันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต


2516 ค่ำวันที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2516 ขณะที่เกิดจลาจลร้ายแรงทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชทานกระแสพระราชดำรัสทางโทรทัศน์แก่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศให้ร่วมมือกันแก้ปัญหา เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยโดยเร็ว ทุกคนที่ได้เห็นพระพักตร์ของพระเจ้าอยู่หัวในคืนวันนั้นแล้ว ไม่มีใครกลั้นน้ำตาไว้ได้ เพราะได้เห็นแก่ตาว่า ทุกข์ของพระผู้เป็นพ่อเมืองนั้นยิ่งใหญ่หนักหนา


2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชฐานประทับแรมขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร และทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส เพื่อจะได้ทรงมีโอกาสเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎรได้โดยใกล้ชิด ที่จังหวัดนราธิวาสนี้เอง เมื่อปีพุทธศักราช 2517 ได้ทรงริเริ่มโครงการระบายน้ำพรุบาเจาะ และโครงการชลประทานมูโนะ ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรจำนวนมาก ได้มีที่ทำมาหากินเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน


2518 ส่วนพระราชฐานที่ประทับในกรุงเทพฯ คือ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ทรงกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับการเกษตรกรรมตามพระราชดำริ เช่น บ่อปลา หรือนาข้าวทดลอง เป็นต้น ในปีนี้ได้ทรงริเริ่มโครงการโรงบดแกลบสวนจิตรลดา เพื่อแสวงหาหนทางใช้ประโยชน์จากแกลบที่ได้จากการสีข้าว เพื่อประหยัดทรัพยากรพลังงานในรูปอื่น


2519 วันที่ 17 ธันวาคม พุทธศักราช 2519 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงหมั้น หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร หลังพระราชพิธีหมั้นแล้วไม่นาน ก็โปรดให้มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ในตอนต้นเดือนมกราคม พุทธศักราช 2520


2520 ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของพสกนิกรทั่วประเทศ


2521 ปลายปีพุทธศักราช 2521 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา มีกำหนด 15 วัน ในวันพระราชพิธีทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นายเติ้งเสี่ยวผิง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนในเวลานั้น ได้เฝ้าถวายเครื่องสักการะแด่พระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ด้วย


2522 วันที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2522 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการพระราชพิธีสมโภชเดือน และขึ้นพระอู่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระราชนัดดาพระองค์แรก ซึ่งประสูติตั้งแต่ปลายปีพุทธศักราช 2521 หลังวันเฉลิมพระชนมพรรษาแล้วเพียง 2 วัน


2523 เนื่องจากปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศเพื่อนบ้านที่รุนแรงขึ้นโดยลำดับ ติดต่อกัน 2-3 ปี ทำให้มีผู้อพยพจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเกียรติคุณเป็นที่ร่ำลือไปในนานาประเทศ พระบรมฉายาลักษณ์นี้ ฉายเมื่อคราวที่นางโรสลิน คาร์เตอร์ ภรรยาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยี่ยมค่ายผู้อพยพในประเทศไทย และเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ภูพานราชนิเวศน์



2524 ในฐานะที่ทรงเป็นจอมทัพไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็นมิ่งขวัญและมิ่งมงคลเหนือเศียรเกล้าของทหารหาญทุกกรมกอง คราใดก็ตามที่เกิดเหตุความไม่สงบเรียบร้อย หรือภัยรุกรานจากศัตรูภายนอกประเทศขึ้น ทหารทุกคนจึงพร้อมใจถวายชีวิตเป็นราชพลี เพราะเขารู้ดีว่า การทำงานเพื่อบ้านเมือง และเพื่อ “พระเจ้าอยู่หัว” เป็นเกียรติสูงสุดของคนไทย



2525 ปีนี้เป็นโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2525 ขณะทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระอาทิตย์ทรงกลดงามโชติช่วงเหมือนเหตุการณ์เมื่อครั้งแรกสร้างกรุง ตามที่พระราชพงศาวดารจดไว้


2526 ปลายฤดูฝนพุทธศักราช 2526 เกิดอุทกภัยขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยไม่มีใครทราบล่วงหน้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภูมิประเทศที่มีปัญหาน้ำท่วมเพื่อทรงหาหนทางแก้ไข ด้วยทรงยึดมั่นในพระราชหฤทัยเสมอว่า ทุกข์สุขของราษฎร คือทุกข์สุขของพระองค์เอง ชาวบ้านที่ได้เฝ้าชมพระบารมีโดยไม่คาดฝัน หลายคนนึกอยู่ในใจว่า “น้ำท่วมหรือจะชนะน้ำพระราชหฤทัย”


2527 ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงงานหนักมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยไม่มีวันหยุด และไม่เลือกเวลา พระราชกฤษดาภินิหารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เป็นที่ขจรขจายไปทั่วทิศานุทิศ เช่นในปีพุทธศักราช 2527 นี้ มหาวิทยาลัยทัฟท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เฉลิมพระเกียรติยศ



2528 นอกเหนือจากโครงการตามพระราชดำริ นับร้อยนับพันโครงการ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช ได้ทรงจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้นหลายแห่ง เพื่อเป็นเสมือนหนึ่งห้องทดลองขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ราษฎรที่อยู่ใกล้เคียง ได้เข้ามาศึกษาวิธีการพัฒนาแผนใหม่ได้ด้วยตนเอง เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่


2529 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติขอพระราชทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติในฐานะที่ทรงพระปรีชาเยี่ยมยอดในงานศิลปะทุกแขนง


2530 ปีพุทธศักราช 2530 เป็นปีมหามงคลของชาวไทย 50 กว่าล้านคน ด้วยเป็นมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ทุกฝ่ายทุกคนพร้อมใจกันจัดงานสมโภชด้วยความรื่นเริงใจ งานเฉลิมพระชนมพรรษาคราวนั้น มีงานใหญ่ติดต่อกันหลายวัน แต่ถึงกระนั้น หลายคนก็ยังรู้สึกว่าไม่พอแก่พระมหากรุณาธิคุณที่เป็นที่ล้นที่พ้นเกินจะประมาณ



2531 วันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 เป็นศุภมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก อันเป็นสมัยที่หาได้ยากยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แต่งการพระราชพิธี ทั้งที่กรุงเทพฯ และที่กรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา ตามแบบแผนพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกครั้งแรกเมื่อครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงมหาราช

ขอจงทรงพระเจริญ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9


ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ พระมหากษัตริยาธิราชเจ้ารัชกาลที่ 9 แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์เสด็จขึ้นประทับแล้วทรงรับน้ำอภิเษกจากผู้แทนพสกนิกรทั้งแผ่นดิน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีประกาศพระองค์เป็นอัครศาสนูปถัมภกต่อหน้าคณะสงฆ์


พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงเป็นผู้ลาดพระที่บรรจถรณ์ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานวันเฉลิมพระราชมณเฑียร วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิยรัตนกิริกุฏกุลินี และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐารี


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อันเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อถึงเวลาพระฤกษ์ ชาวที่ประโคมลั่นฆ้องชัยประโคมแตรสังข์ทั้งเครื่องดุริยดนตรี แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จขึ้นประทับบนที่พระบรรทม พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในชั้นผู้ใหญ่ ถวายพระแส้หางช้างเผือกและจั่นหมากทอง ท้าววรคณานันท์ ถวายกุญแจทอง ทรงรับวางข้างพระที่ทั้งสามสิ่งแล้วพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในชั้นผู้ใหญ่ ถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเอนพระองค์ลงบนที่พระบรรทมเป็นพระฤกษ์ เป็นความหมายของการเสด็จเข้าที่ในพระมหามณเฑียร


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานราชสังคหวัตถุแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้สูงอายุฝ่ายหน้าและฝ่ายใน 61 ท่าน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีประกาศพระองค์เป็นอัครศาสนูปถัมภกต่อหน้าคณะสงฆ์







ท้องสนามหลวงในค่ำคืนวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาห้ารอบของวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 ไม่ต่างไปจากมหาสมุทรใหญ่ของพสกนิกรไทยทุกสารทิศที่หลั่งไหลไปร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคล และเปล่งเสียงสดุดีมหาราชาไปกึกก้อง...แสงเทียนแต่ละเล่มของแต่ละคน เหมือนหมู่ดาวนับแสนที่ร่วงหล่นลงมาจากท้องฟ้า


มหาชนนับแสน ๆ แน่นขนัดเต็มถนนราชดำเนินและท้องสนามหลวง เพื่อรอชมพระบารมี เมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระบรมมหาราชวัง ในค่ำวันที่ 5 ธันวาคม 2530 เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ฝูงชนชาวไทยต่างเดินทางมาพร้อมหัวใจแห่งความจงรักภักดีมารวมกันอยู่ ณ ใจกลางผืนแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุขมาแต่โบราณกาลแล้ว


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระชนมายุ 5 พรรษา ทรงชุดละครไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ขณะประทับที่สวิตเซอร์แลนด์




สมเด็จพระบรมราชชนนี พร้อมด้วยพระโอรสและพระธิดา ที่โลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ขณะประทับที่พระตำหนักวัฒนา โลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์



ทรงฮอคกี้น้ำแข็งร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8


บำรุงศาสนา


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักบรรจบเบญจมา วัดบวรนิเวศวิหาร




ประชาชนเฝ้าชมพระบารมีอย่างคับคั่งด้วยความปิติ และชื่นชมในพระราชศรัทธา



เสด็จออกทรงรับบิณฑบาตรจากประชาชน โดยไม่มีหมายกำหนดการล่วงหน้า ทำให้ทุกคนตื่นเต้นยินดีเป็นอย่างยิ่ง 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2499


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับระหว่างสมเด็จพระบรมราชชนนีกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ภายหลังทรงลาสิกขาบทแล้ว


เสด็จฯ ทรงนมัสการสมเด็จพระสังฆราช


เสด็จฯ ทรงนมัสการหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี


เสด็จฯ ทรงนมัสการพระชิโรชรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ (เทศก์ เทสรังษี) ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527


สด็จฯ ทรงนมัสการหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประคองพระราชสังวราภิมณฑ์หรือหลวงปู่โต๊ะ ซึ่งมาเจริญพระพุทธมนต์ในวโรกาสที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2521


สนทนาธรรมกับท่านมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี


บำรุงการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เปิดโรงเรียนร่มเกล้า ต.หนองแดง อ.นาแก จ.นครพนม 30 ตุลาคม พ.ศ.2516


พระราชทานสิ่งของแก่นักเรียนครั้งเสด็จพระราชดำเนิน กิ่ง อ.สังคม จ.หนองคาย 31 ตุลาคม พ.ศ. 2513



เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



บำรุงขวัญทหารกล้า


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทอดพระเนตรการปฏิบัติการฝึก “วายุบุตร” ขององค์การ ส.ป.อ. ณ กองบัญชาการฝึก ดอนเมือง


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นบนเรือ “เกียรตินาวี” ซึ่งทางราชการกองทัพเรือจัดถวายเป็นที่ประทับแรม ในโอกาสเสด็จฯ ไปทอดพระเนตร การซ้อมรบทางเรือที่บางแสน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นบนเรือ “เกียรตินาวี” ซึ่งทางราชการกองทัพเรือจัดถวายเป็นที่ประทับแรม ในโอกาสเสด็จฯ ไปทอดพระเนตร การซ้อมรบทางเรือที่บางแสน (2)


สัมพันธภาพต่างประเทศ
ทรงต้อนรับประมุขและบุคคลสำคัญ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถวายการเลี้ยงพระกระยาหารค่ำเพื่อถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบซที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เจ้าชายฟิลลิปดยุคแห่งเอดินเบอระ พระราชสวามี ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทย ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2515


พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ แก่ ฯพณฯ นายหลีเซียนเนียน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และนางหลินเจียเหมย ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท 11 มีนาคม พ.ศ.2528


พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ฯพณฯ นายราจีฟ คานธี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 19 ตุลาคม พ.ศ.2529



พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งอังกฤษ และพระสวามีเฝ้าในโอกาสเสด็จมาเยือนประเทศไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 8 เมษายน พ.ศ.2529


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกรับ ฯพณฯ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เนื่องในโอกาสที่ท่านประธานาธิบดีได้มาเยือนประเทศไทย มกราคม 2501


ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ ฯพณฯ นายคารัล คาร์สเทนส์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และภริยา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2527





ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก board.palungjit.com





หมายเหตุ โปรดงดแสดงความคิดเห็นที่ไม่สร้างสรรค์ ขาดเมตตาธรรม ส่อเสียด ดูหมิ่น สร้างความแตกแยกให้แก่สังคมกระทบกระทั่งต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และขัดต่อกฎหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น