วันที่ 2 เมษายน 2558 นี้ เนื่องในโอกาสมหามงคล ฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 60 พรรษา ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไทยรัฐออนไลน์นำเรื่องน่ารู้ 10 เรื่อง เกี่ยวกับมหาจักรีสิรินธร เจ้าฟ้าของปวงประชาชาวไทย มาให้ได้ทราบกัน…
1. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่สามนี้ ทรงได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์) ว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์” พระนาม “สิรินธร” นำมาจากชื่อสร้อยพระนามของสมเด็จพระราชปิตุจฉา (ป้า) เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. พระองค์ทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อทรงจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศไทย
3. พระองค์ทรงปฏิบัติตามประเพณีของชาวจุฬาฯ ตามการกราบบังคมทูลของรุ่นพี่ เช่น ทรงร้องเพลงบูมจุฬาฯ ทรงเข้าซ้อมเพลงเชียร์ ทรงกีฬา ฯลฯ
4. พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาและรับพระราชทานปริญญาบัตรอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง สาขาประวัติศาสตร์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2520
5. ในปีเดียวกัน พ.ศ.2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระราชอิสริยยศ และพระราชอิสริยศักดิ์ของพระองค์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) พร้อมทั้งเฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรรัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าขึ้นเป็น “สมเด็จพระ”
6. ในปี พ.ศ.2523 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงให้ความสำคัญต่อการเป็นครู ทรงใช้เทคนิควิธีและสื่อการสอนผสมผสานหลายอย่าง
7. พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยด้านศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยเฉพาะทางด้านดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ทรงสนับสนุนในการอนุรักษ์ สืบทอด เผยแพร่ความรู้ด้านดนตรีไทยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยทรงเป็นแบบอย่างในการทรงเครื่องดนตรีไทยร่วมกับประชาชนทั้งในและต่างประเทศ
8. เมื่อสมัยที่ทรงเริ่มเรียนดนตรีใหม่ๆ ทรงได้พระอาจารย์สองท่าน คือ ครูนิภา อภัยวงศ์ และครูจินดา สิงหรัตน์ ถวายการสอนเครื่องสาย คือซอด้วง ซึ่งก็โปรดเหมือนกัน แต่โปรดระนาดเอกมากกว่า แต่ครูเห็นว่าเป็นเจ้าฟ้าหญิงตีระนาดไม่ทรงเหมาะ ดูจะเป็นนักเลงมากเกินไป การทรงซอในชั้นต้นจึงค่อนข้างจะทรงฝืนพระราชหฤทัยอยู่บ้าง แต่ก็ทรงได้จนทรงอ่านโน้ตเพลงไทยได้ทุกรูปแบบ
9. นอกจากด้านดนตรีไทยแล้ว พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทย ทั้งด้านการช่างไทย นาฏศิลป์ไทย งานพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์และโบราณสถาน ภาษาและวรรณกรรมไทย จึงทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญานามว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย”
10. พระองค์ทรงเป็นอีกหนึ่งแบบอย่างของความกตัญญูกตเวทีต่อพระบิดาและพระมารดา รวมไปถึงยังทรงมีสัมมาคารวะต่อครูที่เคยสอนอย่างสม่ำเสมอ เคยวางองค์อย่างไรก็อย่างนั้น
………………………………………..
ข้อมูล : นิตยสารแพรว ฉบับที่ 854 และ ไทยรัฐ
ภาพ : นิตยสารแพรว ฉบับ 854 , เพจ : เรารัก “สมเด็จพระเทพฯ” : Our BeLoved Princess Maha Chakri Sirindhorn , เพจ ตามรอยพ่อ และ MagazineDee.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น