วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ พระมหากรุณาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ




a100

“ชัยพัฒนาของเรานี้ มีจุดมุ่งหมายในเรื่องการทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ทั้งในด้านความเป็นอยู่ การอาชีพ และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ

ส่วนที่สำคัญของเราคือการเกษตร ปัจจัยสำคัญของการเกษตร นอกจากจะเป็นเรื่องน้ำและดินแล้ว การมีพันธุ์พืชที่ดีให้เกษตรกรปลูก เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การที่ทำเอง จัดเอง ทำให้เราได้ศึกษาวิธีการ ว่า พันธุ์ต่างๆ นอกจากจะทำให้มีปริมาณมากขึ้นแล้ว คุณภาพที่จะเหมาะสมในแต่ละแห่งจะทำอย่างไร

เพราะถ้าเราทำเองจะทราบว่าตรงไหนต้องทำอย่างไร เป็นความรู้ของพวกเราทุกคนด้วย”

พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2552 ที่เป็นที่มาของการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ” ขึ้น

a92

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย ตั้งแต่ทรงพระเยาว์พระองค์ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจยังท้องถิ่นทั่วประเทศมาโดยตลอด

จวบจนปัจจุบันพระองค์ทรงรับพระราชภารกิจปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมากมาย รวมทั้งมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระองค์ที่เกิดจากความสนพระทัยของพระองค์ที่ทรงต้องการแก้ปัญหาให้พสกนิกรคนไทย อย่างโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันใน รร.ตชด. เป็นต้น

a98

และหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ โครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ นั่นเอง

โครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริฯ อ.แม่สาย จ.เชียงราย จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ” ในปีพุทธศักราช 2552 เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ในบริเวณพื้นที่ 135 ไร่ 1 งาน 10.3 ตารางวา

a93

มีวัตถุประสงค์ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช เมล็ดพันธุ์ผัก ให้เกษตรกรได้มีพืชที่มีสายพันธุ์ที่ดี และมีสะสมสำรองไว้ ให้แก่ประชาชนอันเป็นการตอบสนองความต้องการของเกษตรกร และเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติ การดำเนินที่ผ่านมาได้ทำการรวบรวมและพัฒนาพันธุ์พืชพื้นบ้าน เก็บรักษาพันธุ์พืชผักพื้นบ้านให้เกษตรกรมีพันธุ์พืชที่ดีไว้บริโภคในครัวเรือน จำหน่ายและเก็บไว้ทำเมล็ดพันธุ์

นางสาวเบญจมาศ ขุนศรี เจ้าหน้าที่สำนักบริหารโครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริฯ กล่าวว่า ศูนย์ฯมีหลายโครงการเข้ามาส่งเสริมและให้ชาวบ้านเข้าร่วมในโครงการซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นทุกปี มีการลงพื้นที่ดำเนินโครงการมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2553 จนปัจจุบัน ชาวบ้านให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นทุกปี

“ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการทำเป็นอาชีพเสริมจากการเกษตรกรรมในพื้นที่ของตนเอง เพราะโครงการส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกน้อย ตามรั่วบ้านหรือสวนหลังบ้านเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านทุกคนที่เข้าร่วมโครงการนั้นเต็มใจที่จะทำ เพราะรู้ว่าเป็นโครงการของสมเด็จพระเทพฯ โครงการตามพระราชดำรินั้นนอกจากช่วยเหลือชาวบ้านใกล้เคียงแล้วยังสามารถช่วยเหลือเพื่อที่เดือดร้อนจากที่อื่นอีกด้วย เช่น เดือดร้อนจากการประสบอุทกภัยเป็นต้น” นางสาวเบญจมาศกล่าว

a94

เนื่องวโรกาสมหามงคลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเจิญพระชนมายุครบ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา

มูลนิธิชัยพัฒนาได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชสายพันธุ์ใหม่ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายประกาศนียบัตรรับรองตามพระราชบัญญัติ 2548 พันธุ์พืชดังกล่าว คือ พริกขี้หนูปู่เมธเบอร์1 ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธ์เบอร์ 1 และถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธรเบอร์1 ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานระหว่างศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี โดยกรมวิชาการเกษตรได้ทูลเกล้าฯถวาย เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

a102

พริกขี้หนูปู่เมธเบอร์ 1 เป็นพริกขี้หนูที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นำมาจากสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2554 ได้ผ่านการคัดเลือกและทดลองปลูกจนประสบผลสำเร็จ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงคัดเลือกด้วยพระองค์เอง ได้สายพันธุ์ JP 010-5 มีลักษณะเด่นคือ เป็นพริกขี้หนูพุ่มเตี้ย ผลชี้ตั้งขึ้น ผลดกติดกันเป็นช่อ เหมาะสำหรับปลูกในกระถาง

a103

ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธ์เบอร์ 1 เป็นการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์แม่ที่มีลักษณะฝักสีเขียว ให้จำนวนฝักสูง ออกดอกเร็ว ผสมกับพันธุ์พ่อที่เป็นถั่วฝักยาวพันธุ์พื้นเมืองจากชนเผ่าอาข่าในจังหวัดเชียงราย มีฝักสั้นเนื้อแน่นสีเขียวอ่อนลายสีแดง ได้ถั่วฝักยาวลายเสือสีเขียวสลับม่วง เป็นพันธุ์ใหม่สำหรับเกษตรกร

a107

และถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธรเบอร์ 1 เป็นการผสมถั่วฝักยาว สายพันธุ์แม่เป็นถั่วฝักยาวพันธุ์เนื้อฝักสีเขียวให้ผลผลิตสูง ผสมกับสายพันธุ์พ่อซึ่งเป็นถั่วฝักยาวที่มีฝักสีแดง ยาว แต่มีผลผลิตต่ำ ได้ถั่วฝักยาวสีม่วงที่เต็มไปด้วยลักษณะเฉพาะ มีสีสันสะดุดตา รสชาติที่โดดเด่น และมีคุณค่าทางอาหาร

a106

โครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2552 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพะมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์ฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม 2552 ดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อประชาชนในพื้นที่หลายโครงการ สรุปได้ดั่งนี้

โครงการพันธุ์พืชจักพันธ์ฯ ทำการรวบรวมและพัฒนาพันธุ์พืชพื้นบ้าน เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานราษฎรที่ประสบภัยพิบัติและราษฎรทั่วไป เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้แล้ว มี คะน้า กวางตุ้ง ฟักแฟง แคบ้านดอกขาว ถั่วพู มะเขือเปราะขาวกรอบ บวบ กระเจี๊ยบเขียว มะเขือยาว ถั่วฝักยาว น้ำเต้า ในฤดูนี้กำลังผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเพิ่มอีก คือ กวางตุ้ง คะน้า ผักบุ้ง มะเขือยาว มะเขือขาวกรอบ ผักสลัด น้ำเต้า ถั่วฝักยาว ถั่วแปบ มะระขี้นก บวบ ฟักแฟง เป็นต้น

a99

มีโครงการที่ศูนย์ฯ ร่วมมือกับชาวบ้านจัดทำโครงการต่างๆ 3 โครงการด้วยกัน คือ โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน เพื่อนช่วยเพื่อน เป็นโครงการที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ

ตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านเข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านเพื่อนำเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้ขายคืนให้กับศูนย์ฯ เพื่อทางศูนย์จะผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานต่อไป เช่น น้ำเต้า ฟัก แฟง ถั่วพู ถั่วแปบ มะระขี้นก และบวบหอม

โดยใช้พื้นที่บริเวณบ้านปลูกผักแบบธรรมชาติของชาวบ้าน ปลูกริมรั้ว ปลูกผักบนรั้ว ปล่อยขึ้นต้นไม้หน้าบ้าน ทำระแนงพาดรั้วให้ผักเลื้อย เมื่อพืชผักเหล่านั้นออกผลผลิต

ชาวบ้านจะนำเมล็ดพันธุ์มาส่งขายให้กับศูนย์ฯ เริ่มดำเนินการในหมู่ที่ 3 บ้านสันยาว ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย โดยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านให้กับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ แล้วส่งเสริมให้ลูกบ้านเข้าร่วมโครงการปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการ 889 ครัวเรือน จาก 35 หมู่บ้านใน 6 ตำบล

ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะมีความภาคภูมิใจที่ได้เข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานแก่ราษฎรที่ทุกข์ยากประสบภัยพิบัติอีกด้วย

a95

โครงการ บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง เป็นโครงการที่ศูนย์ฯ ดำเนินการขยายผลการปลูกพืชผักพื้นบ้านออกสู่ราษฎร โดยได้เริ่มโครงการนำร่องร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงาม ที่มีชุมชนเข้มแข็ง มีความต้องการปลูกพืชผักพื้นบ้านเพื่อบริโภคในครัวเรือน และสามารถเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อไปได้อีก เมื่อมีเหลือแล้วจึงนำผลผลิตที่ได้ไปจำหน่ายให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ นำมาขายที่ร้านจันกะผัก อันเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์ของศูนย์ฯ

ต่อมา มีราษฎรสนใจขอเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ออกไปยังตำบลบ้านด้าย ตำบลสันยาว ตำบลเกาะช้าง และอำเภอแม่จัน นอกจากนี้ ยังได้ขยายโครงการไปยังตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรีอีกด้วย สถานีอนามัยตำบลโป่งงาม ซึ่งเป็นส่วนราชการก็เข้ามานำเมล็ดพันธุ์และกล้าพันธุ์จากศูนย์ฯ ไปปลูกในบริเวณรอบๆ และอนุญาตให้ราษฎรที่มารับการรักษา เก็บกลับไปทำอาหารบริโภคที่บ้าน

a101

โครงการสุดท้าย คือ โครงการ ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน ต่อยอดจาก ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ ขององค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงามใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันปลูกพืชผักแล้วช่วยกันดูแล ทำให้ราษฎรมีพืชผักพื้นบ้านบริโภคในครัวเรือน นั้น ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลโป่งงาม ได้ขอทำโครงการขยาย เพื่อจะปลูกไม้ยืนต้นที่บริโภคได้ตามริมถนนในหมู่บ้าน เพื่อให้คนทั้งในหมู่บ้านและคนทั่วไปสามารถเก็บใบและผลไปประกอบอาหารรับประทานได้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริจึงได้จัดหากล้าต้นมะรุม 1,400 กล้า กล้าต้นเสี้ยว 400 กล้า กล้าต้นขี้เหล็ก 400 กล้า และเมล็ดแค 6,500 เมล็ด สนับสนุนโครงการดังกล่าว

a96

ปัจจุบัน โครงการ ‘ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน’ ได้ขยายพื้นที่ออกไปควบคู่ไปกับโครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ ทำให้ชุมชนมีพืชผักที่เป็นอาหารให้ทั้งผู้ที่อยู่ในหมู่บ้านและผู้ที่สัญจรไปมาเก็บเอาไปบริโภค

นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริฯ ยังได้เพิ่มกล้าไม้ผล อันเป็นผลสืบเนื่องจากพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่มีพระราชประสงค์ให้ราษฎรมีไม้ผลไว้แบ่งปันกันบริโภค

a105

โครงการวิจัยการผลิตน้ำจุลินทรีย์จากปุ๋ยอินทรีย์มูลกระบือ ทำการศึกษาวิจัยวิธีการผลิตและใช้น้ำจุลินทรีย์จากปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากมูลกระบือและเศษพืชต่างๆ เพื่อใช้ในการเกษตรระดับครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการคัดเลือกชนิดสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในน้ำจุลินทรีจย์จากปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าว มีการจัดสินค้าจำหน่ายในร้านขายผลิตภัณฑ์ของศูนย์ฯ จำหน่ายพืชผัก ขายอาหารที่นำพืชผักที่ได้มาปรุง นอกจากนี้ยังมีพืชผักสดๆ ขายอีกด้วย

ป้าอำนวย จันทนา ราษฎรในโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน กล่าวว่า อาชีพหลักของชาวบ้านส่วนใหญ่คือ ทำนา ทั้งนาปี และนาปรัง การเข้าร่วมโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนโดยเอาเมล็ดพันธุ์จากศูนย์ฯ มาปลูก แล้วขายเมล็ดพันธุ์คืนให้ศูนย์ฯ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำเป็นอาชีพเสริม เพราะใช้พื้นที่ไม่มาก และศูนย์ฯ เข้ามาให้ความรู้ในการเพาะปลูกต่างๆ และยังนำเมล็ดพันธุ์มาให้อีกด้วย ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการแค่มีพื้นที่และมีความใส่ใจในการดูแลรักษาก็มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว

“ดีใจมากที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ เพราะเหมือนเราได้ช่วยคนอื่นอีกทางหนึ่ง ช่วยคนที่ประสบปัญหาขาดเมล็ดพันธุ์ และดีใจที่ได้เข้ามาช่วยงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพราะท่านทรงงานเยอะมากเพื่อพวกเรา แม้รายได้ไม่มาก แต่ความภาคภูมิใจที่ได้นั้นมากเหลือเกิน” ป้าอำนวย กล่าวด้วยรอยยิ้ม

a97

โครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เป็นอีกหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่แสดงให้เห็นน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎรไทยของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่การทำเกษตรกรรมต่างๆรวมถึงพืชพันธุ์ต่างๆ

พระองค์ก็ทรงนึกถึงและทรงให้ความสำคัญ ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่คนไทยมาโดยตลอด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้.

a90

…………………………………

รายงานโดย ณพาภรณ์ ปรีเสม

http://www.chaoprayanews.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น