วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2557

“ตลาดพลู” ย่านเก่า เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สัมผัสบรรยากาศชุมชน คน และของอร่อย



สถานีรถไฟตลาดพลู


การเป็นย่านเก่าแก่ที่เกิดขึ้นมายาวนานแล้ว ทำให้ย่านนั้นมีประวัติศาสตร์ มีสถานที่ที่มีความสำคัญ และกลายเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนหลากหลายรุ่น เหมือนอย่างที่ “ย่านตลาดพลู” เป็นอยู่ในทุกวันนี้

“ตลาดพลู” มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ซึ่งพื้นที่ริมคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวงแห่งนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี แต่เมื่อมีการย้ายราชธานีไปยังฝั่งพระนคร ก็มีชาวจีนบางส่วนย้ายบ้านไปอยู่แถวย่านสำเพ็ง และมีชาวมุสลิมเข้ามาอยู่แทนที่

จากนั้น ชาวมุสลิมก็เริ่มทำสวนพลูขึ้นในพื้นที่แถบนี้ และมีการขยับขยายมาปลูกสวนพลูกันทั้งชาวมุสลิมและชาวจีนอย่างแพร่หลาย จนพื้นที่แถบนี้กลายเป็นตลาดซื้อขายพลูขึ้นมา และเกิดชุมชนที่อยู่อาศัยที่เรียกกันว่า “ตลาดพลู” มานับแต่บัดนั้น



“ตลาดพลู” ย่านเก่า เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สัมผัสบรรยากาศชุมชน คน และของอร่อย
ขบวนรถไฟที่เข้าจอดที่สถานีตลาดพลู
ตลาดพลูในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนถนนเทอดไท ฝั่งธนบุรี มีความสำคัญทั้งในฐานะที่เป็นย่านเก่าแก่ เป็นเส้นทางคมนาคม เป็นตลาด มีวัดวาอาราม เป็นสถานีรถไฟ และที่สำคัญ เป็นแหล่งของอร่อยที่หลายๆ คนรู้จักกันดี นั่นก็คือ กุยช่ายตลาดพลู (คลิก!! อ่านเรื่องกินย่านตลาดพลู)

พูดถึงเรื่องการเป็นสถานีรถไฟ ในปัจจุบันนี้ “สถานีรถไฟตลาดพลู” ก็ยังถือว่าเป็นสถานีรถไฟที่ยังคงมีความสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟสายแม่กลอง ที่ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ที่เป็นต้นทางไม่มากนัก ทุกวันนี้ยังมีขบวนรถไฟที่ขนส่งทั้งคนและสิ่งของผ่านเข้าออกอยู่ทุกวัน ตัวสถานีจึงยังพอมองเห็นความคึกคักอยู่เสมอ

และใกล้ๆ กับตัวสถานีรถไฟ ทั้งบริเวณริมทางรถไฟ และริมถนน ก็ยังเป็นที่ตั้งของร้านอาหารอร่อยๆ อีกหลายร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว ข้าวหมูแดง อาหารตามสั่ง ร้านขนมหวาน เป็นต้น โดยเฉพาะร้านขายกุยช่ายเจ้าดัง ที่คนซื้อต้องมายืนรอต่อแถว ก็อยู่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟนี่เอง




“ตลาดพลู” ย่านเก่า เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สัมผัสบรรยากาศชุมชน คน และของอร่อย
ริมถนนในย่านตลาดพลูมีร้านอาหารตั้งขายอยู่มากมาย
นอกจากสถานีรถไฟตลาดพลูแล้ว บริเวณนี้ก็ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง แต่ที่ใกล้ๆ กันนั้นก็คือวัด ที่ตั้งอยู่เรียงกันถึง 3 วัด เริ่มจาก “วัดราชคฤห์วรวิหาร” หรือวัดบางยี่เรือใน หรือบางคนจะเรียกว่าวัดบางยี่เรือมอญ นั่นก็เพราะวัดแห่งนี้ถูกสร้างโดยนายกองมอญในสมัยอยุธยา ต่อจากนั้นก็มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรี โดยพระยาสีหราชเดโช หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ พระยาพิชัยดาบหัก นั่นเอง

มาถึงวัดราชคฤห์ ต้องมาสักการะ “พระพุทธรูปนอนหงาย” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนอนหงาย พระเศียรหนุนพระเขนย พระกรทั้งสองข้างแนบพระองค์ หลับพระเนตร และมีพระมหากัสสัปปะนั่งพนมมืออยู่ที่พระบาท ซึ่งตามพุทธประวัตินั้น เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ศิษยานุศิษย์ก็ได้นำพระสรีระของพระองค์มาถวายพระเพลิง แต่พระสรีระของพระองค์ไม่ยอมติดไฟ เนื่องจากพระองค์ต้องการจะรอให้พระมหากัสสปะเดินทางมาถึงเสียก่อน




“ตลาดพลู” ย่านเก่า เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สัมผัสบรรยากาศชุมชน คน และของอร่อย
พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ประดิษฐานในวัดราชคฤห์
ส่วนบริเวณกลางวัดจะมีเจดีย์สององค์ องค์แรกคือ “พระปรางค์พระยาพิชัยดาบหัก” ที่ตามประวัติศาสตร์นั้นท่านได้ขอตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินไปด้วย ส่วนเจดีย์ใกล้ๆ กันนั้น คือ “เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ” โดยพระบรมสารีริกธาตุนี้อัญเชิญมาจากกรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย

นอกจากนั้น หากใครเคยนั่งรถผ่านวัดราชคฤห์บนถนนเทอดไท ก็คงจะเห็นสิ่งก่อสร้างที่ลักษณะคล้ายภูเขาตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด สิ่งก่อสร้างที่ว่านั้น ที่จริงแล้วเรียกว่า “เขามอ” หรือภูเขาจำลองที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน และบนยอดเขามอนั้นก็มีพระมณฑป ซึ่งภายในมีพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ สามารถขึ้นไปกราบไหว้ด้านบนได้




“ตลาดพลู” ย่านเก่า เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สัมผัสบรรยากาศชุมชน คน และของอร่อย
พระปรางค์พระยาพิชัยดาบหัก และ พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
จากวัดราชคฤห์ เดินตรงไปผ่านตลาด ก็จะเป็น “วัดจันทารามวรวิหาร” ชื่อเดิมคือวัดบางยี่เรือกลาง หรือ วัดกลาง เนื่องจากตั้งอยู่ระหว่าง 2 วัด คือวัดราชคฤห์ (วัดบางยี่เรือใน) และ วัดอินทาราม (วัดบางยี่เรือนอก)

วัดจันทารามเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมายาวนานเกินกว่าร้อยปี พระอุโบสถสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่มีการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2517 ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นศิลปะแบบจีน เป็นเครื่องสูงของจีนที่เขียนขึ้นอย่างประณีต




“ตลาดพลู” ย่านเก่า เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สัมผัสบรรยากาศชุมชน คน และของอร่อย
พระประธานในพระอุโบสถ วัดจันทาราม หรือ วัดกลาง
อีกวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้กันก็คือ “วัดอินทารามวรวิหาร” หรือวัดบางยี่เรือนอก วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่และถือว่ามีความสำคัญสูงสุดในสมัยกรุงธนบุรี โดยหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระองค์ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแต่จะทรงบูรณะวัดแห่งนี้เท่านั้น พระองค์ยังทรงเสด็จมาประกอบพระราชกุศล และปฏิบัติกรรมฐานอยู่เสมอๆ โดยยังมีพระราชอาสน์ที่พระองค์ทรงประทับทรงศีลอยู่ภายในวัดด้วย

เมื่อเดินเข้าไปภายในวัดแล้วก็จะเห็นพระอุโบสถหลังใหญ่ เป็นพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานพระพุทธชินวร พระประธานสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย ส่วนด้านหน้าพระอุโบสถ ก็จะมีพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินในท่าประทับนั่ง มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา




“ตลาดพลู” ย่านเก่า เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สัมผัสบรรยากาศชุมชน คน และของอร่อย
พระอุโบสถ วัดอินทาราม
เดินมาด้านหลังวัดที่ติดกับคลอง จะพบกับ “พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และ “พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิพระอัครมเหสี” เป็นเจดีย์สององค์ที่ตั้งอยู่เคียงกันเป็นสีทองอร่าม ด้านหลังคือพระอุโบสถหลังเก่า ภายในมีพระประธานซึ่งใต้ฐานชุกชีนั้นบรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ไว้ด้วย

ส่วนด้านข้างกันก็มี “วิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” โดยด้านหน้าวิหารมีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระบรมรูปทรงม้า พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือพระแสงดาบชูขึ้นฟ้า ลักษณะเดียวกับพระบรมรูปตรงวงเวียนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ส่วนภายในพระวิหาร มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์ และยังมีแท่นพระบรรทมไสยาสน์ ซึ่งเป็นพระราชอาสน์สำหรับประทับแรมทรงศีลและทรงกรรมฐาน ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และยังมีพระบรมรูปจำลองขณะที่พระองค์กำลังทรงกรรมฐานอยู่ด้วย




“ตลาดพลู” ย่านเก่า เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สัมผัสบรรยากาศชุมชน คน และของอร่อย
พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระอัครมเหสี
หลายคนอาจจะรู้จักย่านตลาดพลูเพราะมีอาหารอร่อย หลายคนเคยมายืนรอต่อคิวซื้อกุยช่ายเจ้าดัง แต่ก็มีไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักย่านนี้ ขอแนะนำให้ลองมาเดินเล่น แวะไหว้พระทำบุญ เดินตลาด รวมถึงหาซื้อของอร่อยกลับไปกินที่บ้านด้วย จะได้มาสัมผัสและทำความรู้จักกับย่านตลาดพลูแห่งนี้แบบเข้าถึง




“ตลาดพลู” ย่านเก่า เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สัมผัสบรรยากาศชุมชน คน และของอร่อย
ภายในวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสิน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

การเดินทางมาย่านตลาดพลู สามารถใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ลงที่สถานีตลาดพลู แล้วต่อรถกระป๋องมาลงที่ตลาดพลูได้ ส่วนรถโดยสารประจำทางมีสาย 4, 9, 43, 111, 175

 

 

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 กันยายน 2557 15:34 น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น