เรือไม้ไผ่ลอยเรือสะเดาะเคราะห์อยู่กลางแม่น้ำ
งานบุญเดือนสิบ “ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์” นับเป็นอีกหนึ่งประเพณีน่าสนใจของชาวมอญในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่ทำสืบทอดกันมาช้านาน แม้ในปีนี้งานจะจัดผ่านไปแล้วในวันที่ 7-9 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ขอนำมาบอกเล่าให้ได้ทราบถึงประเพณีอันดีงาม เผื่อให้ผู้ที่สนใจได้เก็บไว้เป็นแผนท่องเที่ยวในปีต่อๆ ไป
สำหรับที่มาของประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์นั้นมีตำนานเล่ากันมาสองกระแส ตำนานแรกเชื่อว่าเริ่มมีในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์แห่งอาณาจักรมอญ เมืองหงสาวดี พระองค์ทรงเห็นพระภิกษุและสามเณรในเมืองหงสาวดีมีความประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ทำให้พระพุทธศาสนาด่างพร้อย จึงมีพระราชประสงค์จะสังคายนาพระพุทธศาสนาในเมืองมอญเสียใหม่เพื่อชำระหมู่พระภิกษุสงฆ์ให้มีความบริสุทธิ์ จึงมีพระราชโองการให้ภิกษุสามเณรในเมืองมอญลาสิกขาทั้งหมด แล้วส่งปะขาวถือศีลแปด (ซึ่งคืออดีตพระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกที่ลาสิกขามาเป็นปะขาวนั่นเอง) เดินทางไปยังศรีลังกาเพื่อไปอุปสมบทมาใหม่จากคณะสงฆ์ในศรีลังกา เพื่อให้เดินทางกลับมาเป็นพระอุปัชฌาย์ให้แก่คนมอญในเมืองมอญนั่นเอง |
||||||
|
||||||
|
||||||
ส่วนอีกตำนานหนึ่งเล่าคล้ายกันว่า เจ้าเมืองสะเทิมกษัตริย์พม่าได้ครอบครองมอญ และต้องการจะเผยแผ่พุทธศาสนาแก่ชาวพม่า จึงให้พระภิกษุมอญชื่อพระพุทธโกษาเดินทางไปคัดลอกพระไตรปิฎกที่ศรีลังกาโดยทางเรือ หลังจากคัดลอกพระไตรปิฎกแล้วเสร็จ ระหว่างเดินทางกลับได้เจอพายุกลางทะเล ทำให้การเดินทางล่าช้า เจ้าเมืองสะเทิมจึงให้คนต่อเรือขนาดใหญ่พร้อมเสบียงอาหารมากมายไปรอรับ ชาวบ้านจึงมารวมตัวกันเพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้เรือเดินทางกลับมาโดยปลอดภัย และเป็นที่มาของประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ที่ชาวมอญทำสืบทอดต่อกันมา |
||||||
|
||||||
|
||||||
อรัญญา เจริญหงส์ษา เลขานายกเทศมนตรีตำบลวังกะ อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี เป็นผู้เล่าให้ฟังถึงประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ว่า ชาวมอญที่สังขละบุรีและในประเทศพม่ายังคงจัดประเพณีนี้สืบต่อกันมาทุกปี โดยงานประเพณีนี้มีช่วงระยะเวลา 3 วัน คือวันขึ้น 14-15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี (นับตามแบบไทย) ซึ่งจะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 7-9 กันยายน ที่ผ่านมา คนในชุมชนจะร่วมกันสร้างเรือขึ้นหมู่บ้านละลำเพื่อนำไปลอยสะเดาะเคราะห์ในแม่น้ำตามตำนานที่กล่าวไป สำหรับชุมชนอื่นๆ จะเป็นเรือลำเล็ก แต่ที่ชุมชนวัดวังก์วิเวการามจะทำเรือลำใหญ่เพราะเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ โดยแต่ละบ้านในชุมชนต้องช่วยกันหาไม้ไผ่มาไว้ให้ที่วัดบ้านละ 1 ลำ จากนั้นคนเฒ่าคนแก่จะช่วยกันนำไม้ไผ่มาสร้างเป็นลำเรือขนาดใหญ่ไว้บริเวณหน้าเจดีย์พุทธคยาที่วัดวังก์วิเวการาม |
||||||
|
||||||
|
||||||
และในคืนนั้นชาวบ้านจะเตรียมทำอาหารเพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์และจะนำอาหารเหล่านั้นมาใส่ไว้ในเรือ เรียกว่า "ถวายข้าวลงเรือ" และจะตื่นมาทำอาหารกันตั้งแต่เช้ามืดของวันถัดมา ซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ หรือวันพระใหญ่ อาหารเหล่านั้นจะทำเสร็จตั้งแต่ตอนเช้ามืด ราวตี 2-ตี 3 เมื่อทำเสร็จแล้วต่างคนต่างก็จะรีบนำอาหารนั้นมาถวายข้าวลงเรือกัน เพราะเชื่อว่าคนที่มาก่อนเป็นคนแรกๆ จะได้รับบุญมากกว่า “อาหารที่ทำมาถวายในเรือจะมีข้าวสวย ข้าวตอก กล้วย ข้าวต้ม (คล้ายข้าวต้มมัด) อ้อย ถั่วตัด ขนม และผลไม้ต่างๆ รวมไปถึงหมากพลู น้ำ เทียน และตงอันเล็กๆ ด้วย” อรัญญาเล่า |
||||||
|
||||||
|
||||||
ในช่วงที่ทุกคนทยอยกันนำมาอาหารมาใส่ลงในเรือนี้ ก็จะมีการละเล่นคือการลอยโคมกัน โดยเป็นโคมกระดาษว่าวที่ใช้ความร้อนจากเชื้อเพลิงลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า โคมเหล่านี้มีทั้งขนาดเล็กแบบที่เคยเห็นกันบ่อยๆ และขนาดใหญ่คล้ายบอลลูน เพราะเมื่อก่อนนี้ทางวัดจะลอยโคมโดยมีเครื่องอัฐบริขารผูกติดไปด้วย เมื่อโคมและเครื่องอัฐบริขารไปตกที่บ้านใคร หากเป็นผู้ชายก็จะต้องบวช หากเป็นผู้หญิงก็จะต้องมาทำบุญ แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำเช่นนั้นแล้ว คงเหลือแต่การลอยโคมของชาวบ้านที่ทั้งขนาดเล็กและใหญ่เท่านั้น และจะจุดกันทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ในวันพระนี้มีกิจกรรมมากมายตั้งแต่ตอนเช้ามืด ส่วนในช่วงเช้าชาวบ้านจะออกมาตักบาตรพระหน้าบ้านกันตามปกติ ก่อนจะไปถวายกับข้าวและสวดมนต์กันที่วัด นอกจากนั้น ในเวลาราว 09.00 น. ก็จะมีการ “ตักบาตรน้ำผึ้งและน้ำมันงา” ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญ โดยน้ำผึ้งและน้ำมันงานั้นพระสงฆ์สามารถนำไปใช้ทำยารักษาโรคได้ แต่ปัจจุบันทั้งสองสิ่งเป็นของหายากขึ้น สมัยนี้จึงมีการดัดแปลงเป็นการถวายน้ำตาลทรายแทนน้ำผึ้ง และน้ำมันพืชแทนน้ำมันงาแทนหากว่าหาไม่ได้ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปใช้ประโยชน์ภายในวัด |
||||||
|
||||||
|
||||||
จากนั้นก็มาพิธีสำคัญของประเพณีครั้งนี้ก็คือการลอยเรือสะเดาะเคราะห์ซึ่งจะทำกันในวันแรม 1 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของประเพณี ในช่วงสายๆ ชาวบ้านทั้งชายหญิง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะแต่งตัวสวยงามมาช่วยกันลากเรือที่ตกแต่งด้วยตงสีสันสวยงาม ภายในเรือเพียบแปล้ไปด้วยอาหารที่ชาวบ้านนำมาถวาย ลงสู่แม่น้ำซองกาเลีย เรือลำใหญ่ค่อยๆ เคลื่อนตัวด้วยแรงลากของชาวบ้านนับพันคน เชือกเส้นยาวเหยียดมีชาวบ้านช่วยลากกันอย่างสามัคคี แม้ในวันนั้นแดดจะร้อนจัด แต่ชาวบ้านทุกคนหน้าตายิ้มแย้ม ขบวนลากเรือคึกคักไปด้วยเสียงกลองยาวและเสียงดนตรีแบบมอญ มีการร้องรำรื่นเริง ทุกคนช่วยกันลากเรือลงไปจากด้านหน้าเจดีย์พุทธคยาไปยังตลิ่งริมน้ำ ช่วงที่เป็นทางชันก็ต้องใช้แรงคนดึงเชือกด้านหลังเรือ ก่อนจะปล่อยลงสู่แม่น้ำซองกาเลีย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำเรือขนาดใหญ่และน้ำหนักมหาศาลลงสู่แม่น้ำได้ ชาวบ้านต้องช่วยกันประคอง รวมถึงใช้เรือยนต์ชักลากเรือไม้ไผ่ให้ลงสู่แม่น้ำอย่างเรียบร้อย ต้องใช้เวลากันพักใหญ่กว่าที่เรือใหญ่จะสามารถลงสู่น้ำได้อย่างปลอดภัย นำพาเอาความทุกข์โศกและเคราะห์ภัยต่างๆ ออกไปจากชาวบ้าน และนำพาเอาสิ่งดีๆ และเป็นสิริมงคลมาสู่ทุกคนในชุมชนต่อไป แต่ก็จะมีเด็กๆ วัยกำลังคึกคะนองพายเรือตามเรือไม้ไผ่ แถมยังกระโดดขึ้นเรือไปหาขนมของกินและผลไม้จากเรือไม้ไผ่ไปแบ่งกันกินอย่างสนุกสนาน ซึ่งก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องผิดหรืออัปมงคลแต่อย่างใด |
||||||
|
||||||
|
||||||
นับเป็นอีกหนึ่งประเพณีดีงามที่ชาวมอญเมืองสังขละฯ ยังคงรักษาไว้ได้อย่างดี เชื่อว่าใครที่ไปสัมผัสคงจะเห็นถึงความผูกพันเหนียวแน่นในพระพุทธศาสนา รวมทั้งเห็นถึงความสามัคคีของชาวมอญที่ช่วยกันสร้างเรือ ช่วยกันลากเรือ และยังสัมผัสกับความงามของเมืองสังขละบุรีอีกด้วย
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น