วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เปิด 3 มุมมอง ปฎิรูปสำเร็จต้องเริ่มที่ประชาชน




“นพ.ประเวศ วะสี” ชี้พลังพลเมืองคือปัจจัยชี้อนาคตการปฏิรูป ด้านดร.อมรา แนะรัฐบาลใหม่ต้องสรรหาคนทำงานปฎิรูปอย่างจริงจัง ส่วนดร.เดชรัต ขอปชช.พึ่งตนเองก่อน หยุดคาดหวัง ยันนากยฯ ในอดีต ก็ไม่ได้มุ่งเปลี่ยนแปลงปัญหาเชิงโครงสร้างแต่อย่างใด

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศไทยว่า การปฏิรูปประเทศไทยได้ว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดมาหลายปี และหวังว่าเมล็ดจะงอกขึ้น ซึ่งปัจจุบันทุกฝ่ายหันมาช่วยกันในเรื่องการขับเคลื่อนประเทศไทย จึงเกิดเป็นระเบียบวาระแห่งชาติขึ้นมา

สำหรับโจทย์ที่สำคัญและยาก ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า ก็คือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ ปฎิรูปประเทศไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นการที่มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ควรให้ประชาชนทั่วประเทศ ทุกจังหวัดมีส่วนร่วม โดยการจัดตั้งประชาคมจังหวัดมีหน่วยงานที่ทำเกี่ยวกับสมัชชาปฏิรูปต่างๆ ของแต่ละจังหวัด จึงจะสามารถทำให้ทั้งประเทศขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันได้ เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกันร่วมคิด ร่วมทำ และเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ พลังพลเมืองคือปัจจัยชี้อนาคตการปฏิรูป


“การปฏิรูประบบความเป็นธรรมยากสุดๆ เลย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เรื่องของประชาชนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นโจทย์การที่มีสภาปฏิรูปควรจะมีความเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วประเทศ ทุกจังหวัดควรมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสภาปฏิรูป คนกลุ่มหนึ่งจะทำให้สำเร็จได้ยากจึงต้องมีพลังทางสังคม” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว และว่า ส่วนการปฏิรูปโดยมีพรรคการเมืองเข้าร่วมนั้น พรรคการเมืองทุกพรรคไม่มีใครอยากปฏิรูปการเมือง เป็นเพียงทำตามที่กระแสสังคมบีบบังคับจึงต้องร่วมทำตามเท่านั้น


ด้านศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงว่าที่นายกรัฐมนตรีกับการทำงานเรื่องปฏิรูปประเทศไทยว่า ไม่แน่ใจเกี่ยวกับเรื่องปฏิรูปว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิก สปช. หากได้คนที่เหมาะสมและดำเนินการอย่างจริงจังเกี่ยวกับปัญหาของประชาชนก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อประชาชน แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากเช่นเดียวกัน

"เราต้องขับเคลื่อนในส่วนของภาคประชาขนด้วย ทำไปพร้อมๆกัน อย่าไปหวังพึ่งแต่สภาปฏิรูป เพราะการขับเคลื่อนไปพร้อมๆกันนั้นสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประชาชน" ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

ขณะที่ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ไม่คาดหวังกับเรื่องปฎิรูปประเทศไทยให้ดีขึ้น ไม่ว่าประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีท่านใดก็ตาม ทั้งในอดีตและปัจจุบัน พร้อมกับมองว่าประเทศไทยประสบกับปัญหาทางด้านโครงสร้างทางสังคมมากกว่า หากจะแก้ไขต้องแก้ไขโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ

"นากยกฯ ในอดีต ก็ไม่ได้มุ่งไปเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง แต่กลับไปมุ่งในการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นๆ ทำเพื่อตอบสนองต่อความนิยมทางการเมืองหรือเป้าหมายทางการเมืองของแต่ละท่านมากกว่า ฉะนั้นประชาชนต้องพึ่งตัวเองก่อน ” ดร.เดชรัต กล่าว





http://www.isranews.org/isranews-article/item/32289-reform210857.html



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น