วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557

จัดการน้ำอนาคต ‘ปราโมทย์’ ชงสร้างแผนแม่บทฯ สอดคล้องภูมิสังคม




‘ปราโมทย์ ไม้กลัด’ ชี้ทิศทางพัฒนาโครงสร้างจัดการน้ำต้องสร้างแผนแม่บทชัดเจน สอดคล้องภูมิสังคม ปชช.มีส่วนร่วมแสดงความเห็น อธิบดีกรมชลฯ เผย 15 ต.ค. 57 เตรียมแถลงแผนบริหารจัดการรูปธรรม นักวิชาการจี้ ‘ประยุทธ์’ เร่งผลักดัน กม.ทรัพยากรน้ำ ทันใช้ปี 58



วันที่ 21 สิงหาคม 2557 คณะทำงานกลุ่มผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จัดประชุมวิชาการ ‘มองอนาคตการบริหารจัดการน้ำไทย ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำไทยในอดีตภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทิศทางเพื่อมุ่งพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูก และไม่มีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นเช่นปัจจุบัน ยกเว้นกรณีภัยธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งสาเหตุทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเราไม่รู้เท่าทันธรรมชาติ มีสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำอย่างไม่สอดคล้องกับผังเมือง แม้แต่ทุ่งรังสิตที่เคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีสวนส้มที่มีชื่อเสียงก็ถูกเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านจัดสรร และประสบปัญหาน้ำท่วมในเวลาต่อมา

“กรุงเทพฯ ถือเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง ซึ่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ผลสำรวจการทรุดตัวของแผ่นดินระบุว่า ย่านดอนเมืองมีดินยุบตัวไปราว 80 ซม. ย่านรามคำแหง 1.25 ม. ประกอบกับแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงกว่าพื้นดินมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งหมดเกิดจากการสะสมปัญหาโดยขาดการวางระบบบริหารจัดการน้ำ”

อดีตอธิบดีกรมชลประทาน จึงเสนอทิศทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทรัพยากรน้ำไทย ด้วยให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจตรงกันว่าปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม และน้ำเสียนั้นเกิดจากความวิปริตผันแปรของธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ฉะนั้นเมื่อจะดำเนินการใด ควรบูรณาการเกี่ยวกับน้ำและทรัพยากรอื่นที่เกี่ยวข้องในเขตลุ่มน้ำควบคู่ด้วย โดยเฉพาะด้านภูมิสังคม และต้องมีความคาดหวังในผลสัมฤทธิ์ที่จะแก้ไขวิกฤต

ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำของประเทศให้สัมฤทธิ์ผล ควรมีแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำและพื้นที่ โดยการผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม มิเช่นนั้นจะเหมือนกรณีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่ไปไม่รอด ซึ่งความจริงเคยให้คำแนะนำแล้ว แต่รัฐบาลสมัยนั้นไม่รับฟัง โดยแผนแม่บทฯ ที่สำคัญ ได้แก่ แผนแม่บทการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำ แผนแม่บทการจัดการปัญหาอุทกภัย และแผนแม่บทการจัดการปัญหาคุณภาพน้ำ

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานบรรเทาและแก้ปัญหาอุทกภัยนั้น นายปราโมทย์ ระบุมี 2 แนวทาง คือ ยุทธศาสตร์ ‘สู้ภัย’ ต่อสู้กับแนวทางและปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นหลัก แต่ต้องดำเนินการควบคุมกับ ‘ปรับตัว’ ให้อยู่ในสภาพที่มีความสอดคล้องกับสภาวะ สร้างองค์ความรู้แก่ชุมชน หากเรามีกระบวนการคิด วิเคราะห์ ร่วมกันทุกฝ่าย โดยประยุกต์ใช้หลักการ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ย่อมทราบคำตอบว่าสุดท้ายควรใช้ยุทธศาสตร์ใด

“ทิศทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำของรัฐในอนาคต จำเป็นต้องเข้าใจและรัฐได้กำหนดนโยบายและแผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก้ปัญหาน้ำของชาติแต่ละด้านให้มีความชัดเจนและต่อเนื่อง ตลอดทุกลุ่มน้ำและพื้นที่มีศักยภาพให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม โดยอาศัยยุทธศาสตร์และมาตรการที่เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ จะต้องให้ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความคิดเห็น แต่หากไม่ดำเนินการเชื่อว่าการบริหารจัดการน้ำไทยจะไม่ราบรื่น” อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในที่สุด

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 85/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เรามีความตั้งใจจะสร้างกรอบนโยบายและแผนงานเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเน่าเสียในทุกมิติ ภายหลังก่อนหน้านี้มีการแก้ปัญหาเพียงมิติเดียว ดังเช่นกรณีน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม วันที่ 15 ตุลาคม 2557 คณะกรรมการจะแถลงแผนการบริหารจัดการน้ำขึ้น

อธิบดีกรมชลประทาน ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำไทยช่วงสิงหาคมนี้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นทำให้คาดการณ์ว่าการเพาะปลูกจะไม่มีปัญหา แต่หลังสิ้นฤดูฝนแล้ว พื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยาใหญ่จะมีปัญหา เพราะน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำสะสมน้อย

ขณะที่รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงกระบวนการจัดให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment (EIA) ในโครงการน้ำควรเกิดขึ้นจากหน่วยงานกลางระดับประเทศที่ได้รับความเชื่อถือ เพราะไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย มิเช่นนั้นหากปล่อยให้หน่วยงานที่สร้างเป็นผู้ศึกษาจะเกิดความลำเอียงได้

ส่วนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...นั้น ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าต้องผลักดันให้เกิดขึ้น มิฉะนั้นไทยจะไม่มีกฎหมายหลักในการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ ซึ่งหากเกิดวิกฤตน้ำท่วมเหมือนปี 2554 จะเกิดการแทรกแซงอำนาจการสั่งการอีก โดยขาดหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ให้ทันปี 2558 เพราะหากล่วงเลยอาจถูกดองได้ในรัฐบาลชุดต่อไป .

ภาพประกอบ:เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์





http://www.isranews.org/thaireform/thaireform-news/item/32290-water21.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น