วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ชิ้นส่วนพระเมรุมาศหลังการรื้อถอน จะทำอย่างไร | ความรู้เกี่ยวกับ พระเมรุมาศ


พระเมรุมาศ และพระเมรุ คือ สถาปัตยกรรมชั่วคราว หรือสถาปัตยกรรมเฉพาะกิจที่สร้างขึ้น ณ กลางใจเมือง .. เป็นพระเมรุขนาดสูงใหญ่ มีลักษณะเป็น “กุฎาคาร หรือ เรือนยอด” คือเรือนซึ่งหลังคาต่อเป็นยอดแหลม โดยในอดีตนิยมสร้างเป็นแบบ ยอดปรางค์ อาจมีพรหมพักตร์หรือไม่มีก็ได้ โดยพระเมรุมาศ ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า พระยุพราช สำหรับการตายที่ใช้ราชาศัพท์ว่า สวรรคต

ความรู้เกี่ยวกับ พระเมรุมาศ

ชิ้นส่วนพระเมรุมาศ หลังการรื้อถอน

ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว ชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของพระเมรุที่ถูกรื้อถอนบางส่วนจะนำไปถวายวัด เพื่อเป็นการกุศลแด่ผู้วายชนม์ โดยในสมัยก่อนส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มักจะเป็นตัวไม้ หลักๆ เท่านั้น ส่วนสัตว์หิมพานต์สมัยก่อน วัดวาอารามบางวัดจะขอเก็บไว้บ้าง แต่ที่เก็บไว้ก็เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา
เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพิเศษ โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือนรูปต่างๆ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สิ่งก่อสร้างเป็นไม้จริง ด้วยมีพระราชประสงค์ว่า ครั้นเสร็จการให้รื้อพระเมรุไปสร้างเรือนคนไข้ได้จำนวน 4 หลัง ณ บริเวณวังหลัง ซึ่งต่อมาคือโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน
พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หลังเสร็จสิ้นงาน เอาไปสร้างศาลาหลังหนึ่งที่วัดปทุมวนาราม ข้างวังสระปทุม โดยเมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธี ของทั้งหมดจะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักพระราชวัง โดยส่วนที่นำไปแปรธาตุไปใช้อย่างอื่นเช่น ศาลาต่างๆ ทับเกษตร ราชวัติ ส่วนที่เก็บไว้เช่น ส่วนฉัตร กลีบบัว ฉัตรปรุ โครงฉัตรผ้าฉลุทอง
หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อาคารพระเมรุและอาคารประกอบ ถูกรื้อถอนเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้หน่วยงานต่างๆ ส่วนที่ 2 เปิดประมูล และส่วนที่ 3 เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษา เช่น ชิ้นส่วน พระโกศจันทน์ รูปปั้นเทวดา สัตว์หิมพานต์

การสร้างพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง

content-m36
ท้องสนามหลวงเมื่อมีการใช้เป็นที่ตั้งของพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านายระดับสูง
การสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ สำหรับถวายพระเพลิง จะมี “ขนาดและรูปแบบ” งดงามวิจิตรแตกต่างกันตามยุคสมัย เป็นงานสร้างสรรค์ตามแรงบันดาลใจของช่าง โดยยึดคติโบราณที่สืบทอดกันมาเป็นแบบแผน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานคติการสร้างว่า “พระเมรุ” ได้ชื่อมาแต่การปลูกสร้างปราสาทอันสูงใหญ่ท่ามกลางปราสาทน้อย ที่สร้างขึ้นตามมุมทิศ มีโขลนทวาร (โคปุระ) ชักระเบียงเชื่อมถึงกัน ปักราชวัติเป็นชั้นๆ ลักษณะประดุจเขาพระเมรุตั้งอยู่ท่ามกลางมีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อม จึงเรียกเลียนชื่อว่า พระเมรุ ภายหลังเมื่อทำย่อลง แม้ไม่มีอะไรล้อม เหลือแต่ยอดแหลมๆ ก็ยังคงเรียกเมรุด้วย คนไทยมีความเชื่อและยึดถือเรื่องไตรภูมิตามคติของพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงจักรวาล มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสามรายล้อมด้วยสรรพสิ่งนานา อันเป็นวิมานของท้าวจตุโลกบาลและเขา สัตตบริภัณฑ์
ดังนั้นจึงนำคติความเชื่อจากไตรภูมิ มาใช้ในการประกอบพิธีถวายพระเพลิงเพื่อให้ได้ ถึงภพแห่งความดีงาม อันมีแดนอยู่ที่เขาพระเมรุนั้นเอง สิ่งก่อสร้างในการพระราชพิธีถวายพระเพลิง จะมีส่วนจำลองให้ละม้ายคล้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ ดังเช่น โบราณจะมีรูปสัตว์หิมพานต์ลักษณะหลากหลายนานาพันธุ์ บนหลังตั้งสังเค็ดผ้าไตรถวายพระสงฆ์ เข้าขบวนแห่อัญเชิญพระศพ
เมรุมาศทรงปราสาทยอดปรางค์ ภายในเป็นเมรุทองตั้งโกศศพทศกัณฐ์
เมรุมาศทรงปราสาทยอดปรางค์ ภายในเป็นเมรุทองตั้งโกศศพทศกัณฐ์

ภายในพระเมรุมาศ

ภายในพระเมรุมาศ มี “พระเมรุทอง” ลักษณะของพระเมรุมาศที่ปรากฏการสร้างมี 2 รูปแบบคือ พระเมรุมาศทรงปราสาท ที่สร้างมาแต่โบราณ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร และพระเมรุมาศทรงบุษบก
ส่วนพระเมรุ เช่นเดียวกับพระเมรุมาศ แต่มีขนาดเล็กลง และไม่มีพระเมรุทองภายใน ใช้สำหรับราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์ใช้ราชาศัพท์ว่า “ทิวงคต” หรือ “สิ้นพระชนม์”
การออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระเมรุ ต้องอาศัยการสร้างสรรค์ออกแบบจากผู้รอบรู้เจนจบงานศิลปกรรมของชาติ ช่างที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ทั้งงานออกแบบรูปลักษณ์ ก่อสร้างอาคาร การคิดลวดลายขึ้นประดิษฐ์ตกแต่งทุกส่วนให้เข้ากับอาคาร โดยมีหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงว่าพระเมรุมาศของพระองค์ใด ที่แสดงลักษณะของพระองค์นั้น

พระเมรุมาศ

พระเมรุมาศสมเด็จพระบรมราชชนนี
ในปี พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต พระเมรุมาศได้จัดสร้างโดยกรมศิลปากร ณ ท้องสนามหลวง งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างพระเมรุ นั้นประมาณ 120 ล้านบาท
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
พระเมรุมาศ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2527
พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ
พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551
c03
พระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2554 โครงสีของพระเมรุโดยรวมเป็นสีทองและสีชมพู ตามสีวันประสูติ คือวันอังคาร งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างประมาณ 260 ล้านบาท
* เมรุ อ่านว่า เมน
** เมรุมาศ อ่านว่า เม-รุ-มาด (เมรุมาศ ใช้ในระดับเจ้าฟ้า เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง)
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์กรมศิลปากร , นสพ. มติชน ออนไลน์ และ วิกิพีเดีย
https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/38015.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น