วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ฮันนิบาล (Hannibal) แม่ทัพผู้เขย่าขวัญกรุงโรม

“ข้าสาบานว่า เมื่อโตขึ้น ข้าจะทำลายพวกโรมันด้วยดาบและไฟ”

นี่เป็นคำสาบานของเด็กชายผู้หนึ่ง ที่เมื่อโตขึ้น เขาได้กลายเป็นหนึ่งในยอดขุนศึกของโลก ผู้เกือบจะทำลายล้างอาณาจักรโรมัน
ลงได้สำเร็จ ด้วยกองทัพจากกาฬทวีป




ฮันนิบาล บาร์กา (Hannibal Barca) (248 ปีก่อนคริสตกาล ถึง 184 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นรัฐบุรษแห่งคาร์เทจ และแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่
ที่สุดคนหนึ่งในยุคโบราณ เขาบุกโจมตีกรุงโรมและทำสงครามได้รับชัยชนะในทุกศึกเป็นเวลานานกว่า 15 ปี ด้วยกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ต่าง ๆ
ในการรบ ที่สำคัญคือ ตลอดเวลานั้น เขาไมได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากแผ่นดินแม่เลยแม้แต่ครั้งเดียว


อาณาจักรคาร์เธจ เดิมเป็นอาณานิคมการค้าของชาวฟินิเซียที่มาตั้งรกรากในอาฟริกาเหนือ จวบจนเมื่อดินแดนเดิมของฟีนิเซียถูกเปอร์เซีย
เข้ายึดครอง นครคาร์เธจก็กลายเป็นที่มั่นใหม่ของพวกฟีนิเซียและขยายตัวจนกลายเป็นอาณาจักรบนดินแดนอาฟริกาเหนือและเกิดการ
กระทบกระทั่งกับชาวโรมันที่ตั้งอาณาจักรบนคาบสมุทรอิตาลีโดยทั้งสองอาณาจักรต่างก็มีจุดมุ่งหมายจะครอบครองผลประโยชน์
ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจนทำให้กลายเป็นข้อขัดแย้งและนำไปสู่สงคราม


Hannibal-Barca แม่ทัพฮันนิบาล



ฮันนิบาลเกิดที่สเปน เมื่อปีที่ 248 ก่อน ค.ศ. บิดาของเขาเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งคาร์เทจ ชื่อ ฮามิลคาร์ บาร์กา (Hamilcar Barca)
ซึ่งเคยนำทัพคาร์เธจทำสงครามกับชาวโรมันในสงครามปูนิคครั้งที่หนึ่ง ซึ่งสุดท้าย คาร์เธจตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และความปราชัยในครั้งนั้น
กับความแค้นที่มีต่อชาวโรมันได้ฝังแน่นในใจของฮาร์มิคาร์ ซึ่งแม่ทัพใหญ่ก็ได้ส่งต่อความแค้นเป็นมรดกตกทอดมาถึงฮันนิบาล
ผู้เป็นบุตรชายคนโต โดยฮามิคาร์ได้ให้บุตรของเขาสาบานต่อหน้าเปลวไฟว่าจะทำลายล้างชาวโรมันให้ถึงที่สุด


ฮันนิบาลมีน้องชายอีกคนชื่อว่า ฮัสดรูบาลและมาร์โก ทั้งสามถูกเลี้ยงให้เติบโตมาอย่างนักรบ โดยเฉพาะฮันนิบาลที่ถูกบิดาเคี่ยวกรำอย่างหนัก
เพื่อเตรียมพร้อมต่อการรับภาระสำคัญในวันหน้า
หลังสงครามปูนิคครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ฮามิคาร์ได้นำกองทัพคาร์เธจขยายอำนาจรุกเข้าไปในคาบสมุทรไอบีเรีย โดยตั้งเมืองคาร์ธาจีนา
เป็นศูนย์กลางอำนาจ โดยใช้ทั้งยุทธวิธีทางการทหารและวิธีการทางการทูต จนกระทั่งในเวลาต่อมา ฮามิลคาร์ก็ได้เสียชีวิตในการรบ
เพื่อกำราบชนพื้นเมืองในคาบสมุทรไอบีเรีย ฮัสดรูบาล (Hasdrubal the Fair) บุตรเขยของเขาจึงรับหน้าที่เป็นแม่ทัพต่อมา
โดยฮัสดรูบาลสามารถสร้างกองทัพคาร์เธจใหม่ได้สำเร็จ แต่ทว่าไม่นาน เขาก็สิ้นชีวิตลงเนื่องจากถูกชนพื้นเมืองชาวเคลต์ลอบสังหาร
และก่อนที่คำสั่งแต่งตั้งแม่ทัพคนใหม่จะมาถึง เหล่าทหารก็ยกให้ฮันนิบาลขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งคาร์ธาจีนา

หลังจากรับตำแหน่ง ฮันนิบาลยังไม่วางแผนโจมตีโรมในทันที เนื่องจากต้องการสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็งกับบรรดาเมืองและชนเผ่าต่าง ๆ
ในคาบสมุทรไอบีเรียเสียก่อน โดยในการณ์นี้ ฮันนิบาล ได้สมรสกับ อิมิเช่ เจ้าหญิงของนครใหญ่แห่งหนึ่งในสเปนเพื่อสร้างความสัมพันธ์
ที่แน่นแฟ้นกับชนพื้นเมือง อย่าไงรก็ตาม ในบรรดาเมืองที่ฮันนิบาลขอทำข้อตกลงด้วยนั้น ยังมีนครซากุนตัม ซึ่งมีเหมืองเงินที่อุดมสมบูรณ์
ได้หันไปขอเป็นพันธมิตรกับโรมและปฏิเสธข้อเสนอของฮันนิบาล นอกจากนี้ ยังวางแผนที่จะดึงพันธมิตรต่าง ๆ ในไอบีเรียไปจากคาร์เธจอีกด้วย



Roma-Cartago-264-BC แผนที่อาณาจักรคาร์เธจและโรมัน

ฮันนิบาลจึงตัดสินใจเข้าโจมตีซากุนตัมในปีที่ 219 ก่อน ค.ศ. แม้จะรู้ว่านั่นหมายถึงสงครามกับโรมก็ตาม ซึ่งหลังจากล้อมเมืองอยู่เจ็ดเดือน
ทัพคาร์เทจก็พิชิตซากุนตัมได้สำเร็จ

เรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้สาธารณรัฐโรมันไม่พอใจมาก แต่เนื่องจากยังไม่ต้องการทำสงคราม ดังนั้น ทางสภาแห่งโรมจึงสั่งให้คาร์เธจส่งตัว
ฮันนิบาลไปยังโรม ทางคาร์เธจปฏิเสธและระดมกองทัพโดยให้ฮันนิบาลเป็นผู้บัญชาการ และในปีที่ 218 ก่อน ค.ศ. สงครามปูนิคครั้งที่ 2
ก็เริ่มขึ้น ฮันนิบาลแม่ทัพหนุ่มวัย 29 ปี ยกกองทัพอันประกอบด้วยทหารราบชาวคาร์เธจและสเปนจำนวน 70,000 นาย ทหารม้า
ชาวนูมิเดียน 12,000 นาย และช้างศึกอาฟริกันหุ้มเกราะ 40 เชือก ออกจากคาร์ธาโกโนวา (คาเธจใหม่ ซึ่งหมายถึงดินแดนสเปน)
ทางโรมเชื่อว่าฮันนิบาลจะเข้าตีโรมโดยทางเรือ จึงเตรียมการป้องกันตลอดแนวชายฝั่ง ทว่าฮันนิบาลกลับทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด
คือการวางแผนรุกข้ามเทือกเขาพีเรนีสและเทือกเขาแอลป์เข้าไปทางตอนเหนือของคาบสมุทรอิตาลีเพื่อโจมตีกรุงโรม



คาร์เธจ ทัพคาร์เธจข้ามเทือกเขาแอลป์

ในเวลานั้น เป็นฤดูหนาว ซึ่งทำให้การเดินทางข้ามเทือกเขาแอลป์เป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง โดยมีครั้งหนึ่งที่กองทัพคาร์เธจ
เจอกับโขดหินใหญ่ขวางทางเดินจนไปต่อไม่ได้ เขาจึงให้เอาไฟสุมหินนั้นจนร้อนและราดน้ำส้มสายชู (บางตำราว่า เป็นไวน์) ลงไป
บนหินนั้นจนทำให้มันแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ เปิดช่องทางให้กองทัพของเขา

นอกจากสภาพอากาศและภูมิประเทศอันทารุณแล้ว กองทัพคาร์เธจยังถูกโจมตีจากพวกชาวเขาที่เป็นพันธมิตรกับโรม จนทำให้เสียไพร่พล
ไปเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อข้ามพ้นเทือกเขาแอลป์ในสองสัปดาห์ต่อมา ฮันนิบาลเหลือทหารราบเพียง 20,000 นายและทหารม้าอีก 6,000 นาย
กับช้างศึกอีก 40 เชือกเท่านั้น



เมื่อทราบข่าวทัพคาร์เธจบุกข้ามเทือกเขาแอลป์ กงสุลโรมันนาม สคิปิโอ ได้นำทหารโรมันสองกองพล (รวม 12,000 นาย)
ยกมารับศึก ซึ่งแม้ว่า กองทัพคาร์เธจจะมีจำนวนมากกว่า ทว่าทหารส่วนใหญ่ล้วนอ่อนล้าหมดแรงจากการเดินทาง ผิดกับกองทัพ
โรมันที่ยังแข็งแกร่งสดชื่น

ฮันนิบาลจึงใช้ยุทธิวิธีกองโจร โดยนำกองทหารม้านูมิเดียนที่ยังเข้มแข็งจำนวนหกพันนาย ซุ่มโจมตีกองทัพโรมันที่ธีซีนุส
และสามารถตีกองทัพ โรมันแตกพ่ายยับเยิน กงศุลสคิปิโอได้รับบาดเจ็บสาหัสแต่โชคดีที่บุตรชายของเขาที่ชื่อ สคิปิโอ
ได้ช่วยคุ้มกันพาหนีออกจากสนามรบไปยังค่ายใหญ่ที่พลาเซนเทีย

ชัยชนะที่ ธีซีนุส สร้างขวัญกำลังใจให้กองทัพคาร์เธจเป็นอันมาก และที่สำคัญ ยังทำให้ฮันนิบาลสามารถสร้างพันธมิตร
กับพวกชนเผ่าเซลติกที่อยู่ทางเหนือของคาบสมุทรอิตาลีได้อีกด้วย โดยได้นักรบชาวเซลต์มาร่วมกับกองทัพคาร์เธจ

เมื่อสภาแห่งโรมทราบข่าวความพ่ายแพ้ที่ธีซีนุส จึงมีคำสั่งให้กงสุลอีกคนของโรม (กรุงโรมในตอนนั้นเป็นสาธารณรัฐ
จะมีการเลือกกงสุลสองคนขึ้นมาครองอำนาจร่วมกัน) นามว่า แซมโปรนิอุส ลองกิอุส นำทัพจากซิซิลี ไปสมทบกับ
กองทัพของสคิปิโอที่พลาเซนเทีย

ในเดือนธันวาคม ปีที่ 218 ก่อน ค.ศ. ฮันนิบาลได้นำกองทัพคาร์เธจซึ่งประกอบด้วยทหารราบส 20,000 นายและทหารม้านูมิเดียน
กับเซลติกรวม 10,000คน ยกไปสกัดทัพของลองกิอุสที่มีกำลังพลกว่า 42,000 นายที่แม่น้ำเทรเบีย และได้รับชัยชนะ สามารถโจมตี
ข้าศึกจนแตกพ่าย สังหารทหารโรมันไป 32,000 นาย


Battle-Trebia218สมรภูมิเทรเบีย

หลังได้รับชัยชนะที่เทรเบีย ฮันนิบาลได้ตั้งค่ายพักในช่วงฤดูหนาวโดยได้รับการสนับสนุนทั้งเสบียงอาหาร
และกำลังเสริมอีกหลายหมื่นจากพันธมิตรเซลติกในแคว้นกอล ขณะที่ทางด้านกรุงโรมได้แต่งตั้งกงสุลใหม่สองคน
คือ ไกเนอุส เซอวีลิอุส กับ ไกอุส ฟลามินิอุส เพื่อรับศึก โดยทั้งสองได้นำกองทัพแยกไปปิดเส้นทางสายตะวันออก
และสายตะวันตก เพื่อสกัดไม่ให้ทัพคาร์เธจบุกเข้าถึงกรุงโรม

การปิดเส้นทางของทัพโรมัน ทำให้ฮันนิบาลเหลือเพียงเส้นทางสายเดียวที่จะเข้าสู่ที่ราบภาคกลางของอิตาลี คือบริเวณภูเขาอาร์โน
ซึ่งมีเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่เต็มไปด้วยหนองบึงและแมลงมีพิษ ซึ่งแม้ฮันนิบาลจะรู้ดีว่าเส้นทางสายนี้ยากลำบากแค่ไหน แต่เขาก็เลือก
จะใช้เส้นทางสายนี้เดินทัพสู่ภาคกลางของอิตาลี เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด

กองทัพคาร์เธจจะใช้เวลาเพียงสี่วันสามคืนในการเดินทัพข้ามเทือกเขาแอพเพนไนน์และเขตหนองบึงของอาร์โน โดยสูญเสียไพร่พลไป
เป็นจำนวนมาก รวมทั้งช้างศึก โดยช้างอาฟริกาที่นำมาได้ล้มตายลงจนหมด เหลือเพียงช้างประจำตัวของแม่ทัพฮันนิบาล ที่เป็นช้างเอเชีย
เชือกเดียวเท่านั้น ส่วนตัวแม่ทัพฮันนิบาลเองก็ถูกแมลงมีพิษกัด จนทำให้ดวงตาขวาบอดสนิท

กองทัพที่สะบักสะบอมนี้ ต้องเผชิญหน้ากับกองทัพโรมันของกงศุลฟลามินิอุสที่มีกำลังพลมากกว่าสามหมื่นนาย ฮันนิบาลลวง
ให้ข้าศึกไล่ติดตาม และส่งกำลังพลส่วนหนึ่งไปตั้งค่ายล่อข้าศึกที่ริมทะเลสาปทราซิเมน โดยหลอกให้ทัพโรมันใช้เส้นทาง
เลียบริมฝั่งทะเลสาบเพื่อเข้าตีค่ายคาร์เธจ

ในวันที่ 21 มิถุนายน ปีที่ 217 ก่อน ค.ศ. กงศุลฟลามินิอุสนำทหารสามหมื่นคนออกจากค่ายเดินทัพเลียบทะเลสาปทราซิเมน
เพื่อเข้าตีทัพคาร์เธจ โดยไม่รู้ตัวเลยว่า กำลังตกอยู่ในกับดักของฝ่ายตรงข้าม ฮันนิบาลได้ส่งกองทหารย่อยๆไปหลอกล่อพวก
โรมันให้แตกขบวน จากนั้นจึงให้ทหารม้าทั้งหมดเข้าตีทัพโรมันที่เคลื่อนกำลังอยู่ริมทะเลสาบ โดยส่งกองทหารราบทั้งคาร์เธจ
และพันธมิตรเซลติกเป็นกำลังหนุน

กองทหารโรมันถูกบีบให้รบในพื้นที่จำกัด และตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จนถูกบดขยี้ยับเยิน เย็นวันนั้น ทหารโรมันกว่า 15,000 นาย
จมน้ำตายหรือไม่ก็ถูกสังหาร จนซากศพลอยเกลื่อนทะเลสาบ ส่วนกงสุล ฟลามินิอุส ถูกสังหารในที่รบ




tresimannสมรภูมิทะเลสาปทราซิเมน

หลังทำลายล้างข้าศึกที่ทะเลสาปทราซิเมน ฮันนิบาลได้นำทัพคาร์เธจรวมกับพันธมิตรทั้งสิ้นกว่า 50,000 นาย
บุกเข้ายังที่ราบภาคกลางของอิตาลี แต่เขาก็ไม่ได้บุกไปยังกรุงโรม เพราะรู้ดีว่า กองทัพของเขายังไม่มีอุปกรณ์อาวุธหนักมากพอ
ที่จะเข้าโจมตีป้อมปราการขนาดมหึมาอย่างโรม เขาจึงยกทัพลงใต้ เพื่อบีบให้นครที่เคยเป็นพันธมิตรกับโรม หันมาเข้ากับ
ฝ่ายคาร์เธจแทน

ในยามนั้น สถานการณ์ในกรุงโรมกำลังคับขัน สภาโรมได้ตั้ง ฟาบิอุส แมกซิมุส เป็นกงสุลคนใหม่ เพื่อรับศึก ฟาบิอุสใช้กลยุทธที่โหดเหี้ยม
โดยปล่อยให้ฮันนิบาลเข้าปิดล้อมโจมตีนครที่เป็นพันธมิตรของโรมไปเรื่อยๆ เพื่อให้ฝ่ายคาร์เธจต้องสูญเสียกำลังพลและอ่อนแอลง

อย่างไรก็ตาม แม้กลยุทธ์ของฟาบิอุสจะตัดทอนกำลังข้าศึกได้ ทว่าสภาแห่งโรมกลับมองว่าเป็นเสียเกียรติภูมิอย่างยิ่งที่ปล่อยให้ทัพข้าศึกเข้า
ย่ำยีเมืองต่างๆในอิตาลีตามใจชอบ อีกทั้งพวกเขายังเกรงว่า หากปล่อยให้ฮันนิบาลอยู่ในคาบสมุทรอิตาลีนานเกินไป สุดท้าย โรมอาจต้อง
เสียพันธมิตรและเมืองขึ้นทั้งหมดไปในที่สุด ดังนั้น โรมจึงปลดฟาบิอุสและตั้งกงสุลใหม่ขึ้นรับตำแหน่ง คือ ไกอุส เทเรนติอุส วาโร และ
ลูเชียส เอมิลิอุส เปาลุส พร้อมทั้งระดมไพร่พลตั้งกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โรมันด้วยไพร่พลถึง 100,000 นาย เพื่อหมายบดขยี้
ทัพคาร์เจให้ย่อยยับ ซึ่งด้วยกองทัพอันมหึมานี้ ทำให้สภาแห่งโรมมั่นใจในชัยชนะมาก จนถึงกับมีสมาชิกสภาจำนวนนับร้อยเดินทางไปกับ
กองทัพเพื่อร่วมชมชัยชนะ

ข้างฝ่ายฮันนิบาล ในตอนนั้นเขามีรี้พลทั้งสิ้น 50,000 นาย ประกอบด้วยทหารม้า 10,000 นาย และทหารราบ 40,000 นาย โดยเขาได้
วางแผนเข้าปะทะกับข้าศึกในที่ราบ ด้วยการแบ่งกำลังทัพเป็นสามส่วน โดยล่อให้กองทัพโรมันทั้งหมด เข้าตีกำลังส่วนกลางซึ่งเป็นทหารราบล้วนๆ
จากนั้นปีกทั้งสองข้างที่มีทหารม้าเป็นกำลังหลักและทหารราบเป็นกองหนุนจะตีโอบเข้ามา และกระหนาบพวกโรมันไว้ตรงกลาง



cannaeสมรภูมิคานาเอ

กองทัพสองฝ่ายปะทะกันที่ คานาเอในวันที่ 2 สิงหาคม ปีที่ 216 ก่อน ค.ศ. กองทัพโรมันตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ยับเยิน
กงสุลเอมิลิอุสตายในที่รบ พร้อมสมาชิกสภาอีกแปดสิบคน ทหารโรมันถูกสังหารเจ็ดหมื่นห้าพันนาย ถูกจับเป็นเชลยกว่าหนึ่งหมื่นนาย
ขณะที่ฝ่ายคาร์เธจสูญเสียกำลังพลไปเพียง 5,700 นาย

ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่คานาเอ ทำให้เส้นทางสู่โรมเปิดกว้าง ทว่าฮันนิบาลก็ยังไม่ยอมเข้าโจมตีกรุงโรมแต่เลือกจะยื่นข้อเสนอ
ให้อีกฝ่ายยอมจำนน หากแต่ทางโรมกลับบอกปัด ซึ่งการที่ฮันนิบาลไม่ยอมเข้าทำลายกรุงโรมอาจเนื่องมาจาก เขายังได้รับ
การสนับสนุนจากแผ่นดินแม่และพันธมิตรไม่มากพอ รวมทั้งยังขาดอาวุธหนักในการโจมตีเมือง อย่างไรก็ตาม การละทิ้ง
โอกาสอย่างน่าเสียดายนี้ ทำให้ มาฮาร์บาล นายทหารของเขาวิจารณ์ว่า

”ฮันนิบาล ท่านรู้วิธีเอาชนะข้าศึกได้ แต่ไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากชัยชนะที่ได้มา อย่างไร”


ความพ่ายแพ้ยับเยินที่คานาเอ ทำให้โรมหันไม่กล้าจะเผชิญหน้ากับทัพคาร์เธจโดยตรง ทำให้นครพันธมิตร
หลายแห่งของโรมแปรพักตร์ไปเข้ากับคาร์เธจ ทั้งยังทำให้อาณาจักรมาซิโดเนียเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับคาร์เธจและถือเป็นโอกาส
ทำสงครามกับโรมด้วย ขณะเดียวกับโรมได้เลือกใช้กลยุทธ์ของฟาบิอุสอีกครั้ง โดยปล่อยให้ทัพคาร์เธจรุกเข้าไปในแผ่นดินโรมัน
และโจมตีเมืองต่างๆไปเรื่อยๆ เพื่อหวังให้ข้าศึกอ่อนกำลังลง

อย่างไรก็ตาม คาร์เธจก็ยังมีโอกาสได้ทำศึกใหญ่กับกองทัพโรมันอีกสองครั้งในปีที่ 212 ก่อน ค.ศ.และได้ชัยชนะทั้งสองครั้ง
จากนั้น ทัพคาร์เธจก็เอาชนะกองทัพโรมันได้อีกครั้งในปีที่ 208 ก่อน ค.ศ.และสังหารกงสุลได้อีกสองคน



ทว่าการทำสงครามมายาวนาน ทำให้กองทัพคาร์เธจอ่อนกำลังลง อีกทั้งยังต้องแบ่งกำลังพลเพื่อคอยดูแลนครที่ตีได้
นอกจากนี้ศัตรูทางการเมืองของฮันนิบาลได้ขึ้นมากุมอำนาจในคาร์เธจและไม่สนับสนุนกองทัพของเขาในการทำสงครามอีก
ขณะที่โรมได้สะสมกำลังพลและเริ่มการตอบโต้ โดยการเข้ายึดนครที่เป็นพันธมิตรกับคาร์เธจกลับคืน ทีละเมือง

ฮันนิบาลได้เรียกกำลังเสริมจากคาธาโกโนวาในสเปน โดยให้ฮัสดรูบาลน้องชายของเขานำทัพมาสมทบ ทว่ากองทัพของฮัสดรูบาล
ถูกทัพโรมันที่นำโดย สคิปิโอ ผู้เป็นบุตรชายของกงสุลสคิปิโอ ที่เคยพ่ายแพ้ต่อคาร์เธจที่ธีซีนุส ดักซุ่มโจมตี จนแตกพ่าย
ไพร่พลล้มตายจนหมดสิ้นรวมทั้งฮัสดรูบาลด้วย จากนั้นไม่นาน มาร์โก น้องชายคนสุดท้องของเขาก็เดินทางไประดมทัพหนุน
เพื่อนำมาสมทบ ทว่ากองหนุนก็ถูกพวกโรมันดักทำลายล้างจนพินาศ พร้อมทั้งสังหารมาร์โกอีกด้วย ส่วนทางด้านมาซิโดเนียนั้น
ก็พ่ายแพ้ต่อพวกโรมันในสงครามและยกเลิกการเป็นพันธมิตรกับคาร์เธจ

ความพ่ายแพ้และความตายของน้องชายทั้งสอง รวมกับการสูญเสียพันธมิตร ได้ดับความหวังที่จะทำสงครามในอิตาลีต่อไป
ของฮันนิบาล กองทัพของเขาในยามนี้ เหลือไพร่พลไม่กี่พันนาย ทั้งยังขาดเสบียงอาหารและอาวุธ

และในปีที่ 203 ก่อน ค.ศ. หลังทำสงครามในอิตาลีมายาวนานถึงสิบห้าปี ฮันนิบาลก็ถูกเรียกตัวกลับคาร์เธจ เพื่อปกป้องมาตุภูมิ
จากการรุกรานของกองทัพโรมัน ที่นำโดย สคิปิโอ



สคิปิโอเคยมีชัยเหนือกองทัพคาร์เธจที่นำโดยน้องชายของฮันนิบาลมาแล้ว ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขาได้ศึกษากลยุทธ์
ของจอมทัพอาฟริกาเหนือผู้นี้ จนเข้าใจทะลุปรุโปร่ง อีกทั้งยังลอบติดต่อกับชาวนูมิเดียนและซื้อตัวพวกนั้นมาเป็นทหารม้าของโรม
เพื่อตัดกำลังฝ่ายคาร์เธจ ทำให้กองทัพของคาร์เธจต้องเสียกองทหารม้าชั้นยอดไป อีกทั้งทหารที่มีในคราวนี้ ส่วนใหญ่เป็นทหาร
ที่เพิ่งถูกเกณฑ์มา ยังขาดประสบการณ์ในการรบ ผิดกับฝ่ายโรมัน ที่ล้วนเป็นทหารชำนาญศึก

หลังระดมทัพแล้ว ฮันนิบาลได้นำทหารราบ 36,000 นาย ทหารม้า 4,000 นาย ช้างศึก 80 เชือก ยกไป
เผชิญหน้ากับกองทัพโรมันของสคิปิโอ ที่ประกอบด้วย ทหารราบ 30,000 นาย และทหารม้า 6,000 นาย โดยกองทัพสองฝ่าย
เข้าปะทะกันที่ทุ่งราบซามา ในอาฟริกาเหนือ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ปีที่ 202 ก่อน ค.ศ. ซึ่งผลของสงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้
อย่างยับเยินเป็นครั้งแรกขิงฮันนิบาลและฝ่ายคาร์เธจ โดยทัพคาร์เธจเสียไพร่พลไปกว่า 30,000 นาย ขณะที่ โรมันเสียทหาร
ไปเพียง 2,500 นาย เท่านั้น



zama



ความพ่ายแพ้ที่ซามา ทำให้คาร์เธจต้องยอมสงบศึกกับโรมและต้องยกดินแดนในคาบสมุทรไอบีเรียให้โรมันเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม
อีกทั้งถูกจำกัดจำนวนกองเรือลง ทว่าแม้จะพ่ายศึก แต่ฮันนิบาลก็สามารถฟื้นฟูคาร์เธจได้อย่างรวดเร็ว ทำให้โรมจับตามองอย่าง
ไม่ไว้ใจ จนกระทั่งในปีที่ 14 หลังสงครามที่ซามา ทางสภาแห่งโรมได้สั่งให้คาร์เธจส่งตัวฮันนิบาลให้แก่โรม ทว่า ฮันนิบาล
ได้พาครอบครัวหนีไปอยู่ที่เมืองไทร์ (ปัจจุบันอยู่ในเลบานอน) ซึ่งเป็นเมืองแม่ของคาร์เทจ (ชาวฟินิเชียนจากเมืองไทร์เป็นผู้ก่อตั้งเมืองนี้)
และจากนั้นจึงเดินทางไปที่เมืองเอเฟซุส (ปัจจุบันอยู่ในตุรกี)

ขณะอยู่ที่เอเฟซุส ฮันนิบาลพยายามสนับสนุนพระเจ้าแอนติโอคัสที่ 3 (Antiochus III) กษัตริย์แห่งเมืองนั้นให้ทรงทำสงคราม
กับโรมัน และเขาก็ได้บัญชาการทัพเรือของพระองค์ในปีที่ 195 ก่อน ค.ศ.แต่ก็พ่ายแพ้ในยุทธการใกล้แม่น้ำยูริเมดอน เขาจึงหนี
จากเอเฟซุส (ซึ่งมีทีท่าว่าจะส่งตัวเขาให้กับโรมัน)ไปอยู่เกาะครีต แต่จากนั้นไม่นานก็กลับมาที่เอเชียไมเนอร์ อีกครั้ง โดยขอลี้ภัย
อยู่กับ พระเจ้าปรูซีอัสที่ 1 (Prusias I) แห่งบิทิเนีย โดยฮันนิบาลได้ช่วยพระองค์รบกับกองทัพจากเมืองเปอร์กามัม

ต่อมา เมื่อโรมทราบที่อยู่ของฮันนิบาล ก็ได้ส่งทูตบีบให้บิทิเนียส่งตัวฮันนิบาลมาให้ ซึ่งแม้ในตอนแรก จะปฏิเสธ แต่สุดท้าย
พระเจ้าปรูซีอัสที่ 1 ก็ทรงยินยอมที่จะส่งตัวฮันนิบาลให้โรม ในที่สุดเมื่อสิ้นหนทางหนี ฮันนิบาลจึงตัดสินใจที่จะจบชีวิตของตนลง
ด้วยการดื่มยาพิษ ในบ้านพักของเขาที่เมืองลิบิสซา ริมชายฝั่งตะวันออกของทะเลมาร์มารา เมื่อปีที่ 183 ก่อน ค.ศ.
แทนการตกในเงื้อมมือศัตรู

แม้ว่าจะไม่อาจพิชิตกรุงโรมได้ แต่ฮันนิบาลก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในยอดแห่งแม่ทัพของโลก ด้วยว่าตลอด
ระยะเวลา 15 ปีที่เขาทำศึกในดินแดนโรมันนั้น ฮันนิบาลไม่เคยพ่ายแพ้แม้แต่ครั้งเดียว ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้รับกำลังสนับสนุน
จากแผ่นดินแม่เลย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น