วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

ปี ๒๔๙๓ ..สัมภาษณ์พระคู่หมั้นฯ





71

เนื่องในโอกาสวันราชาภิเษกสมรสที่เวียนมาบรรจบครบ ๖๕ ปี ในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๘ จึงขอนำเสนอบทความเก่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งบางท่านอาจจะยังไม่เคยอ่าน

ทั้งนี้ ขอพระบรมราชานุญาตแทนพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังเมื่อครั้งทรงเป็นพระคู่หมั้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ว่า “คุณหญิง” (ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร พระคู่หมั้นฯ) ในการสัมภาษณ์เมื่อครั้งนั้น

ควรมิควรแล้วแต่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมฯ

………………………………

K6169015-35

บทความนี้ถือเป็นเอกสารชั้นต้นสำคัญที่สุดที่เป็นหลักฐานข้อมูลของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร พระคู่หมั้น เพียงไม่กี่ชิ้นที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันนี้ และเท่าที่ค้นหาพบได้

…………………………..

เริ่มเรื่อง…

อยากชมบุญคุณหญิงสิริกิติ์ฯ อีกเหลือเกิน นี่เป็นความคิดส่วนตัวของข้าพเจ้า ที่เกิดขึ้นภายหลังได้เห็นโฉมคุณหญิงสิริกิติ์ฯ อย่างใกล้ชิด เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ณ กระโจมพักหน้ากระทรวงการต่างประเทศ

และความต้องการนั้นเองที่นำข้าพเจ้าพร้อมด้วยหนังสือโฆษณาสาร ๖ เล่ม กับเพื่อนร่วมกรม(กรมโฆษณาการ)อีก ๓ คน ไปวังหม่อมเจ้านักขัตรมงคลฯ ด้านริมคลองเทเวศน์ เวลาเกือบ ๑๐ นาฬิกา ของวันที่ ๑ เมษายน นี้ ด้วยไม่รู้จักวังนี้จึงนั่งรถเลยไปจนถึงหน้าบ้านพระยาอนิรุทธเทวา ได้ไต่ถามคนข้างทางว่าใช่หรือไม่ เขาชี้ไปที่ประตูทาสีไข่ไก่ใหม่เอี่ยมให้ และบอกว่าอยู่โน้น ข้าพเจ้ากับเพื่อนต้องย้อนกลับไป พอเห็นมีตำรวจยืนยามอยู่ก็บอกกันว่าใช่แน่

ในที่สุดก็เข้าไปยืนอยู่ใต้ต้นมะม่วง ถามเจ้าหน้าที่ที่ยืนรักษาการณ์อยู่ว่าเข้าพบได้หรือไม่ เขาบอกให้เซ็นชื่อลงในสมุดเยี่ยมพร้อมความประสงค์ ข้าพเจ้าเขียนลงไปว่า มาจากหนังสือโฆษณาสารของกรมโฆษณาการ เซ็นชื่อกันทุกคนแล้วเจ้าหน้าที่ก็นำสมุดเข้าไปเสนอข้างในวัง

เมื่อข้าพเจ้าไปถึงที่นั้น ยังมีผู้ที่จะเข้าพบคุณหญิงคอยอยู่ก่อนเรา ๒ ถึง ๓ คณะ ขณะยืนคอยอยู่อย่างใจตื่นเต้นนั้น ก็มีรถเก๋งสีดำคันใหญ่แล่นเข้าไปในวัง พวกเราใจหาย นึกว่าถ้าจะไม่ได้พบคุณหญิงเสียแล้ววันนี้ ขณะนั้นผู้นำสมุดรายชื่อเพื่อขออนุญาตเข้าพบได้ออกมาบอกกับเราว่า “บางทีคุณหญิงจะเข้าวัง ขอให้มาวันหลัง”

พวกเราหน้าเสีย คิดว่าบุญไม่ถึงแน่ แต่ไหนๆ มาแล้วก็ขอนั่งพักคอยชมตอนรถออกจากวังก็ยังดีละ สักพักรถเก๋งคันนั้นก็เคลื่อนออกจากวัง แต่ไม่มีคุณหญิงและหม่อมแม่ออกไปด้วย พวกเราจึงดีใจ จะพยายามอ้อนวอนขอพบอีกครั้ง เพราะไหนๆ ก็ตั้งใจมาแล้ว และหนังสือ ๖ เล่มที่เตรียมไปก็ยังไม่ได้นำไปให้

ดังนั้น ข้าพเจ้าก็เริ่มเขียนนามบัตรนั้นก็ใช้ไม่ได้ เอ ไม่ทราบจะทำประการใดดี มีทางเดียวกระดาษสีฟ้าที่เตรียมไปจดคำสัมภาษณ์นั้น พอจะใช้เขียนจดหมายได้ กระนั้นก็ยังขาดซองอยู่ดี ไม่มีทางอื่นจะดีกว่าอยู่แล้ว รู้อยู่ว่าเป็นการผิดมรรยาทที่เขียนจดหมายไม่ใส่ซอง แต่จำเป็นจริงๆ จำตองทำทั้งๆ รู้ และก็ขออภัยกับคุณหญิงไปในจดหมายนั้นเอง

NjpUs24nCQKx5e1GyDDUI9pZvrn3mKFYDYBNytiyyKD

ข้าพเจ้าได้เขียนบอกความประสงค์แก่คุณหญิงสิริกิติ์ว่า อยากจะมาขอเรื่องสั้นๆ ไปลงโฆษณาสารเพื่อเป็นศรีและเป็นเกียรติแก่หนังสือ และประสงค์จะเรียนถามว่าหากทางหนังสือ ปรารถนาถ่ายภาพคุณหญิงไปลงโฆษณาสารบ้าง จะกรุณาเปิดโอกาสได้หรือไม่และเมื่อไหร่ ในตอนท้ายข้าพเจ้าเติม ป.ล.ลงไปว่า

“ชนอ นิลประสิทธิ์” (ชวลี ช่วงวิทย์ ผู้ขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” ของในหลวง) มากับดิฉันด้วย พวกเราเสียใจมากที่ไม่ได้พบคุณหญิงครั้งนี้ แต่หวังว่าในโอกาสหน้าคุณหญิงจะกรุณาพวกเรานะคะ”

แล้วหนังสือโฆษณาสาร ๖ เล่ม พร้อมกับจดหมายนั้นได้เดินทางเข้าไปหาคุณหญิง

เราสี่คน ชนอ นิลประสิทธิ์ , ประดับ นิลประสิทธิ์ , ยุบล ครุฑมงคล และข้าพเจ้าได้ช่วยกันภาวนาขอให้คุณหญิงใจอ่อน อนุญาตให้เราเข้าพบสักครั้งเถิด เราร้อนใจกันจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์เขาร้อนใจไปกับเราด้วย

ในที่สุดผู้ถือสาส์นของเราก็ออกมามือเปล่า พวกเราพนันกันว่าจะได้เข้าหรือไม่ สังเกตจนกระทั่งหน้าของผู้นำข่าวมาบอกว่าบึ้งหรือยิ้ม เผอิญเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเฉยเสียด้วยเดาไม่ออก ต้องรีบชิงถามกันว่า “ได้ไหมคะ สำเร็จไหม”

“ท่านถามว่าคนไหนชื่อ ชนอ.. เชิญเข้าไปได้”

1377441841

เราทั้งสี่คนยิ้มหน้าบาน เดินไปสู่วังทันที

เมื่อเข้าไปในห้องรับแขกแล้ว คุณหญิงกับหม่อมแม่(หม่อมบัว กิติยากร หรือ ม.ล.บัวฯ ขณะนั้น) ก็ลงมาจากชั้นบน เราทำความเคารพแล้วก็ยืนอยู่ คุณหญิงนุ่งถุงแบบป้ายสีข้างสีฟ้าน้ำทะเล เสื้อลายเหลี่ยมๆ สีเดียวกัน แขนสามส่วนคอปิด ตัดพอดีกับทรง แลเห็นโฉมอันได้สัดส่วนสมหญิง คุณหญิงและหม่อมแม่เชิญเรานั่ง พวกเราไปกันมาก ดังนั้น คุณหญิงกับหม่อมแม่จึงนั่งบนโซฟาถัดออกไปจากเก้าอี้หมู่

ข้าพเจ้าเริ่มอารัมภบท ชี้ไปยังชนอ “คนนี้ชื่อ ชนอค่ะ ชวลี ช่วงวิทย์ ที่ร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ยามเย็น ของในหลวง ดิฉันเป็นผู้แทนหนังสือโฆษณาสารของกรมโฆษณาการ อยากจะมาเรียนขอเรื่องสั้นๆ จากคุณหญิงสักเรื่องหนึ่งค่ะ เพื่อเป็นเกียรติแก่หนังสือ”

หม่อมแม่กล่าวขึ้นว่า “น่ากลัวจะลำบาก ถ้าขอให้เขียนเรื่อง เพราะไม่มีเวลาจริงๆ คุณอยากทราบอะไรก็ถามดีกว่า”

ข้าพเจ้า “และถ้าจะเรียนขออนุญาต ถ่ายภาพไปลงหนังสือโฆษณาสาร เช่น กำลังเล่นเปียโน กำลังอ่านหนังสือ กำลังจัดดอกไม้ ฯลฯ อะไรอย่างนี้นี่ค่ะ จะอนุญาตไหมค่ะ”

หม่อมแม่เอ่ยขึ้นว่า “ทำไมไม่มาพร้อมกันวันนี้ ล่ะคะ โอกาสหน้าจะอาจจะหายาก เวลานี้กำลังว่างดีทีเดียว”

ข้าพเจ้า “ดิฉันไม่กล้า จนกว่าจะได้รับอนุญาต”

คุณหญิง “ได้ค่ะ”

ข้าพเจ้า “ดิฉันอยากทราบความรู้สึกของคุณหญิงในการกลับถึงประเทศไทยครั้งนี้ค่ะ รู้สึกอยากไรบ้างคะ”

566

คุณหญิงพูดด้วยสำเนียงอันน่าฟังยิ่งนัก กิริยานุ่มนวลมีเสน่ห์ จะพูดจะจาน่าพึงพิศทุกอิริยาบถ

“รู้สึกดีใจมากที่ได้กลับมาบ้านเมืองของเรา และรู้สึกแปลกไปมากค่ะ เช่น บ้านนี้เมื่อก่อนไปยังเป็นเด็กเห็นว่าใหญ่โตมาก กลับมาคราวนี้ดูเล็กลง”

ข้าพเจ้า “ได้ทราบจากหนังสือพิมพ์ ฉบับหนึ่งว่า คุณหญิงนิยมการแต่กายแบบไทยมาก จริงไหมค่ะ”

“ใช่ค่ะ แต่ชอบเวลาอยู่ในเมืองไทย เพราะในเมืองนอกแต่งแล้วรุ่มรามไม่เหมาะ”

หม่อมแม่ “การแต่งกายไทยที่ว่านี่ หมายถึง นุ่งซิ่นไหมใส่เสื้อธรรมดานะคะ ส่วนการนุ่งยกห่มตาดอะไรเหล่านั้นก็ใช้ในงานพิธีใหญ่ๆ “

ข้าพเจ้านิ่งด้วยความปลื้มปีติ คิดถึงเรื่อง “หญิงไทยควรแต่งกายแบบไทยไว้” ที่ข้าพเจ้าเคยเขียนออกบรรยายทางวิทยุ และลงหนังสือโฆษณาสาร ฉบับปฐมฤกษ์ซึ่งมีจุดหมายที่ละม้ายคล้ายกันที่สุด

ข้าพเจ้า “ในหลวงจะเสด็จต่างประเทศครั้งหลังนี้ทราบไหมค่ะว่า จะประทับนานสักเท่าใดจึงจะเสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย”

หม่อมแม่ “ในราวปีเศษเป็นอย่างเร็วค่ะ เพราะท่านต้องพักรักษาองค์อีกจนกว่าจะหาย ซึ่งกะว่าอยู่ในราวปีเศษ”

ข้าพเจ้า “สำเร็จการศึกษาหรือยังค่ะ”

หม่อมแม่ “คุณหญิงหรือค่ะ เรียน Finishing Course จะออกเมื่อใดก็ได้ แต่การเรียนนั้น คุณก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีที่สิ้นสุด คนแก่ๆ เขายังเรียนกันได้”

NjpUs24nCQKx5e1GyDAnmVnTHHViqIFHHH935H9kbzL

ข้าพเจ้า “ในหลวงเล่าค่ะ ต้องทรงศึกษาอีกนานเท่าใดจึงจะสำเร็จคะ”

คุณหญิง “หมอห้ามใช้สมองค่ะ ทรงศึกษาต่อไม่ได้ ที่มาครั้งนี้หมอก็ห้ามเพราะยังไม่ปกติ แต่จำเป็นต้องอนุญาต ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ให้เดินทางทางเครื่องบินเพราะเกรงจะโดนอากาศเปลี่ยนแปลงเร็ว พระอาการจะกำเริบได้’

ข้าพเจ้า “ในหลวงพระทัยร้อนไหมค่ะ”

คุณหญิง “ตามธรรมดาพระอารมณ์ดีค่ะ เวลาไม่ทรงสบายเป็นบ้างนิดหน่อย”

ข้าพเจ้า “รู้สึกว่าพระนิสัยเด็ดขาดนะคะ”

คุณหญิง “โปรดการเป็นระเบียบค่ะ เช่น เวลานัด ถ้าพลาดเวลาเพียงนิดเดียวเป็นกริ้ว”

หม่อมแม่ “ก็ทรงได้รับการอบรมในต่างประเทศนี่คะ จึงทรงติดนิสัยฝรั่ง แล้วเป็นธรรมดาที่จะให้ผู้ใหญ่ ต้องคอยผู้น้อยนั้นไม่ควร เป็นการดูถูก จึงไม่โปรดการผิดเวลา”

200610171319330

ข้าพเจ้า “คุณหญิงชอบดนตรีประเภทไหนคะ Classic หรือ Symphony หรือ Light Music”

คุณหญิง “Classic ค่ะ เช่นเพลงของโชแปง ปิโธเวนและลิทธ์ และเพลงสากลเพราะๆ “

ข้าพเจ้า คุณหญิงชอบเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงเพลงไหนมากที่สุดคะ

คุณหญิง “ชอบเพลงยามเย็นค่ะ ชอบมากที่สุด เมื่ออยู่สวิสเคยขอประทานฟังบ่อยๆ นอกจากนั้นก็เพลง Blue Day หนังสือพิมพ์ชอบเอาไปลงว่าชอบ ชะตาชีวิตมากที่สุด ความจริงไม่เคยพูดซักคำ”

อุบล “ดิฉันได้ทราบจากหนังสือพิมพ์ ว่า คุณหญิงชอบเล่นเพลงบิบ้อพมากจริงไหมค่ะ”

คุณหญิงทำตาโตน่ารัก “เพลงบิบ้อพอะไรคะไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยินเลยแหละค่ะ หนังสือพิมพ์ชอบเอาไปพูดกันต่างๆ นานา หนังสือพิมพ์ต่างประเทศก็เหมือนกัน เอาไปลงผิดๆ พลาดๆ หลายอย่าง เช่นว่า โหรเคยทำนายไว้บ้าง และว่ารักกับในหลวงตั้งแต่แรกเห็นบ้าง อะไรต่างๆ ทำนองนี้ไม่ค่อยดีเลย”

d0828aa-5

ข้าพเจ้า “ในหลวงทรงโปรดเครื่องดนตรีมากที่สุดค่ะ นอกจากแซกโซโฟน”

คุณหญิง “คาริแนทค่ะ โปรดมากที่สุด เปียโนก็เหมือนกัน”

ชนอ “เมื่อครั้งที่วงดนตรีกรมโฆษณาการไปเล่นในวัง ครั้งในหลวงรัชกาลที่ ๘ ยังทรงพระชนม์นั้นน่ะค่ะ ในหลวงทั้งโปรดให้ติดไมโครโฟนที่เปียโนด้วยอีกอันหนึ่ง ส่วนเพลงนั้น เคยจะเล่นส่งทางวิทยุกระจายเสียงแต่ติดขัดที่เนื้อเป็นฝรั่งไม่ตรงตามระเบียบจึงเล่นไมได้ค่ะ”

คุณหญิงยิ้ม นัยน์ตาแจ่มจรัสเหมือนดาวรุ่งอาจจะเป็นดวงเนตรดำขำเหมือนนิลและแจ่มดั่งดาวนี่เอง ที่มีเสน่ห์ตรึงพระหฤทัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของชาวไทยไว้สนิท

12683293071268329429l

ข้าพเจ้า “ตามธรรมดาวันที่ ๑๕ ของทุกเดือน โฆษณาสารมีรายการสนทนาเพลงทางวิทยุกระจายเสียงร่วมกับวงดนตรีกรมโฆษณาการ ดิฉันจะพยายามขอร้องวงดนตรีให้ขอเพลง “ยามเย็น” ให้คุณหญิงเป็นพิเศษค่ะ แต่ต้องเป็นวันที่ ๑๕ พฤษภา ส่วนเดือนนี้ติดงานวันแม่ ไม่มีการบรรเลง”

คุณหญิงยิ้ม “ดิฉันจะคอยฟัง วันที่ ๑๕ พฤษภา หรือค่ะ” แล้วหันไปบอกหม่อมแม่ให้ช่วยจำ

ข้าพเจ้า “คุณหญิงชอบเด็กผู้หญิงหรือผู้ชายคะ”

คุณหญิง “ชอบเท่าๆ กัน”

ข้าพเจ้า “เพลงที่ในหลวงพระราชนิพนธ์ใหม่ที่สุดคืออะไรคะ”

คุณหญิง “เข้าใจว่าเป็นเพลง Dream of Love, Dream of You”

ข้าพเจ้า “คุณหญิงจะพักอยู่ในเมืองไทยนานสักเท่าใดคะ”

คุณหญิง “กะว่านานจนถึงเดือนมิถุนายน”

kingqueen

ข้าพเจ้า “ประทานโทษเถิดค่ะ ดิฉันทราบมาว่า คุณหญิงจะแต่ชุดสีฟ้าในวันอภิเษกจริงไหมคะ หรือว่าเป็นข่าวลือคะ”

คุณหญิง “ยังไม่แน่เหมือนกัน แต่ชุดที่โหรให้ฤกษ์เวลารับน้ำสังข์นั้นชุดสีงาช้าง วันนั้นมีหลายตอนนี่คะ ตั้งใจว่าจะแต่งชุดสีน้ำเงินอ่อนสักชุดหนึ่ง“

ข้าพเจ้า “คุณหญิงเกิดวันศุกร์หรือคะ ถึงชอบสีฟ้า”

คุณหญิง “ถูกแล้ว”

ข้าพเจ้า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานแหวนเพชรหรือมรกตแก่คุณหญิงคะ เขาลือว่าเป็นแหวนมรกต“

คุณหญิง “ถ้าหมายถึงแหวนหมั้นก็เป็นแหวนเพชรไม่ใช่มรกต”

d0828aa-3_11

ข้าพเจ้าเห็นว่าควรแก่เวลาที่จะกลับ เพราะรบกวนคุณหญิงมากแล้ว ทั้งข้อความที่ตั้งใจจะถามก็หมดแล้วจะคิดคำถามอีกก็ไม่ทัน จึงกล่าวขอบพระคุณ แล้วแถมพูดตามใจนึกด้วยว่า

“ความจริงยังไม่อยากกลับเลยค่ะ อยากนั่งอยู่นานๆ แต่รบกวนเวลาคุณหญิงมามากแล้ว วันนี้ขอลากลับละค่ะ ดิฉันขอบพระคุณคุณหญิงมากที่กรุณาให้พบ”

แล้วพวกเราก็จากมาทั้งๆ ที่ใจไม่อยากจากกลางวันนั้นข้าวปลาพาลทานไม่ลงเพราะอิ่มใจ คุณหญิงไม่ใช่สาวสวยอย่างนางสาวไทย แต่ทรงไว้ซึ่งความมีสง่าและมีเสน่ห์ เมื่อได้เห็นโฉมอย่างใกล้ชิดแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าหวนคิดถึง พระลักษมีของพระนารายณ์นั้นแท้ทีเดียว.

ขอทั้งสองพระองค์พระองค์

ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน

ทรงพระเจริญ


ขออัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดมากที่สุด

…………………………………

ที่มา : บางส่วนจากหนังสือสี่เจ้าฟ้า เมื่อ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๓ สัมภาษณ์ ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร (พระคู่หมั้นฯ ขณะนั้น)โดย ลาวัณย์ โชตามระ และ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ และคุณ Max 2000 ใน pantip.com , อีกทั้งบางส่วนจากบทความของอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ และไทยรัฐ

http://www.chaoprayanews.com/2015/04/28/%e0%b8%9b%e0%b8%b5-%e0%b9%92%e0%b9%94%e0%b9%99%e0%b9%93-%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%a1%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%a9%e0%b8%93%e0%b9%8c%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%84%e0%b8%b9%e0%b9%88%e0%b8%ab/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น