วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี





2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ

เจ้าหญิงของแผ่นดินไทย ‘สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี’

นับถอยหลังเข้าสู่วันสำคัญวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี” หรือ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” ที่ท่านทรงเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

โดยสมเด็จพระเทพฯนั้น ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

และด้วยโอกาสอันเป็นมงคลเฉลิมพระเกียรติครบ 60 พรรษา ของสมเด็จพระเทพฯในปีนี้ แนวหน้าออนไลน์ จึงขอนำพระราชประวิติและพระราชการณียกิจที่สำคัญ ของพระองค์ท่านมาฝากกัน

ประวัติ

วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ขณะที่พระชนมายุ ได้ 3 พรรษาเศษ พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา โดยทรงศึกษาต่อเนื่องไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดสนพระทัยในการอ่านอย่างมาก ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จึงทรงมีพระสมญาอีกอย่างหนึ่งว่า “หนองหนังสือ” ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จประทับ ณ ที่ใด พระองค์จะทรงมีหนังสือติดพระหัตถ์อยู่เสมอ

หลังจากทรงสำเร็จการศึกษา ประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ จากโรงเรียนจิตรลดา เมื่อพุทธศักราช 2516 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบเข้าศึกษาต่อ ในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงแม้จะมีพระราชภารกิจโดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ แต่ก็ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการเรียนอย่างยิ่ง และยังทรงร่วมกิจกรรมของคณะ และของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับนิสิตทั่วไป

ในปีการศึกษา2519 ทรงสำเร็จการศึกษาและทรงเข้ารับพระราชทานปริญญา อักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง สาขาวิชาประวัติศาสตร์

พระองค์มีพระปรีชาสามารถในหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จากพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน”

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาราษฎร

ในพุทธศักราช 2520 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสมัครเข้าศึกษาต่อ ระดับมหาบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกันทั้งสองแห่ง ทรงสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปีการศึกษา 2522

หลังจากนั้นทรงสำเร็จการศึกษา อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาลี - สันสกฤต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2524 และต่อมาด้วยความสนพระทัยงานด้านการพัฒนา โดยอาศัยหลักวิชาการศึกษาหรือการเรียนรู้เป็นแกน จึงทรงสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงสำเร็จการศึกษาและรับพระราชทานปริญญา การศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ในปีการศึกษา 2529

หลักคิดในการใช้การศึกษาเป็นปัจจัยหลักในการสร้าง และพัฒนาความรู้ ความคิดของประชาชน และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน และสังคม ที่ทรงได้รับจากการศึกษา ในระดับดุษฎีบัณฑิต ผนวกกับประสบการณ์ ที่ทรงเรียนรู้ จากการโดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นพื้นฐานความรู้ที่แข็งแกร่ง ในการทรงงานพัฒนา ของพระองค์เอง ในเวลาต่อมาจวบจนปัจจุบัน

นอกเหนือจากการศึกษาในระบบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังสนพระทัยศึกษาเพิ่มเติม ดูงาน ประชุมสัมมนา และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ในวิชาการด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน เช่น ภูมิศาสตร์กายภาพ อุทกศาสตร์ พฤกษศาสตร์ การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ รีโมตเซนซิ่ง ระบบภูมิสารสนเทศ แผนที่ โภชนาการ เป็นต้น ด้วยมีพระราชประสงค์ ที่จะนำความรู้ที่ได้จากวิชาการเหล่านี้ ไปประยุกต์ใช้ในการทรงงานพัฒนาชุมชน และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร

การรับราชการ

หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว ในพุทธศักราช 2523 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์กองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา ต่อมาในพุทธศักราช 2530 ได้มีการตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระยศ พันเอก ทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากอง (ซึ่งต่อมาได้มีการขยายตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองในพุทธศักราช ๒๕๓๒ พร้อมกับกองอื่น ๆ) ทรงเป็นผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์พระองค์แรกจนถึงปัจจุบัน มีพระราชภารกิจ ทั้งการบริหาร การสอน และงานวิชาการอื่นๆ

ต่อมาทรงได้รับพระราชทานพระยศ พลเอก ในพุทธศักราช 2539 และทรงได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ (อัตราจอมพล) ในพุทธศักราช 2543 นอกจากนี้ ยังได้ทรงรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายวิชาการ ณ สถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยศิลปากร

งานอดิเรก

ยามที่ทรงว่างจากพระราชกิจ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถโดยทรงมีงานอดิเรกที่สนพระทัย หลายประเภท เช่น ดนตรี งานศิลป์ กีฬา งานสะสม การทัศนศึกษา การอ่านและสะสมหนังสือ ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการเรียงร้อยอักษร จึงทรงพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วและร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งประเภทบทความ เรื่องสั้น ความเรียง คำนำ บทกวี บทเพลง เรื่องแปล และสารคดี เป็นต้น

รวมทั้งพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือน “บันทึกการเดินทาง” ที่ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน

ในปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยังสนพระทัยศึกษาและฝึกฝนเรียนรู้ทักษะภาษาและวิชาการต่าง ๆอยู่มิได้ขาด เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน เทคโนโลยีสารสนเทศ ดาราศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น จึงมีพระปรีชาสามารถด้านภาษา เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วหน้า

นอกจากนี้ ยังสนพระทัยเข้าร่วมการประชุม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทรงศึกษาดูงาน และทรงพบปะสนทนากับปราชญ์ด้านต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อทรงรับความรู้ใหม่ๆและทันสมัยอยู่เสมอ


คลิป : WebClub Thai

http://www.naewna.com/local/151726

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น