วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

“สตรอว์เบอร์รี่” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เป็นเวลาเกือบ 50 ปี ที่เห็นภาพความพยายามในการเปลี่ยนแปลงไร่ฝิ่นให้กลับมาเป็นป่าต้นน้ำอันเขียวขจี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวไทยภูเขาหันกลับมาปลูกพืชเมืองหนาว เช่น สตรอว์เบอร์รี่ไว้เพื่อเลี้ยงชีพ และปลูกข้าวไว้เพื่อรับประทาน โดยยังคงวิถีชีวิตแบบเดิม เสริมด้วยการสนับสนุนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามยอดดอยต่างๆทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องราวของการปลูกสตรอว์เบอร์รี่บนพื้นที่เขาสูง

ส่วนการปลูกสตรอเบอร์รี่บนพื้นที่ราบ ที่มีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเย็นนั้น เริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552

v25

ภาพของราชวงศ์ไทย ทรงงานท่ามกลางเกษตรกร มิได้เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่มีมาให้เห็นเนิ่นนานจนชินตา

และนับจากนี้ต่อไปอีกหลายสิบปี ภาพความพยายามในการขยายผล การส่งเสริมให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบ ที่มีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเย็นปลูกสตรอว์เบอร์รี่ได้อย่างทั่วถึง ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ กำลังถูกพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

เพื่อนำความรู้ที่สั่งสมมาในอดีต และความอุดมสมบูรณ์จากเทือกเขาสูง ลงมาแผ่ปกคลุมให้แก่เกษตรกรผืนแผ่นดินแห่งนี้ มีความร่มเย็นเป็นสุข

v31

อันเป็นจุดเริ่มต้นของ”โครงการส่งเสริมสตรอว์เบอร์รี่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่งอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

ข้อความส่วนหนึ่งจากหนังสือสตรอว์เบอร์รี่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดขึ้น

และจัดนิทรรศการ “สตรอว์เบอร์รี่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 และเป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจในการก่อตั้ง “โครงการส่งเสริมสตรอว์เบอร์รี่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่งอนฯ” โดย ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา มาเป็น ประธานเปิดงาน ณ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เมื่อไม่นานมานี้

v27

นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ในฐานะบรรณาธิการบริหารหนังสือ กล่าวว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดนิทรรศการและหนังสือ “สตรอว์เบอร์รี่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา

v15

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่หนังสือ “สตรอว์เบอร์รี่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ซึ่งเกิดจากการรวบรวมความรู้และประสบการณ์จากเกษตรกรและนักวิชาการใน “โครงการส่งเสริมสตรอว์เบอร์รี่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่งอนฯ” ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2551 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำป่าเข้าท่วมหมู่บ้านยาง

ในครั้งนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้พัฒนาการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง และส่งผลผลิตเข้าโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยนำองค์ความรู้จากมูลนิธิโครงการหลวง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาประยุกต์ใช้ตามสภาพภูมิสังคม นอกจากนั้นยังร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆอีกมากมาย เพื่อพัฒนาผลผลิตแก่เกษตรกร เพื่อให้มีความกินดี อยู่ดีตามพระราชประสงค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งพระราชหฤทัยไว้

v14

ด้านนางสาวสุรางคนา ไม้ตราวัฒนา ผู้เขียนเผยถึงเนื้อหาว่าเป็นการเล่าเรื่องผ่านภาพ แบ่งเป็น 5 ส่วน คือพระมหากรุณาธิคุณและประวัติที่มาของสตรอว์เบอร์รี่จากอดีตถึงปัจจุบัน, การปลูกและส่วนประกอบของสตรอว์เบอร์รี่, การพัฒนาของสตรอว์เบอร์รี่ไทย, โรงงานหลวงที่มีบทบาทช่วยเหลือเกษตรกรยากไร้

ปิดท้ายด้วยเกร็ดการรับประทาน รวมถึงแนะนำเมนูที่ทำจากสตรอว์เบอร์รี่

v17

โดยหนังสือนี้มีจำหน่ายทั่วไปตามร้านหนังสือชั้นนำ รายได้สมทบทุนช่วยเหลือเกษตรกร

นิทรรศการ “สตรอว์เบอร์รี่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จัดแสดงพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับสตรอว์เบอร์รี่ พัฒนาการสตรอว์เบอร์รี่ไทย แปลงสตรอว์เบอร์รี่ และเมนูสาธิตจากสตรอว์เบอร์รี่

v30

และภายในนิทรรศการมีการจัดจำหน่ายหนังสือ “สตรอว์เบอร์รี่อันเนื่องมาจากพระราช ดำริ” พิมพ์ครั้งแรกจำนวน 6,000 เล่ม

เพื่อนำรายได้สมทบทุนช่วยเหลือเกษตรกร โดยนิทรรศการดังกล่าวจะเปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2558 เวลา 10.00-19.00 นาฬิกา ทุกวันเว้นวันจันทร์

ณ อาคารนิทรรศน์รัตน์โกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง.

v33

v34

……………………………………

รายงานโดย ณพาภรณ์ ปรีเสม

http://www.chaoprayanews.com/2015/03/03/%e0%b8%aa%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%ad%e0%b8%a7%e0%b9%8c%e0%b9%80%e0%b8%9a%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b9%88-%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%99%e0%b8%b7%e0%b9%88/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น