เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ตุลาคม ที่โรงพยาบาลศิริราช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว "ครั้งแรกของโลก ศิริราชคิดค้นการแยกสเต็มเซลล์บริสุทธิ์จากน้ำคร่ำ เพื่อใช้รักษาโรคในอนาคต" โดยมี ศ.คลินิก.นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าว
รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยและพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาทางการแพทย์ กล่าวว่า หน่วยวิจัยและพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาทางการแพทย์ ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาวิจัยพัฒนาสเต็มเซลล์ต้นกำเนิดในการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้จริง ซึ่งสเต็มเซลล์ถือเป็นความหวังทางการแพทย์ที่จะนำมารักษาโรคที่มีสาเหตุจากการเสื่อมถอยของเซลล์ เพราะสเต็มเซลล์มีคุณสมบัติพิเศษคือแบ่งตัวได้ไม่จำกัด สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ในร่างกายได้ นำมาปลูกถ่ายอวัยวะทดแทนได้ อาทิ โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์คินสัน โรคเบาหวาน และโรคเลือด เป็นต้น
"ในปี 2547 ได้มีรายงานการค้นพบสเต็มเซลล์ชนิดเซนไคม์ในน้ำคร่ำระหว่างที่มารดามีอายุครรภ์เพียง 3-4 เดือน ซึ่งในระยะนั้นน้ำคร่ำจะประกอบไปด้วยเซลล์จำนวนมากที่มาจากตัวทารกในครรภ์ หรือเยื่อหุ้มรก ทำให้สเต็มเซลล์ในน้ำคร่ำมีความอ่อนวัยกว่าและมีศักยภาพที่ดีกว่าสเต็มเซลล์ตัวเต็มวัย ซึ่งถือได้ว่าสเต็มเซลล์ในน้ำคร่ำมีคุณสมบัติที่อยู่ตรงกลางระหว่างสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนและจากตัวเต็มวัย คือสามารถมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ได้ ปลูกถ่ายแล้วไม่เป็นเนื้องอก และไม่มีข้อโต้แย้งทางจริยธรรม" รศ.นพ.สุภักดีกล่าว
ด้าน ดร.ทัศนีย์ เพิ่มไทย หัวหน้าโครงการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดฯ ภาควิชาสูติศาสตร์ -นรีเวชวิทยา ผู้คิดค้นผลงานวิธีการแยกสเต็มเซลล์บริสุทธิ์จากน้ำคร่ำ กล่าวว่า สเต็มเซลล์ในน้ำคร่ำมีศักยภาพที่อยู่ระหว่างสเต็มเซลล์ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย มีคุณสมบัติเด่นคือที่เหมือนสเต็มเซลล์ตัวอ่อนแต่ไม่พบในตัวเต็มวัยชนิดใดๆ คือ สามารถแบ่งเซลล์จากหนึ่งเซลล์เป็นหลายแสนล้านเซลล์ได้ แต่สเต็มเซลล์จากน้ำคร่ำยังเป็นเซลล์ที่อ่อนวัย จึงยังไม่แสดงลักษณะเฉพาะของภูมิคุ้มกันที่ชัดเจน ทำให้ไม่มีปัญหาการต่อต้านและปฏิเสธเซลล์ เมื่อนำไปใช้ปลูกถ่ายโรคให้แก่ผู้อื่น สำหรับน้ำคร่ำที่นำมาใช้ศึกษามาจากหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 4 เดือน หากอายุครรภ์น้อยกว่านี้ยังมีน้ำคร่ำน้อย และยังพบว่าอายุครรภ์ที่ครบกำหนดก็มีสเต็มเซลล์อยู่เช่นกัน
ดร.ทัศนีย์กล่าวอีกว่า ปัญหาของสเต็มเซลล์จากน้ำคร่ำคือ มีอัตราส่วนร้อยละ 0.1 ของเซลล์ที่ลอยปะปนในน้ำคร่ำ หรือ 1 ใน 1,000 เซลล์ การวิจัยในครั้งนี้จึงได้ติดค้นกรรมวิธีที่เรียกว่า Starter Cell หรือการใช้เซลล์เริ่มต้น เพื่อแยกสเต็มเซลล์จากน้ำคร่ำ มีหลักการคือให้สเต็มเซลล์ทั้งหมดในน้ำคร่ำแบ่งตัวเพิ่มจำนวนออกมาจากสเต็มเซลล์เริ่มต้นเพียง 1 เซลล์ ให้ได้ประชากรสเต็มเซลล์ในศักยภาพเดียวกันทั้งหมด จากนั้นควบคุมศักยภาพสเต็มเซลล์โดยการป้องกันไม่ให้ถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เพื่อคัดเลือกและแยกสเต็มเซลล์ที่มีคุณภาพดีเพียงหนึ่งเซลล์ออกมา ใช้เป็นเซลล์เริ่มต้น ที่มีความหนาแน่นดี มีการเพิ่มปริมาณขององค์ประกอบภายในเซลล์และโปรตีน ซึ่งได้ออกแบบวิธีการสังเกตคุณลักษณะดังกล่าวได้จากระยะเวลาที่เซลล์ลงเกาะภาชนะเพาะเลี้ยง พบว่าเซลล์เริ่มต้นเพียงหนึ่งเซลล์จะถูกเพาะเลี้ยงให้เพิ่มจำนวนขึ้นจากหนึ่งเซลล์ได้เป็นหลายแสนล้านเซลล์ ทำให้เซลล์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเป็นประชากรสเต็มเซลล์ที่มีความบริสุทธิ์สูงและเพื่อจะควบคุมศักยภาพของสเต็มเซลล์จากน้ำคร่ำไว้ให้อยู่ในคุณภาพเดียวกับ “เซลล์เริ่มต้น” จึงต้องนำเซลล์อื่นที่ปะปนอยู่ในน้ำคร่ำออกทันที
ลักษณะเด่นของสเต็มเซลล์ที่ได้คือสามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วคงที่ยาวนาน และให้ผลผลิตเร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 5 เท่า คือ หนึ่งเซลล์ใช้เวลาผลิตให้ได้หนึ่งแสนล้านเซลล์ ภายใน 2 สัปดาห์ จึงทันต่อการรักษา จากวิธีเดิมที่ต้องใช้วลา 2-3 เดือน อีกทั้งสเต็มเซลล์ที่ได้ไม่มีการปนเปื้อนและตกค้างของวัสดุหรือสารแปลกปลอม ทำให้เกิดโอกาสการรักษาแนวใหม่ในทารกระยะก่อนคลอด ด้วยการใช้สเต็มเซลล์ของตัวทารกเองในน้ำคร่ำมาแก้ไขความผิดปกติและปลูกถ่ายกลับให้แก่ทารกเอง
ศ.คลินิก.นพ.อุดมกล่าวว่า การวิจัยในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการคิดค้นวิธีการคัดแยกสเต็มเซลล์บริสุทธิ์จากน้ำคร่ำให้เป็นสเต็มเซลล์บริสุทธิ์ ครั้งแรกของโลก ซึ่งยังไม่ใครคิดค้นได้มาก่อน ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้ได้รับการยอมรับตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ และได้จดสิทธิบัตรในนามมหาวิทยาลัยมหิดลไว้แล้ว พร้อมทั้งได้รับรางวัลผลงานการประดิษฐ์คิดค้นจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปี 2555 ถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแสดงและนำเสนอในเวทีระดับโลกในงานแสดงผลงานประดิษฐ์คิดค้นนานาชาติ ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ปลายเดือนพฤศจิกายน ขณะนี้การศึกษาสเต็มเซลล์ในน้ำคร่ำอยู่ระหว่างการทดลองในสัตว์ หากได้ผลดีจะเริ่มทดลองในคนต่อไป คาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่กี่ปีจะสามารถนำมาใช้รักษาโรคกับคนได้ นอกจากนี้ทางศิริราชจะจัดตั้งธนาคารสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อต่างๆ ที่ได้จากการตั้งครรภ์ เช่น น้ำคร่ำ รก และสายสะดือเป็นแห่งแรกในไทย ให้เป็นแหล่งสำรองไว้ใช้ในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น