วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

"ทำความดี" แล้วจะ "ลบล้างความผิด" ที่เคยทำได้หรือไม่?



ตามหลักกฎแห่งกรรมแล้วลบล้างกันไม่ได้ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นกฎตายตัว

อย่างไรก็ตาม บางครั้งจากประสบการณ์ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่ากรรมดีลบล้างกรรมชั่วได้ เรื่องนี้อธิบายได้ว่า กรรมชั่วเปรียบเหมือนเกลือ กรรมดีเปรียบเหมือนน้ำในภาชนะ เมือทำกรรมชั่วแล้ว ทำกรรมดีให้มาก ๆ ความดีเปรียบเหมือนน้ำที่เพิ่มขึ้น ๆ ผลแห่งความดีจะออกผลก่อน กรรมชั่วที่ยังไม่ได้ออกผลก็อาจจะหมดกำลังไปก่อน เหมือนกับว่าได้รับอโหสิกรรมไป

หรือหากพิจารณาในทางโลก คดีความต่าง ๆ ก็มีอายุความโดยเฉพาะหากไม่ใช่ความผิดร้ายแรงก็ไม่ต้องรับโทษมาก หากถูกลงโทษจำคุกเมื่ออยู่ในเรือนจำแล้วมีความประพฤติดีก็ได้รับอภัยโทษ ได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้น หรือยกตัวอย่างเช่น สมัยเด็กเคยทำความผิด เช่น เสพสิ่งเสพติด ทำให้พ่อแม่เสียใจ แต่เมื่อสำนึกได้แล้วกลับตัวเป็นคนดี พ่อแม่ก็ให้อภัย เมื่อทำความดีสม่ำเสมอพ่อแม่ก็รู้สึกสบายใจขึ้นและวางใจในตัวลูกได้ เป็นต้น ดังนั้นแม้เมื่อทำกรรมชั่วแล้วลบล้างด้วยการทำกรรมดีไม่ได้ก็จริง แต่ก็สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้

นอกจากนี้หากเปรียบกรรมชั่วเป็นเกลือ เกลือในปริมาณเล็กน้อยก็ช่วยปรุงรสน้ำตาล หรือเปลี่ยนผลไม้รสเปรี้ยวให้มีรสชาติหวานขึ้น ถือเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้เหมือนกัน เช่น บางคนสมัยเป็นวัยรุ่นเคยติดสิ่งเสพติด เมื่อเห็นโทษสำนึกได้แล้วก็พยายามเลิก กลับตัวกลับใจหันมาสร้างกรรมดีและสามารถนำประสบการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียนเพื่อเตือนสติตนเองและสอนผู้อื่นได้ บางครั้งก็สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ให้คำแนะนำแก่ผู้อื่น ทำตัวเป็นประโยชน์แก่สังคมได้ก็มีมาก


อย่างไรก็ตาม หากว่ากรรมชั่วที่ทำเป็นกรรมหนักก็ต้องรับวิบากกรรม เช่น ยกกรณีพระโมคคัลลานะมาพิจารณา ขนาดสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้เป็นเลิศในการแสดงธรรมก็ตาม ในอดีตชาติเคยทำกรรมหนักเรียกว่าอนันตริยกรรม คือฆ่าพ่อแม่ ทำให้ต้องตกนรกมาหลายชาติ จนในชาติสุดท้ายแม้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังได้รับผลกรรมชั่ว ถูกโจร 500 คนมาทำร้าย ท่านรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าก็ใช้อิทธิฤทธิ์หนีไป หนีอยู่หลายครั้งประมาณสามเดือนท่านก็พิจารณาถึงเหตุ จึงทราบว่าเป็นวิบากกรรมของท่าน เป็นกฎแห่งกรรมที่หนีไม่พ้นและท่านก็หมดอายุขัยแล้ว ท่านจึงปล่อยให้โจรทำร้าย ทุบจนกระดูกแตกไปทั้งร่าง ฝ่ายโจรเข้าใจว่าท่านตายแล้วก็นำร่างไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้

พระโมคคัลลานะเถระคิดว่า "เราควรไปกราบทูลลาพระพุทธเจ้าก่อนจึงปรินิพพาน" คิดดังนั้นแล้วก็เยียวยารักษาอัตภาพร่างกาย ประสานกระดูกด้วยกำลังฌาน เหาะมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้วกราบทูลลาปรินิพพาน

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "โมคคัลลานะ เธอจะปรินิพพานที่ไหน เมื่อไร"

"ข้าพระองค์จะนิพพานที่กาฬศิลาวันนี้ พระเจ้าข้า"

"โมคคัลานะ ถ้าอย่างนั้นเธอจงแสดงธรรมแก่ตถาคตก่อนด้วยว่าการได้เห็นพระเถระเช่นเธอนี้ จะไม่มีอีกแล้ว"

พระเถระได้รับพระพุทธบัญชาเช่นนั้นจึงทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปบนอากาศแสดงธรรมเทศนาแล้วลงมาถวายอภิวาทกราบทูลลาไปยังกาฬศิลา และปรินิพพาน ณ ที่นั้น

พระผู้มีพระภาคเสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ทรงเป็นองค์ประธานจุดเพลิงฌาปนกิจศพให้ท่าน แล้วโปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ ที่ใกล้ซุ้มประตูแห่งพระเชตวันมหาวิหารนั้น

มนุษย์เราเมื่อหมดอายุแล้วก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น แต่พระโมคคัลลานะท่านตายแบบไม่ดี ถ้าไม่มีวิบากกรรมนี้ก็คงจะตายอย่างสงบ แต่สำหรับจิตใจของพระโมคคัลลานะก็พ้นจากกฎแห่งกรรมตั้งแต่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จิตใจเป็นวิมุตติหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง รับกรรมก็เพียงทางกายเท่านั้น

นอกจากนี้แล้ว เมื่อศึกษาพุทธประวัติ เราก็จะทราบว่าแม้พระพุทธองค์ก็ทรงได้รับวิบากกรรมเหมือนกัน เช่น กรรมที่ทำให้ห้อพระโลหิตก็มีเหตุมาจากในอดีตชาติสมัยที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ กล่าวคือ พระโพธิสัตว์และพระเทวทัตต์เกิดเป็นพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดา ครั้นบิดาล่วงลับไปแล้วเกิดทะเลาะกันด้วยเหตุแห่งทรัพย์ พระโพธิสัตว์มีกำลังมากกว่าจึงกดน้องชายลงกับพื้นดินแล้วกลิ้งศิลาก้อนใหญ่ทับไว้ ประสงค์จะให้ตาย

ด้วยวิบากกรรมนั้น พระโพธิสัตว์ต้องเสวยทุกข์ในอบายภูมิเป็นเวลานาน แม้เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ด้วยเศษกรรมยังเหลืออยู่ พระองค์จึงต้องถูกสะเก็ดศิลาที่พระเทวทัตต์กลิ้งลงมาหมายจะให้ทับพระองค์ กระเด็นมากระทบนิ้วพระบาทจนห้อพระโลหิตขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นบนเขาคิชกูฏ เป็นต้น



ขอบคุณหนังสือ "โชคดีที่ได้รู้" โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น