ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
13ก.ค. ทางออก "เท่ๆ" ชี้ชะตา "เพื่อไทย"
ในวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคมนี้ จะเป็นวันที่ทั้งคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง-เสื้อหลากสี-หรือเสื้อไม่มีสี ใจจดใจจ่อไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ "ลุ้น" ว่าคำวินิจฉัยจะออก "หัว" หรือ "ก้อย"
นั่นคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ขัดต่อมาตรา 68 หรือไม่
ผลของการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 68 มีความร้ายแรงระดับ ยุบพรรค ตัดสิทธิกรรมการพรรค
หนึ่งในปมปัญหาที่คาดว่าถ้าเกิดขึ้นจะมีความยุ่งยากไม่น้อย ได้แก่ กรณีมติของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเท่ากัน 4-4
ในทางทฤษฎี มีโอกาสที่จะเป็นไปได้
แต่ในทางปฏิบัติถือว่าน้อยมาก อย่างที่ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แสดงท่าทีไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้
โดยระบุว่า "ไม่ต้องสมมุติ เรื่องยังไม่เกิด อย่าเพิ่งไปคาดการณ์เอาเอง ตอนนี้ยังไม่ได้เขียน (คำวินิจฉัย) อะไรเลย"
เหตุการณ์ที่อาจทำให้โอกาสที่มติจะออกมาเสมอกัน
เริ่มจาก จรัญ ภักดีธนากุล 1 ใน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถอนตัวระหว่างไต่สวนพยาน เพราะเปิดเผยความเห็นส่วนตัวในระหว่างการพิจารณาคดี ทำให้เกรงว่า อาจเกิดปัญหาความ "ไม่เป็นกลาง" ตามมาหลังลงมติและมีคำวินิจฉัย ทำให้องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหลือ 8 คน
อย่างไรก็ตาม องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีเหตุที่ต้องทำหน้าที่เพียงแค่ 8 คนนั้นเคยมีมาแล้ว
โดยล่าสุดครั้งวินิจฉัยคดีของ จตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท.และแกนนำคนเสื้อแดง ให้พ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ด้วยมติ 7 ต่อ 1 เนื่องจากนายจรัญ ภักดีธนากุล แสดง "สปิริต" อีกครั้ง ด้วยการถอนตัวจากการพิจารณาคดีเพราะภรรยานายจรัญมีคดีความอยู่กับ "จตุพร" จึงเข้าข่ายมี "ส่วนได้ ส่วนเสีย" กับคดี เป็นสาเหตุของการถอนตัวในคดีดังกล่าว
มติ 4 ต่อ 4 จะไม่ใช่ประเด็นปัญหา หากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีทางออกให้ไว้
ดังที่ สมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ออกอาการกังวลกัปัญหานี้ ถึงขนาดชี้ว่า หากเกิดขึ้น คดีนี้จะเข้าไปติดใน "เดดล็อก" หมายถึง "ปิดตาย" ไม่มีทางออก เพราะกฎหมายไม่ได้เปิดช่องไว้ แตกต่างกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีทางออกทางข้อกฎหมายที่รัฐธรรมนูญชี้ช่องไว้ หากมีเสียงเท่ากันคือให้อำนาจประธานในการตัดสินชี้ขาด เช่นกรณี การแจก "ใบแดง" ให้ "เก่ง" การุณ ส.ส.กทม.พท.หรือยกประโยชน์ให้กับจำเลยเหมือนกับการตัดสินคดีในทางเพ่งหรือคดีในทางอาญา
"สมฤทธิ์" อธิบายขั้นตอนก่อนลงมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีว่า "องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนต้องทำคำวินิจฉัยส่วนตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนลงมติ เพื่อนำมาประมวลเป็นเสียงข้างมากหรือคำวินิจฉัยกลางว่าจะมีคำวินิจฉัยเสียงข้างมากจะออกมาเป็นอย่างไร"
คำถามคือหากมติเสมอกันจะทำอย่างไร?
"หากเกิดมติออกมาเสมอกันมันคงยุ่งเหมือนกันเพราะกฎหมายไม่ได้เปิดช่องทางไว้ และการวินิจฉัยคดีที่ผ่านๆ มาก็ไม่ค่อยได้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าหลังจากทราบมติแล้วหากเสียงออกมาเสมอกันจริงอาจจะต้องเลื่อนออกไปก่อนหรือว่าหารือกันหลังลงมติว่าจะหาทางออกกันอย่างไร"
ผลคำวินิจฉัยจะทำให้มีทั้งคนที่ "ได้" และ "เสีย"
คำถามที่ตามมาอีกคือจะจบลงอย่างไรให้เป็น "กลาง" และเป็น "ธรรม" ที่สุด
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง ออกมาให้ความเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นเพียงการจัดทำสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ ส.ส.ร.จะร่างกฎหมายอย่างไรก็ยังไม่มีใครรู้
และการร่างกฎหมายที่ส่อไปในทางที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือแตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
ตอกย้ำกับเหตุผลหักล้างว่า มีการระบุไว้แล้วในมาตรา 291 ว่าไม่สามารถที่จะแตะต้องหมวดที่ 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ได้ซึ่งคงไม่มีคนไทยกล้าเพราะคนไทยรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
เรื่องนี้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคงจะต้องไปประชุมหารือกันเพื่อหาทางออก
ไม่ว่ามติจะออกมาอย่างไร หากตัดสินด้วยความเป็นธรรม ไม่มีธง ไม่มีสี และเป็นอิสระขององค์คณะตุลาการแต่ละคน วินิจฉัยบนน้ำหนักของพยาน ข้อเท็จจริงและเหตุผล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องปราศจากอคติในทางธรรม 4 ประการ ได้แก่ 1.ฉันทาคติ โอนเอียงโดยสนับสนุนญาติมิตรที่ชอบพอ หรือผู้จ่ายสินจ้างแก่ตน 2.โทสาคติ ลำเอียงไม่เข้าข้างฝ่ายที่ตนเกลียดชัง 3.โมหาคติ เสียความยุติธรรมเพราะโฉดเขลา ไม่รู้ทันเหตุการณ์ที่แท้จริง 4.ภยาคติ ขาดดุล ยอมร่วมด้วยเพราะเกรงอำนาจอิทธิพล หรือกลัวขาดผลประโยชน์ มาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา
จึงจะเป็นทางออกที่เป็นธรรมและเป็นกลางอย่างแท้จริง มติจะออกมาอย่างไร หากอยู่บนพื้นฐานนี้ ก็สวยงามทุกเมื่อ
(ที่มา:มติชนรายวัน 10 ก.ค.2555)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น