วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ศาลรับพิจารณายื่นยุบ ปชป. เหตุ อภิสิทธิ์ ได้เสียงไม่พอเป็นนายกฯ









เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม




ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องพิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ หลังพบเสียงสนันสนุนให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มาจาก 3 พรรคที่ถูกยุบ จนทำให้เสียงไม่ครบกึ่งหนึ่ง




วันนี้ (13 มิถุนายน) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องจาก นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ที่ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68




เนื่องจากในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 27 ของไทย โดยมีเสียงสนับสนุน 219 เสียง แต่ปรากฏว่ามี 46 เสียง เป็นเสียงจากพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้ว 3 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคมัฌชิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ทำให้เหลือเสียงที่ถูกต้องเพียง 189 เสียง ซึ่งไม่ครบกึ่งหนึ่ง การได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นของนายอภิสิทธิ์ จึงกลายเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 คือการได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ




โดย นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ผู้ยื่นคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ กล่าวว่า ตนทราบการกระทำนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 และเคยยื่นเรื่องไปกับอัยการสูงสุดแต่เรื่องเงียบ ตนจึงมายื่นเรื่องกับศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และอีกไม่นานตนจะนำเรื่องมาเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรคอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องอีสต์วอเตอร์ และการแจกจ่ายถุงยังชีพ เป็นต้น



ย้อนเหตุการณ์ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2551


เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคการเมือง 3 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย โดยมีประเด็นดังนี้

พรรคพลังประชาชน

นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน มีประเด็นการทุจริตการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงราย หลังมีการหารือนอกรอบกับกำนันในจังหวัดเชียงราย 8 คน และมีการมอบเงินสดจำนวนหนึ่งให้ ซึ่งเข้าข่ายซื้อเสียง จากการสืบพยานและพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิ์ทางการเมืองสมาชิกพรรค 5 ปี เพื่อร่วมกันรับผิดชอบต่อการกระทำทุจริต

พรรคมัชฌิมาธิปไตย

สำหรับพรรคมัชฌิมาธิปไตย นายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย มีประเด็นทุจริตการเลือกตั้งที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยการจ่ายเงินเพื่อซื้อเสียง เมื่อศาลพิจารณาเห็นว่าเข้าข่ายมีความผิดจริง จึงสั่งให้ยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิ์ทางการเมืองสมาชิกพรรค 5 ปี

พรรคชาติไทย

นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ว่าที่ ส.ส.ชัยนาท และรองเลขาธิการพรรคชาติไทย มีประเด็นทุจริตการเลือกตั้งในจังหวัดชัยนาท โดยมีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอที่หัวคะแนนแจกเงินซื้อเสียงแลกกับสำเนาบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งกลาง ศาลพิจารณาหลักฐานแล้วจึงมีมติยุบพรรคชาติไทยและตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วยเช่นกัน

และในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องลงคะแนนเสียงเพื่อหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ และชื่อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน ก็ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณา โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 436 คน จากทั้งหมด 438 คน

จากการลงคะแนนเสียงขอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 436 คน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับคะแนนเสียงไปทั้งสิ้น 235 เสียง ขณะที่ พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก ว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ได้รับคะแนน 198 เสียง และมีผู้งดออกเสียงอีก 3 เสียง ขาดประชุม 1 เสียง เสียชีวิต 1 เสียง จึงถือว่านายอภิสิทธิ์ได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศ เป็นคนที่ 27 ของประเทศไทย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ก่อนที่จะประกาศยุบสภา และมีการเลือกตั้งใหม่ขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 โดยพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาล นายอภิสิทธิ์จึงดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านมาจนปัจจุบัน ก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าว

สำหรับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการรับคำร้องเอาไว้แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป คงต้องรอติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น