วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-15 เม.ย.2555




พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางดอกไม้จันทน์ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
1.“ในหลวง-พระราชินี” เสด็จฯ พระราชทานเพลิงพระศพ “เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ” ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย



เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชพิธีเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้า เวลา 07.10 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง



เมื่อสิ้นสุดพิธีภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว ได้มีการเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพขึ้นประดิษฐานที่พระยานมาศสามลำคาน ก่อนเคลื่อนออกจากพระบรมมหาราชวัง และเข้าประจำริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ 1 ซึ่งตั้งรออยู่ที่ถนนมหาราช ก่อนจะเคลื่อนไปยังริ้วขบวนที่ 2 เพื่อเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพขึ้นสู่บุษบกพระมหาพิชัยราชรถ และเคลื่อนขบวนพระอิสริยยศเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพโดยพระมหาพิชัยราชรถไปยังพระเมรุ ท้องสนามหลวง โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระดำเนินร่วมในริ้วขบวนด้วย สำหรับริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ 2 นี้ ถือเป็นริ้วขบวนที่ยิ่งใหญ่และอลังการที่สุด เพราะมีผู้เข้าร่วมในริ้วขบวนจำนวนถึง 3,500 คน และมีความยาว 890 เมตร



เมื่อถึงพระเมรุ ได้มีการเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพลงจากพระมหาพิชัยราชรถสู่พระยานมาศสามลำคาน แล้วจึงตั้งขบวนพระอิสริยยศที่ 3 เวียนรอบพระเมรุ หลังเวียนรอบพระเมรุแล้วเสร็จ ได้มีการเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพขึ้นสู่ที่ตั้งพระจิตกาธานในพระเมรุ เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเสร็จสิ้นริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ 3 ปรากฏว่า ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่ประชาชนที่พร้อมใจกันแต่งชุดดำมาชมริ้วขบวนและเฝ้ารอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ไม่หวั่น ยังคงปักหลักเฝ้าชมพระบารมี



กระทั่งเวลา 16.20น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ลงจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อมายังพระเมรุ ท้องสนามหลวง โดยประชาชนจำนวนมากที่เฝ้ารอรับเสด็จต่างเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพักตร์แจ่มใส



สำหรับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มี 2 รอบ รอบแรกมีขึ้นในเวลา 17.45 น. ส่วนรอบสองซึ่งเป็นการพระราชทานเพลิงจริงมีขึ้นในเวลา 22.00 น. โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ในการพระราชทานเพลิงพระศพทั้ง 2 รอบ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าวางดอกไม้จันทน์ยังจุดที่กำหนดไว้โดยรอบท้องสนามหลวง โดยประชาชนได้เข้าวางดอกไม้จันทน์อย่างไม่ขาดสาย ขณะที่หลายจังหวัดได้ร่วมประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระศพโดยพร้อมเพรียงกัน



หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพผ่านพ้น วันต่อมา(10 เม.ย.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีเก็บพระอัฐิ(กระดูก) และพระสรีรางคาร(เถ้ากระดูก) สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำพระอัฐิส่วนหนึ่งบรรจุลงในโกศทองคำลงยาองค์เล็ก เพื่อนำไปประดิษฐานในพระวิมาน วังรื่นฤดี เคียงคู่กับพระโกศพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชบิดา และพระโกศพระบรมอัฐิพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมารดา ส่วนพระอัฐิที่บรรจุในพระโกศทองคำลงยาองค์ใหญ่ ให้นำไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง



2. เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่อินโดฯ 8.9 ริกเตอร์ หลาย ปท.รวมทั้งไทยหนีตายจ้าละหวั่น โชคดีไม่เกิดสึนามิ!






ทีวีพูลเผยแพร่เทปบันทึกภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อ่านประกาศเตือนภัยสึนามิ ทั้งที่ผ่านพ้นเวลาที่น่าจะเกิดสึนามิไปแล้ว
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. เวลา 15.30น. ได้เกิดเแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปใต้ทะเล 33 กิโลเมตร และอยู่ใกล้กับบริเวณเดิมที่เคยเกิดแผ่นดินไหวจนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 ทั้งนี้ ความแรงของแผ่นดินไหวดังกล่าว ไม่เพียงรู้สึกได้ในอินโดนีเซีย แต่ยังรวมถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เคนยา รวมทั้งไทย ซึ่งรู้สึกได้ทั้งที่ภาคใต้และใน กทม. ส่งผลให้ประชาชนต่างวิ่งหนีเอาตัวรอดลงมาจากอาคารสูงด้วยความตกใจ



หลังเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าว มีรายงานว่า องค์กรเตือนภัยสึนามิในมหาสมุทรแปซิฟิกของสหรัฐฯ ได้ประกาศเตือนให้ทุกประเทศที่มีชายฝั่งติดมหาสมุทรอินเดีย โดยเฉพาะหมู่เกาะในทะเลอันดามันเตรียมรับมือคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งในส่วนของไทย สำนักธรณีวิทยาได้ประสานไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้อพยพประชาชนใน 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วย จ.ภูเก็ต กระบี่ ระนอง พังงา ตรัง และสตูล เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดสึนามิซ้ำรอยเมื่อปี 2547 ขณะที่สนามบินภูเก็ตได้ยกเลิกการให้บริการเที่ยวบินขึ้นลงเมื่อเวลา 16.00น.ของวันดังกล่าว เช่นเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิได้ยกเลิกเที่ยวบินไปภูเก็ต เพราะไม่มั่นใจว่าจะเกิดสึนามิหรือไม่



ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ออกมายืนยันว่า แม้จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ดังกล่าวที่อินโดนีเซีย ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อเขื่อนต่างๆ ในประเทศไทย เพราะแต่ละเขื่อนอยู่ห่างจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหวมาก ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 3 คนติดตามเหตุแผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด และตัดสินใจกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ประกอบด้วย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ,นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) แต่ในที่สุดไม่ได้เกิดสึนามิขึ้นแต่อย่างใด



เป็นที่น่าสังเกตว่า เวลาประมาณ 20.15 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่เทปบันทึกภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อ่านคำแถลงเตือนภัยสึนามิ ซึ่งถือว่าเป็นการแถลงที่ค่อนข้างช้า ไม่ทันต่อเหตุการณ์ เพราะผ่านเวลาที่น่าจะเกิดสึนามิไปนานมากแล้ว ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอันมากว่าเหตุใดนายกฯ จึงไม่แถลงสด เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์



ส่วนความเคลื่อนไหวของสื่อต่างประเทศเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียครั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นได้อ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญว่า แม้แผ่นดินไหวครั้งนี้จะรุนแรง แต่เป็นการเคลื่อนที่ในลักษณะออกด้านข้างหรือที่ศัพท์ทางธรณีวิทยาเรียกว่า “สไตรก์-สลิป” ซึ่งจะทำให้มวลน้ำเคลื่อนออกด้านข้างทั้งสองด้านมากกว่าจะเคลื่อนขึ้นและลงตามแนวดิ่ง ทำให้สึนามิที่อาจเกิดขึ้น มีความรุนแรงน้อยกว่าเมื่อปี 2547 ทั้งนี้ มีรายงานการเกิดสึนามิเล็กน้อยเท่านั้นบริเวณชายฝั่งประเทศอินโดนีเซีย โดยความสูงไม่เกิน 80 ซม.และเกิดขึ้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวแล้วเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง



ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นางเคอร์รี่ เซียะห์ ผู้อำนวยการหอสังเกตการณ์ธรณีของสิงคโปร์ พูดถึงเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ว่า เป็นเหตุการณ์แบบที่ 2,000 ปีจะเกิดขึ้นสักครั้ง และแม้ว่าจะไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ก็เป็นการเพิ่มระดับความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวระดับรุนแรงเหมือนเมื่อปี 2547 ในบริเวณนี้ขึ้นอีก ปัญหาคือจะเกิดเมื่อไหร่เท่านั้น



อนึ่ง บริเวณชายฝั่งของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงสุด 9.1 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิในหลายพื้นที่ทางใต้ของเอเชีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 220,000 คน ขณะที่เมื่อปี 2554 ได้เกิดแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิเช่นกัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 19,000 คน



3.รัฐสภา ผวาแผ่นดินไหวอินโดฯ ก่อสึนามิภาคใต้ เลื่อนถกแก้ รธน.วาระ 2 ไปหลังสงกรานต์ 18-19 เม.ย.!





บรรยากาศชาวบ้านในภูเก็ตอพยพหนี หวั่นเกิดสึนามิ
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ได้มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน พิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมกำหนดให้พิจารณาเรียงตามมาตราทั้ง 5 มาตรา และให้ออกเสียงลงคะแนนโดยยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก



ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้เลื่อนการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป เนื่องจากเอกสารรายงานของ กมธ.ไม่สมบูรณ์ สังเกตได้จากคำแปรญัตติในหลักการและเหตุผลของ กมธ.ซีกพรรคประชาธิปัตย์บางคนหายไป แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยที่จะเลื่อนการพิจารณา ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาจึงตัดบทด้วยการสั่งพักการประชุม



เมื่อกลับมาประชุมอีกครั้ง ปรากฏว่าได้เกิดปัญหาขึ้นอีกด้วยเรื่องว่าการประชุม กมธ.นัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 เม.ย.องค์ประชุมครบหรือไม่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าไม่ครบ แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าครบ ส่งผลให้นายสมศักดิ์ต้องสั่งพักการประชุมเป็นครั้งที่ 2 เมื่อการประชุมเริ่มขึ้นอีกครั้ง นายสมศักดิ์ได้ขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเลื่อนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อนหรือไม่ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติ 337 เสียงต่อ 91 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนพิจารณาออกไป จึงเข้าสู่วาระการประชุมต่อ ซึ่งมีผู้เสนอคำแปรญัตติทั้งสิ้น 178 คน



สำหรับมาตราแรกที่ที่ประชุมพิจารณาเป็นเรื่องเกี่ยวกับชื่อของรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กมธ.ให้ใช้ชื่อว่า “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่...” แต่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ สงวนคำแปรญัตติ โดยขอแก้เป็น “รัฐธรรมนูญรวบรัดเพื่อทักษิณแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่...” ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.ก็ขอแก้เช่นกัน โดยเสนอให้ใช้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับ นปช.ครองเมืองแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่...” ทั้งนี้ ชื่อรัฐธรรมนูญที่นายเทพไทและนายสาธิตเสนอ สร้างความไม่พอใจให้นายสมศักดิ์ ประธานรัฐสภาเป็นอย่างมาก ถึงกับตำหนิว่า กมธ.ปล่อยผ่านมาได้อย่างไร เพราะเป็นการกล่าวหาใส่ร้าย ผิดข้อบังคับการประชุมสภา ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. ได้ลุกขึ้นชี้แจงอย่างเสียไม่ได้ว่า นายเทพไทและนายสาธิตได้เสนอคำแปรญัตติเข้ามาเป็นลายลักษณ์อักษร



จากนั้นการประชุมทำท่าจะวุ่นวายอีกครั้งเมื่อนายสมศักดิ์พยายามจะรวบรัดด้วยการขอมติจากที่ประชุมว่าจะเห็นชอบมาตรา 1 ตามที่ กมธ.เสนอหรือไม่ จึงเกิดการประท้วงกันไปมาระหว่าง ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน นายสมศักดิ์จึงต้องยอมให้มีการอภิปรายต่อ กระทั่งภายหลังที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบมาตรา 1 ตามร่างของ กมธ.ด้วยคะแนน 353 ต่อ107 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง



สำหรับมาตรา 2 เป็นเรื่องเงื่อนเวลาในการบังคับใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่ง กมธ.ยืนยันให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้แก้ โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมเหน็บรัฐบาลว่า รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ใช่ข้อบังคับของบริษัท จะเร่งรีบไปไหน ความลุกลี้ลุกลนจะทำให้เกิดปัญหา ทั้งนี้ หลังอภิปรายนานเกือบ 1 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับร่างของ กมธ.ด้วยคะแนน 349 ต่อ 122 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง



จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 3 ต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ระบุให้ที่ประชุมรัฐสภาทำหน้าที่เลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ 22 คน และหากร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตกไปหรือจัดทำไม่แล้วเสร็จ เพราะเหตุที่ ส.ส.ร.สิ้นสุดลง ให้สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 มีสิทธิเสนอต่อรัฐสภาให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ซึ่ง ส.ส.และ ส.ว.ส่วนใหญ่อภิปรายไม่เห็นด้วยทั้ง 2 กรณี โดยกรณีให้รัฐสภาเลือก ส.ส.ร. อาจส่งผลให้มีการครอบงำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการให้รัฐสภามีมติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ก็ไม่น่าจะทำได้ เพราะอาจขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขู่ด้วยว่า หากมีความพยายามจะดำเนินการดังกล่าว พรรคฯ จะยื่นองค์กรอิสระให้วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับร่างของ กมธ.ด้วยคะแนน 332 ต่อ 37 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง



เป็นที่น่าสังเกตว่า การประชุมวันแรก(10 เม.ย.) ที่ประชุมพิจารณาได้ 3 มาตรา เมื่อประชุมต่อวันที่สอง(11 เม.ย.) ได้เตรียมพิจารณาต่อในมาตรา 4 เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ก็มีเหตุวุ่นวายจนประธานต้องสั่งพักการประชุมหลายครั้ง เช่น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้มีการประชุม กมธ.เพื่อตรวจสอบแก้ไขข้อบกพร่องในรายงานของ กมธ.ใหม่ เพราะพรรคฯ ไม่สามารถอภิปรายในเอกสารที่เป็นเท็จได้ ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย ในฐานะประธาน กมธ.บอก จะใช้ใบแทรกเพิ่มเติมและจะนำรายงานชุดใหม่มามอบให้ ส.ส.และ ส.ว.ภายหลัง



อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมดำเนินไปได้ 7 ชั่วโมง ที่ประชุมก็ได้มีมติให้เลิกประชุมในช่วงเย็น ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดไว้ในเวลา 21.00น. เนื่องจาก ส.ส.หลายคนต้องการลงพื้นที่ภาคใต้ หลังเกิดแผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ที่อินโดนีเซีย จึงเกรงว่าจะเกิดสึนามิในจังหวัดภาคใต้ ทั้งนี้ จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณามาตรา 4 ต่อในวันที่ 18-19 เม.ย. หากวันที่ 19 เม.ย. พิจารณาไม่แล้วเสร็จในเวลา 24.00 น. จะพิจารณาต่อในวันที่ 20 เม.ย. ส่วนการพิจารณาในวาระ 3 ประธานรัฐสภาได้นัดประชุมในวันที่ 8 พ.ค. เนื่องจากวันที่ 5-7 พ.ค.ติดช่วงวันหยุดฉัตรมงคลและวันเสาร์-อาทิตย์



4.“ทักษิณ” ลั่น กลับไทยใน 3-4 เดือนข้างหน้า พร้อมอวยพร “ป๋าเปรม” ให้สุขภาพแข็งแรง!





พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ รปภ.ของลาวที่ขนาบซ้าย-ขวา
ช่วงสงกรานต์ปีนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ ได้เดินทางมาใกล้ประเทศไทยมากขึ้น คือที่ลาวและกัมพูชา ขณะที่ ส.ส.และรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย รวมทั้งแกนนำและแนวร่วมคนเสื้อแดงในหลายจังหวัด ต่างพากันเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างเปิดเผย ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณได้เตรียมเสื้อโปโลสกรีนรูปหน้าตัวเอง พร้อมข้อความ “ส่งความสุขวันสงกรานต์ ด้วยรักและขอบคุณ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 13 เม.ย.55” ให้ผู้ที่เข้าพบด้วย



เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างพักอยู่ที่โรงแรมกรีนปาร์คบูติค โฮเต็ล ถ.คูเวียง นครเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 13 เม.ย. พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กล่าวอวยพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษด้วย หลังถูกผู้สื่อข่าวถามนำ “จริงๆ แล้ว ป๋าเปรมเป็นผู้ใหญ่ที่ผมเคารพรักท่าน ตอนที่อยู่ ไปกราบเคารพท่านเป็นประจำ ปีนี้ท่านอายุมาก แต่ท่านยังแข็งแรง ยังอิจฉา ถ้าผมอายุน้อยกว่าท่านหน่อย จะแข็งแรงเท่าท่านหรือไม่ สุขภาพดีมาก ก็ฝากกราบความปรารถนาดีให้ท่านสุขภาพดีต่อไป...” พ.ต.ท.ทักษิณ ยังพูดถึงกรณีที่เคยบอกว่าจะกลับบ้านอย่างเท่ๆ ด้วย โดยยืนยันว่า การกลับบ้านอย่างเท่ๆ ของตน ไม่ใช่การใส่หน้ากากเดินข้ามประเทศไป แต่ต้องผูกไทใส่สูทเดินลงเครื่องบินจึงจะเท่กว่า



วันเดียวกัน(13 เม.ย.) พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กล่าวระหว่างขึ้นเวทีพบปะคนเสื้อแดงที่โรงแรมจำปาสัก แกรนด์โฮเต็ล โดยส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะกลับประเทศในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า “พี่น้องครับ สงกรานต์ปีนี้ก็มีนิมิตหมายอันดีที่เราจะมีความสุขด้วยกันสักที 3-4 เดือนข้างหน้าผมกลับมาแน่ พี่น้องชาวไทยจะมีความสุขทั่วหน้า ต่อจากนี้ไปจะไม่มีเหลืองแดง คนไทยเราจะหันหน้าเข้าหากัน ถ้าหากใครไม่ปรองดอง ผมก็ช่วยไม่ได้”



วันต่อมา(14 เม.ย.) พ.ต.ท.ทักษิณได้เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวไปที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เพื่อพบปะ ส.ส.-รัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และคนเสื้อแดงที่แห่ไปรอพบ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่จากรัฐบาลสมเด็จฯ ฮุน เซน ทั้งนี้ สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์มาพบ พ.ต.ท.ทักษิณที่โรงแรมที่พัก เพื่อประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ สืบชะตาให้ด้วย



โอกาสนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ส่งสัญญาณอีกครั้งว่าจะกลับประเทศปีนี้ โดยอ้างความเป็นปีมหามงคล “ปีนี้จะเป็นปีที่ดี เป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทย เราจะอยู่กันแบบนักสู้ที่มีแต่สันติสุข ไม่มีรุนแรงท้าทาย ปีนี้เป็นวาระสำคัญ วันที่ 28 ก.ค.นี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ถือเป็นรอบสำคัญ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา เช่นกัน ฉะนั้นมีอะไรหลายอย่างที่บอกเหตุว่าผมจะได้กลับไปอยู่กับพี่น้อง”



ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาวิเคราะห์ว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับประเทศภายใน 3-4 เดือนจริง พรรคเพื่อไทยคงเลือกที่จะออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม เพราะถ้าออกเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาก็ต้องใช้เวลานานกว่า 6 เดือน ซึ่งเรื่องนี้พรรคฯ จับตาดูอยู่ หากออกเป็น พ.ร.ก.นิรโทษกรรม จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทันที เพราะไม่ใช่เรื่องที่มีความจำเป็นฉุกเฉินและไม่ใช่เรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ



5.ครม. เลื่อนขึ้นเงินเดือน ขรก. 15,000 บ. ไปปี 2557 ใช้วิธีจ่ายเพิ่มพิเศษก่อน ด้าน “กิตติรัตน์” ยอมรับ งบไม่พอจ่าย ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” อ้าง ให้เวลาเอกชนเตรียมตัว!





น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุมเห็นชอบเรื่องการปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เสนอ โดยให้ปรับปรุงอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและปรับเงินเดือนชดเชยของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ วงเงิน 5,010 ล้านบาทในปี 2556 และอีก 7,135 ล้านบาทในปี 2557 เพื่อกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการให้ได้ 15,000 บาทตามนโยบายของรัฐบาลในอีก 2 ปีถัดไป โดยการปรับเงินเดือนนั้น ในวันที่ 1 ม.ค.2556 ระดับปริญญาตรีจะได้ 13,300 บาท ปวส. 10,200 บาท ปวช. 8,300 บาท จากนั้นให้ปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในวันที่ 1 ม.ค.2557 โดยปริญญาตรีจะได้ 15,000 บาท ปวส. 11,500 บาท ส่วน ปวช. 9,400 บาท



ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง บอกว่า การปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการตามข้อเสนอของกรมฯ ก็คือ ในปี 2555 ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จะได้รับเงินเดือนเดิมพร้อมกับเงินค่าครองชีพ จากนั้นในปี 2556 เงินเดือนจะปรับเพิ่มขึ้น และปรับลดเงินเพิ่มค่าครองชีพลง จากนั้นในปี 2557 ข้าราชการจะได้รับเงินเดือนเต็มอัตราโดยไม่มีเงินเพิ่มค่าครองชีพ



ทั้งนี้ หลังมีข่าวว่ารัฐบาลเลื่อนการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 15,000 บาทออกไปอีก 2 ปี ปรากฏว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นการเลื่อนขึ้นเงินเดือนออกไปเป็นปี 2557 เพราะเงินเดือนของข้าราชการแรกเข้าทำงาน 15,000 บาทต่อเดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการปรับโครงสร้างเงินเดือนของผู้จบปริญญาตรีซึ่งทำงานมานานแล้ว รวมถึงระดับปริญญาโท และเอก เพื่อให้เงินเดือนมีความสอดคล้องกัน นายกิตติรัตน์ ยังยอมรับด้วยว่า เหตุที่ไม่สามารถปรับเพิ่มเงินเดือนพร้อมกันได้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ เพราะต้องจัดสรรงบไปใช้แก้ปัญหาด้านอื่นด้วย หากต้องปรับฐานเงินเดือนทั้งหมด ต้องใช้งบประมาณมากถึง 5 หมื่นล้านบาท การใช้วิธีจ่ายเงินเพิ่มพิเศษไปก่อนและทยอยปรับฐานเงินเดือนภายใน 2 ปี ช่วยประหยัดงบประมาณลงได้มาก



ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงไปอีกทาง โดยให้เหตุผลที่ต้องเลื่อนการปรับเงินเดือนข้าราชการเป็น 15,000 บาทในปี 2557 ว่า เพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาเตรียมตัว เพราะภาคเอกชนจะยึดฐานเงินเดือนข้าราชการเป็นตัวอ้างอิงและปรับเข้าสู่ฐานเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องให้เวลาภาคเอกชนด้วย

 

 

 

 

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 เมษายน 2555 22:33 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น