เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย
ธีระ สั่งหาพื้นที่รับน้ำมากกว่า 2 ล้านไร่ มั่นใจชาวบ้านยินยอม เพราะหลายพื้นที่ท่วมทุกปีอยู่แล้ว ขณะที่แหล่งข่าวเผย กยน. กำหนดพื้นที่รับน้ำ 6 ประเภท มีทั้ง ที่นา ทุ่ง ฝั่งตะวันออก-ตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา
วานนี้ (23 กุมภาพันธ์) นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดหาพื้นที่รับน้ำนอง หรือพื้นที่แก้มลิง เพื่อชะลอความรุนแรงของอุทกภัยในปี พ.ศ.2555 ว่า ขณะนี้คณะทำงานกำลังเร่งจัดหาพื้นที่แก้มลิง ซึ่งต้องใช้พื้นที่มากกว่า 2 ล้านไร่ เพื่อจะได้ช่วยลดความเสียหายในพื้นที่กลางน้ำ และปลายน้ำ จากที่อุทกภัยในปี พ.ศ.2554 มีพื้นที่เสียหายมากถึง 10 ล้านไร่
รมว.เกษตรฯ ยังกล่าวต่อว่า นอกจากจัดหาพื้นที่รองรับน้ำแล้ว คณะทำงานยังได้สรุปหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่จะต้องเสียพื้นที่การเกษตรสำหรับรองรับน้ำ ซึ่งตามหลักเกณฑ์จะแบ่งเป็น 6 กลุ่มพื้นที่ และในแต่ละพื้นที่จะได้เงินชดเชยไม่เท่ากัน เพราะบางพื้นที่จะเป็นจุดพื้นที่ท่วมพิเศษ เนื่องจากปกติไม่ถูกน้ำท่วม แต่อาจจำเป็นต้องตัดยอดน้ำออกจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนเข้าเขื่อนเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม ต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อจะสรุปว่า พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ท่วมขังปกติ หรือพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ที่ท่วมขังใหม่ เพราะจะได้รับเงินชดเชยไม่เท่ากัน โดยจะเสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จากนั้น จะลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้าน คาดว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะยินยอม เพราะเข้าใจดีว่าหลายพื้นที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นปกติทุกปีอยู่แล้ว และครั้งนี้จะมีการจ่ายเงินเยียวยาให้อย่างเป็นธรรม
ขณะที่แหล่งข่าวจากคณะทำงานจัดหาพื้นที่รับน้ำนอง เปิดเผยว่า คณะทำงานยุทธศาสตร์และแนวทางการบรรเทาอุทกภัยแบบบูรณาการระยะเร่งด่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (กยน.) ได้แบ่งพื้นที่รับน้ำนองไว้ 6 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่นา ในเขตของโครงการชลประทานของกรมชลประทานที่มีระบบส่งและระบบการกระจายน้ำ และระบบระบายน้ำถึงในระดับไร่นามีคันปิดล้อม อาคารบังคับน้ำและเครื่องสูบน้ำสามารถควบคุมน้ำเข้าออกได้ในปีปกติจะไม่เกิดอุทกภัยในพื้นที่บริเวณนี้ ประกอบด้วย
1.1 พื้นที่เจ้าพระยาตอนบน
1.2 พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง
ประเภทที่ 2 พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ทุ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตชลประทานประเภทรับน้ำนองที่มีคลองเป็นคลองจมจะใช้เป็นทั้งคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ มีคันปิดล้อมอาคารบังคับน้ำและเครื่องสูบน้ำสามารถควบคุมน้ำเข้าออกได้ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ชะลอน้ำเป็นปกติในปีน้ำมาก ประกอบด้วย
2.1 พื้นที่เจ้าพระยาตอนบน
2.2 พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง
ประเภทที่ 3 พื้นที่แก้มลิงแม่น้ำ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือหนองบึงที่อยู่ติดกับลำน้ำ มีโครงสร้างพื้นฐานเป็นคันปิดล้อมมีทางน้ำ และอาคารบังคับน้ำสามารถควบคุมการไหลของน้ำเข้าออกมีเครื่องสูบน้ำและมีทางเชื่อมโยงออกจากแก้มลิงไปสู่แม่น้ำได้ ประกอบด้วย
3.1 พื้นที่เจ้าพระยาตอนบน
3.2 พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งประเภท 2 และประเภท 3 ควรจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน
ประเภทที่ 4 พื้นที่ทางน้ำหลาก หรือ ฟลัดเวย์ ตามแนวคิดของ กยน. ที่จะผันน้ำออกทางพื้นที่ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน หรือพื้นที่ระหว่างคันกั้นน้ำนำน้ำแม่น้ำท่าจีน และฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตะวันออกของคลองระพีพัฒน์ (ระหว่างคลอง 13 และคลอง 14) ประกอบด้วย
4.1 พื้นที่ฟลัดเวย์ ด้านตะวันออกคลองระพีพัฒน์
4.2 พื้นที่ฟลัดเวย์ ฝั่งตะวันตกแม่น้ำท่าจีน
ประเภทที่ 5 พื้นที่พักน้ำชั่วคราว ไม่มีคันปิดล้อมด้านบนคอยกั้นไม่ให้น้ำไหลเข้าพื้นที่จากที่สูง แต่มีคันปิดล้อมและอาคารบังคับน้ำด้านล่าง สามารถควบคุมการไหลของน้ำลงด้านท้ายน้ำ ประกอบด้วย
5.1 พื้นที่เจ้าพระยาตอนบน
5.2 พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง
ประเภทที่ 6 พื้นที่ลุ่มต่ำ และทุ่งรับน้ำ ที่จะใช้เป็นพื้นที่แก้มลิง ไม่ว่าจะเป็นหนอง บึง หรือที่สาธารณะที่สามารถรับน้ำและเก็บน้ำไว้ได้ ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานคันปิดล้อม และอาคารบังคับน้ำที่คอยควบคุมการไหลเข้าออกของน้ำ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น