วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

อาหารและขนมมงคลในงานแต่งงานแบบไทยภาคกลาง

อาหารไทย

อาหารและขนมมงคลในงานแต่งงานแบบไทยภาคกลาง (i Do)
Wedding Tradition เรื่อง : Supatha

นอกจากความประทับใจจากภาพอันสวยงามของพิธีการจัดงาน ความสวยหวานของคู่บ่าวสาว งานแต่งงานยังมีการเลี้ยงรับรองผู้มาร่วมยินดีในงาน อาหารหลากหลายทั้งคาวหาวนถูกจัดเตรียมไว้เต็มที่ นับเป็นความประทับใจอีกประการที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย

สำหรับภาคกลางเรียกว่า "กินสามถ้วย" หรือ "กินสี่ถ้วย" หมายถึงการเลี้ยงขนมสามอย่างหรือสี่อย่าง โดยขนมทั้งสี่อย่างเป็นขนมโบราณแต่ดั้งเดิมของไทย ได้แก่ เม็ดแมงลักน้ำกะทิ หรือ "ไข่กบ" ลดช่องน้ำกะทิ หรือ "นกปล่อย" ข้าวตอกน้ำกะทิ หรือ "นางลอย" และข้าวเหนียวน้ำกะทิ หรือ "อ้ายตื้อ" ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความหมายในทางมงคล

เม็ดแมงลักน้ำกะทิ มีลักษณะเป็นเม็ดใสจับกันเป็นแพ คล้ายไข่กบมีความหมายว่า ให้คู่บ่าวสาว มีลูกมีหลานเต็มบ้าน สมบูรณ์พร้อมหน้าครอบครัวอบอุ่น เปรียบดั่งกบที่ออกไข่ครั้งละมาก ๆ ส่วนน้ำกะทิหมายถึงความหวานชื่น

ลอดช่องน้ำกะทิ มีความหมายว่า ให้คู่บ่าวสาวมีความรักยืนยาว จะทำการใด ก็ขอให้ผ่านพ้นไปได้ตลอด ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ ดังลักษณะลื่นไหลของลอดช่องนั่นเอง

ข้าวตอกน้ำกะทิ มีความหมายว่า ให้คู่บ่าวสาวมีความรักที่เบ่งบานเฟื่องฟู เช่นเดียวกับข้าวตอก มีความหวานชื่นเหมือนน้ำกะทิ ขอให้ความรักเบ่งบานสวยงามภายใต้กรอบประเพณีอันดีงามเช่นเดียวกับข้าวตอกที่ไม่เคยกระเต็นออกนอกที่ครอบเวลาคั่วข้าว

ข้าวเหนียวน้ำกะทิ มีความหมายว่า ให้คู่บ่าวสาวนั้นรักกันแน่นเหนียวเหมือนข้าวเหนียวและมีความหวานชื่นเหมือนน้ำกะทิ

นอกจากจะมีความหมายดีแล้ว ขนมทั้ง 4 ยังเป็นแหล่งพลังงานที่หวานฉ่ำ ชื่นใจสำหรับแขกผู้เหนื่อยล้าจากการเดินทาง เพราะในสมัยก่อนการเดินทางมาร่วมงานมงคลไม่ได้สะดวกสบายดังปัจจุบัน ต่อมาเมื่อการเดินทางสะดวกขึ้นการเลี้ยงขนมแบบนี้จึงมีให้เห็นน้อยลงไป และงานฉลองแต่งงาน จึงมีชื่อเรียกง่าย ๆ อีกอย่างว่า "กินเลี้ยง" แทน

นอกจากนี้ในขบวนขันหมากของภาคกลาง จะต้องมี "เตียบอาหาร" ที่เน้นอาหารคาวด้วยเช่นกัน เตียบอาหารต้องจัดให้มี 3 คู่ขึ้นไป อาหารคาวที่จัดวางในเตียบอาหารได้แก่ ขนมจีบ ขนมจีนน้ำยา และห่อหมก ซึ่งชื่ออาหารล้วน มีความหมายในทางมงคลเช่นกัน

ห่อหมก มีความหมายในเชิงให้เจ้าบ่าว-เจ้าสาวนั้น "เออออห่อหมก" กันไปทุกเรื่อง จะได้ไม่ต้องมีเรื่องขัดข้องใจ ขัดแย้งกันนั่นเอง


อาหารและขนมมงคลในงานแต่งงานแบบไทยภาคกลาง


ขนมจีน ให้คู่แต่งงานรักกันหวานชื่นเหมือนกับช่วงที่มีการจีบกันใหม่ ๆ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่หวานชื่นที่สุดของความสัมพันธ์ฉันท์คู่รัก

ขนมจีนน้ำยา ถือเป็นอาหารสำคัญในงานแต่งงานตั้งแต่สมัยเก่าก่อน โดยเฉพาะขนมจีนที่นำมาใช้จะต้องโรยให้เส้นต่อเนื่องกันและยาวที่สุด เวลาจับต้องจัดให้สวยงามโดยไม่ตัดให้ขาด เพราะคนโบราณถือว่าเป็นมงคลให้การครองรักยืนยาว เครื่องเคียงของขนมจีนอย่าง ถั่วงอก ก็ให้ความหมายของความเจริญงอกงาม ถั่วงอกนี้ไม่ใช่แค่ชื่อที่เกี่ยวกับการเติบโตงอกงามเท่านั้น ทางการแพทย์ถือว่า ถั่วงอกนี้ไม่ใช่แค่ชื่อที่เกี่ยวกับการเติบโตงอกงามเท่านั้น ทางการแพทย์ถือว่า ถั่งอกมีฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน ช่วยกระตุ้นการเติบโตของต้นไม้ และมีผลต่อการเจริญโตของคนด้วย เช่นกันหากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม


อาหารและขนมมงคลในงานแต่งงานแบบไทยภาคกลาง


ส่วนขนมหวานที่มีชื่อเป็นมงคล นิยมกันในปัจจุบันเพราะสื่อความหมายในทางเกื้อหนุนเพิ่มพูนชีวิตคู่ให้มีแต่ความเจริญ ขนมมงคล 9 ชนิดที่ขาดไม่ได้เลยในขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวประกอบด้วย

ขนมทองหยิบ หมายถึง หยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง

ขนมทองหยอด หมายถึง ความร่ำรวยที่ใช้จ่ายเงินไม่มีหมด

ขนมฝอยทอง หมายถึง ชีวิตคู่ที่ยืนยาว

ขนมชั้น หมายถึง ของขวัญในการฉลองการเลื่อนยศ

เม็ดขนุน หมายถึง มีคนสนับสนุนไม่ขาด

ขนมจ่ามงกุฎ หมายถึง มีเกียรติยศที่สูงส่ง

ขนมถ้วยฟู หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู

ขนมเสน่ห์จันทน์ หมายถึง มีเสน่ห์ มีผู้คนรักใคร่

เมื่อมีอาหารมงคล ย่อมต้องมีอาหารต้องห้าม อาหารที่จะไม่ยอมให้มีเลยในงานแต่งได้แก่ แกงบวน ต้มยำ ยำผัก ปลาร้า ปลาเจ่า ตลอดจนอาหารชนิดอื่นที่ชื่อและลักษณะไม่เป็นมงคล เช่น หมี่กรอบ มีลักษณะหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ง่ายเป็นต้น อาหารในงานมงคลนี้ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงความละเมียดละไมในการดำเนินชีวิตของคนไทยมาช้านาน ในรุ่นลูกรุ่นหลายจึงต้องช่วยรักษาและถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมอันดีนี้ ให้อยู่กับคนรุ่นหลังต่อไป



 

 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2554 ISSUE 220

  • Kapook


  • ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น