ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555
สมิทธ เตือนอีก 4 เดือน จมน้ำอีก - ปลอดประสพ ยันเอาอยู่
ดร. สมิทธ ธรรมมสโรช
4เดือนจมน้ำอีก‘สมิทธ’บ่นกยน.เหลวไร้รูปธรรม (ไทยโพสท์)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3
นับถอยหลัง 4 เดือนเตรียมจมน้ำอีกครั้ง "สมิทธ" บ่นพึม กยน.เหลว อนุมัติแต่งบประมาณ แต่ยังไม่ลงมือป้องกันน้ำท่วมที่เป็นรูปธรรม เตือนลานีญา ตั้งแต่พฤษภาคมปริมาณฝนมหาศาลเท่าปีที่แล้วมาแน่ "ปลอด" ยันเอาอยู่ กทม.ไม่ท่วมล้านเปอร์เซ็นต์ ส่วนปริมณฑลพลเมืองชั้นสองเตรียมยกของเพราะเป็นทางระบายน้ำ
ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดเสวนา “ถอดบทเรียนเหตุการณ์มหาอุทกภัย สานพลังเครือข่าย รับภัยพิบัติ 2555” โดยมีนายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) บรรยายพิเศษหัวข้อ “ภัยพิบัติธรรมชาติและสถานการณ์ภัยพิบัติของโลกในอนาคต”
นายสมิทธกล่าวว่า ต่อจากนี้ไปสถานการณ์การเกิดภัยพิบัติจะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะน้ำท่วม เนื่องจากมีการทำนายโดยอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่า ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จะมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมหาศาลคล้ายกับปีที่ผ่านมา เพราะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา เพราะฉะนั้นเราจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
เขาบอกว่า จากการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) มีการประชุมทั้งหมด 5 ครั้ง แต่ตนเข้าร่วมเพียง 3 ครั้งแรกเท่านั้น เพราะเห็นว่าเสนอความเห็นอะไรออกไปคณะกรรมการท่านอื่น ๆ จะไม่เห็นด้วย และไม่ปฏิบัติตาม จึงมองไม่เห็นความจำเป็นที่เข้าร่วมการประชุมอีก แต่ยืนยันว่ายังไม่ได้ลาออกจากการเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว
นายสมิทธเห็นว่า การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ยังไม่มีแนวทางการแก้ไขหรือรับ มือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่คาดว่าจะท่วมอีกครั้งในช่วงฤดูฝนนี้ กยน.ยังไม่ทำอะไรนอกจากการอนุมัติงบประมาณจำนวน 3.5 แสนล้านบาทเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราต้องมาติดตามดูว่ารัฐบาลจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาภัยพิบัตินี้ อย่างไร
“ที่เขาออกมาบอกว่าจะมีการขุดลอกคูคลองนั้น ผมว่าขุดลอกคูคลองอย่างเดียวมันไม่พอ ปริมาณน้ำมันมหาศาล และเท่าที่ดูตอนนี้ยังไม่มีการลงมือขุดลอกคูคลองที่ไหน หรือมีการซ่อมแซมประตูระบายน้ำที่ไหนเลย ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือบริหารจัดการน้ำต้องคำนวณปริมาณน้ำฝนและการปล่อยน้ำ ออกจากเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนใหญ่ ๆ จะต้องประสานข้อมูลกัน โดยปล่อยน้ำออกจากเขื่อนในปริมาณที่สามารถปล่อยออกสู่ทะเลได้เช่นเดียวกัน อย่างนี้แล้วน้ำก็จะไม่ท่วม หรือไม่ท่วมหนัก” นายสมิทธกล่าว
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยภายหลังการประชุมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ กทม.ว่า รัฐบาลและ กทม.มีข้อตกลงร่วมกัน 12 ข้อ ได้แก่
1.รัฐบาลจะเข้าไปช่วย กทม.เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วม โดยทางฝ่ายรัฐบาลจะมอบหมายให้บางกระทรวงเข้าไปช่วย กทม.ในบางพื้นที่
2.งบประมาณที่ กทม.ได้รับไปแล้ว 1,964 ล้านบาทนั้นกทม.จะดำเนินการเอง 4 เรื่อง คือ การซ่อมแซมเขื่อนตามแนวลำน้ำ, การติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ, การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และปรับปรุงระบบระบายน้ำของคลองระพีพัฒน์
3.การขุดลอกคูคลอง 29 คูคลอง ซึ่งเป็นคลองสายหลัก กทม.ยินดีให้หน่วยราชการอื่นๆ ที่มีขีดความสามารถ เช่น ทหาร เข้าไปดำเนินการ
4.กองทัพเรือจะผลิตเครื่องผลักดันน้ำเคลื่อนที่จำนวน 100 เครื่อง เพื่อในกรณีเกิดความจำเป็น
5.กองทัพเรือและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะร่วมกันเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิคในการออกแบบและติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ถาวรให้กับทุกจังหวัดที่มีความต้องการ
6.กองทัพบกจะดำเนินการขุดคูคลองใหม่ขนาดเล็ก 347 คลอง งบประมาณ 770 ล้านบาท ให้กับ กทม.
7. สำหรับท่อระบายน้ำของประชาชน เช่น บ้านจัดสรรซึ่งอุดตันในขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยจะร่วมมือกับทาง กทม. จะหารือกับเอกชน เพื่อขอเข้าไปดำเนินการ
8.ระบบเตือนภัย คณะทำงานของ กยน.กับ กทม.จะร่วมดำเนินการให้ระบบมีความเชื่อมต่อกัน ไม่แยกจากกัน ซึ่ง กทม.ได้งบไปแล้ว 24 ล้านบาท และคณะทำงาน กยน. ได้ไปแล้ว 1,000 ล้านบาท
9.กทม.ร้องขอว่าหากมีน้ำเหนือลงมาเป็นจำนวนมาก ให้ปล่อยให้น้ำไหลลงมาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
10.กทม.ขอให้กระทรวงมหาดไทยทำความเข้าใจกับประชาชนตามขอบพื้นที่รอยต่อ จังหวัดให้เข้าใจวิธีการระบายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าเหมือนครั้งที่ผ่านมา
11.กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำลังทำแผนเผชิญเหตุน้ำท่วมอยู่ รวมถึงการให้มีคลังเครื่องมือ เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องดันน้ำ เสื้อชูชีพ เป็นต้น เพื่อใช้เผชิญเหตุน้ำท่วม
12.กทม.ยืนยันว่าการบุกรุกตามแนวคลองขนาดเล็ก กทม.คิดว่าจะแก้ไขปัญหาได้ในปีนี้ แต่สำหรับคลองขนาดใหญ่ เช่น คลองเปรมประชากร คลองบางซื่อ ขอให้เป็นนโยบายร่วมกับรัฐบาล และข้อ 12 ครึ่ง จะหาทางระบายน้ำผ่านทางตะวันออกของ กทม.ให้ได้ ซึ่งคราวที่แล้วทำไม่ได้ นอกจากนี้ยังได้ฝากที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อย้ำกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าเขื่อนขนาดใหญ่จะต้องถูก ใช้เพื่อป้องกันอุทกภัยเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องการเกษตรหรือเรื่องอื่นนั้นขอให้เป็นเรื่องรอง โดยที่ปรึกษารัฐมนตรีก็แสดงความเห็นด้วยในเรื่องนี้
“ผลของการตกลงกันวันนี้จะทำให้ชาว กทม.สบายใจได้ว่าน้ำจะไม่ท่วม และจะรักษาพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ จะได้รับการปกป้องและจะป้องกันให้ปลอดภัยล้านเปอร์เซ็นต์ หรือหากน้ำท่วมก็จะให้อยู่ในระยะสั้นและเสียหายน้อยที่สุด ส่วนปริมณฑลนั้นถือเป็นทางระบายน้ำอยู่แล้ว” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
วันเดียวกันนี้ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ได้เพิ่มปริมาณการระบายน้ำจากวันละ 39 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นวันละ 44 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นวันแรก เพราะขณะนี้ยังมีน้ำในเขื่อนอยู่ที่ร้อยละ 83 ขณะที่เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก มีน้ำมากถึงร้อยละ 85 ทำให้เขื่อนต้องเร่งระบายน้ำกว่า 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อรองรับน้ำใหม่ที่จะไหลเข้าเขื่อนในเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม
นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน เผยว่า ปีนี้เป็นปีที่มีน้ำเต็มเขื่อนมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งกรมชลประทานใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำ โดยจะเร่งระบายน้ำออก ซึ่งคาดว่าเมื่อสิ้นฤดูแล้งจะมีน้ำมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10
เขาบอกว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายสนับสนุนเกษตรกร โดยเฉพาะที่ราบลุ่มภาคกลางทำนาปีละ 2 ครั้ง โดยให้ทำนาปีเร็วขึ้น และต้องเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน จึงทำให้ขณะนี้ต้องมีการใช้น้ำมากกว่าเดิม เมื่อถึงเดือนสิงหาคม รองอธิบดีกรมชลประทานเชื่อมั่นว่าระดับน้ำในเขื่อนทุกเขื่อนจะลดต่ำกว่าปี ที่แล้ว แต่เวลานี้ยังมีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้ระบายน้ำไม่เต็มที่.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น