บรรยากาศโฮย่า

นอกจากชื่อ โฮย่า (Hoya) ซึ่งเราเรียกตามชื่อสกุลของไม้เถาเลื้อยชนิดนี้แล้ว ชื่อไทยอย่าง นมตำเลีย ก็เป็นอีกชื่อที่เคยใช้เรียกกัน (ตั้งตามลักษณะของพรรณไม้ที่ทุกส่วนจะมียางขาวๆ คล้ายน้ำ�นม) แต่ก็ค่อยๆ เบาลงและเกือบจะเงียบหายไปอยู่แล้ว ส่วน Wax plant เป็นชื่อในภาษาอังกฤษ ที่มีที่มาจากความมันและเงาของทั้งใบและดอก

ซึ่งสุดท้าย โฮย่าก็กลายเป็นชื่อเดียวที่ใช้เรียกกันแพร่หลาย

โฮย่ากระจายพันธุ์อยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชียออสเตรเลีย และ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีอยู่มากกว่า 200 ชนิด ในประเทศไทยนั้น พบว่ามีประมาณ 40 ชนิด

บรรยากาศโฮย่า


ไม้เถาเลื้อยอย่าง โฮย่า ให้บรรยากาศแบบไหน

บรรยากาศป่า เพราะลักษณะลำต้นที่เป็นเถาเลื้อย ใบหนาเกาะเกี่ยวพันอยู่กับไม้ใหญ่ได้

บรรยากาศลึกลับ เพราะลักษณะของดอกที่เหมือนจะแอบออกตามก้อนช่อไม่ให้รู้ตัว มาเห็นอีกทีก็บานเสียแล้ว

การปลูกโฮย่าให้เป็นส่วนหนึ่งของสวนจึงชักชวนบรรยากาศทั้งสองนั้นเข้ามาได้ไม่ยาก และนับเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของโฮย่า นอกเหนือไปจากการเป็นองค์ประกอบให้กับภาพรวม

โฮย่าชอบแดดรำไร ถ้าไม่อยากขึงสแลนกรองแสง ก็อาจจะไปแขวนไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ก็ได้ และควรปลูกในเครื่องปลูกที่โปร่งๆ อย่างเช่นมะพร้าวสับ เพราะต้องการการระบายน้ำที่ดี รดน้ำวันละครั้ง และอย่าให้โดนดอกมาก ดอกจะร่วงได้ ลักษณะดอกจะเป็นช่อ ภายใน 1 ช่อประกอบไปด้วยดอกเล็กๆ หลายดอก ตรงกลางของแต่ละดอกจะมีส่วนที่เรียกว่า มงกุฎ ขนาดและสีของช่อดอกต่างกันไปตามชนิด มีตั้งแต่ขนาดใหญ่จนถึง ขนาดเล็กมากๆ ส่วนสีก็ตั้งแต่ขาว ชมพู แดง ม่วง เหลือง เขียว ฯลฯ และมีชนิดที่มีกลิ่นหอมด้วย

ในช่วงที่โฮย่ามีดอกอยู่ไม่ต้องใส่ปุ๋ย พอหมดดอกปุ๊บให้ปุ๋ยได้ทันทีโดยดอกจะออกซ้ำที่ก้านช่อเดิม เพราะฉะนั้นอย่าตัดก้านช่อที่เพิ่งหมดดอกไป และถึงเราจะคัดเลือกโฮย่าโดยการดูที่ดอกเป็นอันดับแรก แต่ในช่วง ที่ดอกยังไม่มา ใบและเส้นสายของเถายังคงสร้างบรรยากาศป่าได้อยู่เสมอ เพื่อรอบรรยากาศลึกลับที่จะถูกเปิดเผยยามที่ดอกเดินทางมาถึง

(มีโฮย่าหลายชนิดรอให้เลือกนำไปแขวน ตามตลาดต้นไม้ทั่วไป)

ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Livingetc ฉบับภาษาไทย