เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก พรรคเพื่อไทย, คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Thai Australian association, Thai PBS, เรื่องเล่าเช้านี้
เป็นไปตามโผของสื่อมวลชนทุกสำนัก สำหรับการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ ครม.ยิ่งลักษณ์ 2 ซึ่งนับเป็นการปรับ ครม.ครั้งใหญ่ ที่มีเจ้ากระทรวงที่ทำงานไม่เข้าตาถูกเด้งเพียบ ซึ่งใน ครม.ยิ่งลักษณ์ 2 นี้ ก็มี รมต.ป้ายแดง ที่จะเข้ามาทำงานใหม่ถึง 10 คน ดังโฉมหน้าต่อไปนี้
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
หลังจากพลาดตำแหน่งไปในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ในที่สุดนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในยุคแรก ๆ รวมทั้งยังเคยควบเก้าอี้ขุนคลังในรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และเป็นหนึ่งในมือร่างนโยบายของพรรคเพื่อไทย ก็ได้กลับเข้าสู่คณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ด้วยการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้ นายสุชาติ เคยมีประสบการณ์ในแวดวงทางการศึกษามาก่อน โดยเคยรับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และวิจัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจากจบการศึกษาคณะเศรษฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ The London School of Economics and Political Science สหราชอาณาจักร และปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา
นายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
จบการศึกษาปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาศิลปศาสตร์ ราชภัฏจังหวัดร้อยเอ็ด และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด 5 สมัย ตั้งแต่สังกัดพรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคไทยรักไทย กระทั่งพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ก่อนจะได้ทำงานเป็นกรรมาธิการหลายชุดทั้งด้านเกษตร, แรงงาน, วิทยาศาสตร์ และพลังงาน รวมทั้งการดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จนความสามารถไปเข้าตานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ในที่สุด นายศักดา คงเพชร ก็ได้รับตำแหน่งใหญ่ด้วยการเป็น รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งเจ้าตัวรับปากจะให้ความสำคัญกับครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายอารักษ์ ชลธารนนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
เจ้ากระทรวงพลังงานคนใหม่นี้ จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับอดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะเคยทำงานร่วมกันมาในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) รวมทั้งตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ชินวัตรอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ,กรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จนมีผลงานโดดเด่นถูกใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
จากอดีตปลัดอำเภอ นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต รองปลัดกระทรวง อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน จนเกษียณอายุราชการ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ก็ได้เข้าสู่วงการการศึกษาโดยการรับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ก่อนจะเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย และได้รับการแต่งตั้งในดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แทนนายสุพล ฟองงามที่ลาออกไป ล่าสุด อดีตปลัดหลานยกระทรวงในวัย 65 ปี ก็สามารถก้าวขึ้นมารับตำแหน่งเจ้ากระทรวงคมนาคมซึ่งว่ากันว่าเป็น "กระทรวงเลี่ยมทองฝังเพชร" ของ ครม.ยิ่งลักษณ์ 2 ได้สำเร็จ
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
จบการศึกษาปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ด้านโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จาก Massachusetts Institute of Technology และปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จาก University of Illinois at Urbana-Champaign เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยจากอัคคีภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กรรมการบริษัท วิทยุการบิน จำกัด กรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกรรมการบริษัท ขนส่ง จำกัด
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ ยังเคยเป็นอดีตที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งมีผลงานเป็นที่ปรึกษาให้เจ้ากระทรวงคมนาคมมาหลายสมัย ตั้งแต่เฮียเพ้ง "พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล" รวมทั้ง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เจ้ากระทรวงคมนาคมที่หลุดจากตำแหน่งไปรับเก้าอี้กระทรวงกลาโหมแทน
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
อดีตคณบดีคณะนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนนี้ จบการศึกษาปริญญาตรี Computer Science Southeast Missouri State University, ปริญญาโท Industrial Management University of Central Missouri และปริญญาโท Public Policy & Management Harvard University เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยี, กรรมการสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ในคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ, อนุกรรมการวางแผนอุดมศึกษา ในคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอนุกรรมการประเมินผล สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ และเพิ่งลาออกจากการเป็นกรรมการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) มาหมาด ๆ เพื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีใน ครม.ยิ่งลักษณ์ 2
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ส.ส.อุตรดิตถ์ 5 สมัย ตั้งแต่อยู่กับพรรคประชากรไทย พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และล่าสุดกับพรรคเพื่อไทย จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยศรีปทุม และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง
นายทนุศักดิ์ เคยเป็น 1 ใน 8 ส.ส. ที่ถูกยื่นถอดถอน ในความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 62 และล่าสุด ได้รับเลือกให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากเดิมที่เคยถูกวางตัวจะให้สลับเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกับนางสาวกฤษณา สีหลักษณ์
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
แกนนำคนเสื้อแดงหนึ่งเดียวที่คว้าตั๋วรถด่วนของ ครม.ยิ่งลักษณ์ 2 ได้สำเร็จ โดยนายณัฐวุฒิเป็นชาวนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการภาครัฐและเอกชนสำหรับผู้บริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และเคยลงสมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช แต่ไม่ได้รับเลือก เพราะพ่ายคู่แข่งจากพรรคประชาธิปัตย์
ต่อมา นายณัฐวุฒิ มีบทบาทอย่างมากในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง ซึ่งนำมวลชนเรือนแสนออกมาต่อต้านคณะรัฐประหาร รวมทั้งเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองมากมายในประเทศไทย ก่อนที่นายณัฐวุฒิจะถูกจับกุมตัวหลังเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 แต่ล่าสุด นายณัฐวุฒิได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคว้าเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ สมใจคนเสื้อแดงที่ส่งเข้าประกวด
นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ไม่ผิดฝาผิดตัวสำหรับ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล หรือชื่อเดิม นิวัฒน์ บุญทรง ที่ถูกเรียกเข้ามารับหน้าที่ดูแลสื่อมวลชนโดยเฉพาะ เพราะเคยมีประสบการณ์ในแวดวงสื่อมวลชนมานาน ไล่มาตั้งแต่การดำรงตำแหน่ง อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน), รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือ ชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป), ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และดูแล บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ไอบีซี), บริษัท ชินวัตร ไดเร็คทอรี่ส์ จำกัด บริษัท มูฟวิ่งซาวน์ด จำกัด บริษัท ชินวัตร แซทเทลไลท์ จำกัด บริษัท เอสซี แมทช์บ็อกซ์ จำกัด
ก่อนหน้านี้ นายนิวัฒน์ธำรง เคยเกือบจะได้เก้าอี้เลขาธิการรัฐมนตรีคอยช่วยเหลืองานนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้ว แต่เพราะผู้ใหญ่ในพรรคต้องการให้ยืนสถานภาพ ส.ส.เอาไว้ เพื่อควบคุมบรรดา ส.ส.ในสภา นายนิวัฒน์ธำรงจึงชวดโอกาสไป แต่มาครั้งนี้ เขาสามารถคว้าโอกาสไว้ได้สำเร็จ และได้กำกับดูแลงานตามถนัด
นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เคยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2549 แต่ถูกยกเลิกเพราะเกิดการรัฐประหารขึ้นเสียก่อน ต่อมาได้ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. สังกัดพรรคพลังประชาชน แต่สอบตก กระทั่งเข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้แต่งตั้งให้นางนลินี เป็นผู้แทนการค้าไทยแทน นอกจากนั้น ยังเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ที่สนิทชิดเชื้อกับอดีตนายกฯ ทักษิณ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนนางนลินีจะถูกวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร เมื่อได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ใน ครม.ยิ่งลักษณ์ 2 เพราะจากการตรวจสอบประวัติของนางนลินี พบว่า เมื่อปี พ.ศ.2551 นางนลินี มีชื่อติดแบล็กลิสต์ของประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นพันธมิตรและการให้ความช่วยเหลือ ประธานาธิบดี มูกาเบ แห่งประเทศซิมบับเว ผู้ซึ่งถูกครหาเรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ภายหลัง นางนลินี ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิด
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, กระทรวงศึกษาธิการ, พรรคเพื่อไทย
[18 มกราคม] โปรดเกล้าฯ ครม.ยิ่งลักษณ์ 2 แล้ว 16 ตำแหน่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า แต่งตั้ง คณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว รวม 16 ตำแหน่ง ''ยุทธศักดิ์'' เป็นรองนายกฯ ''ณัฐวุฒิ'' รมช.เกษตร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 5 สิงหาคม 2554 และแต่งตั้งรัฐมนตรี เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 9 สิงหาคม 2554 นั้น บัดนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลว่า บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า สมควรปรับปรุงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 171 และมาตรา 183 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี และแต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
ให้แต่งตั้งรัฐมนตรีดังต่อไปนี้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรองนายกรัฐมนตรี
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นางนลินี ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายอารักษ์ ชลธารนนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายศักดา คงเพชร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
หม่อมราชวงศ์พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2555
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุุกดอทคอม
เผย การปรับเปลี่ยนโยกย้าย ครม. ยิ่งลักษณ์ 2 รวม 16 ตำแหน่ง ย้ายยุทธศักดิ์เป็นรองนายกฯ, ณัฐวุฒิได้นั่งตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ
เมื่อวันที่ 16 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำรายชื่อคณะรัฐมนตรีใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยการปรับ ครม. ครั้งนี้ เป็นการปรับ ครม.ขนาดกลาง ซึ่งจะมีการโยกย้ายสลับเก้าอี้รวม 16 เก้าอี้ ใน 7-8 กระทรวงสำคัญ ๆ ดังนี้
- พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี
- พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม เป็น รมว.กลาโหม
- นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็น รมช.เกษตรฯ
- นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล จาก รมว.ศึกษาธิการ เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ
- นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ
- น.ส.นลินี ทวีสิน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ
- นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็น รมว.คมนาคม
- นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่คณะผู้บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็น รมว.พลังงาน
- นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็น รองนายกฯ ควบตำแหน่ง รมว.คลัง
- นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็น รมว.พาณิชย์
- นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็น รมว.ศึกษาธิการ
- ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ เป็น รมว.อุตสาหกรรม
- น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ เป็น รมช.สาธารณสุข
- นายศักดา คงเพชร เป็น รมช. ศึกษาธิการ
- นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย เป็น รมช.คลัง
- นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็น รมช.คมนาคม
ส่วนรายชื่อผู้ที่หลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรี มีดังนี้
- พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตรองนายกฯ
- นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง
- นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน
- น.ส. กฤษณา สีหลักษณ์ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ
- นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ อดีตรมช. คมนาคม
- นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ อดีตรมช.เกษตรฯ
- นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น อดีตรมช.สาธารณสุข
- นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล อดีตรมช.ศึกษาธิการ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น