วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

“ตู่-จตุพร” สิ้นบุญ พ้นสภาพ ส.ส. “เดอะคางคก”= กุ๊ยข้างถนน






ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ใครๆ ก็รู้ว่า “ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย มีอิทธิฤทธิ์และมีความยิ่งใหญ่เพียงใดใน “กลุ่มคนเสื้อแดง” ซึ่งนั่นย่อมเชื่อมโยงไปถึงความมากบารมีในพรรคเพื่อไทย ชนิดที่ ส.ส.จำนวนไม่น้อยยังต้องสยบยอมต่อเขา ไม่เช่นนั้นแล้วนายใหญ่คงไปบรรจุชื่อของนายจตุพรเอาไว้ในปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 8 อย่างแน่นอน

ดังนั้น การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 ให้นายจตุพรพ้นสภาพจากความเป็น ส.ส. จึงย่อมก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองอยู่ไม่น้อย

ดังเช่นที่นายจตุพรประกาศท่าทีภายหลังมติของ กกต.ว่า “ไม่เหนือความคาดหมายกับมติกกต. ผมทำใจตั้งแต่อยู่ในเรือนจำแล้ว พวกเขาเห็นว่าการที่ผมได้เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรนั้นถือเป็นอุปสรรค แต่อยากจะบอกว่าการที่ผมจะได้ออกมาเคลื่อนไหวข้างนอกนั้นจะยิ่งเป็นมากกว่าอุปสรรคอีก เพราะฉะนั้นขอยืนยันว่าตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่ได้สำคัญเลย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต้องเจอกับขวากหนามอีกมากมาย แต่เราก็จะช่วยกันประคับประคองไปให้ถึงที่สุด เพราะรัฐบาลนี้ถือเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย เรื่องของผมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เพราะถือว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมตอนนี้ก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต.เท่านั้น โดยอาจจะมีคนที่ชิงชังผม ด้วยความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ผมอยากจะบอกว่าการกระทำที่พยายามทำกันอยู่นั้น มันกำลังจะสนองคืนตอบต่อตัวผู้กระทำ เพราะคนอย่างผมไม่เคยกลัวใคร ไม่ว่าจะมาจับผมไปขังคุกหรือเอาผมไปฆ่าให้ตาย ผมก็ไม่มีจำนนให้ใคร”

ข่มขู่ คุกคาม กดดันและสร้างราคาให้กับตนเองตามประสาคนชื่อจตุพร พรหมพันธุ์ จากนั้นก็ประกาศสวมบทบาทถนัดของตนเองด้วยการกลับไปเป็น “กุ๊ยข้างถนน” นำมวลชนคนเสื้อแดงป่วนนอกสภาเหมือนเช่นที่ผ่านมา

แต่จะอย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเถลิงอำนาจปกครองแผ่นดินอยู่ในขณะนี้ ได้กลายเป็นปมเงื่อนที่ทำให้นายจตุพรไม่สามารถฟาดงวงฟาดงาเอากับ กกต. ได้อย่างเต็มที่ และความจริงก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก เพราะมิได้ก่อให้เกิดผลดีแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยังอาจจะซ้ำเติมให้รัฐบาลน้องสาวสุดที่รักของนายใหญ่ให้ยุ่งเหยิงวุ่นวายหนักเข้าไปอีก เพราะเพียงแค่ปัญหามหาอุทกภัยเรื่องเดียวก็หมดราคาชนิดแทบเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว

แต่จะให้หุบปากก็คงจะไม่ใช่นิสัยของนายจตุพร ดังนั้น ก็ย่อมต้องออกมาประกาศศักดาให้เห็นบ้าง เพื่อสร้างราคาให้กับตัวเอง

ทั้งนี้ ตามหลักปฏิบัติและขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว เมื่อเรื่องถูกส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ โอกาสที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความเห็นแย้งไปจากสิ่งที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างยาก ซึ่งนายจตุพรก็ดูเหมือนจะรู้ตัวดีเพราะให้สัมภาษณ์ยอมรับสภาพไปเรียบร้อยแล้ว

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงสามารถสรุปและฟันธงล่วงหน้าได้ทันทีเลยว่า เวลาเสวยสุข ทรัพย์สินเงินทองที่ได้รับจากความเป็น ส.ส. อำนาจวาสนาและเอกสิทธิความเป็น ส.ส.ของนายจตุพรกำลังจะหมดสิ้นลง ไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งประเด็นสำคัญที่เชื่อว่า นายจตุพรกลัวที่สุดไม่ใช่เรื่องเงิน หากแต่เป็นประเด็นเรื่องเอกสิทธิความเป็น ส.ส.ที่ทำให้สามารถรอดพ้นจากการจับกุมคุมขังจะหมดลงไปด้วย และนั่นหมายความว่า นายจตุพรจะต้องกลับไปถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเหมือนเดิม

เพราะต้องไม่ลืมว่านายจตุพรมีคดีติดตัวยาวเป็นหางว่าว ทั้งผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง และผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ทว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในทิศทางตรงกันข้ามกับ กกต. ซึ่งก็ไม่ใช่ว่า ไม่มีสิทธิเกิดขึ้น นั่นหมายความว่า กกต.จะต้องแสดงความรับผิดชอบกับความเห็นของตนเอง และไม่มีอะไรดีไปกว่าการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับมติของกกต.ที่ออกมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 นั้น มีประเด็นที่จะต้องวิเคราะห์และตั้งคำถามอยู่หลายประเด็นด้วยกัน

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นมติของกกต.ที่ไม่เป็นเอกฉันท์ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วในแง่ของเหตุและผล รวมถึงหลักกฎหมาย ก็ไม่น่าที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์เสียงแตกเช่นนี้ได้

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. และนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้มีความเห็นและลงมติ ยืนตามมติที่ประชุม กกต.ครั้งที่ 99 /2554 เมื่อวันที่ 15 ก.ย.54 ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 91 ตั้งแต่แรกที่เห็นว่า นายจตุพร ขาดคุณสมบัตินายจตุพร มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 19 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองประกอบมาตรา 8

ขณะที่นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย ก็มีความเห็นให้ส่งเรื่องไปตามช่องทางมาตรา 91 เช่นกัน แต่มีความเห็นเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปอาจจะยังมีปัญหาโต้เถียงกันว่า การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของนายจตุพร สิ้นสุดลงตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 20 (3) อันจะส่งผลให้สมาชิกภาพของส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4 ) หรือไม่ เมื่อใด

ส่วนนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กกต. ด้านกิจการการมีส่วนร่วม มีความเห็นว่า มีความเห็นส่งไปตามช่องทาง มาตรา 91 เช่นกัน แต่มีความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ว่ามีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 20 ประกอบมาตรา 19 และมาตรา 8 จะสามารถนำมาขยายความเกี่ยวกับการสิ้นสุดลง ซึ่งสมาชิกภาพของส.ส.ตามมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิ สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ไว้ในมาตรา 101 และมาตรา 102 โดยยกเว้นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ตามมาตรา 100 (3) ซึ่งอาจมีความไม่สอดคล้องกันจึงได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาวินิจฉัย หลายชุด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลรัฐธรรมนูญจึงควรวินิจฉัยเรื่องนี้ให้เกิด ความชัดเจน

ส่วน กกต.เสียงข้างน้อย 1 คนก็ไม่ใช่ ใครอื่นไกล นั่นก็คือ “นางสดศรี สัตยธรรม” กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง เจ้าเก่า ที่ก่อนหน้านี้เคยประกอบวีรกรรมและสร้างวาทกรรมทางการเมืองจนสังคมไม่อาจลืมเลือนได้

นางสดศรีให้ความเห็นว่า สมาชิกภาพของนายจตุพรยังไม่สิ้นสุดลงตาม มาตรา 106 เพราะเมื่อพิจารณาตามมาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102(3) และมาตรา 100 (3) แล้วเห็นว่าบุคคลที่ถูกคุมขังโดยหมายของศาล นอกจากมีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งเป็นส.ส.แล้ว ก็ยังไม่ขาดสมาชิกภาพการเป็นส.ส. ภายหลังการประกาศผลให้ผู้นั้นเป็นส.ส.แล้ว และในมาตรา 106 ได้บัญญัติถึงเหตุแห่งการสิ้นสุดของสมาชิกภาพของส.ส.ไว้เพียง 11 ข้อ การใช้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงไม่อาจกระทำได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ได้ระบุ เฉพาะให้นำคุณสมบัติตามที่ได้บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ เลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว.มาบังคับใช้เท่านั้น

นอกจากนี้ นางสดศรี ยังได้บันทึกการลงมติอีกด้วยว่า ในกรณีนี้ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ส่งเอกสารยืนยันว่า นายจตุพร ไม่ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย จึงมีผลทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพรไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติการสิ้นสุดสมาชิกภาพตามมาตรา 106 ไว้อย่างชัดเจนแล้ว การนำบทบัญญัติการสิ้ดสุดสมาชิกพรรคการเมือง ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง มาขยายความหรือตีความประกอบการใช้มาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ระบุไว้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ของประเทศบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้เป็นอันใช้บังคับไม่ได้

นั่นคือสภาพปัญหาภายใน กกต.ที่นับวันก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร้าวลึกที่ดำรงอยู่อย่างไม่สามารถคลี่คลายลงไปได้ เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว กรณีนายจตุพรจะไม่ยืดเยื้อมาถึงวันนี้เลย ถ้าหาก กกต.มีความเห็นชัดแจ้งตั้งแต่แรกว่า นายจตุพรไม่มีคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามต่อด้วยการตัดสินใจครั้งอัปยศด้วยมติ 4 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 โดยรับรองให้นายจตุพรกลายเป็น ส.ส.ผู้ทรงเกียรติและทำให้เขาเสวยสุขเป็นอำมาตย์มานานถึงเกือบ 4 เดือนเต็มๆ ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กกต.ดังขรมไปทั่วทั้งแผ่นดินจนผู้คนจำนวนมากต่างพากันตั้งเชื่อให้เสียใหม่ว่า “กกน.”

ส่วนนายจตุพรนับจากนี้คงต้องนั่งนับถอยหลังว่า จะอีกกี่เดือนและจะอีกกี่วันที่เขาจะต้องเดินคอตกเข้าซังเตอีกครั้งหลังจากที่ก่อนหน้านี้ไปลองลิ้มชิมรสเบาะไปแล้ว 2 เดือนกับอีก 21 วัน ยิ่งเมื่อไม่มีเอกสิทธิ ส.ส.คุ้มครองแล้ว โอกาสที่ศาลจะให้ประกันตัวก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก

เพราะต้องไม่ลืมว่า เหตุที่ศาลยอมให้ประกันตัวก็เพราะนายจตุพรเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ไม่ใช่นายจตุพรมีเหตุผลมาหักล้างเพียงพอที่ศาลจะยอมให้ประกันตัวได้

เพราะต้องไม่ลืมว่า ก่อนที่นายจตุพรจะเป็น ส.ส. นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความส่วนตัวเคยยื่นขอประกันตัวถึง 2 ครั้งด้วยกัน แต่ศาลก็ไม่อนุญาต

ทั้งนี้ คำสั่งศาลห้ามประกันของศาลอาญา และศาลอุทธรณ์ ระบุชัดว่า "ความ ผิดที่ถูกกล่าวหามีโทษสถานหนัก พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง มีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย จำเลยอาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อความสงบเรียบร้อย จึงยังไม่มีเหตุสมควรปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง"

แต่ภายหลังจาก กกต.มีมติรับรองเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 องค์คณะศาลอาญาจึงอนุญาตให้เขาประกันตัวชั่วคราว ภายใต้เหตุผล "เห็นว่าพฤติการณ์มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างการพิจารณาคดี"

ดังนั้น คงต้องจับตากันต่อไปว่า เมื่อนายจตุพรพ้นสภาพจากความเป็น ส.ส.แล้ว เขาจะเปลี่ยนบทบาทมาเป็นกุ๊ยข้างถนนด้วยวิธีใด อย่างไร และเมื่อไหร่.......






โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 3 ธันวาคม 2554 06:55 น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น