วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปราโมทย์ ไม้กลัด “ ในหลวงทรงคิดแก้ปัญหาน้ำไว้รอบด้าน ”






ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กล่าวได้ว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพหลากหลายด้าน แม้แต่เรื่องน้ำและปัญหาอุทกภัยที่คนไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ พระองค์ก็ทรงวางแนวทางในการป้องกันและแก้ไขมานานนับสิบปีแล้ว มีโครงการในพระราชดำริออกมามากมาย เพียงแต่ฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำไปปฏิบัติหรือไม่ เท่านั้น ?

ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำอย่าง 'ปราโมทย์ ไม้กลัด' อดีตอธิบดีกรมชลประทาน อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้ติดตามถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมานานนับสิบปี ได้ถ่ายทอดถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านในการทรงงานด้านน้ำในหลากหลายแง่มุม อันนำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจของคนไทยที่อยู่ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร

**ไม่ทราบว่าอาจารย์ได้มาทำงานเรื่องน้ำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่เมื่อไร

คือผมทำงานอยู่กรมชลประทาน และได้ไปทำงานถวายพระองค์ท่านตั้งแต่ 2520 ผมทำงานเป็นวิศวกรพิจารณาโครงการสนองพระราชดำริ ตอนนั้นก็ยังเดินตามหลังนายช่างใหญ่ ตามหลังอธิบดี จนกระทั่ง 2527 ก็ได้ทำงานในโครงการพระราชดำริในฐานะผู้แทนของกรมชลประทานอย่างเต็มตัว

**เหตุใดพระองค์จึงสนพระราชหฤทัยเรื่องน้ำเป็นพิเศษ

ปัญหาเรื่องน้ำเป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยมากที่สุดเนื่องจากราษฎรไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องพึ่งพาน้ำ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงมุ่งมั่นที่จะทรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ พระองค์ท่านทรงมีพระอัจฉริยภาพในเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างมาก ซึ่งกระบวนการการทรงงานจากที่ผมได้ติดตามพระองค์ท่านมาโดยตลอดก็จะเห็นว่าพระองค์ทรงงานแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำใน 3 ด้านด้วยกัน คือ

1. การแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ซึ่งพระองค์ท่านจะมุ่งไปในจุดที่การทำงานของรัฐบาลเข้าไปไม่ถึง ในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล แร้นแค้น เพราะพระองค์ท่านได้รับทราบปัญหาจากฎีกา หรือจดหมายร้องทุกข์ของประชาชนที่ส่งมาถึงพระองค์ท่าน การแก้ปัญหาของพระองค์ก็จะยึดหลักการที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ อย่างหลักการเรื่องวิศวกรรมน้ำ พระองค์ก็จะดูว่าถ้าผืนดินแห้งตรงนี้ควรทำอะไร ถ้าผันน้ำจากธรรมชาติควรทำอย่างไร รูปแบบที่จะดำเนินงานก็จะเป็นการผสานระหว่างหลักการทางเทคนิคและหลักธรรมชาติของน้ำ

2. การปัญหาน้ำท่วม ซึ่งไม่ว่าจะเกิดน้ำท่วมในภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ พระองค์ก็จะเสด็จพระราชดำเนินลงไปในพื้นที่เพื่อทอดพระเนตรปัญหา ทรงช่วยรัฐบาลแก้ปัญหา พระองค์ก็จะเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังข้อมูลและระดมความเห็น หามาตรการแก้ปัญหาภายใต้โครงการบรรเทาอุทกภัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือฝ่ายรัฐบาลเขาก็ว่าของเขาไป ขณะที่พระองค์ก็มุ่งลงไปในพื้นที่ซึ่งเกิดน้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินถล่ม ย่านเศรษฐกิจในตัวเมืองที่ได้รับผลกระทบ

3.การแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ ไม่ว่าจะเป็น น้ำเสีย หรือน้ำเค็ม น้ำกร่อย สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียนั้นพระองค์ท่านก็ทรงศึกษาทดลองในหลายลักษณะ เช่น โครงการบึงมักกะสัน ซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณภาพน้ำในบึงซึ่งมีการเน่าเสียโดยใช้ ‘เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ’’ คือผักตบชวาเป็นตัวกรอง , โครงการบึงพระราม 9 ซึ่งบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีใช้เครื่องเติมอากาศ แบบทุ่นลอย นอกจากนั้นยังมีโครงการที่เรารู้จักกันดีคือกังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งพระองค์ทรงประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมืออุปกรณ์แบบง่ายๆในการบำบัดน้ำเสียโดยใช้หลักการตีน้ำเพื่อเติมอากาศ

ส่วนการแก้ปัญหาน้ำเค็ม- น้ำกร่อยนั้นคนทั่วไปอาจไม่รู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาและทำโครงการแก้ไขปัญหาน้ำในลักษณะนี้ด้วย โครงการนี้เกิดจากการที่พระองค์ทรงเป็นห่วงราษฎรว่าถ้าน้ำเค็มน้ำกร่อยไหลเข้าไปในพื้นที่การเกษตร ในเรือกสวนไร่นาจะทำอย่างไร พระองค์จึงโปรดให้ดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำขึ้น เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ มีการสร้างประตูบังคับน้ำกั้นแม่น้ำปากพนังเพื่อกักน้ำจืดไว้และกันน้ำทะเลไม่ให้เข้ามา หรือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนรา จ.นราธิวาส ซึ่งใช้หลักการเดียวกัน

**พระองค์ทรงคิดแก้ปัญหาน้ำไว้รอบด้าน

ใช่ครับ น้ำน้อย น้ำไม่มี พระองค์ก็ทรงหาน้ำให้ น้ำมากเกินไปจนเกิดอุทกภัยก็เกิดโครงการนั้นโครงการนี้ขึ้นมา อย่างกรุงเทพมหานครก็มีโครงการในพระราชดำริของพระองค์ท่านเยอะ ในภาคใต้ อย่างหาดใหญ่ นครศรีธรรมราช ซึ่งเกิดน้ำป่าไหลหลาก พระองค์ก็ทำโครงการเพื่อแก้ปัญหา พื้นพี่ไหนเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ ไม่ว่าจะเป็น น้ำเน่าเสีย น้ำเค็ม น้ำกร่อย ก็ทรงคิดหาวิธีแก้ปัญหาให้

** หลายๆ ครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินลงไปดูพื้นที่น้ำท่วมด้วยพระองค์เอง

ใช่ เกิดปัญหาที่ไหนพระองค์จะเสด็จลงไปเลย สมัยที่พระองค์ยังทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงพระองค์ท่านจะเสด็จไปยังพื้นที่เลย อย่างๆน้อยก็ต้องทอดพระเนตรพื้นที่น้ำท่วม ทรงลงไปดูปัญหา ไปให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน หลังจากนั้นก็จะทรงปรึกษากับวิศวกรน้ำ กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ว่าจะทำอย่างไรกัน ทรงเรียกประชุม ให้เอาภาพถ่ายดาวเทียมมา ภาพถ่ายทางอากาศมา เอาข้อมูลมา วิเคราะห์กันว่าจะทำยังไง พระองค์ท่านเสด็จไปทุกพื้นที่ แต่ถ้าไกลมากพระองค์ก็อาจจะเสด็จไปไม่ไหว ก็จะทรงเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาถวายรายงานและทรงแนะนำแนวทางปฏิบัติ คือพระองค์ทรงติดตามข้อมูลต่างๆทั้งในเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม และเชิงเศรษฐกิจ จึงทรงมองปัญหาต่างๆอย่างทะลุปรุโปร่ง

**เท่าที่อาจารย์ติดตามถวายงานพระองค์ท่านในการแก้ปัญหาน้ำท่วม มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นกี่ครั้ง

ก็จะมีน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯเมื่อปี 2526 ตอนนั้นพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลยังอยู่กันแบบธรรมชาติ ไม่มีสิ่งปลูกสร้างมาก เมื่อเกิดน้ำท่วมก็ไม่มีอะไรมากีดขวาง น้ำก็ไหลไปตามธรรมชาติ คลองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ ก็รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนั้นอยู่กันแบบเอ้าท่วมก็ท่วม พระองค์ท่านก็ทรงเสด็จไปดุสภาพพื้นที่เพื่อให้กำลังใจคนทำงานถึง 6-7 ครั้ง

ต่อมาปี 2538 ซึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพฯ เป็นปีที่เกิดโกลาหลมากที่สุดเพราะน้ำมวลใหญ่มันมา แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน พระองค์ทรงเรียกประชุมก่อนที่น้ำมวลใหญ่จะมาถึง ตอนนั้นน้ำใหญ่มันก็มาโจมตีเยอะแต่ความเสียหายมันไม่มากเหมือนในปีนี้ ตอนนั้นสนามบินสุวรรณภูมิยังไม่มี น้ำท่วมยังกับทะเลเลย แต่กรีนเบลต์ ฟลัดเวย์ ยังทำงานได้ น้ำระบายออกได้ตามธรรมชาติ ไม่มีใครไปห้าม ก็สูบน้ำออกอ่าวไทยกันโกลาหล สูบออกตามแนวฟลัดเวย์ เขตเศรษฐกิจก็โกลาหลพอสมควรแต่ก็ป้องกันได้ น้ำไม่ทะลุสนามบินดอนเมือง ไม่ทะลุถนนวิภาวดี ไม่ทะลุลาดพร้าวหรอก ตอนนั้นถนนราชชนนี ถนนรัชดาภิเษกมีน้ำท่วม ก็วิ่งรถฝ่าน้ำท่วมกัน คลองมหาสวัสดิ์ก็น้ำท่วมสูงต้องทำคันกั้นน้ำฉุกเฉินที่วัดบูรณาวาส ก็ไปช่วยกัน แต่ปีนั้นสถานการณ์ก็คลี่คลายไป มันไม่โกลาหลเท่าปี 2554 ปัจจุบันมันมีสิ่งปลูกสร้างเยอะ หมูบ้านจัดสรร อะไรต่างๆเกิดขึ้นเยอะ แต่ปีนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านไม่ได้ทรงเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะพระพลานามัยไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน

น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้เมื่อปี 2531 ตอนนั้นน้ำท่วมหาดใหญ่ พระองค์ทรงเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาประชุมด่วน แล้วก็ทรงบัญชาการ วางแนวทาง พวกเราก็วิ่งกันวุ่นเลย คือพระองค์ทรงติดตามข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ทรงคาดหมายเหตุการณ์ข้างหน้าได้ ทรงเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นตั้งแต่น้ำยังไม่ลงมาเลย พวกเราที่เป็นข้าราชการซึ่งรับใช้ถวายงานพระองค์ท่านก็ต้องตื่นตัว หาข้อมูล และถวายรายงานพระองค์ท่านตลอด หรือแม้แต่ภัยที่มันเกิดแล้วพระองค์ท่านก็ทรงคาดหมายถึงผลกระทบที่ตามมาได้ พระองค์ทรงเป็นนักคิดนักวิเคราะห์ พระราชดำรัสที่พระองค์พระราชทานก็เป็นหลักคิดที่รัฐบาลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องนำไปขบคิดและขับเคลื่อน

**ที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแนะนำการแก้ไขน้ำท่วมไว้มากมายหลายประการ แต่ดูเหมือนบรรดานักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศจะไม่ได้นำมาปฏิบัติ

ถ้ารัฐบาลใส่ใจที่จะปฏิบัติให้ชัดแจ้ง โครงการต่างๆ มันก็เริ่มมีเค้าที่จะทำได้ แต่นี่แต่ละรัฐบาลก็ไม่ได้ใส่ใจกันจริงจัง เวลาก็ผ่านไป ผ่านไป การจะปฏิบัติมันก็ต้องมาคิดพิจารณา ศึกษา วางโครงการให้ออกมาสอดคล้องกับธรรมชาติ สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ผมติดตามสนองงานในโครงการพระราชดำริมานานก็ได้เห็นทั้งนักการเมืองที่สนใจจะดำเนินโครงการตามที่พระองค์ท่านทรงแนะนำ และนักการเมืองที่ไม่สนใจ คนที่ไม่สนใจก็เยอะ ก็ไม่รู้จะพูดยังไง

**เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสแนะให้ระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และให้ทำฟลัดเวย์ แต่ปรากฏว่านักการเมืองซึ่งเข้ามาบริหารประเทศกลับไปสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ และนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เกิดสิ่งปลูกสร้างต่างๆตามมา ไม่ว่าจะเป็น หมู่บ้าน อพาร์ทเมนต์ ซึ่งล้วนแต่ไปขวางทางน้ำ

คือพื้นที่หนองงูเห่าอยู่ในแนวที่ลุ่ม ซึ่งสมัยโบราณมันเป็นฟลัดเวย์ แต่ถึงแม้รัฐบาลจะสร้างสนามบินสุวรรณภูมิก็ไม่ใช่ว่าจะทำฟลัดเวย์ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ทำฟลัดเวย์ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ทำในพื้นที่ใกล้เคียง และการทำฟลัดเวย์ก็ไม่ได้ใช้พื้นที่กว้างขวางสุดลูกหูลูกตา 8 กิโลเมตร 10 กิโลเมตร มันไม่ใช่ เราสามารถทำแนวฟลัดเวย์ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและสังคมในปัจจุบัน เมื่อเกิดสนามบินสุวรรณภูมิ เกิดโรงงานต่างๆขึ้นมาแล้ว ก็ต้องเอาข้อเท็จจริงของสภาพภูมิประเทศมาดูกัน เอาแผนที่การตั้งถิ่นฐาน เอาภาพถ่ายทางอากาศมาดูว่าจะทำฟลัดเวย์ตรงไหน ยังไง แต่กลับไม่ได้มีการคิดคำนึงเรื่องนี้กันเลย ขณะเดียวกันสนามบินสุวรรณภูมิเองเขาก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าเขาอยู่ในแนวรับน้ำ เขาก็ต้องวางระบบป้องกันน้ำท่วมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแนวฟลัดเวย์มันก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อสนามบิน

ผมคิดว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้น้ำผ่านไปทางตะวันออกไม่ได้ เป็นเพราะเรามีสิ่งปลูกสร้างโดยเฉพาะหมู่บ้านจัดสรรแบบไร้ขอบเขตไร้การควบคุม จะกลัวอะไรว่าน้ำจะท่วม อย่างนี้น้ำมันก็เอ่ออัด กั้นกันอยู่ไม่มีทางระบายออกมันก็เกิดเป็นแรงดันทะลุทะลวงพังกันระเนระนาดไปทั่วกรุงเทพฯ เพราะน้ำมันไปไม่ได้ ไปได้ยาก เมื่อก่อนนี้ ปี 2533 ปี 2538 น้ำท่วมทุ่ง แต่ว่าไหลได้สะดวก แต่ปัจจุบันนี้น้ำมันไปไม่ได้เพราะนั่นก็ที่ของผม นี่ก็ที่ของผม ทำนั่นทำนี่ สกัดกั้นโดยบุคคล ไม่ได้เอาน้ำออกจริงน่ะสิน้ำมันถึงได้ท่วม

**อย่างดอนเมืองซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่สูง ปีนี้น้ำก็ยังท่วม

ที่น้ำมันท่วมดอนเมือง ท่วมถนนวิภาวดี ท่วมย่านนั้น ก็เพราะน้ำมันมาตุงอยู่ย่านรังสิต คลองหกวา น้ำมันก็ล้นสูงขึ้น กลายเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำ แล้วน้ำก็โจมตีตลอดเวลา คันกั้นน้ำที่กั้นไว้มันทานไม่ได้ ถนนวิภาวดีก็เตี้ย มันก็ลงมา จะบอกดอนเมืองสูง แต่ว่าน้ำมันสูงกว่า มันสะสมอยู่ตรงทุ่งรังสิต ไม่สามารถะออกไปทางตะวันออกตามฟลัดเวย์ตามธรรมชาติได้ ห้ามไม่ให้มันไป สกัดกั้นไม่ให้มันไป เป็นเรื่องของมนุษย์ น้ำมันก็เลยทะลุทะลวงอย่างที่เห็น เขตสายไหม เขตรามอินทราก็เป็นด่านหน้าที่ปะทะรับน้ำไป คือธรรมชาติของน้ำเนี่ยต้องให้มันมีที่ไป เราอาจสกัดกั้นได้ระดับหนึ่งแต่ว่าต้องมีที่ให้มันเคลื่อนย้ายไป ไม่อย่างนั้นมันก็สะสมกันจนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆแล้วก็โจมตีหนักขึ้น หนักขึ้น รับมือกับมันไม่ไหวหรอก

**หลายคนบอกว่าปริมาณน้ำในปีนี้กับปีที่แล้วไม่แตกต่างกัน อาจารย์มองว่ามันเกิดความผิดพลาดตรงไหนถึงทำให้น้ำท่วมไล่มาตั้งแต่นครสวรรค์ ลพบุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี จนถึงกรุงเทพมหานคร

น้ำมันล้นตลิ่ง ปิง วัง ยม น่าน ไหลรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์ มวลน้ำที่มันไหลมาอัตราต่อวินาทีต่อชั่วโมงเนี่ยมันไม่สามารถบรรจุอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ก็เลยล้นตลิ่งแล้วไหลบ่าเข้าไปในพื้นที่ต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเมืองหรือพื้นที่เกษตรกรรม จากนั้นมนุษย์ก็สู้กับน้ำมาตลอดตั้งแต่นครสวรรค์จนถึงกรุงเทพฯ กั้นไม่ให้มันบ่าเข้าไป ทำกำแพงกั้นน้ำ ทำเขื่อนกั้นน้ำ ยิ่งกั้นน้ำมันก็ยิ่งทะลึ่ง อัดตัว ยกตัวสูงขึ้น แล้วก็บ่าเข้าไป มันก็สู้ไม่ไหว คือความสามารถในการรับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยามันมีแค่ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คือถ้าปริมาณน้ำที่ไหลลงมาในเจ้าพระยาต่ำกว่า 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำมันก็ยังอยู่ในแม่น้ำและอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง แต่ปีนี้มันมากกว่า3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วก็มากขึ้น มากขึ้น จนกระทั่งสูงสุดวัดได้ถึงเกือบ 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทีนี้มันล้นตลิ่งอยู่จำนวนมากมันจะไปไหนล่ะครับ มันก็ไหลลงสู่ที่ต่ำ หรือที่ซึ่งมันสามารถออกได้

คือมันเป็นเรื่องของมนุษย์น่ะ มนุษย์ไม่เข้าใจธรรมชาติ แล้วน้ำไม่ได้ท่วมมากเฉพาะปีนี้ เมื่อปี 38 ก็ระเนระนาด ปี 45 ปี 49 ก็ระเนระนาด แต่ว่าไม่ได้เกิดความเสียหายมากเท่าปีนี้ ก็เลยไม่ค่อยฮือฮาเท่าไร ย่านอุตสาหกรรมมันเกิดขึ้นมากมายในช่วง 10 ปีที่ผ่านนี่แหล่ะ ย้อนไปเมื่อ 20 เนี่ยอุตสาหกรรมมันมีน้อย น้ำท่วมมันก็ไม่ค่อยเสียหาย น้ำมันมีมวลนะ น้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร หนัก 1 ตันหรือ 1,000 กิโลกรัมนะ แรงดันมันมหาศาล ธรรมชาติของน้ำมันต้องการทางไป ถ้าห้ามไม่ให้มันไป มันก็อัดกันแน่น แล้วมันมีพลังงานกระแทกกระทั้น คันมันก็พัง การทำงานของรัฐบาลก็ดี หน่วยงานต่างๆก็ดี ทำกันแบบไม่เข้าใจธรรมชาติของน้ำ อย่างที่บางระกำ จ.พิษณุโลก เนี่ยมันเป็นแก้มลิงโดยธรรมชาติ เป็นที่รับน้ำ ถ้าไปทำให้ทุ่งบางระกำน้ำไม่ท่วมเมื่อไรก็เท่ากับเป็นการทำลายแก้มลิง เราต้องยึดหลักธรรมชาติ อย่าฝืนธรรมชาติ เวลานี้นักการเมืองก็ออกมาพูดว่าป้องกันไม่ไห้น้ำท่วม ซึ่งมันอาจจะกันได้บ้าง แต่ 90% มันป้องกันไม่ได้ แต่ศัพท์ของผมจะใช้คำว่าจัดการปัญหาอุทกภัย ซึ่งคำว่าจัดการเนี่ยไม่ใช่แค่ป้องกันอย่างเดียวนะครับ แต่ต้องทำทั้งระบบ

**จากที่อาจารย์ได้ติดตามถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมานาน ได้เห็นความเหนื่อยยากของพระองค์อย่างไรบ้าง

ภาพที่เหล่าข้าราชบริพารและข้าราชการที่ถวายงานรับใช้พระองค์ท่านพบเห็นมาโดยตลอดก็คือพระองค์ท่านทรงมุ่งที่จะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในชนบท พระองค์ท่านมักเสด็จไปประทับตามภูมิภาคต่างๆ คราวละหลายๆเดือน เสด็จพระราชดำเนินทั้งปี เสด็จออกแถบทุกวัน เสด็จไปเยี่ยมเยียนประชาชน พระราชทานสิ่งของ พระราชทานโครงการ พระราชทานงาน ความยากลำบากของพระองค์ท่านนี่ไม่น้อยหรอกครับ เสด็จออกไปในชนบทนี่ไม่มีสบาย ทรงเสียสละพระวรกายทรงงานด้วยความเหนื่อยยาก แต่ว่าพระองค์ท่านไม่ได้คำนึกถึงความเหนื่อยยากเหล่านี้เลย กลับทรงสนุกกับการทรงงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน พระองค์ท่านมักจะรับสั่งว่า “ฉันสนุกกับการทำงาน” พระองค์ท่านไม่เคยตรัสว่าเหนื่อย แต่ภาพที่พวกเราเห็นอยู่เสมอเวลาที่พระองค์ทรงงานก็คือพระเสโท(เหงื่อ)ที่ชุ่มโชกฉลองพระองค์ คือทรงเสด็จไปทุกภาค ทุกพื้นที่ เป็นเวลานับสิบๆปี ไม่เคยทรงเบื่อหน่าย พระองค์ทรงงานเพื่อประชาชน ไม่ได้ทำเพื่อพระองค์เอง แล้วก็ไม่เคยไปเกี่ยวข้องวอแวกับรัฐบาล มีแต่ทรงงานเพื่อช่วยรัฐบาล

**หลายครั้งประชาชนก็ได้เห็นภาพพระองค์ท่านเสด็จลงลุยน้ำด้วยพระองค์เอง

ใช่ครับ ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร สภาพธรรมชาติจะเลวร้ายหรือมีอุปสรรคต่างๆพระองค์ท่านก็ไม่ทรงรังเกียจ น้ำท่วม ร้อนแล้ง พระองค์ท่านก็ทรงบุกไปทุกที่ เสด็จขึ้นดอย ในชนบทห่างไกลก็ทรงเสด็จไปเสมอ พระกระยาหารที่พระองค์เสวยขณะเสด็จลงพื้นที่ก็จะเป็นอะไรที่ง่ายๆ พระองค์เสวยง่าย ไม่ได้ยึดว่าจะต้องเป็นแบบไหน เวลาเสด็จลงพื้นที่ก็มักจะมีพระกระยาหารใส่กล่องไว้ในรถยนต์พระที่นั่ง เวลาทรงงานกระทั่งดึก ถึงทุ่ม 2 ทุ่ม ก็จะเสวยแบบนี้ เจ้าหน้าที่จะก็เตรียมเครื่องเสวยไป ก็จะเป็นแบบง่ายๆ ผมเองสนองงานรับใช้พระองค์ท่านก็ได้มีโอกาสได้ร่วมโต๊ะเสวยกับพระองค์ท่านบ่อยๆ อาหารที่พระองค์ท่านเสวยก็เป็นอาหารปกติเหมือนที่พวกเรากินกันนี่แหล่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารไทย เป็นแกงเผ็ด แกงจืด ผัดผัก แล้วอาจจะมีอาหารตามประเพณีฝรั่งบ้าง

**ช่วงที่พระองค์ท่านทรงงาน ทรงพระประชวรบ้างไหม

ก็มีทรงพระประชวรเป็นคราวๆ แต่ในสมัยนั้นพระพลานามัยยังแข็งแรง แต่มาระยะหลัง ตั้งแต่ 2542 เป็นต้นมา พระพลานามัยของพระองค์ท่านไม่สู้แข็งแรง แล้วก็ทรงพระประชวรบ่อย อย่างที่เรารับรู้รับทราบกัน เพราะว่าพระองค์ทรงงานหนักมาตลอดพระชนม์ชีพ ไม่ได้ทะนุถนอมพระวารกาย ทรงใช้พระวรกายอย่างหนัก

**ขณะนี้พระองค์ทรงประชวรและประทับรักษาพระวรกายอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ก็ยังเสด็จลงมาทอดพระเนตรปริมาณน้ำที่ท่าน้ำศิริราชอยู่

คือพระองค์ทรงเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในขณะนี้ ทรงเป็นห่วงประชาชนที่กำลังเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วม พร้อมทั้งได้พระราชทานถุงยังเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆอย่างต่อเนื่อง แม้พระองค์จะทรงงานไม่ไหว แต่ก็ยังทรงนึกถึงประชาชนของพระองค์อยู่ตลอดเวลา

**จากที่ทำงานรับใช้พระองค์ท่าน อาจารย์ประทับใจพระองค์ท่านในเรื่องใดบ้าง

ในชีวิตที่ทำงานถวายพระองค์ท่านก็มีความประทับใจเกิดขึ้นมากมาย คือได้เห็นพระองค์ท่านทรงงานตลอดเวลา ทรงเป็นแบบอย่างที่คนไทยควรน้อมนำมาเป็นต้นแบบ พระองค์ทรงงานมาตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จนถึงปัจจุบัน ไม่เคยทรงหยุดพัก ทรงงานตลอดเวลาเพื่ออาณาประชาราษฎร์ ทำให้ผมเองระลึกอยู่เสมอว่าผมเป็นข้าราชการคนหนึ่งที่ทำงานถวายพระราชาเราก็ต้องมีหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่ แล้วก็ดูพระองค์ท่านเป็นตัวอย่าง ประการที่สอง พระองค์ทรงเป็นนักคิด ทรงคิดตลอดว่าจะทำโน่นทำนี่ แล้วก็รับสั่งออกมาเป็นโครงการพระราชดำริ แล้วก็ทรงขยัน ทรงรู้รอบ รอบรู้ ทั้งในเชิงวิชาการ เชิงเทคนิค ทรงรู้ทุกเรื่อง อย่างผมก็รู้แค่เรื่องน้ำ แต่พระองค์ท่านทรงรู้ทุกเรื่อง เรื่องน้ำ เรื่องอากาศ เรื่องฝนเทียม แม้แต่เรื่องสังคม ปรัชญา ภาษาศาสตร์ ทรงรอบรู้หมด ผมจึงเทิดทูนพระองค์ท่านว่าทรงเป็นปราชญ์ และทั้งๆ ที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แต่ว่าพระองค์กลับทรงอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ ไม่ทรงถือพระองค์เลย เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนประชาชนก็ทรงตรัสกับประชาชนอย่างเป็นกันเองมาก ทรงน้อมพระองค์เข้าไปหาชาวบ้านที่มารับเสด็จ พระราชจริยวัตรของพระองค์ดูนุ่มนวล เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา เราก็มานึกถึงข้าราชการบางคนที่ไม่ได้เรื่องเลย ชอบวางตัวเป็นเจ้าขุนมูลนาย อย่างนี้ใช้ไม่ได้

**มีพระบรมราโชวาทใดบ้างที่ทำให้อาจารย์จดจำมาถึงทุกวันนี้

เยอะมากครับ โดยเฉพาะเรื่องของการทำงาน มีพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ติดตรึงอยู่ในใจตลอดมาคือ พระกระแสรับสั่งซึ่งพระองค์ท่านรับสั่งกับผมและผู้บังคับบัญชาของผมโดยตรงเลย คือ “นักพัฒนาต้องทำงานแบบปิดทองหลังพระ” คือให้เรามุ่งทำงานอย่างทุ่มเท อย่าทำงานเพื่อหวังประโยชน์ หวังรางวัล เพราะถ้าทำงานเพื่อหวังประโยชน์มันก็จะต้องมองหน้ามองหลัง ซึ่งข้าราชการส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ นอกจากนั้นพระองค์ก็ทรงมีพระบรมราโชวาทต่อมาว่า “ข้าราชการต้องทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ หากทำหน้าที่ได้สำเร็จจะเป็นรางวัลอันประเสริฐ” ซึ่งชั่วชีวิตการทำงานของผมก็ยึดถือสิ่งนี้มาตลอด

และทุกครั้งที่พระองค์ท่านทรงงานเสร็จและเสด็จพระราชดำเนินกลับ พระองค์จะรับสั่งกับข้าราชบริพารและข้าราชการที่ตามเสด็จอยู่เสมอว่า “คิดให้ดี คิดให้ละเอียด คิดให้รอบคอบ หากคุ้มก็ทำ” คำว่าคุ้มของพระองค์ท่านไม่ได้หมายถึงความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์นะครับ แต่หมายถึงคุ้มค่าต่อประชาชน ทำไปแล้วเกิดประโยชน์ต่อประชาชนก็ถือว่าคุ้ม ตรงนี้เป็นพระราชดำรัสที่ผมระลึกอยู่เสมอเวลาทำงาน ทำให้เรามีสติ จะทำอะไรก็ต้องศึกษาให้ละเอียด และเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

เห็นได้ชัดว่าในใจของพระองค์ท่านมีแต่คำว่า 'ประชาชน' พระองค์ทรงงานอย่างหนักมาตลอดพระชนม์ชีพก็เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน นี่คือในหลวงของปวงชนชาวไทย





โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 3 ธันวาคม 2554 06:55 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น