วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันเสด็จขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ 9

วันที่ 9 มิถุนายน 2489 นับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากเป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสวรรคต ขณะที่มีพระชนมพรรษาเพียง 19 พรรษา ครองสิริราชสมบัติได้ 12 ปี


ตามธรรมเนียมของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะปล่อยให้ตำแหน่งกษัตริย์ว่างลงมิได้ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงมีมติกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระอนุชาธิราช (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลปัจจุบัน) เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ดังนั้น วันที่ 9 มิถุนายน จึงถือเป็นวันที่ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี

หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ยังมิได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์จึงเฉลิมพระปรมาภิไธย ถวายพระเกียรติแด่พระบรมศพเป็น “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย”

ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปกครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรมและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ด้านต่างๆนานัปการ อาทิ ด้านความสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ พระองค์เสด็จฯไปเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในแถบเอเชีย ยุโรป และอเมริกา เพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศกับบรรดามิตรประเทศให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทรงนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทยไปยังประเทศต่างๆ เหล่านั้น ให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

พระราชกรณียกิจที่สำคัญต่อมาได้แก่ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมการเกษตรและชลประทาน ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อชาติไทย และประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนประมาณร้อยละ 80 เป็นเกษตรกร และส่วนมากก็เป็นชาวนาชาวไร่หรือเป็นเกษตรกรที่ยากจน



ปัญหาด้านความเดือดร้อนของราษฎรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกษตร ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจในประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการส่งเสริมและพัฒนาด้านเกษตรกรรมทุกแขนงอย่างจริงจัง นำมาใช้กับกิจกรรมด้านการเกษตร และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอย่างถูกต้องสมบูรณ์และครบวงจรทุกขั้นทุกตอน





สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ พระองค์จะเสด็จฯไปทอดพระเนตรต้นน้ำลำธารในพื้นที่เกษตรและสภาพภูมิประเทศจริงๆ เพื่อให้ทราบข้อมูลอย่างถูกต้อง โดยพระองค์จะทรงมีแผนที่ติดพระหัตถ์อยู่เสมอ และจะทรงตรวจสอบชื่อและตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งน้ำลำธารจากชาวบ้านอยู่เสมอว่าตรงกับแผนที่หรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อนที่จะทรงกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา



นอกจากนี้ ยังมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับด้านต่างๆ อีกจำนวนมาก อาทิ พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาชนบท, ด้านการปฏิรูปและพัฒนาที่ดิน, ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ด้านสังคมสงเคราะห์, ด้านการแพทย์ สาธารณสุข และอนามัย, ด้านการส่งเสริมการศึกษาของชาติ, ด้านศาสนา, ด้านส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรมของชาติ, ด้านการทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร และลูกเสือชาวบ้าน, ด้านการพัฒนาเยาวชนของชาติ, ด้านการส่งเสริมการกีฬา, พระราชกรณียกิจด้านการเสด็จฯ เยี่ยมประชาชนทั่วประเทศ และพระราชกรณียกิจด้านการจัดตั้งโครงการ หน่วยงาน และมูลนิธิต่างๆ เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อน ช่วยเหลือ และพัฒนาประเทศชาติ เพื่อให้ราษฎรของพระองค์มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


จากการพัฒนาในด้านต่างๆ ส่งผลให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้ประเทศไทยเจริญขึ้น และพระองค์ได้พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ราษฎรของพระองค์นำไปปฏิบัติเพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เพื่อให้พบความสุขอย่างยั่งยืนจากการพอประมาณและการพึ่งพาตนเอง


ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติเป็นเวลา 65 ปี ซึ่งยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์ชาติไทยและในโลก ตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ทรงปฏิบัติพระองค์ตามพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 มาโดยตลอดว่า



“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”




นำมาจาก http://www.google.de

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น