วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เตือนภัย : เฟอร์นิเจอร์ หลังน้ำลด เสี่ยงล้มทับ พังถล่ม


เตือนภัย : เฟอร์นิเจอร์ หลังน้ำลด เสี่ยงล้มทับ พังถล่ม (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนอันตรายจากการนำเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมาใช้งาน พร้อมแนะให้รีบขจัดความชื้น และตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงก่อนนำมาใช้งาน โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ประเภทที่ติดกับผนัง ให้ตรวจสอบระบบไฟฟ้า เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนอันตรายจากการนำเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมาใช้งาน เพราะเฟอร์นิเจอร์ที่แช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน จะผุพัง และไม่แข็งแรง หากนำมาใช้งานโดยไม่แก้ไขให้ถูกวิธีและประเภทของเฟอร์นิเจอร์ จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ โดยภายหลังน้ำลด ให้รีบขจัดความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ให้ได้มากที่สุด พร้อมตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงก่อนนำมาใช้งาน โดยเฉพาะ

เฟอร์นิเจอร์ประเภทที่ติดกับผนัง (Built In) ที่อาจทรุดตัวหรือพังถล่มลงมา ควรตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง ซึ่งต้องยึดติดกับผนังและพื้นบ้านอย่างแน่นหนา รวมถึงตรวจสอบระบบไฟฟ้า เพราะสายไฟที่ติดมากับเฟอร์นิเจอร์จะเปื่อยยุ่ย และหลุดลอก เมื่อเปิดใช้งาน จะมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหล ทำให้ได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อตได้ ควรให้ช่างไฟฟ้ามาตรวจสอบและแก้ไขให้อยู่ในสภาพปลอดภัย

เฟอร์นิเจอร์ไม้ ห้ามนำไปตากแดดอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้บิด งอ บวม และแตกหักได้ง่าย หากนำมาใช้งาน อาจได้รับอันตราย ควรนำไปวางไว้ในที่ร่ม ซึ่งอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อระบายความชื้นที่อยู่ในไม้ ในการทดสอบความชื้นในไม้ ให้ใช้แผ่นพลาสติกและแผ่นเทปกาวปิดไว้กับเฟอร์นิเจอร์ประมาณ 1 – 2 วัน หากยังมีไอน้ำแสดงว่ายังมีความชื้นอยู่

เฟอร์นิเจอร์ประเภทโลหะ เช่น เหล็ก ทองแดง ทองเหลือง อาจเป็นสนิทได้ ให้ขัดสนิมออกและหมั่นสังเกตเฟอร์นิเจอร์ หากผุกร่อนบริเวณข้อต่อหรือบานพับเปิดปิด ให้ทำการซ่อมแซมและแก้ไข

เฟอร์นิเจอร์ประเภท ที่บุด้วยผ้านวม หรือนุ่น ห้ามนำกลับมาใช้งานอีก เพราะแม้จะตากแดดแห้งแล้ว ก็ยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ


--------------------------------------------------------------------------------


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น