วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การฟื้นฟูและทำความสะอาดภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วม


การฟื้นฟูและทำความสะอาดภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วม (ตอนที่ 1)

โดย ปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย

น้ำท่วมนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายนานับประการกับทรัพย์สินแล้ว มากไปกว่านั้นยังส่งผลต่อการติดเชื้อ และโรคร้ายต่างๆที่มากับน้ำ ตลอดจนแมลง สัตว์ กัด ต่อย เช่น ยุง หรือแม้กระทั่งสุนัข แมว หนูที่เกิดความเครียดไม่แพ้กับคนก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า(Rabies) ได้ ที่นำไปสู่การเป็นอัมพาตที่กล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจ

สิ่งแรกที่ต้องคิดคือการปกป้องตัวของเราเอง (Protect Yourself)

ทุกครั้งที่ทำความสะอาด ฟื้นฟูสภาพต่างๆภายหลังน้ำท่วม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ โดยให้น้ำไหลผ่าน โดยเฉพาะช่วงพักเบรก พักรับประทานอาหาร หรือภายหลังเลิกงาน และต้องมั่นใจด้วยว่าน้ำที่เอามาล้างต้องสะอาดและได้รับการับรอง หรือผ่านการต้มเดือดนานเกินกว่า 10 นาที

พนักงานที่ทำหน้าที่ทำความสะอาดและฟื้นฟูจะต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) ในการปกคลุมร่างกาย โดยต้องเข้าใจว่าสารปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ การสัมผัสร่างกาย หายใจ และกลืนกิน อุปกรณ์พื้นฐานประกอบไปด้วย ชุดคลุมร่างกาย, ครอบตานิรภัย, ถุงมือยาง, รองบู้ท และอุปกรณ์อื่นๆเพิ่มเติมที่ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน

น้ำท่วม (Flood water)

ส่วนใหญ่น้ำท่วมจะมีพวกจุลชีพ รวมไปถึงเชื้อแบคทีเรีย เช่น E. coli, Salmonella และ Shigella; ไวรัสตับอักเสบ A (Hepatitis A Virus) เชื้อไทฟรอย์ กับพาราไทฟรอย์ (Typhoid and paratyphoid) และ บาดทะยัก (tetanus) สัญญาณที่บ่งบอกว่าเราเริ่มจะเป็นผู้ป่วยแล้ว คือ คลื่นไส้ (nausea), อาเจียน (vomiting), ท้องเสีย (diarrhea), ตะคริวที่ท้อง (Abdominal cramps), ปวดกล้ามเนื้อ (muscle aches) และมีไข้ (fever) อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการกลินกินน้ำที่ท่วมโดยที่ไม่ตั้งใจจากการเปื้อนที่มือ หรือภาชนะและหยิบจับมารับประทาน แต่บาดทะยัก (Tetanus) จะเกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียแกรมบวกชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจนชื่อว่า Clostridium tetani แทรกซึมเข้าไปในชั้นของผิวหนังที่ฉีกขาด ขีดข่วน ถลอก หรือเป็นแผล บาดทะยักเป็นเชื้อที่มีผลต่อระบบประสาท และกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ โดยอาการเริ่มแรกจะมีอาการปวดศีรษะก่อน และจะเริ่มกลืนกินลำบาก และอ้าปากไม่ได้ ซึ่งแท้ที่จริงไม่ใช้เกิดจากเหล็กที่มีสนิมแต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ตะหาก

นอกจากนี้น้ำท่วมยังมีการปนเปื้อนของเสียจากการเกษตร และสารเคมีจากอุตสาหกรรม ผู้ป่วยจะมีอาการตามชนิดของสารเคมีที่สัมผัส โดยส่วนใหญ่จะมีอาการที่เกิดจากแพ้พิษสารเคมี ปวดศีรษะ เป็นผดที่ผิวหนัง คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย หรือตื่นตระหนกตกใจ

การฟื้นฟู และทำความสะอาดภายหลังน้ำท่วม (Flood Cleanup and recovering)

แม้ว่าน้ำท่วมส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เกิดโรคระบาดร้ายแรง หรือเกิดพิษจากสารเคมีมากนัก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเจ็บป่วยของผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสกับมัน อันเกิดจากอันตรายจากไฟฟ้า และอัคคีภัยได้จากการเชื่อมโยงกับสายไฟฟ้า

ยุง และแมลงกัดต่อยสามารถป้องกันได้โดยการสวมเสื้อคลุมยาว (long-sleeved shirts) และ กางเกงขายาวคลุม (long pants) และยาทา หรือฉีดกันยุงพอช่วยได้บ้าง อย่าลืมล้างมือด้วยน้ำสะอาดด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง และภายหลังการเข้าห้องน้ำ สำหรับเด็กเล็กต้องป้องกันไม่ให้เข้าไปเล่นในที่น้ำท่วมโดยเด็ดขาด และของเล่นที่โดนน้ำท่วมต้องล้างให้สะอาด และฆ่าเชื้อด้วย

ถ้ามีอาการตามที่กล่าวมา

ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และไปพบแพทย์ ถ้าพบบาดแผลฉีกขาด ถลอก ที่อาจนำไปสู่การเป็นบาดทะยักจำเป็นต้องรับวัคซีนป้องกันการเกิดบาดทะยัก ถ้าวัคซีนที่เคยได้รับมาแล้วนานกว่า 5 ปี

จำไว้ว่า

• ก่อนที่จะเข้าทำงานในพื้นที่น้ำท่วม ต้องแน่ใจว่าวัคซีนที่เราเคยได้รับจากการป้องกันเชื้อบาดทะยักยังมีภูมิป้องกันให้เราอยู่
• น้ำมีความไม่ปลอดภัย จนกว่าได้รับการประกาศ ยืนยัน และได้รับการรับรองแล้วจากเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในท้องถิ่น
• ไม่ใช้น้ำเหล่านี้ชำระล้างร่างกาย ภาชนะ เตรียมอาหาร แปรงฟัน หรือทำน้ำแข็ง
• เตรียมน้ำสะอาดให้เพียงพอสำหรับบริโภค และอุปโภค
• กระตือรือร้นในการป้องกันในกรณีที่สารเคมีปนเปื้อน หรือเชื้อโรคมากับน้ำท่วม
• ทำป้ายเตือนในพื้นทีที่อาจมีความเสี่ยงจากสารเคมี ไฟฟ้า อัคคีภัย เช่น ถังโพรเพน หรือวัตถุมีพิษ หรือไวไฟควรได้รับการดำเนินการป้องกันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



การฟื้นฟูและทำความสะอาดภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วม (ตอนที่ 2)

โดย ปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย

จากตอนที่แล้วเราทราบแล้วว่าน้ำท่วมทำให้เกิดโรคร้ายที่ตามมาเช่น บาดทะยัก ฉี่หนู ไทฟอยด์ ไวรัสตับอักเสบ ไข้หวัดชนิดต่างๆ สำหรับตอนที่ 2 นี้เราจะเพิ่มสิ่งที่ควรระมัดระวังขึ้นอีก คือ “เชื้อรา (fungi)” ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยได้ เชื้อราเกิดขี้นบนพื้นผิวของวัสดุ และโครงสร้างต่างๆที่ถูกทำลาย หรือปนเปื้อนจากน้ำท่วม หรือการเน่าของผัก ขยะ ซากต่างๆ เชื้อราสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเราได้จากการหายใจเข้า แต่อย่างไรก็ตามเชื้อราส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายร้ายแรงนัก แต่บางชนิดก็ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่ปฏิบัติงานฟื้นฟู ซ่อมแซมภายหลังภาวะน้ำท่วมที่อาจมีอาการแพ้ได้ เช่น หอบ หืด หายใจลำบาก ระคายตา หายใจมีเสียงวี๊ดๆ ในกรณีที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้วจะเกิดได้รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นหน้ากาก ถุงมือ และอุปกรณ์ป้องกันดวงตาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ให้น้อยที่สุด การสัมผัสนานๆและบ่อยๆ อย่างต่อเนื่องและมีเหงื่อออกด้วยอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ผิวหนังได้ แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถบรรเทาลงได้โดยการทำความสะอาดร่างกายอย่างถูกวิธีด้วยน้ำอุ่น และสบู่อ่อนๆ แล้วเช็ดให้แห้ง


จำไว้ว่า




- ต้องหลีกเลี่ยง เชื้อราที่เกิดจากต้นเหตุที่กล่าวมา

- ใช้หน้ากากมาตรฐาน N-95 NIOSH

- ทิ้งของเสียทั้งหมดที่ชำรุด เพื่อลดการติดเชื้อ ถ้าอันไหนไม่มั่นใจก็ให้ทิ้งไป

- พื้นผิวใดที่มีราไม่มากนักให้ขัดออกด้วยน้ำอุ่น และน้ำยาฆ่าเชื้อ

- ภายหลังเสร็จงานให้ล้างนิ้ว มือและหนังศีรษะด้วย

- ถ้าพบว่าอาหารและน้ำดื่มมีการปนเปื้อนให้ทิ้งไป


สำหรับผู้ปฏิบัติงานให้พิจารณาสิงต่อไปนี้




- ถ้าน้ำท่วมถึงขนาดที่ทำลายบ้านเรือนได้ ย่อมมีโอกาสที่เชื้อราเติบโตได้มากให้ปรึกษาบริษัทประกัน หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านเชื้อรา

- ต้องสวมใส่หน้ากากมาตรฐาน NIOSH-approved Respiratory มาตรฐาน N-95 ตามข้อกำหนด ของ OSHA’s Respiratory Protection Standard (29CFR 1910.134) และสวมใส่ถุงมือยาง และแว่นตานิรภัย

- กำจัดซากที่เปียกชื้น และมีเชื้อราโดยทิ้งในถุง และผูกให้เรียบร้อย หรือถุงที่ปิดฝามิดชิด

- ถอด และทิ้งพวกวัสดุที่ทำงานสารอินทรีย์และมีพื้นผิวเป็นรูพรุน (porous organic materials) เพราะพวกนี้จะปนเปื้อนไปด้วยเชื้อราจำนวนมาก เช่น ฉนวน ระบบระบายอากาศ พรม เบาะ และที่นอน

- ทำความสะอาดพวกวัสดุที่ไม่ทำจากสารอินทรีย์ (non-porous organic materials) ด้วยผงซักฟอก หรือคลอรีนเจือจาง

- การใช้สารเคมีในการกำจัดเชื้อเหล่านี้ อย่าลืมสวมหน้ากาก NIOSH-approved ที่เหมาะสมและใช้คู่กับตลับกรองอากาศที่ถูกต้องตามชนิดของสารเคมี อย่าลืมแว่นตานิรภัย และถุงมือด้วยครับ


--------------------------------------------------------------------------------


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Blog : Safety Officer Thailand


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น