ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
‘ภัยพิบัติหนาว’ 'หนาวเร็ว' + 'หนาวลึก' + 'หนาวนาน'
ทุกวันนี้ คำว่า 'ภัยพิบัติ' ได้กลายเป็นคำอินเทรนด์ ฮิตติดปากชาวบ้านร้านตลาดไปเสียแล้ว นั่นก็เนื่องมาจากสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
กระนั้น ภัยพิบัติน้ำท่วมก็เป็นเพียงภัยที่นานๆ จะมาแบบใหญ่ใหญ่สักครั้ง ทว่าในความเป็นจริง ประเทศไทยยังต้องประสบกับภัยธรรมชาติในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือภัยหนาว ซึ่งภัยเหล่านี้ เป็นภัยธรรมชาติซึ่งวนเวียนมาสร้างความเดือดร้อนบ่อยกว่าภัยน้ำท่วมเป็นไหนๆ
ในปัจจุบัน เหตุการณ์น้ำท่วมยังไม่ทันจะผ่านพ้นไปดี คนไทยในบางพื้นที่ก็ต้องเริ่มต้นเผชิญกับภัยหนาวเสียแล้ว แต่ครั้งนี้ภัยหนาวดูจะไม่ค่อยเป็นที่สนใจเท่าใดนัก ค่าที่ว่ามันถูกภัยน้ำท่วมแย่งซีนไปเสียหมด แม้ว่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในอำเภออมก๋อย, อำเภอสะเมิง และจังหวัดน่านในอำเภอเมือง, อำเภอเฉลิมพระเกียรติ, อำเภอบ้านหลวงและอำเภอนาน้อย จะได้รับการประกาศเป็นเขตที่ประสบภัยหนาวเป็น 2 จังหวัดแรกแล้วก็ตาม และคาดว่าในอีกไม่นานหลายๆ อำเภอของจังหวัดที่อยู่ทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ก็กำลังจะต้องเผชิญกับภัยหนาวในเร็ววัน
ถึงตอนนั้น ประชาชนคนไทยในพื้นที่ดังกล่าวก็จะต้องเดือดร้อนกันถ้วนหน้า และพวกเขาเหล่านั้นก็จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเยียวยาไม่แตกต่างจากผู้ประสบภัยน้ำท่วมเช่นกัน
‘ลานีญา’ คือสาเหตุของภัยหนาว
ภัยหนาวกับอากาศหนาว แม้ว่ามันจะดูคล้ายๆ กัน แต่ในความเป็นจริงแล้วภัยหนาวมันน่ากลัวกว่านั้นมาก ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อธิบายถึงลักษณะของภัยหนาวที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งยังคงมีอิทธิพลปกคลุมประเทศไทยอยู่ เพราะฉะนั้นผลก็คือจะมีฝนเยอะ และพอหมดฝนความหนาวเย็นเข้าแทนที่อย่างรวดเร็ว
โดยองค์ประกอบของภัยหนาวที่สำคัญคือ 'หนาวเร็ว' 'หนาวลึก' และ 'หนาวนาน' หรือพูดง่ายๆ คืออากาศจะหนาวเย็นอย่างกะทันหัน และมีความนานมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นผลมาจากลมมรสุมซึ่งจะพัดพาความหนาวมาให้ ที่สำคัญอากาศที่อุณหภูมิเช่นนี้จะปกคลุมพื้นที่นานกว่าช่วงที่ไม่มีปรากฏการณ์ใดๆ
"ถ้าเราสังเกตช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ฤดูหนาวมันหดสั้นลง เป็นจำนวนวันที่ร้อนมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเกิดกรณีแบบนี้ จำนวนวันที่หนาวมันก็จะยืดออกไป และอุณหภูมิมันก็ลดลงเรื่อยๆ อย่างปีที่ผ่านมา ลมหนาวมาถึงปลายเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นผลจากลานีญาเช่นเดียวกัน และปีนี้ก็เช่นกัน เมื่อลานีญายังอยู่ในกรอบอิทธิพลอยู่ เราก็พอเข้าใจว่าความหนาวก็คงปกคลุมอยู่แน่ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ”
ซึ่งพื้นที่ที่คาดว่ามีโอกาสสูงเป็นพิเศษก็คือพื้นที่สูง อย่างภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้ รวมไปถึงพื้นที่ในจังหวัดราชบุรีลงไป อาจจะไม่ต้องกังวลอะไรมาก เพราะโอกาสที่เจอภัยหนาวมีค่อนข้างน้อย
แต่อย่างว่า เมื่อเรื่องเหล่านี้มีผลมาจากอิทธิพลของลมฟ้าอากาศ โอกาสที่จะหาแนวทางป้องกันหรือยับยั้งก็คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นทางที่ดีที่สุด ก็คือเตรียมรับสภาพ และปรับตัวให้ได้ เพราะรู้กันอยู่แล้วว่า โดยทั่วไปช่วงปลายฝนต้นหนาว คนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์เพียงพอ ก็อาจจะเจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งตรงนี้จะเป็นมากที่สุด กับเด็กและผู้สูงอายุ รวมไปถึงคนที่ต้องเผชิญกับอุทกภัย ซึ่งหากน้ำยังไม่ลดระดับลง ก็เท่ากับได้รับผลกระทบแบบทวีคูณเลย
“เรื่องพวกนี้เราต้องเตรียมตัวให้ร่างกายรับได้ต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่ลงต่ำอย่างรวดเร็ว ปัญหาจะเกิดขึ้นมาก ถ้าลมพัดแรง แบบนี้จะทำให้คนมันสะท้าน ถ้าเผื่อไม่มีเสื้อผ้าที่เพียงพอ หรืออยู่ในที่บังลมได้เพียงพอ ลมหนาวก็จะดึงพลังจากร่างกายออกเยอะ มันก็จะวีค (รู้สึกอ่อนแอ) แล้วก็ตามมาด้วยปัญหาเรื่องโรคทางเดินหายใจ หวัด และถ้าคนไหนไม่ฟื้นจากภาวะน้ำท่วม ขายังแช่น้ำอยู่ ก็ยิ่งทุกข์ระทม เพราะสภาพจิตใจก็ยังไม่ฟื้นจากการแก้ไขปัญหาเดิม แล้วยังต้องมาเจอปัญหาใหม่อีก
“เพราะฉะนั้นตอนนี้ไม่ต้องรอพึ่งรัฐบาลหรอก ขอเตรียมเนื้อเตรียมตัวให้ร่างกายแข็งแรงไว้ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมไปถึงความเครียดที่เป็นด้วย ไม่ใช่พอภัยหนาวมาก็ไปรอรับแต่ถุงยังชีพ เพราะมันไม่ได้ช่วยทำอะไรให้ดี และถ้าเกิดเขาไม่มาเราก็จะแย่ ดังนั้นก่อนอื่นต้องพึ่งพาตัวเอง ไม่มีถุงยังชีพเราก็อยู่ได้ เพราะเมื่อเราไม่หวังก็ยังไม่ผิดหวัง และมันจะยังทำให้สังคมเราแข็งแรงขึ้นอีกด้วย”
‘ภัยหนาว’ ไม่ใช่แค่ ‘ฤดูหนาว’
หลายๆ คนคงจินตนาการถึงความร้ายแรงของภัยหนาวไม่ออก ซึ่งไม่น่าแปลกอะไรเพราะอากาศหนาวๆ แบบเย็นสบายนั้น เป็นสิ่งที่คนเมืองใฝ่ฝันถึงอยู่แล้ว แต่ก็อย่างที่บอกว่าภัยหนาว มันไม่ใช่แค่อากาศหนาวธรรมดา 24 องศาเซลเซียสเท่าห้องแอร์ แต่มันทั้ง 'หนาวเร็ว' 'หนาวลึก' และ 'หนาวนาน' และมันก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกหากมนุษย์ต้องไปอยู่ท่ามกลางภูมิอากาศแบบนั้น ไม่เชื่อลองไปฟังปากคำของพวกเขากันดู
ประดิษฐ์ เพชรแสนอนันต์ ผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในอำเภอบ่อเกลือ อำเภอที่หนาวเย็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดน่าน เล่าว่า เขาต้องเผชิญกับความหนาวเย็น และเนื่องจากพื้นที่ที่เขาอยู่นั้นห่างไกลจากโรงพยาบาล เมื่อเจ็บไข้จึงทำให้รักษาอย่างลำบาก และในบางปีคนเฒ่าคนแก่ก็ต้องจากโลกไปด้วยพิษจากลมหนาวที่แสนยาวนาน
“บ่อเกลือเป็นพื้นที่ที่ฤดูหนาวค่อนข้างจะยาว หมายถึงว่าโน่นแหละเดือนกุมภาพันธ์ถึงจะหมดฤดูหนาว คนในพื้นที่บ่อเกลือก็จะมีปัญหาสุขภาพจากอากาศหนาว เช่น เป็นหวัด ปอดบวม เป็นประจำ แล้วโรงพยาบาลก็จะเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ แบบโรงพยาบาลสิบเตียงถ้าจะไปที่โรงพยาบาลจังหวัดก็ไกล เพราะว่าที่บ่อเกลือเนี่ย ห่างจากที่ที่จังหวัดน่านประมาณร่วมร้อยกิโลเมตร ที่นี่ขาดแคลนในเรื่องของเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มก็อยู่ตามสภาพ ต้องนั่งผิงไฟกันที่ผ่านมาก็มีคนเฒ่าคนแก่เสียชีวิตเพราะหนาวตายอยู่บ้าง”
ส่วนในเรื่องของความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ที่ผ่านมานั้น เขาบอกว่าก็มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ไม่น่าจะทั่วถึง ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เข้าถึงยาก ในบางพื้นที่ถึงกับต้องเดินเท้ากันเป็นวันๆ
“ก็มีนะ จังหวัดก็มีโครงการช่วยภัยหนาวอะไรแบบนี้ ก็เป็นการแจกเสื้อผ้า พวกเอกชนก็ที่เห็นเมื่อก่อนก็เป็นผ้าห่มของช้าง แต่คิดว่าก็คงไม่ทั่วถึง เพราะพื้นที่บ่อเกลืออยู่ห่างไกล บางหมู่บ้านต้องเดินทางด้วยเท้าเป็นครึ่งวันเป็นวัน เพราะการแจกก็จะแจกในที่ไปถึงไปได้ ในพื้นที่ไกลๆ คงไปไม่ได้”
ส่วนคนในฝั่งพื้นที่ที่กลายเป็นพื้นที่ภัยพิบัติไปแล้วอย่างอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้กล่าวถึงสถานการณ์ภัยหนาวที่ต้องเผชิญว่า
“ตอนนี้มันไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ถามว่าเดือดร้อนไหม...เดือดร้อน ในส่วนของอากาศหนาวเย็นของอำเภอสะเมิงเป็นทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่ปีก่อนๆ ไม่ถึงขั้นเป็นพื้นที่ประกาศภัย พื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนกันมากๆ ก็เป็นบ้านบนดอยทั้งหมด บ้านบ่อแก้ว, หยั้งเมิน, สะเมิงเหนือ เพราะสะเมิงเป็นพื้นที่ภูเขามี คนพื้นเมืองกับคนชาวดอยจะได้รับผลกระทบมาก ขาดแคลนเครื่องนุ่งห่ม”
สุพัตรา เกษศิริ ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายบริหารงานปกครอง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ก็เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยหนาวของอำเภอสะเมิง
“ส่วนมากจะเป็นผ้าห่มที่นำมาบริจาค ก็ยอมรับว่าแจกไม่ทั่วถึงนะ ครัวเรือนหนึ่งไม่ได้ทุกคนได้แค่ครัวเรือนละหนึ่งผืน บางทีบ้านหนึ่งมีกันเป็นสิบคนแต่ปีหนึ่งได้ผืนหนึ่งมันก็ไม่พอ แล้วหมู่บ้านหนึ่งมันก็ไม่ได้ทุกบ้าน ก็ต้องสำรวจกันอีกว่าใครเดือดร้อนจริงๆ แล้วมาดูผ้าห่มที่ได้รับบริจาคว่ามีกี่พันผืนแล้วก็กระจายให้หมู่บ้านที่เขาเดือดร้อนตามจำนวนที่สำรวจมา แล้วถึงเวลาก็จะให้คูปองมารับตอนที่เข้าไปแจก”
ปัญหาที่แก้ได้เพียงเฉพาะหน้า
จริงอยู่ ที่ภัยหนาวนั้น เป็นภัยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้น จึงแทบจะไม่มีทางเลย ที่มนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเราจะไปฝืนห้ามปรามไม่ให้มันเกิด อย่างดีที่สุดเราก็ทำได้เพียงแค่การป้องกันรับมือเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า เมื่อภัยหนาวเวียนมาถึงในแต่ละทีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ก็จะออกมาระดมทุนแจกผ้าห่มและเสื้อผ้ากันทีหนึ่ง นั่นทำให้หลายคนสงสัยว่า แท้จริงแล้ว มันไม่มีหนทางในการจัดการกับภัยหนาวแบบที่ยั่งยืนกว่านี้เลยหรือ
ในประเด็นนี้ ภาณุ แย้มศรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงแนวทางป้องกันภัยหนาวของภาครัฐว่า ได้มีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะเพื่อดูแลรับผิดชอบงาน ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน เตรียมตัวบุคลากรของภาครัฐให้พร้อมเพื่อลงช่วยเหลือ จนถึงร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในการแจกจ่ายเครื่องกันหนาว
“ภัยหนาวเป็นภัยธรรมชาติที่ป้องกันได้ยากมาก สิ่งที่ชาวบ้านควรทำในการป้องกันนั้น คือการซ่อมแซมบ้านตัวเองเพื่อไม่ให้อากาศหนาวแทรกเข้ามาในบ้าน จัดเตรียมเครื่องกันหนาว และอีกสิ่งหนึ่งที่ตามมากับภัยหนาวคือ ความแห้งของอากาศ ที่อาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย จึงมีการทำแนวป้องกันอัคคีภัยไว้ด้วย”
โดยเขายอมรับว่า จุดอ่อนอยู่ที่การทำงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่อาจจะยังไม่ทั่วถึง กับชาวบ้านที่อยู่บนดอย หรืออยู่ห่างไกล
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัยมั่นใจว่า ภัยหนาวยังคงอยู่ในวิสัยที่ป้องกันได้อยู่ ด้วยเพราะเมืองไทยไม่ได้เจอภัยหนาวในระดับที่เท่ากับประเทศที่เป็นเมืองหนาวจริงๆ
“ปัจจุบันภัยหนาวสำหรับเมืองไทยแล้ว ยังอยู่ในวิสัยที่เราดูแลควบคุมได้”
ส่วนคำตอบของคำถามที่ว่าเหตุใดจึงต้องนำผ้าห่มมาแจกจ่ายชาวบ้านทุกปีโดยไม่สามารถทำอย่างอื่นได้มากกว่านั้น ภาณุมองว่า ทั้งหมดมันเกิดจากปัญหาของโครงสร้างทางเศรษฐกิจนั่นเอง
“สำหรับชาวบ้านที่ด้อยโอกาสในการหาเครื่องกันหนาว แน่นอนว่ารัฐจำเป็นต้องเยียวยาในส่วนนี้ เพื่อช่วยเหลือ ซึ่งว่ากันง่ายๆ หากเขาหาเครื่องกันหนาวกันเองได้ การลงมาแจกเครื่องกันหนาวทุกปีก็คงไม่จำเป็น แต่โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ มันไม่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ให้ประชาชนมีความพร้อมซึ่งปัจจัยสี่ที่เขาจะหาเองได้”
………
กล่าวโดยสรุป ภัยหนาวที่พี่น้องประชาชนไทยในที่สูงต้องประสบนั้น เป็นภัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์เพราะมันมีสาเหตุมาจากธรรมชาติ ซึ่งสิ่งที่สามารถทำได้ ก็เป็นเพียงการเตรียมการให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซ่อมแซมบ้าน หรือจัดหาเครื่องนุ่งห่มเครื่องกันหนาว
แต่กระนั้น ตัวผู้ประสบภัยเอง บางครั้งก็ไม่สามารถเตรียมการได้อย่างพอเพียง เนื่องมาจากฐานะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอเกินกว่าจะจัดซื้อปัจจัยพื้นฐานได้อย่างพอเพียง ดังนั้น การออกมาแจกผ้าห่มของภาครัฐและเอกชน ก็คงยังจะเป็นวัฏจักรที่ดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ตราบใดที่โครงสร้างของสังคมไทยยังไม่อนุญาตให้คนยากคนจนลืมตาอ้าปากและยืนอยู่ได้บนลำแข้งของตัวเอง
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 23 พฤศจิกายน 2554 17:28 น.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น