ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
สังคมวิกฤตน้ำท่วม - ครม. ลักไก่ เร่งออกกฎหมายและโยกย้ายผิดเวลาผิดมารยาท
ต้องยอมรับว่าตลอดช่วงเดือนตุลาคม 2554 ที่เพิ่งผ่านมานี้ ข่าวคราวเรื่องอุทกภัยที่ประเทศต้องเผชิญนั้นมาแรงแซงโค้งกลบทุกกระแสข่าวให้จางหายไปจากสังคมได้อย่างชะงักงัน
สังเกตได้จากเรื่องแรงๆ ที่เคยกำลังเป็นประเด็นก่อนช่วงน้ำท่วม ตั้งแต่เรื่องแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการ กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเมื่อปี 2553 ศพละ 10 ล้าน การแทรกแซงบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือแม้แต่ข่าวลือเรื่องที่ลูกชายคนรัฐมนตรีคนหนึ่งที่มีตำแหน่งในรัฐบาลด้วย ขับรถชนคนตายที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ฯลฯ ต่างถูกเบียดออกกระดานหน้า 1 ชนิดไม่เหลือแม้แต่ฝุ่น
เพราะตอนนี้ ทุกฝ่ายต่างห่วงใยปัญหาเฉพาะหน้า จึงไม่มีเวลาสนใจในสิ่งที่พวกเขาคิดตรงกันว่า 'ไม่เร่งด่วน'
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ท่ามกลางวิกฤตชาติกลับเกิดหตุการณ์และนโยบายที่ไม่คาดฝันเต็มไปหมด โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า 'เรื่องสอดไส้' ที่มาเงียบๆ แต่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปได้อย่างฉลุย ทั้งๆ ที่รับรองได้เลยว่า หากมีการหยิบเรื่องนี้ไปพิจารณาในช่วงอื่นที่ไม่ใช่ช่วงวิกฤตเช่นนี้ ต้องถูกถล่มเละจากทุกภาคส่วนอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เชื่อว่าหลายคนคงไม่พึงประสงค์สักเท่าไหร่ขึ้นมานั้น ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าประเด็นพวกนี้คงมีอะไรลึกลับซับซ้อนกว่าที่คิดแน่ๆ
เปิดแผล 'ประเด็นสอดไส้'
แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องเหตุผลกลใน เพื่อให้เห็นกันแบบชัดๆ ว่าตลอดช่วง 1 เดือนมานี้นั้นเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง จึงขอถือโอกาสนี้รวบรวมข้อมูลและเรื่องราวที่เกิดขึ้นเสียก่อน โดยประเด็นใหญ่ๆ ก็มีตั้งแต่
1. โยกย้ายข้าราชการ ซึ่งต้องยอมรับว่าก่อนที่จะถึงช่วงน้ำท่วมนั้น เป็นช่วงที่ข้าราชการไทยกำลังเกษียณอายุราชการ และก็มีหลายตำแหน่งที่สังคมต้องขอสงสัยและจับตามองเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างหนึ่งก็คือ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งแม้คนที่นั่งอยู่ในตำแหน่งอย่าง ภาณุ อุทัยรัตน์ จะไม่ถึงวัยเกษียณก็ตาม แต่ก็มีข่าวมาก่อนนั้นตลอดว่า รัฐบาลเตรียมจะย้าย แน่นอนปัญหาคงไม่เกิดขึ้น หากคนมานั่งแทนไม่ใช่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพราะถูกหลายคนวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม เช่น สุรเชษฐ์ แวอาแซ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ที่บอกว่า พ.ต.อ.ทวีไม่คุ้นเคยกับพื้นที่และงาน เพราะฉะนั้นถ้านั่งเก้าอี้นี้อาจจะมีปัญหาได้
ซึ่งผลจากเสียงวิจารณ์ก็ทำให้เรื่องนี้หยุดชะงักลงไปชั่วคราว แต่พอถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2553 รัฐบาลก็ตัดสินใจย้ายภาณุออกจากตำแหน่ง พร้อมแต่งตั้ง พ.ต.อ.ทวี ชนิดที่เสียงท้วงติงตามมาไม่เกิดเลยแม้แต่นิดเดียว
หรือแม้แต่การโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ซึ่งตามปกติแล้วจะถูกจับตามองถึงความเหมาะสมอยู่ตลอด เช่นคนนี้ได้รับแต่งตั้งเพราะสนิทกับพรรคนั้น หรือเป็นสามีของคนในพรรคนี้บ้าง แต่กลับครั้งนี้ถือว่าเงียบมาก แม้จะมีบางตำแหน่งที่ถูกจับตาเช่น พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ซึ่งเป็นหลานเขยของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แต่ถ้าเทียบกับสมัยช่วงบ้านเมืองปกติแล้ว ต้องถือว่าเทียบไม่ติดเลย
2. แก้ไข พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 เรื่องนี้ก็ต้องถือว่ามาแบบเงียบๆ อีกกรณีหนึ่ง เพราะจู่ๆ คณะรัฐมนตรีก็ผ่านร่างฉบับนี้แบบประชาชนไม่ได้ตั้งตัว เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 โดยเนื้อหาหลักๆ ก็คือให้อำนาจแก่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแบบครอบจักรวาล คือสามารถออกคำสั่ง ห้ามพิมพ์ เผยแพร่ ส่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีได้แบบเบ็ดเสร็จ
พูดง่ายๆ คือ หาก พ.ร.บ.ผ่านการพิจารณาของสภาฯ จริงก็เท่ากับ ต่อไปสื่อสิ่งพิมพ์ถูกชนิดจะถูก ผบ.ตร. เซ็นเซอร์ก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกสั่งปิด สั่งยึดได้ ซึ่งทันทีที่มีร่างนี้ออกมา ก็มีเสียงลุกฮือจากสื่อต่างๆ ทันที เช่น สุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการเครือเนชั่นที่ระบุว่า นี่คือการล่ามโซ่และคุกคามสื่อ หรือแม้ศูนย์ข่าวอิศรายังอดวิจารณ์ไม่ได้ว่า ร่างฯ นี้เลวร้ายไม่แตกต่างจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อในยุคเผด็จการแม้แต่น้อย แต่ทว่าดูเหมือนเรื่องนี้จะสู้กระแสน้ำท่วมไม่ไหว เพราะหลังจากนั้น 1-2 วันประเด็นนี้ก็จมหายไปพร้อมกับสายน้ำเป็นที่เรียบร้อย
3. ร่างพระราชบัญญัติการพนัน และร่างพระราชบัญญัติการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 โดยว่ากันว่า นี่คือหนทางที่จะนำการจัดตั้งบ่อนเสรีในอนาคต เพราะตามร่าง พ.ร.บ.การพนัน มีข้อความว่าเจ้าพนักงานสามารถออกใบอนุญาตได้ ขณะที่อีกฉบับก็กำหนดวิธีการขออนุญาตว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้าง ซึ่งหากเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงปกติ รับรองว่ารัฐบาลต้องกระหน่ำเละแน่ เพราะถ้าจำกันได้ก่อนนั้นประมาณ 1 เดือน อดีตผู้อำนวยการกองสลากกินแบ่งรัฐบาลก็เคยสถานไอเดียเรื่องบ่อนกาสิโน แต่ก็สังคมตอกกลับจนต้องแถลงข่าวแก้ว่า ที่เสนอเพราะไปดูงานมาเท่านั้นเอง
นี่ยังไม่นับเหตุการณ์นานัปการที่เกิดขึ้นแบบเงียบๆ อย่างการยกเลิกประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึง 1 เดือนติดต่อกัน โดยอ้างเหตุว่าน้ำท่วมทำให้ ส.ส.เดินทางมาไม่ได้ หรือแม้แต่แนวคิดการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อเยียวยาสถานการณ์ที่ว่ากันว่าสูงนับหลายแสนล้านบาทปลายๆ รวมไปถึงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ที่คณะรัฐมนตรีเริ่มพิจารณาแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะถูกละเลยความสนใจจากผู้คนอย่างเห็นได้ชัด
ทำไมถึงต้องเป็นช่วงนี้???
จากความเงียบที่เกิดขึ้นนี้เอง ทำให้หลายคนสันนิษฐานว่า การที่จู่ๆ ก็มีการพิจารณาประเด็นนี้ในช่วงเกิดวิกฤตการณ์นั้นเป็นความตั้งใจของรัฐบาลหรือเปล่ากันแน่ เพื่อหลบกระแสวิพากษ์วิจารณ์
ซึ่งในประเด็นนี้เอง รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ออกมายืนยันว่า เรื่องนี้ถือเป็นการฉวยโอกาสทางการเมืองอย่างหนึ่ง
“โดยปกติเวลาที่รัฐบาลออกนโยบายในช่วงวิกฤต เราก็มักจะดูว่านโยบายนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือเปล่า ถ้าใช่และเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ก็ควรจะทำ แต่ถ้าไม่ใช่ สามารถรอได้ เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบ และสังคมสามารถตรวจสอบได้ก็ไม่ควรจะฉวยโอกาสระหว่างแบบนี้ เพราะเราต้องเข้าใจก่อนว่า การอนุมัติพิจารณาในช่วงนั้น มักจะขาดความรอบคอบ เนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ค่อยมีเวลาให้ความสนใจ เพราะเขาเองก็ติดพันเรื่องน้ำท่วมไปหมด เพราะฉะนั้นสำหรับตอนนี้ถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายและไม่เกี่ยวกับน้ำท่วม ถือเป็นวาระซ่อนเร้น เป็นนโยบายลักไก่ นโยบายยัดไส้ เป็นช่วงที่รัฐบาลฉวยโอกาสในสถานการณ์เหล่านี้ เพื่อไม่ให้สังคมตรวจสอบได้ หรือท้วงติง
“และตามหลักการแล้วการบริหารราชการแผ่นดินก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง มติอะไรถ้าเป็นงานประจำก็เดินไปได้ แต่ถ้ามติใดที่เป็นปัญหาข้อถกเถียงเป็นเรื่องที่สังคมยังสงสัยอยู่ แล้วรัฐบาลบอกว่าจำเป็น ก็ต้องแถลง แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการประชุมที่ดอนเมือง หรือที่ไหนก็ตาม ไม่มีการพูดถึงเรื่องเหล่านั้นเลย คนก็เลยไม่รู้”
แน่นอนว่า เรื่องนี้ต้องยอมรับความจริงว่า ทุกวันนี้สื่อมวลชนจำนวนมากต่างอุทิศพื้นที่ข่าวให้แก่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียวเท่านั้น ประกอบกับระบบตรวจสอบของสังคมไทย ที่พอถึงช่วงวิกฤต ก็จะเทไปข้างใดข้างหนึ่ง จนบางครั้งก็ละเลยที่จะเสนอข่าวประเภทนี้ ส่งผลให้การรับรู้ของประชาชนต่อข่าวแบบนี้มีน้อยมาก และโอกาสที่รัฐบาลจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็จะน้อยตามไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น แต่เกิดกับรัฐบาลเกือบทุกยุคทุกสมัย
“เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นตลอด เช่น อาจจะมีรัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งที่เงียบหายไปจากช่วงวิกฤตการณ์ พอประชุม ครม.ก็ถือโอกาสสอดไส้ หรืองุบงิบมาโดยที่เราอาจไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเขาอนุมัติอะไรมา แล้วเวลาที่แถลงก็อาจจะแกล้งไม่แถลง หรือแถลงแบบงุบงิบๆ เพื่อไม่ให้คนจับตามอง ซึ่งเรื่องเช่นนี้จะเกิดขึ้นบ่อยมากกับรัฐบาลที่ขาดโปร่งใสก็มักจะใช้โอกาสนี้ผลักดันเรื่องพวกนี้มา เรื่องอะไรที่เสนอในวาระปกติแล้วมันยาก”
ดังเช่น หลังเหตุการณ์สึนามิในปลายปี 2547 รัฐบาลในขณะนั้นก็อนุมัติแผนฟื้นฟูท่องเที่ยว 6 จังหวัดอันดามัน พร้อมกับพ่วงประเด็นเรื่องพัฒนาชายทะเลอ่าวไทยในวงเงิน 25,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นหนังสือพิมพ์หลายฉบับโจมตีว่า โครงการดังกล่าวซึ่งรู้จักในชื่อว่า RIVIERA (ริเวียร่า) นั้นเอื้อประโยชน์นักการเมือง เพราะเป็นโครงการใหญ่เนื่องจากมีการพัฒนาพื้นที่แนวตะเข็บทะเลอย่างน้อย 38 หาด 10 อ่าว 100 เกาะ จาก 15 อุทยานแห่งชาติ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยเชื่อมต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาเป็นเมืองนานาชาติทั้งทางด้านท่องเที่ยว ศูนย์กลางความบันเทิง กีฬาทางน้ำระดับโลก ท่าเรือสากล เมืองปลอดภาษี และอื่นๆ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครใส่ใจ เพราะทุกคนมุ่งแต่จะไปช่วยผู้ประสบภัยเพียงอย่างเดียว
กฎหมายผิดเวลา!!!
ที่สำคัญ เมื่อไปดูความเหมาะสมในเรื่องช่วงเวลาของการออกกฎหมายด้วยแล้ว ต้องถือว่าไม่เหมาะสมและไม่กับสถานการณ์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหากไปดูนานาประเทศแล้วก็ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน
“ถ้าดูเผินๆ รัฐก็ทำงานปกติของเขา แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายบางตัวที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือมีผลต่อสังคม มันควรที่จะให้ประชาชนได้ทราบว่ารัฐได้ดำเนินการไปอย่างไรแล้วบ้าง และในช่วงเวลาแบบนี้มันก็ไม่เหมาะสม เพราะควรจะระดมทรัพยากรมาแก้ปัญหาอุทกภัยก่อน”
นั่นคือคำพูดของ ผศ.คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาแบบปัจจุบันทันด่วนในช่วงวิกฤตน้ำท่วมว่า ผิดทั้งเวลาและผิดทั้งมารยาท เพราะกฎหมายแบบนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรจะทำ
แต่ถ้าหากให้วิเคราะห์ถึงจริยธรรมในการออกกฎหมายแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่สิ่งผิด เพราะสามารถอ้างได้เป็นการทำหน้าที่ในฐานะรัฐบาลอย่าง แต่ถ้าพูดในเรื่องเจตนาแล้วก็นับว่า ส่อเค้าลางที่ไม่ค่อยจะดีนัก เพราะการเลือกใช้เวลาที่คนไม่สนใจเช่นนี้ ลึกๆ ก็เป็นการสะท้อนภาพความโปร่งใสในการทำงานได้ดีพอสมควร
“ตอนนี้คนสนใจข่าวน้ำท่วมกันมาก ขนาดกัดดาฟี (มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบีย) ตายยังไม่มีใครสนใจเลย ดังนั้นถ้ามองในเชิงจริยธรรม ก็อาจจะมีปัญหานิดหน่อย เพราะเขาใช้เวลาตรงนี้ทำให้เรื่องที่เขากำลังจะทำไม่มีใครสนใจมากนักเพราะคนกำลังเดือดร้อนอยู่ มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสพอสมควร และกฎหมายพวกนี้ที่กำลังทำเนี่ย มันไม่ใช่กฎหมายที่ต้องออกอย่างเร่งด่วน มันควรจะต้องถามประชาชนด้วยว่ามีความเห็นอยู่
“แต่ถ้าดูจากผลประโยชน์ด้านการเมือง มันอาจจะบอกไม่ได้ว่ามีการผิดจริยธรรมร้ายแรง ต้องไปดูว่ากฎหมายที่ว่ามันไปเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือเปล่า ถ้ามี...นั่นมันจะกลายเป็นปัญหาเชิงจริยธรรมร้ายแรงแน่นอน แต่ตอนนี้มันเป็นเพียงแค่การกระทำที่ส่อเจตนาเท่านั้น”
ทำไงดีล่ะทีนี้???
อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์บานปลายเหมือนกระแสน้ำท่วมเป็นเช่นนี้ เชื่อว่าคำถามหนึ่งที่ทุกคนคงคิดหนัก ก็คือแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ถึงจะหยุดยั้งเรื่องพวกนี้ได้
เพื่อทำให้เกิดความสบายใจก็ขอให้ทุกคนเบาใจ เพราะตราบใดที่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ยอมประชุมเช่นนี้ กฎหมายเจ้าปัญหาก็ยังคงตกค้างอยู่นั่นเอง ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า สุดท้ายแล้วประเด็นทั้งหมด (เว้นแต่เรื่องโยกย้าย) ก็จะกลับมาสู่วงสนทนาของประชาชนอีกครั้งแน่นอน
“หลังเหตุการณ์สงบแล้ว สิ่งที่คุณทำจะต้องถูกรื้อออกมาอย่างแน่นอน เพราะเมื่อคนจับไล่ว่าคุณลักลอบทำอะไร จะต้องถูกตรวจสอบย้อนหลังจะเกิดขึ้นแน่นอน และถ้ามติ ครม.ไหนที่พิจารณาโดยไม่ชอบ หรือไม่เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาการเสนอเรื่องขึ้นสู่ ครม.จะต้องถูกตรวจสอบหมด เพราะถ้าปล่อยให้เรื่องพวกนี้ยัดไส้มา มันก็ไม่แตกต่างกับ ครม.สมัยทักษิณ ที่ทำเรื่องกล้ายางแล้วใช้วิธีสอดไส้ ยกเรื่องขึ้นมาเสนอและอนุมัติกันแบบฮวบฮาบๆ จากนั้นก็เสนอเรื่องนโยบายเกี่ยวกับเรื่องใช้เงินใช้ทอง ซึ่งสุดท้ายก็ต้องถูกตรวจสอบย้อนหลัง” รศ.ตระกูลกล่าว
อย่างไรก็ดี เมื่อปัญหาน้ำท่วมมีสิทธิ์ที่จะอยู่กับสังคมไทยอีกยาวไกล ทางออกที่เป็นไปได้ตอนนี้ ก็คือการปล่อยให้รัฐบาลย่ามใจไปก่อน แล้วมาจัดการทีเดียวตอนปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องน้ำท่วมถูกจัดการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว
“เรื่องนี้มันก็เหมือนโจร ที่มักจะย่ามใจเวลาที่เห็นเจ้าของบ้านนิ่งเฉย ขโมยครั้งที่ 1 ได้ก็จะทำครั้งที่ 2-3 ต่อไป แต่หลังจากเสร็จแล้วเจ้าของบ้านก็จะตีรวบหัวรวบหางไปเลย เพราะฉะนั้นผมเองก็ไม่อยากจะเห็นรัฐบาลทำตัวเป็นโจรลักลอบเสนอนู้นเสนอนี้ ในสถานการณ์เช่นนี้”
ซึ่งการจะทำแบบนั้น ต้องอาศัยการร่วมมือของภาคประชาชน โดย มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของชาติ เสนอว่า ระหว่างนี้ก็ทำการรวบรวมข้อมูลไปก่อน
จากนั้นพอสถานการณ์สงบก็ค่อยเลือกประเด็นและนำมาตีแผ่สู่สังคมต่อไป โดยก็จำเป็นต้องมีการสอดรับจากสื่อมวลชน รวมไปถึงหน่วยงานตรวจสอบอย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงภาคการเมืองอย่างพรรคฝ่ายค้านในการดำเนินการขัดขวางปฏิบัติการสอดไส้เหล่านี้ด้วย
“เราจำเป็นต้องให้ความรู้เท่ากันแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้มแข็ง ดังนั้นเราจำเป็นต้องวิเคราะห์ประเด็นที่ถูกต้องจริงๆ มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้สื่อสามารถนำมาตีประเด็นสู่สังคมได้ หลังจากนั้นทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต กระบวนการเหล่านี้มันจะตามไปขวางกระบวนการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปในตัว
“ภาคประชาชนเวลาจะทำอะไรต้องทำเสียงดัง ต้องให้สื่อสนใจ ตีประเด็นที่จะมีพื้นที่สื่อเพื่อรวมกลุ่มมวลชนให้ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อสภาฯ ในการพิจารณากฎหมาย หรือแม้กระทั่งศาลปกครอง เพราะระบบศาลหรือการเมืองในปัจจุบันนี้ความถูกต้องหรือความชอบธรรมจะอิงอยู่กับมวลชนส่วนมาก”
แน่นอนว่า หากทำได้เช่นนี้ ประเด็นเหล่านี้ซึ่งปกติก็มีผลต่อความรู้สึกของคนอยู่แล้ว ก็สามารถกลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนได้ไม่ยาก และโอกาสที่พลิกสถานการณ์กลับมา เพื่อยับยั้งกฎหมายเหล่านี้ก็มีสูงขึ้น
“ตอนนี้ที่เราทำได้คือตรวจสอบ และเราต้องเล่นประเด็นที่อิมแพค เป็นอะไรที่สะเทือนใจ ที่สื่อสามารถนำมาตีเป็นกระแสได้ คือถ้ามันถูกจุดขึ้นมา ผมว่ารัฐบาลไม่รอดแน่”
..........
แม้ตอนนี้ข่าวคราวเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติหลายๆ ฉบับที่น่าจะเป็นประเด็นให้ประชาชนได้ถกเถียงกัน จะถูกกระแสน้ำท่วมเบียดเสียดตกหน้ากระดาษไปแล้ว แต่เชื่อเถอะว่า ตอนนี้คงมีหลายคนเตรียมจ้องจะจัดการไว้เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอจังหวะและเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น
และเมื่อถึงเวลาบ้านเมืองสงบลง ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ที่จะต้องลงมือปฏิบัติการ ออกมาตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ถึงพฤติกรรมของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเสียทีว่า การฉวยโอกาส, หมกเม็ด และสอดไส้กฎหมายและการโยกย้ายภายใต้เงื้อมมือของคณะรัฐมนตรีที่ต่อมจริยธรรมต่ำที่อาศัยในช่วงสังคมอุตลุดวิกฤตน้ำท่วมปฏิบัติการนั้น...เป็นอย่างไร?
>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 2 พฤศจิกายน 2554 17:52 น.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
ตอบลบ