ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
กรมอนามัยแนะ 5 ทางรอด ปลอดโรคช่วงน้ำท่วม
กรมอนามัยจัดทีมลงพื้นที่ กทม. เติมความรู้ประชาชน แนะ 5 ทางรอดปลอดโรค ควบ รื้อล้างหลังน้ำลด (กรมประชาสัมพันธ์)
ภาพประกอบโดย Lovingyou2911/Shutterstock.com , khunaspix / Shutterstock.com
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทีมลงพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ พร้อมแนะ 5 ทางรอดปลอดโรค ควบคู่การแจกคู่มือ "รื้อ ล้าง หลังน้ำลด" เพื่อให้เข้าใจวิธีการทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลดตามหลักสุขาภิบาล
ดร.น.พ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการจัดทีมลงพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเร่งสร้างความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองทั้งในพื้นที่น้ำท่วม ขังและน้ำลดว่า แม้ว่าขณะนี้หลาย ๆ พื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในเขตกรุงเทพมหานครกำลังกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่ก็มีอีกหลายพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง กรมอนามัยจึงได้เร่งดำเนินการจัดทีมนักวิชาการกระจายลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ ประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองให้ปลอดภัยปลอดโรคอย่างต่อเนื่องโดยการลง พื้นที่แต่ละครั้ง ได้นำสิ่งของที่จำเป็น ไปแจกจ่ายประชาชน อาทิ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ คู่มือประชาชนฉบับพกพาและคู่มือ "รื้อ ล้าง หลังน้ำลด" ซึ่งเน้นข้อปฏิบัติตนให้ปลอดภัยในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด พร้อมแนะ 5 ทางรอดปลอดโรค ประกอบด้วย
1.อย่าทิ้งขยะ อุจจาระ เศษอาหารลงในน้ำ ให้ใส่ถุงดำ มัดปากถุงให้แน่น
2.อย่าเล่นน้ำเน่าขัง เชื้อโรคอาจเข้าตาปากจมูกและบาดแผลอันตรายถึงตาย
3.กินอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด
4.หลังน้ำลด ล้างบ้านเรือน ห้องสุขา ภาชนะอุปกรณ์ต่าง ๆ
และ 5.ช่วยกันล้างตลาด ประปา ชุมชน และสถานที่สาธารณะตามหลักสุขาภิบาล เพื่อป้องกันโรคทางเดินอาหาร
อธิบดีกรมอนามัยกล่าว ต่อว่า หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ประชาชนต้องคำนึงถึง การทำความสะอาดบ้านเรือนและดูแลสภาพแวดล้อมในบริเวณบ้านและชุมชน เพราะน้ำท่วมจะพัดพาสิ่งสกปรกมากจากทุกสารทิศ ทั้งโคลนตมขยะมูลฝอย วัสดุ สิ่งของต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการหมักหมม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของโรคได้
ดังนั้น เพื่อสุขอนามัยที่ดีจึงต้องมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยให้สะอาด ปลอดภัยปราศจากเชื้อโรคและสัตว์มีพิษ รวมถึงอุบัติเหตุด้วยการปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม โดยศึกษาดูได้จากคู่มือที่ได้รับจากกรมอนามัย อาทิ ตรวจดูระบบไฟฟ้า สำรวจตรวจสอบความเสียหายของตัวบ้านและบริเวณบ้าน เตรียมการก่อนล้างโดยจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับเก็บกวาดทำความสะอาด คัดแยกขยะ ลงมือทำความสะอาดทันทีหลังน้ำลด ดูแลปรับปรุงห้องครัวภาชนะอุปกรณ์ต่าง ๆ ถ้ามีเชื้อราติดอยู่ต้องทิ้งเพื่อป้องกันปนเปื้อนในอาหาร และดูแลปรับปรุงห้องส้วมโดยทำความสะอาดชำระล้างให้ทั่วถึง
อธิบดี กรมอนามัย กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า สุขอนามัยส่วนบุคคลนับเป็นสิ่งสำคัญในขณะล้างทำความสะอาดบ้านเรือน ควรสวมหน้ากากอนามัยหรือผ้าปิดจมูก เพื่อลดการสูดดมกลิ่นที่หมักหมม หรือสารเคมีที่อาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และสวมถุงมือทุกครั้งเมื่อล้างทำความสะอาดห้องส้วม ห้องครัว เพื่อลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนเชื้อโรคที่สะสมหลังน้ำลดโดยผ่านทางมือ เมื่อมีการสัมผัสอาหารหรือสัมผัสกับผิวหนัง และหมั่นล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังทำความสะอาด บ้านเรือน เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น