เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๒๖
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปเพื่อรักษาพระองค์เป็นสำคัญ จัดกระบวนเสด็จเป็นอย่างไปรเวต โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เสด็จจากท่าราชวรดิษฐ์ ในวันพุธ ที่ ๒๗ มีนาคม ร.ศ.๑๒๖ พ.ศ.๒๔๕๐
ความเป็นมา . . .
เมื่อเสด็จยุโรปคราว ร.ศ.๑๑๖ พ.ศ.๒๔๔๐ เป็นครั้งแรกที่ได้เสด็จไปเจริญทางพระราชไมตรีถึงราชสำนักในนานาประเทศ โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี จากท่าราชวรดิษฐ์ ในวันพุธ ที่ ๗ เมษายน
วันที่ ๑๖ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ เสด็จฯ ถึงกรุงเทพพระมหานครฯ รวมระยะเวลาที่เสด็จประพาสยุโรป ๒๕๓ วัน . . .
ในที่สุด ทางฝรั่งเศสยอมแลกเปลี่ยนการปล่อยตัวพระยอดเมืองขวางให้พ้นโทษก่อนกำหนด
วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปล่อยตัวพระยอดเมืองขวางออกจากเรือนจำกองมหันตโทษ พร้อมกับจัดรถรับส่งพระยอดเมืองขวางกลับไปบ้าน
พระยอดเมืองขวางกำลังนุ่งโสร่งรับประทานอาหารอยู่ พอทราบพระบรมราชโองการดังกล่าว ก็ถึงกับเลิกรับประทานอาหารและเดินออกจากเรือนจำมหันตโทษโดยไม่ได้แต่งตัวใหม่แต่อย่างใด รวมเวลาที่ พระยอดเมืองขวางถูกจำคุกนับแต่มีคำพิพากษาถึงวันปล่อยตัว ๔ ปี ๔ เดือน ๒๔ วัน . . .
พ.ศ.๒๔๔๗ มหามาร ยึดสยาม แบ่งสรรปันประโยชน์ The Entente - cordiale 1904
วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๗ ค.ศ.๑๙๐๔ อังกฤษ และฝรั่งเศสได้ลงนามในข้อตกลง The Entente - cordiale 1904 (Anglo - French Entente 1904) ซึ่งตกลงประสานการจัดการขยายอาณานิคมอย่างสันติแทนการแย่งชิงและขัดแย้งกัน
สำหรับประเทศไทย
ฝรั่งเศสจะมีอิทธิพลในพื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในทำนองเดียวกัน
อังกฤษจะมีอิทธิพลในพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ฝรั่งเศสและอังกฤษตกลงร่วมกันว่าจะไม่ผนวกสยามเป็นเมืองขึ้นแต่จะเพียงแค่มีอิทธิพลในดินแดนนี้เท่านั้น
นับว่าเป็นความร่วมมือกันครอบครองดินแดนสยามดังเป็นอาณานิคม และแบ่งสรรประโยชน์กัน . . .
ฝรั่งเศสยังไม่ยอมออกจากเมืองจันทบุรี โดยอ้างว่าไทยต้องปฏิบัติตามข้อตกลง (Agreement) ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๗ เกี่ยวกับการปักปันเขตแดนใหม่ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน . . .
โคตรโกง คายจันทบุรี คาบตราด เกาะกงแทน
ในที่สุด ฝรั่งเศสได้ถอนทหารออกจากจันทบุรีหมดเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๔๔๗ แต่ไทยก็ต้องยอมยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง เมืองมโนไพร และจำปาศักดิ์ ให้ฝรั่งเศส ถึงกระนั้น ฝรั่งเศสก็ยังใช้ความโกงส่งทหารเข้ายึดตราด และเกาะกง (เมืองประจันตคีรีเขตร) ไว้อีก
งานพิธีฉลองเมืองจันทบุรี
วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๗ พระยาศรีสหเทพปลัดทูลฉลองมหาดไทยได้ออกเดินทางจากจังหวัดสมุทรปราการพร้อม ด้วยเรือจำเริญ บรรทุกทหารเรือ ๑ กองร้อย เดินทางไปฉลองเมืองจันทบุรี ในโอกาสที่ทหารฝรั่งเศสได้ถอนกำลังออกไปแล้ว . . .
ความเป็นไป . . .
พ.ศ.๒๔๔๙ ไม่ทรงสบาย
เมื่อปีมะเมีย รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ (พ.ศ.๒๔๔๙) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่ามีพระอาการประชวรไม่ทรงสบายมานานแล้ว . . . ถึงศกนี้ทรงสังเกตเห็นพระอาการกำเริบขึ้นกว่าแต่ก่อน แพทย์ประจำพระองค์ตรวจพระอาการลงเนื้อเห็นสันนิษฐานว่า โกฐาสภายในพระกายไม่เป็นไปสม่ำเสมอ พระโรคเช่นนั้น ไม่ถูกแก่อากาศชื้น เช่น ในฤดูฝนชุก หรือร้อนจัด เช่นในฤดูคิมหะในสยามประเทศนี้ จึงเรื้อรังรักษาไม่หายได้ ควรจะเสด็จแปรสถานไปหาอากาศประกอบแก่การรักษา พระโรคจึงจะหาย ก็แลตำบลที่จะรักษาพระโรคได้เหมาะดีที่สุด ก็มีแต่ในประเทศยุโรป และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคเช่นที่ประชวรนั้น จึงกราบบังคมทูลแนะนำ ขอให้เสด็จไปรักษาพระองค์ในยุโรป . . . พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระอนุมัติตามคำที่กราบบังคมทูล จึงโปรดฯ ให้เตรียมการที่จะเสด็จยุโรปอีกครั้งหนึ่ง
. . . แต่ครั้งนี้จะเสด็จไปเพื่อรักษาพระองค์เป็นสำคัญ . . . จึงโปรดให้จัดกระบวนเสด็จเป็นอย่างไปรเวต มีราชการโดยเสด็จแต่ที่จำเป็น จะทรงเรือพระที่นั่งมหาจักรีไปเพียงสิงคโปร์ แต่นั้นจะเสด็จโดยเรือเมล์ทั้งขาไปและขากลับ ส่วนการรักษาพระนครเวลาเสด็จไม่อยู่นั้น . . .
ประกาศการรักษาพระนคร
ฯลฯ
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า การซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินจากกรุงเทพฯ ณ วันที่ ๒๗ มีนาคม ไปประพาสประเทศยุโรปครั้งนี้ . . .
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอำนาจในราชกิจที่จะรักษาพระนครในระหว่างเวลาเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งนี้ไว้แด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิรา เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร และให้ทรงเป็นประธานในที่ประชุมทั้ง ๒ อย่างที่กล่าวต่อไป และให้ทรงบังคับบัญชาการทั้งปวงสิทธิขาดทั่วไป พร้อมด้วยที่ประชุมทั้ง ๒ อย่างนี้ คือ
อย่างที่ ๑ ที่ประชุมผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ณ กรุงเทพฯ นั้น มีที่ปรึกษาคือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัติวงศ์ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
อย่างที่ ๒ ที่ประชุมเสนาบดีนั้น มีเสนาบดีและผู้แทนเสนาบดีทุกกระทรวง . . .
และให้พระยาศรีสุนทรโวหาร เป็นสภาเลขานุการสำหรับที่ประชุมทั้ง ๒ อย่างนี้ด้วย และให้ประชุมกันเนืองๆ ตามเวลาที่สมควรจะกำหนดไว้
ฯลฯ
ประกาศมาแต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ ณ วันเสาร์ ที่ ๑๖ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ เป็นวันที่ ๑๔๐๐๔ หรือปีที่ ๓๙ ในรัชกาลปัจจุบันนี้
--------------------------
ตราดถิ่นไทย ต้องเอาคืนให้ได้
รัฐบาลไทยพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ฝรั่งเศสคืนเมืองตราดแก่ไทย และในที่สุดได้ตกลงกันว่า ฝรั่งเศสจะยอมคืนเมืองคราดให้แก่ไทย โดยฝ่ายไทยต้องยอมยกเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ และเมืองศรีโสภณอันเป็นหัวเมืองเขมรให้แก่ฝรั่งเศส ฝ่ายฝรั่งเศสก็ยอมให้คนชาวตะวันออกในบังคับฝรั่งเศสอยู่ในอำนาจศาลไทย กับยอมถอนทหารซึ่งยังตั้งอยู่ที่เมืองจันทบุรีกลับไป ไม่ล่วงล้ำเกี่ยวข้องแดนไทยดังแต่ก่อน และได้ลงนามในสนธิสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ฉบับ วันที่ ๒๓ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ (พ.ศ.๒๔๔๙ - ค.ศ.๑๙๐๗) แต่สัญญานี้ต้องรอรัฐสภาฝรั่งเศสอนุมัติก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้
หัวเมืองเขมร (เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ และเมืองศรีโสภณ) ที่ไทยยอมยกให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกเอาเมืองตราดถิ่นไทยคืนมา คือพื้นที่แรเงา >
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปเพื่อรักษาพระองค์เป็นสำคัญ จัดกระบวนเสด็จเป็นอย่างไปรเวต โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เสด็จจากท่าราชวรดิษฐ์ ในวันพุธ ที่ ๒๗ มีนาคม ร.ศ.๑๒๖ พ.ศ.๒๔๕๐
วันที่ ๒๗ มีนาคม . . .
ครั้นได้ปฐมฤกษ์ เวลาเช้า ๔ โมงกับ ๑๔ นาที พระโหราธิบดีลั่นฆ้องชัยให้สัญญา เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินลงจากพระที่นั่งอัมพรสถานทรงรถพระที่นั่งพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนรถม้าไปประทับ ณ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย . . .
เวลาเช้า ๔ โมงกับ ๔๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินสู่เรือพระที่นั่งมหาจักรี . . . เวลาเช้า ๕ โมง เจ้าพนักงานใช้จักรเรือพระที่นั่งออกจากท่าราชวรดิษฐ์ ขึ้นไปกลับลำที่สามเสนแล้วล่องลงมาผ่านท่าราชวรดิษฐ์เวลา ๕ โมง ๓๐ นาที . . .
เวลาบ่ายโมงเศษเรือพระที่นั่งผ่านป้อมแผลงไฟฟ้า เมืองนครเขื่อนขันธ์ เจ้าพนักงานประจำป้อมได้ยิงปืนสลุตตามธรรมเนียม เวลาบ่ายโมงหนึ่ง ๔๕ นาที ถึงพระสมุทรเจดีย์ แล้วเรือพระที่นั่งผ่านป้อมผีเสื้อสมุทรเจ้าพนักงานประจำป้อมยิงปืนสลุตเหมือนกัน เวลาบ่าย ๒ โมง เรือพระที่นั่งทอดสมอหน้าเมืองสมุทรปราการ . . .
ฯลฯ
เวลาย่ำค่ำ เรือพระที่นั่งมหาจักรีออกจากหน้าเมืองสมุทรปราการล่องลงไปทอดสมอรอน้ำอยู่ที่ทุ่นดำ จะต้องรออยู่ที่นี่จนเวลา ๘ ทุ่ม จึงจะข้ามสันดอนออกไปได้
ฯลฯ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปเพื่อรักษาพระองค์เป็นสำคัญ จัดกระบวนเสด็จเป็นอย่างไปรเวต โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เสด็จจากท่าราชวรดิษฐ์ ในวันพุธ ที่ ๒๗ มีนาคม ร.ศ.๑๒๖ พ.ศ.๒๔๕๐
เส้นทางเสด็จ สิงคโปร์ - ช่องมะละกา - ปีนัง (เปลี่ยนเรือพระที่นั่งเป็นเรือนอทเยอรมันลอยด์ ชื่อซักเซน - อ่าวเบงกอล - เกาะลังกา - เอเดน - เข้าทะเลแดง - เข้าคลองสุเอส - ปอตเสด - เข้าทะเลเมดิเตอเรเนียน - ช่องมัสซีนา (อิตาลี) - เนเปอล เปลี่ยนเป็นเสด็จทางบก - เยนัว - ซันเรโม - บอดิเครา - มอนติคาโล - ปอโตมริโซ - นิศ - ตูริน - ซาโวนา - ตูริน - เวนิศ - ฟลอเรนซ์ - มิลัน - เตอร์ริเตต์ (สวิส) - นอยเฮาเซน (เยอรมนี) - ซุริค (สวิส) - บาเดนบาเดน (เยอรมนี) - ไฮเดลแบ็ก - มันไฮม์ - บาเดน - สตราสสเบิค - คาลสรูห์ - แฟรงเฟิต - ปารีส - ลอนดอน - ออสเตนต์ - แฮมเบิค - ลูเซิน - เมืองเบอน - มิลาน - โรม - เนเปอล - เมสสินา - ปาเลอรโม - เมสสินา - เทาร์มีนา - ไซราคุสซา - เกาะมอลตา - เข้าทะเลเมดิเตอเรเนียน - เมืองปอตเสด - เข้าคลองสุเอส - ทะเลแดง - มหาสมุทรอินเดีย - เมืองโกลัมโบ - อ่าวเบงกอล - เมืองเกาะหมาก (เกาะปีนัง)
การเสด็จฯ ครั้งนี้ทรงพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงนิภานพดล ราชเลขานุการในพระองค์ และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เผยแพร่ เป็นพระราชนิพนธ์ "ไกลบ้าน"
พระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๑
----------------------------------
คืนที่ ๑
เรือมหาจักรี
วันพุฒ ที่ ๒๙ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕
ลูกหญิงน้อย
พ่อตั้งใจจะเขียนหนังสือบอกข่าวให้รู้เปนส่วนตัวต่างหากจากที่รู้ทางราชการ . . .
คืนที่ ๘
วันพุธ ที่ ๓ เมษายน ร.ศ.๑๒๖
. . . เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ เสด็จฯ จากเรือพระที่นั่งมหาจักรีสู่เรือนอทเยอรมันลอยด์ ชื่อซักเซน
คืนที่ ๓๑
วันศุกร์ ที่ ๒๖ เมษายน ร.ศ.๑๒๖
ขอลาอิกครั้งหนึ่งในการที่จะขึ้นบก นับว่าเปนการไกลออกไปอิก ขอฝากความคิดถึงแก่บรรดาผู้ที่พ่อมีความรักใคร่ทุกคน ขอให้มั่นใจว่าา พ่อมีความสบายขึ้นกว่าแต่ก่อน
อิตาลี
เสด็จฯ ขึ้นเมืองเยนัว ในวันเสาร์ที่ ๒๗ เมษายน แล้วเสด็จฯ ไปประทับที่วิลลาโนเบล เมืองซันเรโม (Sanremo)
คืนที่ ๔๐
วันอาทิตย์ที่ ๕ พฤษภาคม
เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ไปที่สตูเดียวของมากอตตีซึ่งอยู่ไม่ห่างกันกับวิลลานี้นัก มองสิเออดุรังไปจัดไว้เปนที่เขียนรูป . . . มีห้องที่เขาจัดไว้ให้แต่งตัว . . . แต่งเสื้อขาวสวมเสื้อครุยสายสร้อยจุลจอมเกล้าแลช้างเผือก ตาครูช่างเขียนชอบนักว่างาม . . .
มองสิเออดุรังนี้ เปนอาการของคนช่างเขียนแท้ คือดูอะไรจับอกจับใจเต้นโลดในเวลาที่ชอบ ออกจะฉุนๆ ในเวลาไม่ชอบ . . .
คืนที่ ๔๒
วันอังคารที่ ๗ พฤษภาคม
. . . ครั้นเวลา ๕ โมงให้บริพัตร เจ้าพระยาสุรวงษ์ กับจรูญ นำรถโมเตอคาร์ ๒ หลังไปรับ มาถึงเวลาเที่ยง เพราะระยะทางไปมากับที่นี่ครึ่งชั่วโมง พ่อลงไปคอยรับที่กระได ดุ๊กออฟเยนัวแปลกไปเปนอันมาก แก่คร่ำกว่าแต่ก่อน หัวล้านหมดทีเดียว เรียกได้ว่าไม่มีเหลือ เฟอดินันด์ ลูกชายนั้นตงอยู่อย่างเดิมตกลงนัดกันว่าจะไปตุรินวันที่ ๑๔ ตามกำหนดเดิม . . .
หน้าวิลลาโนเบล ที่ประทับในเมืองซานเรโม
ทรงฉายกับ ดุ๊กออฟเยนัว (นั่งกลาง) และ เจ้านายอีก ๒ พระองค์ เจ้าชายเฟอดินันด์ โอรสดุ๊กออฟเยนัว นั่งขวาสุด
คืนที่ ๔๔
วันพฤหัศบดีที่ ๙ พฤษภาคม
วันนี้ไปที่เขียนรูปได้เวล่ำเวลาดี ตาดุรังปลื้มแจ่มใส ถึงออกมารับนอกห้อง วันนี้แต่งครึ่งตัวเขียนแผ่นใหญ่แต่หน้า ถูกนั่งนานเต็มทีเบือนคอแลสูงอยู่ข้างเดียวจนเมื่อย แต่แกร้องยากในการที่จะแต้มดวงตา เรียกว่าฟกคอก็ได้ แกเห็นหน้าเราเบื่อเต็มทีให้หยุด เดินไปเดินมา แต่แกยังทำงานของแกอยู่ แกเหนื่อยขึ้นมาเองฉวยกระจับปี่มาดีดร้องเพลงให้ฟัง . . . แกคิดว่ารูปนี้จะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้เอง บ้านที่เขียนรูปเดี๋ยวนี้ออกจะเป็นที่ประชุมคนมาเฝ้ามาดูมาถ่ายรูป
ฯลฯ
คืนที่ ๔๕
วันศุกร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม
วันนี้เวลาเช้าไปเขียนรูป มองสิเออดุรังได้ตั้งต้นร่างรูปใหญ่ขึ้นไว้ด้วยถ่าน เข้าทีมาก วันนี้แต่งตัวครึ่งตัว แต่ที่จริงเขียนไนยตาอย่างเดียวที่เปนข้อสำคัญ ที่แกร้องว่ายากนัก . . . วันนี้เกือบจะว่าแล้วได้ . . . น่าอกแกร้องว่ายากเพราะมีบัตรมีตรามีเสื้อครุยมีสายสร้อยรุงรังมาก แต่งตัวทุกวันทุกวันจนเมื่อยหัวไหล่ . . .
เวลาเที่ยงขึ้นรถโมเตอคาร์ไปนีศ วันนี้ไปสามรถ . . .
คืนที่ ๔๖
วันเสาร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม
ฯลฯ
ค่ำวันนี้เชิญ มองสิเออดุรังแลมากอตตีมากินเข้าเย็น พูดกันถึงเรื่องเขียนๆ แกแนะนำรูปเขียนที่ซาลองคราวนี้ว่าดีอยู่แผ่นหนึ่ง แกให้ไปตาม ตาดุรังนี้ได้ตรามาก แขวนเปนรนาว น่าอกก็ติดถึง ๔ ดวง
คืนที่ ๔๗
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤษภาคม
ฯลฯ
วันนี้พระยาชลยุทธมาถึง กับมิสเตอแอนเดอซันกงสุลไทยที่เมืองโคเปนเฮเกน นำหนังสือปริยซวัลดิมาแลปรินเซสมารี ชวนให้ไปค้างอยู่ที่วังเบอนสตอฟสองคืน ได้ตอบรับ กะระยะทางซึ่งจะไปเมืองนอรเวเปนที่ตกลงเรียบร้อย คือคิดออกจากโคเปนเฮเกนไปคริสเตียนเนียทางเรือ แล้วไปรถไฟจนถึงตรอนเยม ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินขึ้นไปราชาภิเศกคราวนี้ ให้เรืออ้อมไปรับที่ตรอนเยม เพื่อจะย่นเวลาให้เร็วเข้า ด้วยเราไม่มีวันครบเดือนแต่ต้องการจะไปให้มากที่สุดลงเรือที่ตรอนเยมขึ้นไปที่นอถเคป คือที่สุดแผ่นดินข้างเหนือ . . .มีวันที่จะได้เห็นพระอาทิตย์ไม่มีเวลาตกนานขึ้น ถ้าไปทางเรือช้า จะได้เห็นน้อยเข้า เพราะเหตุที่พระอาทิตย์ไม่ตกเช่นนั้น มีแต่ในฤดูซัมเมอ กลับจากนอถเคปข้ามตรอนเยมมาที่อื่น เที่ยวตามฟยอดต่างๆ กล่าวคือเป็นซอกทเลพรุนไปหมดเหล่านั้นลงมาตามลำดับ จนกระทั่ง ถึงที่สุดเลยข้ามไปเมืองกีล เลยไปเบอลิน การที่จะไปนั้น เช่าเรือยอชอังกฤษชื่อ อัลเบียน . . . ตกลงเรื่องโปรแกรมแล้วไปดูเขียนรูปที่บ้านมากอตตี วันนี้แต่งตัวรูปหุ่นขึ้นเขียน ลงมือแต่เช้า ๓ โมงครึ่ง พ่อไปถึงบ่าย ๓โมง จวนจะเสร็จ แกทำอะไรดูเสียถ้วนถี่หมดไม่มีขาดเลย . . . พ่อกำหนดว่าอยากให้แล้วเสร็จก่อนเดือนสิงหาคมจะได้ส่งไปทันเฉลิมพระชนม์พรรษา แก็ว่าเห็นทีจะเสร็จ รูปใหญ่ยังไม่ได้ลงสีเลย แกจะไปเขียนที่เมืองโรมทีเดียว . . .
ฯลฯ
. . . อ้ายการเที่ยวเช่นนี้มันช่างมีคุณจริงๆ เที่ยวในเมืองไทยถึงจะมีคุณก็ถูกหักค่าร้อนค่าเหนื่อยเสียครึ่งหนึ่ง นี่มันไม่ต้องร้อนไม่ต้องเหนื่อย จึงได้มีกำไรมาก
คืนที่ ๕๕
เมืองฟลอเรนศ์
วันจันทร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ร.ศก ๑๒๖
ฯลฯ
. . . เมืองฟลอเรนศ์ได้เปนเมืองหลวงขออิตาลี เมื่อรวมเมืองอิตาลีเข้าเปนกิงดอมเดียวอยู่ประมาณสักหกเจ็ดปีได้กระมัง จึงย้ายไปเมืองโรม เมื่อเยอรมันกับฝรั่งเศสรบกัน ปี ๑๘๗๐ - ๘๑ ในแผ่นดินประจุบันนี้ แต่ก่อนเมืองอิตาลีแยกเปนหลายอาณาเขตร อาณาเขตรฟลอเรนศ์นี้ เปนเมืองหลวงของตัสเคนี เมืองตุรินเป็นเมืองหลวงปิตมอน เปนที่อยู่ของเจ้าแผ่นดินซาร์ดิเนีย วงษ์ซาวอยเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น เจ้านายในราชวงษ์จึงยังคงอยู่เมืองหลวงเดิมเปนบ้านเกิดเมืองนอน เมืองฟลอเรนศ์แลเมืองโรมเปนเมืองหลวงทางราชการ ฟลอเรนศ์นี้เล็กกว่าตุรินมาก มีคนเพียงเก้าหมื่นเท่านั้น แต่ผิดกันมากในการช่างวิชาอาคมอะไรอยู่ที่ฟลอเรนศ์ทั้งนั้น ที่ตุรินเปนเมืองอู่ข้าวอู่น้ำแลเครื่องจักรแต่ส่วนการวิชาช่างมาบริบูรณ์ในเมืองฟลอเรนศ์นี้ คือเขียนรูปภาพ มีแกละรีที่เก็บรูปภาพดีๆ จะพึงดูได้เป็นอันมาก การทำรูปศิลาเล็กใหญ่ด้วยเนื้อศิลาต่างๆ การฝังศิลาลายต่างสี ให้เปนรูปภาพคนฤๅนกไม้ ซึ่งเรียกตามชื่อเมืองว่าฟลอเรนศ์ไตน์เหล่านี้เป็นต้น . . . ในเมืองสี่เมืองคือเนเปอลเมืองหนึ่ง เวนิศเมืองหนึ่ง ตุรินเมืองหนึ่ง ฟลอเรนศ์เมืองหนึ่งนี้ ต่างเมืองต่างมีอาการกิริยาโฉมหน้าแปลกกันห่างไกล เปนคนละประเทศ ผู้คนก็ต่างกันหมด จะร้องว่าโน่นคล้ายนี่นี่คล้ายโน่นไม่ได้เลย
รูปเดวิดใน The Accademia Gallery เมืองฟลอเรนซ์
รูปเดวิด หินอ่อนแกะสลักชิ้นเอกของไมเคิลแอนเจโล สร้างขึ้นในยุคเรอเนสซองซ์ ปี ค.ศ.๑๕๐๑ - ๑๕๐๔ ความสูง ๕.๗ เมตร (๑๗ ฟุต) ประดิษฐานอยู่ที่ The Palazzo della Signoria
เพื่อเป็นการป้องกันรักษารูปเดวิดไม่ให้เสียหาย จึงได้ย้ายเข้าไปตั้งใน The Accademia Gallery เมืองฟลอเรนซ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ (ค.ศ.๑๘๗๓) และสร้างรูปจำลองติดตั้งไว้ ณ ที่เดิมเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ (ค.ศ.๑๙๑๐)
เยอรมนี
จากเมืองฟลอเรนซ์ เสด็จฯ ไปยังเมืองมิลาน เมืองเตอริเตต์ สวิสเซอร์แลนด์ เมืองนอยเฮาเซน เมืองบาเดนบาเดน เยอรมนี ประทับที่เมืองบาเดนบาเดนตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พฤษภาคม ถึง วันจันทร์ที่ ๓ มิถุนายน เพื่อสรงน้ำแร่
วันอังคารที่ ๔ มิถุนายน เสด็จฯ ไปเมืองไฮเดลแบ็ก
คืนที่ ๗๒
วันหฤหัสบดีที่ ๖ มิถุนายน
. . . แลเรื่องเลียงกลางวันนั้นประมูลกันอยู่ เดิมแมร์จะเลี้ยงกลางวันบนเขา เจ้าหญิงไวมาร์มาประมูลให้ไปกินที่บ้าน ตกลงใจว่าจะไปกินบนเขาป่วยการเปล่าๆ เพราะการขึ้นเขาก็ไม่ช้าเท่าใดจะได้กลับจึงได้บอกเลิกทางแมร์ รับทางเจ้าหญิงไวมาร์ไว้ . . . แต่เวลาล่วงเข้าไปเกือบบ่าย ๒ โมงเกือบครึ่งแล้ว รีบตลีตลานลา เลยไปโรงพยาบาลโปรเฟสเซอไฟลเนอทีเดียว
โรงพยาบาลนี้ ต้องเลี้ยวเข้าทางเล็กไปหน่อยหนึ่ง ขึ้นกระไดแคบๆ ไปเข้าที่คนนั่งพักก่อน ห้องนั้นเป็นหลังคากระจก เก้าอี้เปนแถวยาวๆ เขาได้นำให้รู้จักโปรเฟสเซออีกคนหนึ่ง แลได้พบคนพยาบาลเนิส ๓ คน แล้วไปเข้าห้องไดเรกเตอซึ่งเปนห้องเล็กนิดเดียว ห้องเหล่านั้นเล็กๆ ตลอดทั้งแถบ เมื่อสนทนากันแล้วก็ได้ลงมือตรวจอาการ
แรกนั้นตรวจในคอ เห็นว่ายังมีเสมหะติดอยู่ในลำคอข้างซ้าย ซึ่งจะต้องกวาดยาต่อไปอีก จมูกยังมีไม่ปรกติอยู่ข้างขวาอิกหน่อยหนึ่ง แต่ดีขึ้นมากแล้ว
ได้แทงโลหิตออกตรวจสองอย่างสอบกัน คืออย่างหนึ่งตรวจด้วยกล้องส่อง อิกอย่างหนึ่งตรวจด้วยหลอด เวลาแทงโลหิตออกมาแลเห็นตาเปล่าก็สังเกตได้ว่าที่ซันเรโมนั้นสีจางเปนชมภูแก่ๆ คราวนี้เปนสีทับทิม ผลแห่งการตรวจนั้นได้ความว่าโลหิตดีขึ้น . . .
คราวนี้ตรวจหัวใจ . . . ผลแห่งการตรวจนี้ได้ความว่า หัวใรเปนนอมัลอย่างดี ซึ่งหมอว่าอาจจะอยู่ได้จนแก่ ไม่มีอันตราย การตรวจนี้ไม่ได้ใช้เคาะฤๅฟังอะไรโปกปากอย่างหนึ่งอย่างใดเลย
คราวนี้ไปตรวจด้วยเอกซเร . . . เมื่อตรวจสำเร็จตลอดแล้ว ได้ความว่า บริบูรณ์ดีทุกอย่าง ไม่มีที่เสียหายอันใด . . .
มาถึงบาเดนบาเดนเวลาทุ่มเศษ . . .
คืนที่ ๘๓
วันจันทร์ที่ ๑๗ มิถุนายน
ฯลฯ
วันนี้ไม่ได้ไปไหนต่อไปอีก ทำงานเขียนหนังสือแลส่งรูปส่งสิ่งของต่างๆ นับว่าเปนสิ้นเขตรบาเดนบาเดน ยุติเรื่องกันเพียงเท่านี้ จะได้ตั้งต้นแต่ปารีสต่อไปใหม่
ฝรั่งเศส
กรุงปารีสช่วงวันที่ ๑๘ - ๒๑ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๖ พ.ศ.๒๔๕๐
. . . เปนอันเราได้เที่ยวอิกวันหนึ่งไม่ป่วยการมาปารีสทั้งที อันที่จริงก็ไม่ใช่จะเที่ยวอย่างเดียว เปนราชการอยู่บ้าง
คืนที่ ๘๔
สถานราชฑูตสยาม เมืองปารีส
วันอังคารที่ ๑๘ มิถุนายน ร.ศก ๑๒๖
ฯลฯ
คืนที่ ๘๕
วันพุธที่ ๑๙ มิถุนายน
ฯลฯ
เวลาบ่าย ๔ โมงไปเยี่ยมเปรสิเดนต์กับบริพัตรที่วังอิลิเซ มีทหารรับแบตาเลียนหนึ่ง จรูญเปนล่าม เปรสิเดนต์ไม่พากภูมิเหมือนอย่างมองสิเออโฟลิกซ์โฟร์ แต่ดูเปนคนอัชฌาไศรยเรียบร้อย พูดจาปราไสยดีมาก กลับมาแล้วได้ให้เจ้าพระยาสุรวงษ์นำตราจักรีไปให้ สักครู่หนึ่งก็มาเยี่ยมตอบที่ลิเคชั่น ติดผ้าเหลืองที่ดุมเสื้อมาเสร็จแล้ว พอมาถึงก็ชี้ให้ดูว่าได้ติดมาแล้ว นั่งสนทนากันอยู่ข้างจะนาน ทั้งไปเยี่ยมแลมาเยี่ยมตอบ
เปรสิเดนต์ไปแล้วจึงได้ไปเที่ยวร้าน แต่ได้ไปที่ช่างหล่อในเรื่องที่จะหล่อรูปซึ่งตกลงกันให้ทำสำหรับจะไปตั้งในบางกอก เขาได้ทำอย่างลองขึ้นไว้แลเลือกรูปม้า ตัวอย่างที่ปั้นไว้นั้นสองอย่าง คือรูปขี่ม้าอย่างหนึ่ง รูปที่จะทำเล็ก ๆ อย่างหนึ่ง . . .
ฯลฯ
คืนที่ ๘๖
วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน
ฯลฯ
วันนี้มีเหตุซึ่งจำเปนจะต้องเปลี่ยนแปลงการไปใหม่อิก คือเรื่องที่หัวเมืองฝรั่งเศสข้างใต้เกิดหยุกหยิกขึ้นด้วยเรื่องน้ำองุ่นจริงน้ำองุ่นปลอมนั้น . . . พ่อเห็นเขาป่วนปั่นกันอยู่ จะไปนั่งกินเลี้ยงในเวลาเขาวุ่นวายดังนี้ ดูไม่มีอัธยาไศรย พ่อจึงได้สั่งนายทหารที่มาประจำให้ไปบอกเปรสิเดนต์ว่า . . . ขอให้งดไว้เสียเถิด . . . แต่เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศอยู่ข้างจะอึดอัดรำคาญ ว่าจะมาขอโทษเอง คอยอยู่จนสามโมงก็มาไม่ได้ ขอผัดไปพรุ่งนี้ เพราะติดประชุมเซเนต การที่ขอผัดไปนั้น เพราะกลัวคำที่รับไว้ว่าเซเนตจะได้โวตเรื่องสัญญาในวันนี้ ไม่ได้โวต ก็จะต้องมาผัดอิกครั้ง จึงตกลงเปนอันเราได้เที่ยวอิกวันหนึ่งไม่ป่วยการมาปารีสทั้งที อันที่จริงก็ไม่ใช่จะเที่ยวอย่างเดียว เปนราชการอยู่บ้าง
เวลาบ่าย ๔ โมงจึงได้ออกจากสถานฑูตไปถ่ายรูปก่อน . . .
ถ่ายรูปแล้ว ไปที่สตูเดียวมองสิเออคาโรลัสดูรัง แกช่างอยู่ไกลเสียลิบลับ . . . เปรสิเดนต์ได้สรรเสริญ มองสิเออดุรังมาก ว่าเปนช่างอย่างสูงวิเศษ ที่ได้เลือกให้เขียนนั้นถูก ความจริงเขาเขียนด้วยความกล้าเปนอันมาก ตั้งใจจะอวดฝีมือ ว่าช่างเขียนผู้อื่นจะทำได้โดยยาก ฤๅทำไม่ได้ทีเดียว . . . แกอยากจะอวดเขามากจึงขออนุญาตที่จะเอาไปตั้งในสะลองสัก ๗ วัน พ่อก็ยอม . . .
พระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมัน ที่ทรงพระกรุณาให้ มองสิเออร์ คาโรลัส ดูรัง จิตรกรชาวฝรั่งเศสเขียนที่สตูดิโอของมาคอตตี ในเมืองซานเรโม อิตาลี
คืนที่ ๘๗
วันศุกร์ที่ ๒๑ มิถุนายน
เวลาเช้าทำการซึ่งยังค้างจะรีบให้แล้ว* จนเวลา ๔ โมงเศษ มองสิเออปิชองเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศมาหาบอกเรื่องสัญญา ได้แลกเปลี่ยนกันเปนอันสำเร็จแล้วในเวลา ๔ โมงเช้า . . . แลรับคำเปรสิเดนต์มาเชิญ ให้ไปอยู่ที่รัมบูเยวังที่ประทับร้อนของเปรสิเดนต์ ในเมื่อมาเมืองปารีสคราวน่า ได้ให้เครื่องราชอิศริยาภรณ์ แลเขาขอโทษในการที่ต้องเลื่อนการรับรองต่อไป . . . เวลา ๕ โมงเศษออกจากสถานฑูตไปสเตชั่น มีผู้มาส่งเปนอันมากทั้งพวกเขาพวกเรา . . . ได้ออกจากปารีสราวเที่ยง บ่าย ๓ โมงเศษถึงกาเลส์
*การซึ่งยังค้างจะรีบให้แล้ว นี้ สืบเนื่องมาจาก สนธิสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ฉบับ วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๙ (ค.ศ.๑๙๐๖) คือสนธิสัญญาที่ไทยยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศสเพื่อให้ฝรั่งเศสคืนเมืองตราด และเกาะกง (เมืองประจันตคีรีเขตร) ให้กับไทย กับยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตสำหรับคนในบังคับฝรั่งเศส (แต่ไม่คืนเกาะกง - เมืองประจันตคีรีเขตร) สนธิสัญญานี้รัฐสภาของฝรั่งเศสยังไม่ได้ลงมติรับรองจึงยังไม่ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกันซึ่งเป็นความกังวลของเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส เพราะกลัวคำที่รับไว้ (กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ว่าเซเนตจะได้โวตเรื่องสัญญาในวันนี้ หากไม่ได้โวตก็จะต้องมาผัดอิกครั้ง
ครับ . . . เมื่อการซึ่งยังค้างได้แล้วไปด้วยดี คือ ได้แลกเปลี่ยนกันเปนอันสำเร็จแล้วในเวลา ๔ โมงเช้า นับว่าเป็นความสำเร็จดังพระราชประสงค์ และในทางปฏิบัติได้มีพิธีรับมอบเมืองตราดจากฝรั่งเศส ในวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๕๐
อังกฤษ
คืนที่ ๘๘
วันเสาร์ที่ ๒๒ มิถุนายน
ฯลฯ
เวลาเที่ยงหลอดครานาดกับกับตันวอลเตอแคมเบลไปที่ลิเคชั่น รออยู่พอสมควรแก่เวลา ขึ้นรถไปสเตชั่นแปดิงตัน มีพวกเราไปส่งขึ้นรถไฟไปวินด์เซอ รถนี้เปนรถเฉภาะสำหรับทางนี้ออกจะงาม เขาว่าทางครึ่งชั่วโมงเพราะ ๒๐ ไมล์ ไปถึงที่สเตชั่น ปรินซออฟเวลส์* แลเจ้าพนักงานอิกสองสามคนรับอยู่ที่นั่น . . . ขึ้นรถไปที่วินด์เซอคาเซอล . . . กิงเอดเวอดรับอยู่ที่ประตูคาเซอล ถัดเข้าไปข้างในกวีน แลเจ้าหญิงวิกตอเรียพระราชธิดา แกรนด์ดุ๊กแลแกรนด์ดัชเชสออฟเฮสดามสต๊าด แกรนด์ดัชเชสพึ่งเคยมาคราวนี้ปรินซแลปรินเซสแอนเดรเมืองครีศ พากันมาหยุดสนทนากันที่คอริดอร์ คือเปนห้องทางเดินยาว แล้วพามาตรงสุดคอริดอร์ เข้าในห้องนั่งซึ่งอยู่มุมคาเซอล มาทั้งกิงแลกวีน แลปรินเซสวิกตอเรีย ชี้ห้องที่อยู่ให้ ห้องนี้ว่าเปนที่เจ้าแผ่นดินเคยเสด็จอยู่เมื่อครั้งเปนปรินซออฟเวลส์ . . .
* ปรินซออฟเวลส์ ต่อมาได้ครองราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ (จอร์จ เฟรเดอริค เออร์เนส อัลเบิร์ต) เมื่อ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๓ – ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๙ ทรงเป็นพระประมุขอังกฤษพระองค์ที่อยู่ในราชวงศ์วินด์เซอร์ ที่ได้ทรงสถาปนาจากราชวงศ์แซ็กซ์ - โคบูร์กและก็อตธา ในสายของอังกฤษ ในฐานะที่ทรงเป็นกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพอังกฤษ พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งอินเดียและกษัตริย์พระองค์แรกแห่งเสรีรัฐไอริชอีกด้วย
คืนที่ ๘๙
วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มิถุนายน
เวลา ๔ โมงเช้า ไปกินเข้าเช้าพร้อมด้วยเจ้าแผ่นดินแลเจ้านายที่มาอยู่ในวัง แต่กวีนแลปรินเซสวิกตอเรียไม่ได้ออก เพราะยังเช้าอยู่ เจ้าแผ่นดินอ่านหนังสือพิมพ์แลอะไรตามปรกติ เล่าอะไรกันฟัง เปนเวลาเปลี่ยนทหารกาด เปนการใหญ่กว่าปรกติอยู่หน่อย คือมีพวกลองเดี่ยวเปนอันมาก ทั้งมีแตรวงด้วย แตรวงนั้นมาเป่าที่ตรงน่าต่างลงไป เปนการมาเป่าแตรถวาย จนเสวยแล้วจึงได้เปลี่ยนกาด
ฯลฯ
The Band of the Coldstream Guards Band moving from Wellington Barracks to Buckingham Palace for Guard Mount.
ทหารม้ารักษาพระองค์อังกฤษ
Changing of the Guard in Winter
การเปลี่ยนทหารรักษาพระองค์พระราชวังบัคกิงแฮม ปัจจุบัน
วันจันทร์ที่ ๒๔ มิถุนายน
. . . เวลา ๔ โมง ๑๕ นาที ขึ้นรถมาด้วยกันกับพระเจ้าแผ่นดินมาส่งถึงสเตชั่น
วันอังคารที่ ๒๕ มิถุนายน
. . . คนที่มิสเตอเวอนีเชิญวันนี้ คือ เอกอรรคราชฑูตเยอรมัน อเมริกัน อิตาเลียน ยี่ปุ่น มีเสนาบดีกระทรวงกอลอนีคนหนึ่งมิสซิสเวอนีแต่งตัวเสื้อเยี่ยรบับเต็มที่ มีของเครื่องไทยต่างๆ ตั้งจัดดอกไม้สีขาวสีแดง แกลุกขึ้นดื่มให้ได้ตอบ เตรียมจะดีดหีบเพลงแต่ไม่ได้ดีด เพราะเวลาหมด
ออกจากบ้านมิสเตอร์เวอนี ไปเดวอนไชร์เฮาส์สำหรับรับดีกรี . . . สักครู่หนึ่งเจ้าพนักงานจึงมาแต่งตัวให้ สวมกาวน์แลหมวก ดุ๊ก ออฟ เดเวนไชรชานเซลเลอเจ็บ ไวสชานเซลเลอเปนผู้ที่จะทำพิธีแทน จึงเข้ามานัดหมาย แล้วไปตั้งกระบวนแห่แต่ห้องชั้นล่างขึ้นไปห้องชั้นบน . . . ไวสชานเซลเลอห่มผ้าสีแดงขลิบขนคลุมยาวลงมาตลอดเท้า สวมหมวกดำสี่เหลี่ยม มีผู้ช่วยสวมกาวน์ดำ ยืนอยู่ข้างหลังสองคน ปับลิกออเรเตอร์สวมกาวน์แดง ยืนอยู่ข้างซ้าย พ่อยืนตรงหน้า แล้วอ่านหนังสือเปนภาษาลติน จบแล้วไวสชานเซลเลอยื่นมือมาจับมือพ่อ ว่าภาษาลตินอิกยาว แล้วเชิญให้ขึ้นนั่งบนเก้าอี้ข้างขวา ผู้ที่อยู่ข้างล่างตบมือ แล้วเปนเสร็จพิธีกันเท่านั้น . . .
ได้ไปถ่ายรูปแต่งเครื่องหมอกฎหมายตามดีกรีที่เขาให้ ที่กรมดำรงขอให้ถ่าย . . .
เบลเยี่ยม
วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มิถุนายน เสด็จฯ ไปสเตชั่นแชริงครอสประทับรถไฟถึงโดเวอ ประทับเรือเมล์เบลเยี่ยมชื่อปรินเซสเคลมองตีน ถึงเมืองออสเตนท์ ประเทศเบลเยี่ยม ". . . เมืองออสเตนท์แลเมืองบรัสเซลส์เปนที่วิเศษด้วยหอยนางรม แต่ครั้นเมื่อถามถึง เขาว่ากินไม่ได้ไม่ใช่ฤดู ถ้ากินผิดฤดูก็เจ็บ"
เยอรมนี
วันศุกร์ที่ ๒๘ มิถุนายน เสด็จฯ ทางรถไฟจากเมืองออสเตนท์ ไปถึงเมืองแฮมเบิค ประเทศเยอรมนี ". . . บรรดาสินค้าที่ส่งตรงมาจากกรุงเทพฯ เปนมาที่เมืองแฮมเบิคนี้ก่อนไปที่อื่น แลยังมีส่งมากอยู่เสมอ เปนเมืองท่าค้าขายนับว่าเปนที่สี่ ตั้งแต่ลอนดอน นิวยอก ลิเวอปูลลงมา เพราะมีแม่น้ำใหญ่ชื่อเอลบ์เข้ามาจากทเล . . ."
เดนมาร์ก
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มิถุนายน เสด็จฯ จากเมืองแฮมเบิค ประเทศเยอรมนีไปประเทศเดนมาร์ก
เวลาเช้า ๒ โมง เสด็จฯ ประทับรถพระที่นั่งไปสเตชั่น ออกจากเมืองแฮมเบิค ประเทศเยอรมนี เวลาเที่ยงเศษถึงวารเนมุนด ซึ่งเป็นท่าเรือข้ามจากฝั่งไปเกาะ เรือออกจากท่า ๒ ชั่วโมงจึงได้ถึงกีเซอซึ่งเป็นเกาะหนึ่งในเดนมาร์ก มาในทะเลอีกไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็ถึงเกาะเซลัน ซึ่งเป็นที่เมืองโคเปนเฮเกนตั้งอยู่
เวลาทุ่มหนึ่งรถไฟถึงสเตชั่น เจ้าแผ่นดินแลราชตระกูลลงมารับที่สเตชั่น . . .
วันอังคารที่ ๒ กรกฎาคม
เวลาเช้า เสด็จฯ ไปที่ฟรีปอตด้วยรถโมเตอคาร์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรเรือยอตช์พระที่นั่งที่จะไปเมืองนอรเว คือเรืออัลเบียนลำนี้ ยาว ๒๕๒ ฟุต เป็นเรือยอตช์ใหม่ที่สุด และดีที่สุดในบรรดาที่ได้ลอยอยู่ในน้ำ
เวลา ๕ ทุ่ม เสด็จฯ ประทับเรืออัลเบียน ฝนก็ตก แต่คนที่ท่าแน่นหลามตลอด ครั้นเมื่อร่ำลากันเสร็จแล้วจะออกเรือ พวกที่มาส่งทั้งปวงโห่ใหญ่ไม่หยุดหย่อน . . .
วันพุธที่ ๓ กรกฎาคม
ครั้นสาย เข้าเทียบท่าที่ออสฮุนส์ ออสฮุนส์นี้เป็นเมืองใหญ่ของมณฑลยุตลันด์ วัวที่ยุตลันด์นี้สีงามๆ เป็นวัวผ่านทั้งสิ้น ผ่านดำผ่านแดง ผ่านสีเทา สีไข่ไก่ ที่เขาเลี้ยงวัวนมมาก เพราะรีดนมแล้วทำเนยขาย ได้ออกเรืออีกครั้งเมื่อ ๕ ทุ่มเศษ หรือ ๒ ยาม เวลา ๕ โมงเช้า วันที่ ๔ กรกฎาคม ถึงเฟรเดอริกเซาวน เป็นเมืองท่า แล้วเสด็จฯ ประทับรถไฟสายเหนือไปตำบลสกาล์เคน เป็นตำบลปลายแหลมที่สุดเหนือของเดนมาร์ก ตรงกับช่องที่จะเข้าไปเมืองคริสเตียเนียข้างนอรเว เป็นทางที่สินค้าฝ่ายเหนือเข้ามาในทางนี้ สกาล์เคนนี้เป็นที่สุดของปลายแหลม . . .
ทรงชักรูปที่สกาเคน เดนมาร์ก
นอรเว
วันศุกร์ที่ ๕ กรกฎาคม
เรือออกเวลา ๒ ทุ่ม มาทอดท่าน่าเมืองคริสเตียเนียเวลา ๕ โมงเศษ
พระเจ้าฮากอน พระเจ้ากรุงนอรเว นำเสด็จฯ
ขณะที่ประทับที่นอรเวดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืน ดินแดนเมืองตราดก็ได้กลับคืนสู่พระบรมโพธิสมภาร
เมืองตราด ๖ กรกฎาคม ๒๔๕๐ กลับสู่พระบรมโพธิสมภาร
ครับ . . . จากสนธิสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ฉบับ วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๙ (ค.ศ.๑๙๐๖) คือสนธิสัญญาที่ไทยยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศสเพื่อให้ฝรั่งเศสคืนเมืองตราด และเกาะกง (เมืองประจันตคีรีเขตร) ให้กับไทย และได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกันเปนอันสำเร็จแล้วในวันที่ ๒๑ มุถุนายน เวลา ๔ โมงเช้า นั้น ฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกไปเมื่อ ๖ กรกฏาคม ๒๔๕๐
วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ได้มีพิธีรับมอบเมืองตราดจากฝรั่งเศส โดยมีพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยะศิริ) ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยทหารเรือ ๑ กองร้อย เดินทางไปรับมอบ
ฝ่ายไทยมี พระยาศรีเทพ ตำแหน่งปลัดทูลฉลอง กระทรวงมหาดไทย เป็น หัวหน้าผู้แทนรัฐบาลไทย
ฝ่ายฝรั่งเศสมี มองซิเออร์รูซโซ เรซิดัง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศส
กระบวนเสด็จที่นอรเว . . .
วันอาทิตย์ที่ ๗ กรกฎาคม
เวลาก่อน ๓ โมง ๕ นาที เจ้าแผ่นดินมา พากันไปสเตชั่น รถออก ๓ โมง ๑๐ มินิต รถหลังนี้เป็นรถที่นั่ง อย่างดีที่สุดซึ่งมีในเมืองนี้ เป็นรถรางใหญ่ ไปจนถึงตำบลฮามาร์เป็นที่สุด หยุดกินข้าว แล้วเปลี่ยนรถ รถสายนี้เป็นรางย่อม เลี้ยวออกไปข้างตะวันออก มาถึงทรอนด์เยม ๗ ทุ่ม คนดูแน่นเหมือนเวลากลางวัน เวลา ๗ ทุ่มสว่าง ราษฎรทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ไม่เห็นใครนอน ตื่นเต้นกันมาดูอยู่ข้างหนทาง ม้าไม่นอน วัวก็ไม่นอน ไม่รู้ว่าจะนอนกันเวลาใด ลักษณะอาการของคนที่นี่ตื่นเต้นชอบดูจริงๆ แต่ดูอย่างไม่มีบาป คือจะตอมจะมุงอย่างไรก็แสดงความเคารพ ชวนแต่จะโบกมือร้องฮุระ ฮุระ
๑๒ กรกฎาคม ๒๔๕๐
พระบรมรูปจารึกอักษรพระนามที่แหลมเหนือ
พระรูปหมู่ถ่ายที่แหลมเหนือ กระบวนเสด็จประพาศทางบกที่นอรเว
เยอรมนี
วันศุกร์ที่ ๒ สิงหาคม เสด็จฯ ออกจากนอรเว วันเสาร์ที่ ๓ สิงหาคม ถึงเมืองกีล ประเทศเยอรมนี เสด็จพระราชดำเนือนบริษัท แฮรร์กรุปป เมืองกีล
วันอาทิตย์ที่ ๔ สิงหาคม รถไฟออกจากเมืองกีล ๔ โมงเศษ ถึงเบอลินเวลาบ่าย ๔ โมง ทรงหระกรุณาให้โปรเฟสเซอมีชื่อเสียงสำคัญสามคน กับผู้เชี่ยวชาญในการรักษาจมูกมาตรวจพระวรกาย เปลี่ยนกันตรวจทีละคน คนหนึ่งตรวจอย่างหนึ่ง ". . . ตกลงเห็นว่ายังไม่ปรกติดี ขอให้งดการที่จะเที่ยวเตร่ต่อไปนั้นเสีย ให้เปลี่ยนไปรักษาตัวที่ฮอมเบิค ซึ่งเปนเมืองอาบน้ำเมืองหนึ่งเหมือนกัน อยู่ใกล้แฟรงก์เฟิตทางรถไฟ ๒๐ มินิตเท่านั้น . . .
วันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม เสด็จฯ จากกรุงเบอลิน เวลาเช้า ๒ โมงเศษ เมืองคัสเซลตั้งอยู่ในท้องทุ่ง สเตชั่นไม่ได้อยู่ในเมือง เอมเปอเรอมาคอยรับที่สเตชั่น . . . เมืองบรันซวิก เมืองโกลอน
ฝรั่งเศส
วันพุธที่ ๑๔ สิงหาคม เสด็จฯ ประทับรถไฟ เวลาบ่าย ๕ โมงถึงพรมอดนเยอรมนีกับฝรั่งเศส ๕ ทุ่ม ๑๕ นาทีถึงสเตชั่น ที่สเตชั่น มีผู้แทนเปรสิเดนต์คนหนึ่ง ฟอเรนออฟฟิศคนหนึ่ง โปรโตคอลคนหนึ่งรับเสด็จฯ
วันศุกร์ที่ ๑๖ - อังคารที่ ๒๐ สิงหาคม เสด็จฯ ห้างลูฟร์ และตูเรเฟล เมืองฟอนเตนโบล เมืองเวอไซล์
เสด็จประพาสหอไอเฟล ร้านภาพเงาดำ (Silhouette) บนหอไอเฟล
พระฉายาลักษณ์ Silhouette ทรงฉายที่ร้านบนหอไอเฟล
สภาพหอไอเฟล ค.ศ.๑๙๐๐ พ.ศ.๒๔๔๓ ก่อนเสด็จฯ ๗ ปี (ล่าง) และในฤดูใบไม้ผลิ (บน)
วันอังคารที่ ๒๐ สิงหาคม เวลาบ่าย ๓ โมง ๒๐ เสด็จฯ ประทับรถไปประทับรถไฟที่สเตชั่นเดสอังวะลีดส์ กระทั่งถึงเมืองรงบุลเย ซึ่งเป็นเมืองไม่ใหญ่ มีสเตชั่นเล็กๆ เปรสิเดนต์ฟัลลิแยร์ มองสิเออโมราลด์ ชีพเดอโปรโตคล แลมองสิเออยองลันส์ เจ้าพนักงานรักษารงบุลเย เปรเฟต์ สับเปรเฟต์ แลแมร์ ฯลฯ รับที่สเตชั่น
วันพุธที่ ๒๑ สิงหาคม "เวลาบ่ายโมง ๑ เปรสิเดนต์มารับไปเลี้ยงกลางวัน มีแขกเชิญเท่าเวลากลางคืน แต่เปลี่ยนเปนฝ่ายทหารโดยมาก พวกแม่ทัพนายกอง แลฝ่ายพลเรือนก็เปนพวกที่เคยเข้าไปเปนฑูต เช่น มองสิเออเดอฟรางศ์ มองสิเออรฟโฟลต์ แลมี มองสิเออปาวีมาด้วย ออกลำบากอยู่เวลานั่งโต๊ะ ข้างหนึ่งมะดัมฟัลเย ข้างหนึ่งลูกสาวพูดอังกฤษไม่ได้ทั้งสองคน ต่อไปก็เยเนอราลผู้บังคับการทหาร อิกข้างหนึ่งก็ปา พูดอังกฤษไม่ได้ พูดไทยก็ร่องแร่ง ลืมเสียมาก แต่ครั้นเมื่เลี้งเสร็จแล้ว มองสิเออเดอฟรางศ์เปนล่าม ดูค่อยคล่องอกคล่องใจขึ้น จนจวนเวลาที่จะกลับจึงได้หยุดพักหน่อยหนึ่ง แล้วเปรสิเดนต์มารับขึ้นรถไปส่งที่สเตชั่นเหมือนอย่างเมื่อแรกไปถึง . . ."
วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม ". . . จนกระทั่งเวลาบ่าย ๕ โมงจึงได้ออกจากเรือน ไปดูรูปม้าที่ช่างปั้นจะทำรูปทางอยู่ข้างจะไกล ไปด้วยรถโมเตอร์คาร์ . . . รออยู่จนเวลา ๒ ทุ่ม จึงได้ไปที่สเตชั่น มองสิเออโมลาต์แลนายทหารที่มาอยู่ด้วย กับ มองสิเออเดอฟรางศ์ไปส่ง . . .
เยอรมนี
วันศุกร์ที่ ๒๓ สิงหาคม - วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน
เสด็จประทับ ณ วิลลาเฟอร์สเตนรูห์ เมืองฮอมเบิค "เพื่อรักษาตัวที่เมืองฮอมเบิค ซึ่งเปนเมืองอาบน้ำเมืองหนึ่ง" ตามคำแนะนำของนายแพทย์ซึ่งได้ตรวจพระวรกายเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคมนี้
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ สิงหาคม
ฯลฯ
ในการที่พ่อจะมารักษาตัวเมืองฮอมเบิคนี้ เอมเปอเรอทรงเปนพระธุระแขงแรงมาก เสด็จมาเองในเวลาพ่ออยู่ปารีส สั่งเสียการงานไว้ให้เมืองนี้รับรองแลเปิดให้ไปไหนไปได้ เหมือนอย่างรับเสด็จเอมเปอเรอ . . .
ฯลฯ
วันศุกร์ที่ ๒๐ กันยายน
ทรงจัดการสำหรับเฉลิมพระชนม์พรรษา ณ ที่ประทับวิลลาเฟอร์สเตนรูห์ เมืองฮอมเบิค
"ลงมือจัดการสำหรับเฉลิมพระชนม์พรรษา ตั้งที่ห้องกลาง ห้องมันเล็กนิดเดียวจึงต้องจัดตามบุญตามกรรม พระพุทธรูปตั้งบนหลังตู้ เทียนมงคลตั้งรายหลังตู้แลโต๊ะหน้าตู้ คั่นด้วยฉัตรแลธง . . ."
วันเสาร์ที่ ๒๑ กันยายน
". . . เวลาเที่ยงไปที่เปิดบ่อ แต่งตัวฟรอกโก๊ต บ่อนี้อยู่ข้างหลังไกซาวิลเลียมบาด เปนทุ่งหญ้า . . . เวลาแรกไปถึงร้องเพลงจบหนึ่งก่อน แล้วแมร์ตำบลฮอมเบิคอ่านแอดเดรส ให้ชื่อย่อว่าพุ "โกนิคจุฬาลงกรณ์" แล้วเชิญไปเยี่ยมดูที่บ่อนั้น ตักน้ำขึ้นมาให้ชิมด้วยถ้วยเงินใบใหญ่แล้วกลับมาที่พลับพลา แมร์เรียกให้เชียร์คือฮุเรแล้วร้องเพลงอิกบทหนึ่ง เปนสิ้นการเปิดบ่อเท่านั้น ถ้าเล่าเช่นนี้ดูเปนการเล็กน้อยเต็มที แต่ที่จริงอยู่ข้างเปนการใหญ่
เวลาบ่าย ๔ โมง แต่งตัวเต็มยศ ไปที่ประชุมให้พรที่ห้องในโฮเตล กรมหลวงประจักษ์อ่านแอดเดรส . . ."
เวลาค่ำมีการเลี้ยงใหญ่ที่คัวรเฮาส์ เห็นจะเกือบ ๘๐ คน . . . ครั้นเสร็จการเลี้ยงแล้วออกมาประชุมที่ห้องกลาง ได้เชิญบรรดาผู้ดีในเมืองนี้ทั้งผู้หญิงผู้ชายอิก ๕๐๐ . . . พวกข้าราชการชาวเมืองแลราษฎรได้สำแดงน้ำใจดีเปนอันมากจนไม่รู้ที่จะขอบใจเขาอย่างไรให้พอ ตามตึกตามร้านปักธงต่างๆ ไสวไปทั้งนั้น เวลาค่ำก็จุดไฟตลอด ที่วิลลาที่อยู่นี้พระยาศรีธรรมสาส์นตั้งซุ้มแลจุดตะเกียง วันนี้ครึกครื้นเปนงานเปนการทั้งกลางวันกลางคืน รู้สึกขาดแต่เรื่องทำบุญไม่มีพระสวดมนต์อย่างเดียวเท่านั้น
เวลาเที่ยงไปที่เปิดบ่อ ให้ชื่อย่อว่าพุ "โกนิคจุฬาลงกรณ์"
ปารีส
วันจันทร์ที่ ๒๓ กันยายน
เวลาเช้าโมงหนึ่งถึงปารีส . . .
เวลาบ่าย ๓ โมงครึ่ง ไปที่ช่างปั้นรูป ยืนให้เขาเทียบดูรูป แก้ไข แล้วไปร้านซึ่งทำม้า กำลังผูกโครงอยู่ สูงใหญ่ไม่ใช่เล่น . . .
ฯลฯ
การสร้างพระบรมรูปทรงม้า โดยบริษัท ซุซเซอร์ เฟรสฟอร์เดอร์
วันพฤหัศบดีที่ ๒๖ กันยายน
ครั้นกะวันมีวันเหลือเกือบจะพอไถลไปเมืองตราดแลเมืองจันทบุรีได้ จึงได้คิดตัดอิยิปต์เข้าไป อิกตอนหนึ่งก็ได้พอดี ความประสงค์เช่นนี้เพื่อจะตัดเวลาที่อยู่เปล่าๆ รำคาญใจให้น้อยลง ทั้งจะได้ไปเมืองตราดให้พบกับราษฎรทันใจด้วย ได้ตอบโทรเลขชาวเมืองตราดที่มีมาเมื่อรับเมือง ว่าจะไปเยี่ยม ถ้าได้ไปเสียในเวลากลับนี้ ดูราษฎรจะเปนที่ยินดี ว่าพ่อรักใคร่เอื้อเฟื้อเมืองแถบนั้น ไม่ได้ไปมาสิบสามสิบสี่ปีแล้ว . . .
การรับเสด็จคืนพระนคร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะใคร่เสด็จไปเยี่ยมเยียนทรงแสดงความยินดีต่อประชาชนชาวเมืองตราดและเมืองจันทบุรี อีกประการหนึ่งทรงพระราชปรารภว่า . . . ที่จะจัดการรับเสด็จฯ ไม่ควรจะให้เปลืองทุนและเสียเวลาของคนทั้งหลายพากันเน็ดเหนื่อยเหมือนอย่างครั้งก่อน จึงมีรับสั่งมาว่า เมื่อเสด็จออกจากเมืองสิงคโปร์มากรุงเทพฯ ในขากลับจะเสด็จแวะเมืองตราดและเมืองจันทบุรีด้วย และการรับเสด็จฯ นั้น จะจัดอย่าไรก็ตาม แต่ถ้าให้แล้วเสร็จไปได้ในวันเดียว จะเป็นที่พอพระราชหฤทัยกว่าอย่างอื่น อนึ่ง ได้ทรงสร้างเสมาไว้เป็นของพระราชทานฝากบุตรธิดาชาวพระนคร จะโปรดให้ส่งเสมาเข้ามาให้ถึงกรุงเทพฯ ก่อนเสด็จกลับมาถึง ถ้าได้แจกในวันเสด็จกลับถึงพระนครได้ด้วย ก็จะเป็นการดี . . .
ให้เรือพระที่นั่งมหาจักรี มีเรือรบ ๓ ลำ คือเรือมุรธาวสิตสวัสดิ ๑ เรือพาลีรั้งทวีป ๑ เรือสุครีพครองเมือง ๑ เป็นเรือกระบวนไปรับเสด็จที่เมืองเกาะหมาก
พนักงานที่ไปรับเสด็จฯ นั้น ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาอไทยเป็นนายก นายพลเรือตรี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นขุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ราชองครักษ์ เป็นผู้บังคับกระบวนเรือที่ไปรับเสด็จนั้น พร้อมด้วยนายนาวาเอก พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิชัยเฉลิมลาภ ราชองครักษ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยตามตำแหน่งประจำกระบวนเสด็จทุกหน้าที่
กระบวนเรือรับเสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๖
คืนที่ ๒๒๕
วันพุฒที่ ๖ พฤศจิกายน
ฯลฯ
เพราะเหตุฉนั้นขอรวมย่อความเพียงว่า พื้นภูมประเทศยุโรปนั้นมันหมดดีเสียแล้ว แต่ความรู้ในประเทศยุโรปไม่ใช่แต่เวลากำลังที่เดินขึ้นสู่ความเจริญ มักำลังกระโดดโลดโผนซึ่งจะเดินตามยาก นี่เปนส่วนข้างฝ่ายดีของประเทศยุโรป
เวลาเมื่อกำลังเขียนอยู่นี้ ชายอุรุพงษ์มาบอกว่าแลเห็นเรือรบของเราแล้ว ใจเต้นปึ้ก ๆ เหลือที่จะเขียนต่อไปอิกได้ เมื่อความใกล้บ้านมาปรากฏแก่ไนยตาเสียแล้ว หนังสือนี้ก็หมดอายุ จึงเปนการจำเปนที่จะต้องขอจบในเวลานี้
ใจเต้นที่จะได้พบกันเดี๋ยวนี้
หนังสือนี้จากพ่อผู้มีความรักยิ่ง
ขบวนข้าราชบริพารที่เดินทางล่วงหน้าเพื่อตระเตรียมพิธีรับเสด็จฯ ในการเสด็จกลับจากยุโรป ร.ศ.๑๒๖ พ.ศ. ๒๔๕๐
วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๕๐
กระบวนเรือรับเสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๖
ครั้นวันที่ ๖ พฤศจิกายน เวลาบ่าย เรือรบทั้ง ๓ ลำ ออกไปทอดสมอเรียงลำดับคอยรับเสด็จอยู่นอกท่า เวลาก่อนย่ำค่ำ เรือเมล์ซักซันลำทรงมาถึง เรือรบก็ยิงสลุตแล้วแล่นเป็นกระบวนตาม พอเรือถึงท่าหน้ายอชเทาน์ เรือพระที่นั่งมหาจักรีซึ่งทอดสมออยู่ยิงสลุต พอเรือซักซันทอดสมอ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ไปรับเสด็จต่างเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ เรือซักซัน . . . ขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จทรงเรือพระที่นั่งกลับคืนสู่พระนคร
เวลา ๑ ทุ่ม กับ ๔๕ นาที พระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากเรือซักซันมายังเรือพระที่นั่งมหาจักรี แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พอเสด็จลงสู่เรือเก๋งกรรเชียงลอยลำห่างออกไปจากเรือซักซัน เรือพระที่นั่งมหาจักรีและเรือรบทั้ง ๓ ลำ พร้อมกันยิงสลุตเสียงครืนครั่นไปทั้งท่า
วันที่ ๗ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๖ เวลาเช้า ๒ โมง เรือพระที่นั่งมหาจักรีใช้จักรออกจากเมืองเกาะหมาก . . .
วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๖ เวลาบ่าย เรือพระที่นั่งล้ำแหลมเขมรเข้ามาในอ่าวสยาม
ครับ . . . การเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๒๖ พ.ศ.๒๔๕๐ นี้ แม้จะเป็นการเสด็จส่วนพระองค์เพื่อรักษาพระองค์ ก็ตาม แต่ "อันที่จริงก็ไม่ใช่จะเที่ยวอย่างเดียว เปนราชการอยู่บ้าง" นั้น กลับเป็นราชการที่สำคัญ คือ การแลกเปลี่ยนสัตยาบันสนธิสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ร.ศ.๑๒๕ ค.ศ.๑๙๐๗ ที่กรุงปารีส ทำให้เมืองตราดได้กลับเข้าสู่พระยรมโพธิสมภารต่อไป
. . . ก็และเมื่อเรือพระที่นั่งมหาจักรีใช้จักรออกจากเมืองเกาะหมากเดินทางเข้าสู่พระราชอาณาเขตก็นับว่ามิใช่เป็นการเสด็จประพาสยุโรป แต่พระราชกรณียกิจยังคงดำเนินต่อไป พระราชกรณียกิจทั้งหลายเป็นไปเพิ่อพระราชอาณาจักรและทวยราษฎร์ . . .จึงขอเชิญติดตามตอนต่อไป . . . ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์
ตอนต่อไป . . . ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์
ตอนต่อไป . . . ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์
ตอนต่อไป . . . ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์
บรรณานุกรม
- พระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ ถนนพระสุเมรุ บางลำพูบน พระนคร พ.ศ.๒๔๙๗
- จดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรวบรวม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๕ โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร
http://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711155
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น