ในการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มักใช้บริการรถรับจ้างสาธารณะ
ด้วยไม่โปรดที่จะรบกวนผู้อื่น หากเดินไปเองได้ ก็จะเดิน
บ่อยครั้งที่มีผู้มาอาราธนาไปบำเพ็ญกุศลที่บ้าน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดมากนัก
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็จะตรัสแก่เจ้าภาพว่า
“ไม่ต้องเอารถมารับนะ แล้วจะเดินไปเอง”
………………………………..
เมื่อคราวที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์
ประทานบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตร ณ วัดพุทธบูชา บางมด
เป็นประจำทุกปีก่อนเข้าพรรษา ก็โปรดที่จะเดินทางโดยรถแท็กซี่
จากวัดบวรนิเวศวิหารต่อหนึ่ง แล้วไปลงเรือหางยาวอีกต่อหนึ่ง
ลัดเลาะเรื่อยไปตามคลอง จนถึงวัดพุทธบูชา
ด้วยเหตุนี้ผู้เคารพนับถือหลายคนจึงพยายามที่จะถวายรถยนต์
สำหรับทรงใช้ส่วนพระองค์ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ
ด้วยเหตุผลง่ายๆ “ไม่รู้จะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน”
………………………………..
อีกครั้งหนึ่ง คราวเกิดเหตุระเบิดขึ้นข้างพระตำหนัก
ในช่วงบ่ายขณะที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ กำลังสนทนาธรรมอยู่กับ
นางโยเซฟีน สแตนตัน ภรรยาอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
ซึ่งโชคดีว่าไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
แต่เหตุระเบิดในครั้งนั้นทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาถวายอารักขา วันละ ๑ นาย
และโปรดให้รถยนต์หลวง (รยล.) มาประจำไว้ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
เพื่อถวายความสะดวกในการเสด็จไปปฏิบัติศาสนกิจยังสถานที่ต่างๆ
สำหรับกรณีของรถยนต์หลวงนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้รับสั่ง
กับเจ้าหน้าที่ผู้รับคำสั่งสั้นๆ เพียงว่า “ไม่สมควร”
เป็นอันว่าไม่ทรงรับไว้ เพียงแต่ขอรับพระราชทานใช้เป็นครั้งคราวเท่านั้น ……………
(เนื้อหาบางตอนจาก : หนังสือบวรธรรมบพิตร ฉบับประมวลพระรูป)
……………………………………………
วินัยกรรม ชีวิตก เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรฯ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโศภณคณาภรณ์
ทรงเป็นผู้ดำรงอยู่ในความไม่ประมาท
ด้วยทรงมีพระลิขิต “วินัยกรรม” หรือพระพินัยกรรม
ไว้ด้วยลายพระหัตถ์ของพระองค์เองลงบนกระดาษ ๑ แผ่น
จัดแจกบริขารทั้งปวงให้แก่สงฆ์ในอารามต่างๆ ดังปรากฏความว่า
…บริกขารทั้งปวงก็ดี สิทธิเพื่อบริกขารทั้งปวงก็ดี ของข้าพเจ้า :
อยู่วัดบวรนิเวศ ถวายแด่ท่านเจ้าอาวาส
(ภายหลังเมื่อทรงครองวัด จึงขีดฆ่าออกแล้วลงพระนามกำกับไว้
ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ)
และพระกรรมการวัดบวรนิเวศ
อยู่ที่วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี
ถวายแด่ท่านเจ้าอาวาส
และพระเถระผู้รองลงมาอีก ๓ รูป วัดเทวสังฆาราม
นอกจากนี้ อยู่ที่ผู้ใดที่ไหน ให้แก่ผู้นั้นที่นั้น
ข้าพเจ้ามีความประสงค์แจ้งอยู่ในแบบวินัยกรรมชีวิตกนี้
พระโศภณคณาภรณ์
เขียนที่กุฏิคอยท่า วัดบวรนิเวศวิหาร
๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๒
เวลา ๒๓.๒๐ น.
ยืนยันตามนี้ พระโศภณคณาภรณ์
ยืนยันตามนี้ พระโศภณคณาภรณ์ ๒๒ เม.ย. ๒๔๙๖
,,______,, พระสาสนโสภณ ๒๕ ก.ค. ๒๕๐๙ ………………………….
พระวินัยกรรมนี้นอกจากจะแสดงความไม่ประมาทในการใช้ชีวิต
เนื่องด้วยทรงมีพระลิขิตตั้งแต่มีพระชนมายุได้ ๓๖ ปี
แล้วยังคงดำรงมั่นในเจตนารมณ์นี้ด้วยการลงพระนามกำกับอีก ๒ ครั้ง
ทั้งในปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๔๐ ปี
และในปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๕๓ ปี
ในครั้งหลังนี้พระองค์ได้ทรงขีดทับข้อความในพระวินัยกรรม
ที่ยกบริขารในส่วนของวัดบวรนิเวศวิหารออก
เนื่องด้วยพระองค์ท่านดำรงสถานะเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารแล้ว
จึงไม่จำเป็นต้องยกบริขารใดๆ ให้เจ้าอาวาสอีก
พระวินัยกรรมนี้ยังสะท้อนถึงหลักอนุสสติ ๑๐
ที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงพิจารณามรณานุสสติอยู่เนืองๆ
นับเป็นการเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิต
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับคนรอบข้างหากต้องจากโลกนี้ไป
…………………………………….
พระเมตตาของพระองค์ไม่มีประมาณ
ราวปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ เสด็จไปปฏิบัติศาสนกิจทางภาคอีสาน
ทรงแวะตามหมู่บ้านประทานของแจกแก่ชาวบ้าน
ในยามที่ประชาชนประสบภัยพิบัติต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ไฟไหม้ โรคระบาด ภัยร้อน ภัยแล้ง ภัยหนาวต่างๆ
ก็จะทรงขวนขวายในทันทีทั้งด้านปัจจัยสี่ ทั้งการเยียวยาจิตใจ
และบำรุงขวัญด้วยธรรมะ เพื่อเกื้อกูล ผ่อนหนักให้บรรเทาเบาลง
ทั้งที่พระองค์เองก็ใช่ว่าจะมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์นัก
แต่ละวันถูกรุมเร้าด้วยพระศาสนกิจตั้งแต่เช้าจรดค่ำ
บางคราวต้องเสด็จไปกิจนิมนต์ไกลโพ้นข้ามจังหวัด
ทว่าก็ไม่เคยแสดงอาการอ่อนล้า
ครั้นผู้ถวายงานใกล้ชิดกราบทูลให้ทรงผ่อนคลายหรือละเว้นเสียบ้าง
ก็จะทรงพระสรวลแต่เบาๆ พลางรับสั่งว่า
“เออ ! จะทำอย่างไรได้…ที่นี่เป็นพระของประชาชน”
(เนื้อหาบางตอนจาก : หนังสือบวรธรรมบพิตร ฉบับประมวลพระรูป)
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทรงถวายพวงมาลัยสักการะ “พระไพรีพินาศ”
พระพุทธรูปศิลาปิดทอง ศิลปะศรีวิชัย ปางประทานพร
ในโอกาสที่เสด็จขึ้นคำบูชาและวางเครื่องสักการะพระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร
เนื่องในวันมาฆบูชา วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๕
“พิธีมาฆบูชา” เป็นธรรมเนียมที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งขึ้นนับแต่ยังทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
ด้วยเป็นพิธีบูชาที่ทรงพระราชดำริขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก
ซึ่งหลังจากพระองค์ทรงนำทำวัตรสวดมนต์แล้ว
จักเสด็จไปยังลานประทักษิณชั้นบนของพระเจดีย์
ทรงกล่าวคำบูชาพระเจดีย์แล้ววางเครื่องสักการะ
(โดยไม่มีการเวียนเทียนแต่อย่างใด)
……………………………………..
ที่มา www.dhammajak.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น