จังหวัดลำพูน เดิมชื่อเมืองหริภุญไชย เป็นเมืองโบราณ มีอายุประมาณ 1,343 ปี ตามพงศาวดารโยนกเล่าสืบต่อกันถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย โดยฤาษีวาสุเทพ เป็นผู้เกณฑ์พวกเม็งคบุตร หรือ ชนเชื้อชาติมอญมาสร้างเมืองนี้ขึ้น ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำกวง และแม่น้ำปิง เมื่อมาสร้างเสร็จได้ส่งทูตไปเชิญ ราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้พระนาม "จามเทวี" มาเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญไชย สืบราชวงศ์กษัตริย์ ต่อมาหลายพระองค์ จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบาจึงได้เสียการปกครองให้แก่พ่อขุนเม็งรายมหาราช ผู้รวบรวม แว่นแคว้นทางเหนือเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา เมืองลำพูน ถึงแม้ว่า จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา แต่ก็ได้เป็นผู้ถ่ายทอดมรดกทางศิลปและวัฒนธรรมให้แก่ผู้ที่เข้ามาปกครอง ดังปรากฏหลักฐานทั่วไปในเวียงกุมกาม เชียงใหม่และเชียงราย เมืองลำพูนจึงยังคงความสำคัญในทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนา จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองลำพูนจึงได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีผู้ครองนครสืบต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย คือ พลตรีเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัย เมืองลำพูนจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครอง สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
พระบรมธาตุหริภุญชัย
เป็นโบราณสถานอันสำคัญของนครหริภุญชัยที่ พระเจ้าอาทิตยราช เป็นผู้สถาปนาขึ้นในราว พุทธศตวรรษที่ 17 เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ในหนังสือตำนานพระธาตุกล่าวไว้ว่า มีลักษณะ เป็นสถูปสี่เหลี่ยมทรงปราสาท ที่มีซุ้มทวาร เข้า - ออกทะลุกันได้ทั้งสี่ด้าน มีปราสาทสี่เหลี่ยมอยู่ตรงมุมๆ ละองค์ก่อด้วยศิลาแลง ภายในเป็นแท่น สำหรับประดิษฐาน พระโกศที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อพญามังราย ตีเมืองหริภุญชัยได้ โปรดให้ซ่อมแซมดัดแปลงองค์พระธาตุขึ้นใหม่ เปลี่ยนแปลงทรวดทรง ขององค์พระธาตุเป็นทรงเจดีย์ฐานกลมแบบทรงลังกา ต่อมาประมาณ พ.ศ. 1990 พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์องค์สำคัญแห่งเมืองเชียงใหม่ ทรงร่วมกับพระมหาเมธังกรเถระ ก่อพระมหาเจดีย์ให้สูงขึ้นเป็น 92 ศอก กว้างยาวขึ้น 52 ศอก เป็นรูปร่างที่เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบัน และก่อสร้างซุ้มประตูโขงประกอบด้วยลวดลายปูนปั้นทั้ง 4 ทิศ ปัจจุบันคงเหลือแค่ซุ้มประตูโขงทางทิศตะวันออก และทางด้านทิศใต้ พระธาตหริภุญชัยเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีระกา และเป็นหนึ่งในแปดจอมเจดีย์ของประเทศ
อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล
เป็นอุทยานแห่งชาติที่ขึ้นชื่อ การเดินทางมาท่องเที่ยวโดยรถไฟนั้นต้องลงรถที่สถานีรถไฟขุุนตาน บรรยากาศการท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลต่างจากอุทยานแห่งชาติอื่น เพราะสามารถเดินทางมาโดยรถไฟ ยอดดอยขุนตาล เป็นจุดสูงสุดของ อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล สูง 1,373 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นจุดที่เรียกว่า ม่อนส่องกล้อง มีอากาศเย็นสบาย ร่มรื่นด้วยต้นสนภูเขา เส้นทางสู่ยอดดอยขุนตาลเป็นทางเดินเท้า ระยะทางรวมทั้งสิ้น 4.5 กิโลเมตร ทางอุทยานได้จัดทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เส้นทางชัดเจน เดินง่าย
วัดจามเทวี
เป็นวัดเก่าแก่ มีความสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีของ จังหวัดลำพูน โดยเฉพาะพระเจดีย์กู่กุดซึ่งพบที่วัดนี้ เป็นเจดีย์แบบเหลี่ยมที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุด และเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมของหริภุญชัย
วัดมหาวัน
เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยพระนางเจ้าจามเทวี เมื่อแรกเดินทางมาครองเมืองหริภุญชัย เป็นหนึ่งในวัดสี่มุมเมือง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของนครหริภุญชัยสิ่งปลูกสร้างในวัดล้วนสร้างขึ้นใหม่จนไม่หลงเหลือของเดิม แต่ที่ทำให้วัดเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเพราะเป็นแหล่งที่พบพระรอด และพระรอดหลวง ซึ่งเป็นหนึ่งในพระเครื่องเบญจภาคี กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปเมื่อหลายสิบปีก่อน
อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี
ตั้งอยู่กลางเมืองลำพูน ประดิษฐานอยู่บนแท่นสูงประมาณ 2 เมตร บนลานยกระดับ อนุสาวรีย์หล่อสำริด สูง 2.4 เมตร ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ในอริยาบททรงยืน พระหัตถ์ซ้ายถือดาบยาวปลายแตะพื้น พระหัตถ์ขวายื่นมือออกมาเบื้องหน้า รอบบริเวณเป็นลานอิฐโล่งกว้างขวาง มีกำแพงล้อมรอบ บนกำแพงประดับด้วยหม้อน้ำต้น และช้างดินเผา ด้านหลังอนุสาวรีย์ก่อเป็นกำแพงสีน้ำตาลแดงเลียนแบบปราสาทหินศิลปะทวารวดี
ที่มา http://www.lamphun.go.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น