‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นต้นแบบและผู้นำแฟชั่นของประเทศไทยอย่างแท้จริง ผ่านฉลองพระองค์ที่งดงาม และรสนิยมที่เป็นเลิศ’
โดยเรียบเรียงจากข้อมูลในหนังสือ ราชศิลป์พัสตราภรณ์ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ความว่า
แม้จะประทับอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลาหลายปีก่อนพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส แต่เมื่อเสด็จฯ กลับมาประเทศไทย ในโอกาสที่เสด็จออกงานพระราชพิธีสำคัญหรืองานทางศาสนาก็ฉลองพระองค์แบบไทย ทรงพระภูษาไหมยาวจรดข้อพระบาท ส่วนฉลองพระองค์นั้นมีหลายแบบ ทรงปรับปรุงและผสมผสานแบบตะวันตกให้เข้ากับแบบไทย
ในการโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับ 14 ประเทศในอเมริกาและยุโรป เป็นระยะเวลา 6 เดือน ในช่วงปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ.2503) ในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีชุดแต่งกายประจำชาติ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเชิญผู้มีความรู้หลายท่านมาถวายคำแนะนำ และทรงศึกษาจากภาพถ่ายและภาพวาดของพระบรมวงศานุวงศ์หญิงในราชสำนัก
และพบว่ารูปแบบชุดนั้นยังไม่มีการกำหนดไว้แน่ชัด
ต่อมา จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค พระญาติสนิทและนางสนองพระโอษฐ์ ไปพบผู้ที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณีไทย คือ ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน และอาจารย์สมศรี สุกุมลนันทน์ บุตรสาว ซึ่งในเวลานั้นเป็นอาจารย์หัวหน้าแผนกผ้าและการแต่งกายอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ให้มาช่วยค้นคว้าเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบเพื่อใช้ในการโดยเสด็จครั้งนี้
และสุดท้าย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ตัดสินพระราชหฤทัยด้วยพระองค์เอง และมีพระราชดำริว่า มีความจำเป็นต้องมีฉลองพระองค์เองที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทยอย่างแท้จริง และจะต้องเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติที่สวยงามดึงดูดใจและสวมใส่ได้จริง
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ต้นแบบไว้ มีนางสาวไพเราะ พงษ์เจริญ เป็นผู้รับสนองพระเดชพระคุณตัดเย็บในระยะแรก หลังจากนั้นมาก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นางอุไร ลืออำรุง เจ้าของห้องเสื้อกรแก้ว รับสนองพระเดชพระคุณในเวลาต่อมา
และยังพระราชทานพระราชานุญาตให้สตรีไทยนำแบบฉลองพระองค์ชุดไทยไปตัดเย็บสวมใส่ได้ เรียกกันว่า ‘ชุดไทยพระราชนิยม’ ซึ่งมีทั้งหมด 8 แบบ
ชุดที่ลำลองที่สุด คือ ชุดไทยเรือนต้น ตั้งชื่อตามพระตำหนักเรือนต้นในพระราชวังดุสิต ใช้ในโอกาสไม่เป็นทางการ เป็นผ้านุ่งป้ายยาวจรดข้อเท้า เสื้อเป็นคอกลมตื้น แขนสามส่วน ผ้าอกกระดุม 5 เม็ด ใช้เครื่องประดับน้อยชิ้น
ชุดไทยจิตรลดา ตั้งชื่อตามพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ใช้ในพิธีกลางวัน มีสไตล์คล้ายคลึงกับชุดไทยเรือนต้น แต่คอเสื้อมีขอบตั้งและแขนยาวจรดข้อมือ ผ้านุ่งป้ายเป็นผ้าไทยยกดอกมีเชิงหรือยกดอกทั้งตัว ใช้เครื่องประดับตามสมควร
ชุดไทยอมรินทร์ ใช้ในงานพระราชพิธีและงานพิธีกลางคืน มีลักษณะเหมือนชุดไทยจิตรลดา แต่ตัดเย็บด้วยผ้ายกไหมที่มีทองแกม หรือยกทองทั้งตัว
ชุดไทยบรมพิมาน ใช้ในงานพระราชพิธีและงานพิธีกลางคืน เสื้อแขนยาวคอกลมมีขอบตั้ง ตัวเสื้อและซิ่นติดกันเป็นชุดเดียว ตัดเย็บด้วยผ้าไหมที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งตัวก็ได้ นุ่งจีบแล้วใช้เข็มขัดไทยคาด
ชุดไทยอีกรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับงานพิธีกลางคืนและดูสง่างามคือ ชุดไทยจักรี ผ้าซิ่นไหมทองเงินหรือทอง มีลักษณะเช่นเดียวกับชุดไทยบรมพิมาน ด้านหน้าจับจีบคาดเข็มขัดที่ช่วงเอว ท่อนบนเปิดไหล่หนึ่งด้านและมีชายสไบยาวเกือบถึงพื้น ตัดเย็บติดกับท่อนล่างซึ่งเป็นผ้านุ่งจีบ ใช้ผ้าไหมยกทองทั้งตัว หรือยกทองเฉพาะเชิงก็ได้
ชุดไทยดุสิต ใช้ในงานพิธีเต็มยศกลางคืน ตัดเย็บด้วยผ้ายกไหมหรือยอทอง ผ้านุ่งจีบ เสื้อคอกว้าง ไม่มีแขน ปักด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง หรือลูกปัด
ชุดไทยศิวาลัย ใช้ในงานพระราชพิธีทั้งเวลากลางวันและกลางคืน เป็นชุดแบบเดียวกับชุดไทยบรมพิมาน แต่ผ้าห่มสะพักทับเสื้ออีกชั้นหนึ่ง
ชุดไทยจักรพรรดิ ใช้ในงานพิธีเต็มยศกลางคืน ท่อนบนห่มผ้าสองชั้น ชั้นในมักเป็นสไบจีบ และห่มสะพักทับ ผ้านุ่งยกทองจีบแบบเดียวกับชุดไทยจักรี คาดเข็มขัดและใส่เครื่องประดับเข้าชุดกัน
การสร้างสรรค์และกำหนดรูปแบบชุดไทยโดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในครั้งนั้นสร้างแรงบันดาลใจสำคัญในการใช้ผ้าไหม การสวมเครื่องประดับแบบไทย และเครื่องประดับอันเป็นเอกลักษณ์สำหรับสุภาพสตรีไทยยุคใหม่ เฉกเช่นเดียวกับสุภาพสตรีที่ใส่ใจแฟชั่นทั่วโลก
และเนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะทรงฉลองพระองค์แบบสากลตามความเหมาะสมแก่โอกาส จึงมีพระราชดำริให้นักออกแบบต่างชาติมาแนะนำและดูแลฉลองพระองค์ ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายปิแอร์ บัลแมง ซึ่งพักอยู่ที่กรุงเทพฯ ช่วงเวลานั้นพอดี เป็นช่างออกแบบเสื้อตัดเย็บฉลองพระองค์ในการโดยเสด็จต่างประเทศ และเป็นผู้ดูแลฉลองพระองค์ทั้งแบบไทยและแบบสากลในเวลาต่อมา มีนายอีริก มอร์เทนเซน นักออก แบบคนสำคัญของห้องเสื้อบัลแมงในขณะนั้นมาช่วย งานด้วย
เมื่อนายบัลแมงถึงแก่กรรมในปี 2525 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายมอร์เทนเซนรับสนองพระเดชพระคุณดูแลเรื่องฉลองพระองค์ต่อมา
หลังจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักออกแบบต่างชาติจากห้องเสื้อที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกหลายแห่ง เช่น คริสเตียน ดิออร์ วาเลนติโน และจิวองชี รับสนองพระเดชพระคุณด้วยการตัดเย็บฉลองพระองค์จากผ้าไหมไทยด้วย ทำให้เกิดความนิยมสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศมาจนทุกวันนี้
ทรงเป็นผู้นำในการแต่งกายแบบไทยอย่างแท้จริง ทรงเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยให้โลกประจักษ์ด้วยพระองค์เอง ด้วยทรงพระสิริโฉม และทรงฉลองพระองค์ชุดไทยได้งดงามยิ่ง เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่พบเห็นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีของโลกจำนวนสองพันคน ต่างเฉลิมพระเกียรติให้ทรงเป็น 1 ใน 10 ของสุภาพสตรีที่แต่งกายงดงามที่สุดในโลกในปีพ.ศ.2503 และ 2504 และทรงเป็นสุภาพสตรีผู้แต่งกายดีที่สุดในโลกในพ.ศ.2506 และ 2507
ต่อมาในพ.ศ.2508 มีการจารึกพระนามาภิไธยในหอแห่งเกียรติคุณ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในฐานะที่ทรงเป็น 1 ใน 12 สุภาพสตรีที่แต่งกายงามที่สุดในโลก
ด้วยมีพระราชประสงค์ส่งเสริมให้นักออกแบบไทยได้มีโอกาสแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติผ่านฉลองพระองค์ จึงโปรดให้นักออกแบบไทยหลายคนรับผิดชอบในการออกแบบและตัดเย็บฉลองพระองค์ต่อมา
ฉลองพระองค์ชุดไทยที่ทรงในระหว่างเสด็จฯ เยือนต่างประเทศในช่วงแรกๆ มีอาจารย์สมศรี สุกุมลนันทน์ นางสาวไพเราะ พงษ์เจริญ นางอุไร ลืออำรุง เป็นผู้ออกแบบตัดเย็บทั้งหมด
จากนั้นจนถึงปัจจุบัน มีนักออกแบบไทยหลายคนที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้ตัดเย็บฉลองพระองค์ในโอกาสต่างๆ ได้แก่ นายน้อย คุณหญิงอังศุภา ปัณยาชีวะ นายธีรพันธ์ วรรณรัตน์ นายสมชาย แก้วทอง นาง พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ นายนคร สัมพันธารักษ์ นายสมภพ หลุยลาภประเสริฐ และนายยุทธพงษ์ มีพรหม เป็นต้น
ธีรพันธ์ วรรณรัตน์ เล่าว่า ‘ภูมิใจที่ใครๆ ทั่วโลกต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พระองค์เป็นพระราชินีที่ทรงพระสิริโฉมที่สุดในโลก ตอนนั้นนิตยสารโว้คที่ปารีสก็ลงพระฉายาลักษณ์พระองค์ท่านในหน้าแฟชั่นในเล่ม 7-8 หน้า ตอนที่พระองค์ท่านเสด็จฯ และประทับอยู่ท่ามกลางดาราฮอลลีวู้ด แม้กระทั่งท่ามกลางดาราฮอลลีวู้ดอย่างนั้น แต่พระองค์ก็ทรงมีรัศมีเปล่งประกาย ทรงพระสิริโฉมเสียยิ่งกว่าดาราคนไหนๆ ตรงนั้นเสียอีก พระองค์คือผู้ริเริ่มผู้พัฒนา ผู้สืบสานงานผ้าไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศเรา’
ที่สำคัญยิ่งคือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพยายามสนับสนุนให้สตรีไทยแต่งกายด้วยผ้าไทย ผ้าไหม ผ้าพื้นเมือง ทรงเป็นผู้นำในการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นต้นแบบแก่สตรีไทย
ผืนผ้าภูมิปัญญาชาวบ้านที่กลายเป็นฉลองพระองค์อันวิจิตรงดงาม เป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยเกิดความภาคภูมิใจในคุณค่าของผ้าไทยและศิลปวัฒนธรรมไทยมาจนทุกวันนี้.
……………………………………………………….
ที่มา : ข่าวสด , นิตยสาร HELLO ฉบับวันที่ 9 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น