วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ วันครบรอบ ๒๗ ปี การหยุดยิงในกรณีพิพาทไทย-ลาว สมรภูมิบ้านร่มเกล้า


สมรภูมิกุมาพักกกก
กุมภาพันธ์เป็นทั้งเดือนแห่งความรักและเดือนแห่งความสุข แต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นเดือนแห่งความสูญเสียทั้งของกองทัพไทยและกองทัพสาธารณรัฐประขาธิปไตยประชาชนลาว จากการสู้รบระหว่างกันในกรณีพิพาทสมรภูมิร่มเกล้า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสียที่บุคคลอันเป็นสุดที่รักของท่านต้องจากไป บาดเจ็บ และพิการ
บทความนี้จะได้ทบทวนให้ได้ระลึกกันว่า ความเป็นเอกราชของชาติไทยนั้นไม่ได้มาด้วยอย่างง่ายๆหรือความสุขสบาย แต่บูรพมหากษัตริย์และบรรพชนไทยต้องเอาเลือด เอาเนื้อ เอาชีวิต เข้าแลก เพื่อให้มีประเทศไทยและคนไทยอยู่มาจนทุกวันนี้
สมรภูมิบ้านร่มเกล้า หรือ ยุทธการบ้านร่มเกล้า เป็นการรบระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว ณ บริเวณบ้านร่มเกล้า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 จากการสู้รบอย่างหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมากทั้งฝ่ายไทยและลาว และนับเป็นการสูญเสียชีวิตทหารมากที่สุดในการรบของไทยเท่าที่เคยมีมา การรบสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 หลังจากฝ่ายไทยได้ใช้กองทัพอากาศโจมตีเข้าไปในดินแดนลาว 30-40 กิโลเมตร และฝ่ายลาวโดยนายไกสอน พมวิหาร นายกรัฐมนตรี ได้เจรจาขอหยุดยิงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 และเสนอให้ถอนกำลังของทั้งสองฝ่ายออกจากกันเป็นระยะ 3 กิโลเมตร


สาเหตุ สมรภูมิบ้านร่มเกล้าเกิดจากกรณีพิพาทด้านพรมแดนระหว่างไทยกับลาว เนื่องจากยึดถือพรมแดนจากแผนที่คนละฉบับ โดยในปี พ.ศ. 2450 สนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ยึดถือจากผลการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2430 ได้กำหนดให้แม่น้ำเหืองเป็นเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 เจ้าหน้าที่สำรวจแผนที่ของฝรั่งเศสได้พบว่าแม่น้ำเหืองมีสองสาย จึงได้เขียนแผนที่โดยยึดสายน้ำที่ทำให้ฝรั่งเศสได้ดินแดนมากกว่าเดิม และไม่ได้แจ้งให้รัฐบาลสยามทราบ ต่อมาในช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐได้จัดทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ และได้พบแม่น้ำอีกสายหนึ่ง ชื่อว่า ลำน้ำเหืองป่าหมัน ซึ่งไม่เคยปรากฏในเอกสารสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส มาก่อน

ในปี พ.ศ. 2530 ทางการลาวได้อ้างสิทธิเหนือดินแดนบริเวณบ้านร่มเกล้า และยกกำลังเข้ามายึดพื้นที่บ้านร่มเกล้า ในเขตอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก และเกิดปะทะกับกองกำลังทหารพราน 3405 ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 และยึดเนิน 1428 เป็นที่มั่น


ยุทธการสอยดาว วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 กองทัพภาคที่ 3 เริ่มส่งกำลังเข้าโจมตีเนิน 1428 โดยใช้กองกำลังทหารราบและทหารม้า โดยการสนับสนุนจากกองทัพอากาศไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากฝ่ายลาวมีชัยภูมิที่ดีกว่า และได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากสหภาพโซเวียตและเวียดนาม

ยุทธการบ้านร่มเกล้า จากคำบอกเล่าของทหารที่อยู่แนวหน้า ระบุว่าทหารไทยในสมรภูมิบ้านร่มเกล้าต้องรบกับข้าศึกที่มียุทธภูมิดีกว่า มีอำนาจการยิงสนับสนุนต่อเนื่องและรุนแรง ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะแนวกับระเบิด ทหารหลายนายซึ่งผ่านสมรภูมิมาอย่างโชกโชน กล่าวว่า เป็นการรบที่หนักที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นมาในชีวิตการเป็นทหาร[ต้องการอ้างอิง] โดยเฉพาะบริเวณเนิน 1182, 1370, และ 1428

ยุทธการบ้านร่มเกล้า ได้เริ่มขึ้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เมื่อ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก (ในขณะนั้น) ประกาศจะผลักดันกองกำลังต่างชาติที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในเขตไทยทุกรูปแบบด้วยการใช้กำลังทหาร จึงทำให้เกิดการสู้รบอย่างดุเดือดทหารไทยทั้ง ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ และทหารพราน ได้รุกตอบโต้ยึดที่มั่นต่างๆ ที่ลาวครองไว้กลับมาได้เป็นส่วนมาก รวมทั้งได้ทำการโอบล้อมบริเวณตีนเนิน 1428 ไว้ได้ แต่ไม่สามารถบุกขึ้นไปถึงยอดเนินซึ่งทหารลาวใช้เป็นฐานต่อต้านได้ ถึงแม้จะใช้กำลังทางอากาศบินโจมตีทิ้งระเบิดอย่างหนักก็ตาม จนทำให้กองทัพอากาศไทยสูญเสียเครื่องบิน เอฟ 5 อี และ โอวี 10 ไปอย่างละ 1 เครื่อง ซึ่งถูกยิงตกด้วยปืนต่อต้านอากาศยาน และจรวดแซม

หลังจากที่ทหารลาวสูญเสียที่มั่นต่างๆ ได้รวบรวมกำลังพลเข้ารักษาเนิน 1428 ไว้อย่างเหนียวแน่นโดยมีกำลังรบและกำลังสนับสนุนดังนี้คือ กองพลที่ 1 จำนวน 4 กองพัน พร้อมอาวุธหนักปืนใหญ่ 130 มม. 3 กระบอก ปืน 105 มม. 3 กระบอก รถถังอีก 4 คัน รวมกำลังพล 372 นาย กองพลที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่หลวงพระบาง จำนวน 4 กองพัน เช่นกัน มีกำลังพลกว่า 418 คน สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ 130 มม. 3 กระบอก ปืนใหญ่ 105 มม. 3 กระบอก รถถัง 5 คัน ปืน ค. ขนาด 62 และ 82 มม. รวมทั้ง ปตอ. ด้วย นอกจากนี้กองกำลังหลักซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ ไชยบุรี มีปืนใหญ่ 130 มม. 2 กระบอก ปืนใหญ่ขนาด 122 มม. อีก 3 กระบอกรวมทั้งหน่วยจรวดต่อสู้อากาศยานแบบแซม 7

ในระยะแรกของการรบนั้น ทหารไทยใช้ทหารม้าและทหารพรานรุกคืบหน้าเข้าสู่บริเวณเนิน 1428 ซึ่งพบกับการต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายลาวอย่างคาดไม่ถึงโดยเฉพาะกับระเบิดและการยิงปืนใหญ่จากลาวอย่างหนาแน่นและต่อเนื่อง ทำให้การรุกคืบหน้าเป็นไปได้ช้าและสูญเสียอย่างมาก ด้วยมีความเสียเปรียบหลายประการ ในขั้นแรกทหารไทยมีความคิดที่จะผลักดันทหารลาวออกจากดินแดนไทยเท่านั้น การรบจึงจำกัดเขตอยู่แต่ในประเทศไทย แต่หลังพบว่าการรบในช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย คณะนายทหารจึงปรับแผนการรบใหม่ โดยใช้กำลังปืนใหญ่ระยะยิงไกลแบบ เอ็ม 198 และปืนใหญ่แบบต่าง ๆ ระดมยิงเข้าไปในดินแดนลาว ที่หมายคือการยิงฐานปืนใหญ่และที่ตั้งกำลังทหาร พร้อมทั้งส่งหน่วยรบพิเศษเข้าไปตัดการส่งกำลังสนับสนุนของฝ่ายลาว จนกระทั่งการสนับสนุนการรบของลาวได้ลดประสิทธิภาพลงไปอย่างมาก วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ก็ได้มีการเจรจายุติศึกแยกกำลังของทั้ง 2 ฝ่ายออกจากกันฝ่ายละ 3 กิโลเมตร

ข้อสังเกตจากการรบ การรบครั้งนี้ผิดกับการรบเท่าที่ทหารไทยได้เคยผ่านมา ทำให้ต้องระดมกำลังทหารหน่วยต่างๆ เข้าสู่ยุทธบริเวณจำนวนมาก ทั้งจากเหล่าม้า เหล่าราบ เหล่าปืนใหญ่ เหล่าทหารช่าง หน่วยรบพิเศษ รวมทั้งการรบนอกแบบที่ต้องใช้ทหารพรานเข้าเกาะฐานที่มั่นของฝ่ายลาวด้วย

การส่งกำลังบำรุงของทหารไทยเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเส้นทาง สภาพถนนที่ค่อนข้างแคบและขรุขระ อีกทั้งเป็นทางสูงชันคดเคี้ยว ลัดเลาะไปตามไหล่เขาที่ค่อนข้างสูงไม่ต่ำกว่า 1000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

สาเหตุที่ทหารลาวได้ยึดเนิน 1428 ชนิดหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมถอย เท่าที่ดูจากภูมิประเทศแล้ว เนิน 1428 เป็นเนินบนยอดเขาที่สูงที่สุด สามารถมองเห็นชัยภูมิรอบๆ ได้เป็นอย่างดี และ ผตน. ของลาวจะคอยชี้เป้าให้ปืนใหญ่ยิงถล่มทหารไทยที่กำลังรุกคืบหน้าอยู่เบื้องล่างอย่างได้ผล และที่สำคัญคือ เนิน 1428 นั้นทหารลาวได้ทำบังเกอร์ถาวร (คอนกรีตเสริมเหล็ก) ขุดอุโมงเชื่อมต่อกับรอบฐาน ปรับพื้นที่ ขุดร่องเหลดไว้พร้อมสรรพ เป็นฐานที่มั่นแข็งแรง สามารถทนทานการโจมตีทางอากาศได้อย่างดี อีกทั้งมีการวางกับระเบิด

การประเมินค่าขีดความสามารถในการรบของทหารลาว ซึ่งได้รับการฝึกจากเวียตนาม มีสหภาพโซเวียตสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะทหารปืนใหญ่ และหน่วยป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งต้องใช้ฝีมือและเทคโนโลยีเข้าช่วย จึงจะปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้สุนัขสงคราม ตรวจหาทุ่นระเบิด นับว่าเป็นวิธีที่ประหยัดและได้ผลดีที่สุด แต่เมื่อถึงสนามรบจริง สุนัขบางตัวกลับเดินหนีสงสัยจะเวียนหัวกลิ่นกำมะถัน จากที่ ทหารลาววางเอาไว้ ทหารไทยจึงช่วยตนเองเอาไม้ไผ่มาทำเครื่องค้นหากับระเบิดไปพลาง ๆ ก่อน เพราะเครื่องตรวจทุ่นระเบิดมีจำนวนจำกัด

ผลที่ตามมา ประเทศไทยและประเทศลาวร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-ลาว (JBC) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2539[4] เพื่อปักปันพรมแดนซึ่งมีความยาว 1,810 กิโลเมตร ทั้งสองประเทศยังวางแผนที่จะเสร็จสิ้นการปันเขตแม่น้ำโขงซึ่งมีความยาว 1,100 กิโลเมตร ภายในปี พ.ศ. 2553 โดยร้อยละ 96.3 เสร็จสิ้น ระหว่างปี พ.ศ. 2546-2550

ขอบคุณที่มา วีกิพีเดีย


สงครามร่มเกล้าในอีกมุมหนึ่ง

การรบระหว่าง ไทย-ลาว ที่บ้านร่มเกล้า
๑. มูลเหตุของการรบ
ยุทธการบ้านร่มเกล้า เกิดขึ้นในกรณีพิพาทระหว่าง ไทย-ลาว ณ บ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก อันเนื่องมาจากปัญหาเส้นเขตแดน ซึ่งไทยและลาวอ้างสนธิสัญญาคนละฉบับ โดยลาวได้ส่งกำลังทหารเข้ามายึดพื้นที่ส่วนที่เป็นปัญหา ไทยจึงได้ส่งกำลังทหารเข้าผลักดัน และเกิดการปะทะกันด้วยกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายอย่างหนักหน่วง ในช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๓๐ – กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ และมีการหยุดยิง ของทั้งสองฝ่ายเมื่อ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
๒. ปัญหาเส้นเขตแดน จุดก่อของสงคราม
ตามสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ กำหนดให้น้ำเหืองเป็นเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศส แต่ปีถัดมาพนักงานสำรวจทำแผนที่พบว่ามีน้ำเหืองสองสาย ฝรั่งเศสตัดสินเอาเอง (เข้าใจว่าไม่ได้แจ้งให้กรุงเทพฯ ทราบ) ว่าเลือกสายน้ำที่ทำให้ฝรั่งเศสได้ดินแดนมากขึ้นหน่อย เขตแดนตรงนั้นไม่มีปัญหาอะไร จนกระทั่งปี ๒๕๓๐ ทางลาวอ้างว่าบริเวณบ้านร่มเกล้าเป็นของลาว เนื่องจากแผนที่คนละฉบับกับไทย ซึ่งอาจจะเกิดจากความผิดพลาดในการสำรวจครั้งนั้น ภายหลังพบว่าลำน้ำเหืองมี ๒ สาย ซึ่งไม่ตรงกับแนวลำน้ำในปัจจุบัน ซึ่งปรากฏในแผนที่สหรัฐทำให้รัฐบาลไทยช่วงสงครามเวียดนาม อีกทั้งลำน้ำในปัจจุบันเรียกว่าเหืองป่าหมัน ซึ่งไม่ใช่ชื่อที่เคยปรากฏในเอกสารใด ๆ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๔๕๑
๒.๑ จุดที่น่าสังเกตของเหตุการณ์ครั้งนี้
๒.๑.๒ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวคือปี ๒๕๒๘-๒๕๓๐ ทหารเวียดนาม-เฮงสัมริน ได้ส่งกองกำลังจำนวนมากเข้ากวาดล้างกองกำลังเขมรฝ่ายต่อต้าน ตามแนวชายแดนไทยที่จังหวัดอุบลราชธานี จนเกิดกรณีการรบกันอย่างหนักกับไทยที่ช่องบก ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.น้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ชายแดนซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน ๓ ประเทศ คือ ไทย ลาว และกัมพูชา มีทิวเขาพนมดงรัก กั้นเป็นแนวเขตแดน เนื่องจากพื้นที่ทางฝั่งเขมรเป็นที่ราบต่ำ ทหารเวียดนามจึงได้รุกล้ำเข้ามาตั้งฐานที่มั่นลึกเข้ามาในเขตไทยประมาณ ๕ กม. มีการปรับปรุงดัดแปลงที่ตั้งเพื่อรับการโจมตีจากทางไทยเป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นการตัดการติดต่อระหว่างไทยกับกองกำลังกลุ่มต่อต้านในการสนับสนุนยุทธปัจจัยการรบที่ช่องบก ที่ช่องบกนั้นมีการปะทะกันอย่างหนักระหว่างไทยและเวียดนาม (ไทยใช้กำลังส่วนต่าง ๆ จากกองทัพภาคที่ ๒ ประกอบด้วย ๕ กองพันทหารราบ, ๑ ร้อยลาดตระเวนระยะไกล, ๒๗ กองร้อยทหารพราน, ๑ ร้อยรถถัง สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ และกำลังทางอากาศ โดยเครื่องบิน เอ ๓๗ และเอฟ ๕) การรบมีความรุนแรงไม่น้อยไปกว่าที่บ้านร่มเกล้า การปฏิบัติการกวาดล้างกองกำลังทหารเวียดนามที่ช่องบก ตั้งแต่ ม.ค.๒๕๒๘-ธ.ค.๒๕๓๐ ทหารไทยสูญเสีย กำลังพล ๑๐๙ นาย บาดเจ็บ ๖๔๔ นาย ยึดอาวุธจากฝ่ายเวียดนามได้จำนวนมาก (ตัวเลขที่เปิดเผยจากทางการไทย) ทหารเวียดนามเสียชีวิตประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน จากการรบในเขมรและชายแดนไทยตั้งแต่บุกเข้ามาจนถอนออกไป บางส่วนถูกจับเป็นเชลยและหนีทัพมอบตัวกับไทยประมาณ ๕๐๐ คน
จุดที่น่าสังเกตเรื่องหนึ่งก็คือการรบครั้งนี้มีการเตรียมการอย่างดี ทหารเวียดนามมีอาวุธและระบบการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยมาก คาดว่าได้รับมาการสนับสนุนจากรัสเซีย ( ปี ๒๕๒๒ เวียดนามตีเขมรแดงแตกและถอยไปตั้งฐานที่ชายแดนไทย แถบเทือกเขาพนมมาลัย และเกิดการรบเรื่อยมาในเขมร โดยฝ่ายเขมรต่อต้านคือ เขมรแดง ได้จีนสนับสนุน กลุ่มซอนซาน และเจ้าสีหนุ (มีไทย สหรัฐ ฝรั่งเศสให้การสนับสนุน) กับทหารเวียดนาม ผสมกับเขมรกลุ่มเฮงสัมริน มีนายฮุนเซน เป็นผู้นำซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นเขมรแดงมาก่อน แต่แตกคอกันและไปเข้ากับเวียดนาม นำทหารเวียดนามมาขับไล่เขมรแดงออกไป)
นอกจากนี้ยังมีรายงานจากบางหน่วยของกองทัพบกว่าทหารเวียดนามมีการใช้อาวุธเคมีในบริเวณดังกล่าวด้วย ซึ่งมีการยืนยันจากทหารเขมรในการปะทะหลายครั้งว่ามีการโปรยหรือทิ้งสารบางอย่างลงมา ซึ่งมีผลต่อผิวหนังและระบบหายใจ นอกจากนั้นแหล่งน้ำในบริเวณดังกล่าวยังเต็มไปด้วยสารพิษ จากการปะทะและกวาดล้างทหารเวียดนามในเนิน ๕๖๕,๔๐๘,๕๐๐,๓๘๒ พบหน้ากากและชุดสำหรับป้องกันอาวุธเคมี ด้วย
๒.๑.๓ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ากรณีพิพาทระหว่างไทยกับลาวครั้งนี้เป็นแรงผลักดันที่ลาวได้รับจากเวียดนามและโซเวียต ซึ่งพยายามขัดขวางการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ และเป็นหนึ่งในแผนตัดขาดและยึดภาคอีสานของไทยตามยุทธการตัว L (L Operation) และรวมภาคอีสานของไทย ลาว เขมร เวียดนาม เป็นสหพันธ์อินโดจีน โดยมีเวียดนามเป็นผู้นำ
ลักษณะภูมิประเทศรูปตัวแอลใหญ่คือพื้นที่ป่าภูเขาบริเวณรอยต่อจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย ทอดตัวยาวลงมาทางใต้ตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ มาบรรจบกันบริเวณเขาใหญ่ บริเวณรอยต่อ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระบุรี ซึ่งทอดตัวยาวมาจากทิศตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก เขาบรรทัด เขากำแพง และบรรจบกันที่ เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
๒.๑.๔ ในช่วงดังกล่าวบางรายงานแจ้งว่ามีทหารเวียดนามในลาวประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน และในเขมรประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน ซึ่งอาจจะต้องการเปิดศึก ๒ ด้าน ให้ไทยพะว้าพะวงทั้งการรุกที่บ้านร่มเกล้าตีเจาะมาทางเหนือ และตีรุกเข้ามาที่ช่องบกทางใต้ เพื่อตัดและยึดภาคอีสาน เลยหากรณีมาอ้าง เพื่อทำการรบ
๒.๑.๕ จากการปะทะกันระหว่างทหารไทยและลาวนั้น มีรายงานจากบางหน่วยแจ้งว่าฝ่ายลาวมีทหารต่างชาติบัญชาการรบ อาจเป็นคนรัสเซีย และถูกทหารไทยยิงตายไปหลายคน (กองทัพไทยไม่ได้ให้ข้อมูลกับเรื่องนี้มากนัก) จากการปะทะหลายครั้งบางหน่วยรายงานว่า ทหารที่เข้าใจว่าเป็นทหารลาว บางคนพูดร้องสั่งการเป็นภาษาเวียดนาม คาดว่าเป็นกองกำลังผสมระหว่างเวียดนามและลาวที่รบกับไทย ในการรบที่บ้านร่มเกล้านี้จึงไม่ใช่กรณีพิพาทระหว่างไทยกับลาวธรรมดา
๒.๑.๖ ระบบอาวุธและการติดต่อสื่อสารในการรบที่ทางฝ่ายลาวใช้นั้น ทันสมัยมาก สามารถรู้พิกัดที่ตั้งปืนใหญ่ของไทย และยิงตอบกลับอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีการรบกวนระบบการสื่อสารของทหารไทย ซึ่งกองทัพประชาชนลาวคงไม่มีระบบที่ทันสมัยอย่างนี้
๒.๑.๗ ที่ตั้งบนเนิน ๑๔๒๘ มีการดัดแปลงการตั้งรับอย่างดี บังเกอร์เป็นคอนกรีต เสริมเหล็ก ลักษณะเป็นเนินเขาบีบแคบ ในการเข้าตีต้องเข้าตีจากด้านหน้าอย่างเดียว ทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบในการรบ หากจะต้องทำการรบในกรอบปกติ
๒.๑.๘ ข้อกล่าวหาของลาวต่อไทยอีกอย่างหนึ่งคือ ลาวกล่าวหาว่ามีบริษัทคนไทยบุกรุกเข้าไปตัดไม้และชักลากไม้ของลาวเข้ามาในอาณาเขตไทย ทหารลาวต้องการเงินค่าไม้ เมื่อไม่ได้รับจึงดำเนินการในลักษณะรุกรานดังกล่าว แต่บางรายงานก็กล่าวว่ามีคนไทยบางคนสมคบกับทหารลาวในพื้นที่ทำธุรกิจไม้เถื่อนจากลาวเข้ามาในไทย มีการติดต่อค้าขายกันมานาน ก่อนเกิดเหตุมีการคดโกงกันขึ้น คือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายไทยไม่ยอมจ่ายค่าไม้เถื่อนให้กับทหารลาวในวงเงินประมาณ ๕ ล้านบาท ทหารลาวจึงทำการเผารถแทรกเตอร์ รถบรรทุก และรถจี๊บเป็นการตอบแทน ซึ่งมีหลายฝ่ายของไทยกล่าวว่า การตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าว เพื่อเป็นการเสริมเรื่องไทยรุกล้ำแดนลาว และยังเข้าไปตัดไม้ด้วย เพื่อหาเหตุผลในการรุกราน

ลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญของสงครามบ้านร่มเกล้า
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๒๐ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)เคลื่อนไหวรุนแรงที่จะยึดอำนาจรัฐ พื้นที่ติดต่อเขตลาวในเขตนี้ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเผ่าม้ง ใช้เป็นพื้นที่หลบซ่อนและปฏิบัติการ เพราะสามารถข้ามลำน้ำเหืองเข้ามาในเขตไทยได้ง่าย และบริเวณพื้นที่นี้กลายเป็นยุทธบริเวณอันสำคัญระหว่างทหารกับ พคท. ชาวม้งซึ่งเป็นแนวร่วมกับ พคท.ถูกปราบปรามอย่างหนัก หนีข้ามลำน้ำเหืองเข้าไปในเขตลาว
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สถานการณ์ในอินโดจีนเปลี่ยนแปลง ประกอบกับนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ ของรัฐบาลไทยคือใช้ยุทธวิธี “กวนป่า ล้อมบ้าน” ใช้ยุทธศาสตร์ “การเมืองนำทหาร” ทำให้ชาวม้งตัดสินใจกลับเข้ามาตามโครงการเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย กองทัพภาคที่ ๓ ได้ตัดถนนสายยุทธศาสตร์และแนวชายแดนจาก อ.นาแห้ว จ.เลย ขึ้นไปสิ้นสุดที่บ้านร่มเกล้า กลายเป็นเขตสัมปทานป่าไม้ มีการจัดตั้งชุดทหารพรานคุ้มครองที่ ๓๔๐๕ ขึ้น
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐ ทหารลาวยกกำลังเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งไทยอ้างว่าอยู่ในเขต อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ทำลายรถแทรกเตอร์ของบริษัทป่าไม้เอกชนเสียหาย ๓ คัน มีผู้เสียชีวิต ๑ คน หายสาบสูญ ๑ คน ทหารพรานชุด ๓๔๐๕ เข้าปะทะกับทหารลาว
๑ มิถุนายน ๒๕๓๐ ทหารลาวเข้าโจมตีม้งที่บ้านร่มเกล้า โดยอ้างว่าเป็นการกวาดล้างม้งที่เคลื่อนไหวต่อต้านทางการลาว (กลุ่มกองกำลังต่อต้านลาว ซึ่งมีการจัดตั้งในสมัยสงครามเวียดนาม ผู้นำคือนายพลวังเปา เพื่อใช้ต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือและลาวแดง ปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวในภาคเหนือของลาว บางพื้นที่ทหารลาวยังไม่สามารถควบคุมได้ ปัจจุบันนี้ก็ยังมีการปะทะระหว่างทหารลาวและลาวฝ่ายต่อต้านหลายครั้ง เช่น ที่ด่านวังเต่าติดชายแดนไทยเมื่อไม่นานมานี้ และลาวกล่าวหาไทยว่าให้การสนับสนุน บางรายงานแจ้งว่าม้งกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากม้งที่อพยพไปอยู่ต่างประเทศ) และมีทหารลาวอีกชุดหนึ่งยกกำลังข้ามพรมแดนเข้ามาที่เขตบ้านนาผักก้าม และบ้านนากอก อ.นาแห้ว จ.เลย ยิงราษฎรไทยตาย ๑ คน จับกุมตัวไป ๖ คน หนีรอดมา ๑ คน โดยกล่าวหาว่าราษฎรเหล่านั้นลักลอบเข้าไปตัดไม้ในลาว
๗ สิงหาคม ๒๕๓๐ ทหารลาวประมาณ ๒๐๐ นาย เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของทหารพรานชุดคุ้มครองที่ ๓๔๐๕ ที่บ้านร่มเกล้า (บางรายงานแจ้งว่าทหารลาวประมาณ ๑ กองพัน ซึ่งมีประมาณ ๘๐๐ คน เข้าโจมตี โดยการระดมยิงด้วยเครื่องยิงลูกระเบิดจรวดอาร์พีจี และปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังอย่างหนัก ก่อนจะโหมกำลังเข้าตี ตามกลยุทธ์ของคอมมิวนิสต์ ที่จะบุกเข้าตีข้าศึกด้วยกำลังมากกว่า ๑๐ เท่า และกองทัพภาคที่ ๓ ได้รายงานด่วนไปยังกองทัพบกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น)
๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๐ สถานีวิทยุลาวเสนอบทสัมภาษณ์ประธานคณะปกครองเมืองบ่อแตน แขวงไทรบุรี กล่าวหาบริษัททำไม้เอกชนของไทยกับฝ่ายทหารไทยว่าได้ร่วมกันสร้างเส้นทางเข้าไปตัดไม้ในลาว และได้เรียกร้องให้ไทยยุติการกะทำดังกล่าว รวมทั้งกล่าวหาฝ่ายไทยว่าใช้กำลังทหารเข้ารุกรานเบียดบังเอาดินแดนของลาวไป

F5E และ OV10C ของเราถูกยิงตกแบบละ 1 ลำ

ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ๒๕๓๐ ทหารไทยเคลื่อนกำลังเข้าประจำการในพื้นที่ที่เกิดปัญหาทั้งจากทหารราบ ทหารม้า ทหารพราน และหน่วยปืนใหญ่ เช่นเดียวกับทางลาวก็มีการเคลื่อนย้ายทหารและอาวุธจำนวนมาก ทหารไทยเข้าตีและทำลายเนินต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ที่ทหารลาวมาตั้งฐานอยู่ เพื่อยึดจุดยุทธศาสตร์
๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ กองทัพภาคที่ ๓ เปิดยุทธการภูสอยดาว โหมการรบอย่างรุนแรงทั้งทางภาคพื้นดินและทางอากาศ โดยส่งเครื่องบินขับไล่เอฟ ๕ อี ไปทิ้งระบิดในยุทธภูมิอย่างหนัก การสู้รบยังคงต่อเนื่องและรุนแรงยังคงดำเนินอยู่ ตัวเลขของความเสียหายของทั้งสองฝ่ายไม่เป็นที่เด่นชัด บางรายงานแจ้งว่าทางลาวเสียหายอย่างหนักที่โรงพยาบาลเมืองไทรบุรีของลาวเต็มไปด้วยทหารที่บาดเจ็บ จนล้นโรงพยาบาล
๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๐ กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าลาวมีความประสงค์ที่จะให้มีการเจรจาเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ หลังจากการเจรจาสองครั้งที่ผ่านมาคือครั้งแรก ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๐ ครั้งที่สอง ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ ประสพความล้มเหลว (หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าทุก ๆ ครั้งที่ฝ่ายลาวเกิดการสูญเสียในการรบอย่างหนัก จะยื่นเจรจา เพื่อให้ทางไทยชะลอการรุก และทำการเสริมกำลังของฝ่ายลาว และปรับปรุงการตั้งรับ)
๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๐ กองทัพภาคที่ ๓ ออกปฏิบัติการกวาดล้างเข้าโจมตีฐานทหารลาวเกิดการปะทะกันอย่างหนักของทั้งสองฝ่าย อย่างหนักหน่วง
๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๐ กระทรวงการต่างประเทศลาวเชิญอุปทูตไทยเข้ารับบันทึกช่วยจำ มีเนื้อความว่า เครื่องบินไทยละเมิดน่านฟ้าลาว และทำการทิ้งระเบิดพื้นที่แขวงไทรบุรีของลาว รวมทั้งมีการยิงปืนใหญ่ใส่บริเวณต่างๆของลาวอีกด้วย
สำหรับในกรณีนี้นั้นจากการวิเคราะห์ของหลายฝ่ายกล่าวว่า เนื่องจากเนิน ๑๔๒๘ เป็นที่ตั้งที่ดี การเข้าตีต้องเข้าตีจากด้านหน้า ทางลาวตั้งฐานปืนใหญ่ด้านหลัง ซึ่งเป็นแนวเขาซับซ้อน ยากต่อการค้นหา และยิงตอบกลับ ในช่วงนั้นมีข่าวว่า กองทัพไทยประกาศว่าหากจะทำการบุกข้ามแม่น้ำโขงเข้าไปก็ต้องทำหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งมีผู้ใหญ่หลายฝ่ายออกมามาปรามในเรื่องนี้ เพราะไม่อยากให้สถานการณ์รุนแรงจนกลายเป็นสงครามเต็มขั้นระหว่างไทยกับลาว และจากการรบในช่วงแรกที่ทางไทยเข้าตีตามกรอบคือเข้าทางด้านหน้าได้รับการต้านทานอย่างหนัก และยากต่อการเคลื่อนกำลัง จึงมีการใช้เครื่องบินรบ เอฟ ๕ เข้าไปทิ้งระเบิดบนเนิน ๑๔๒๘ และที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในเขตลาว จนเสียหายยับเยิน เช่น สนามบินบ้านน้ำทาของลาว จากภาพถ่ายทางอากาศเนิน ๑๔๒๘ ราบเป็นหน้ากลองไม่มีต้นไม่เหลืออยู่เลย เพราะถูกระดมยิงจากปืนใหญ่ และการทิ้งระเบิดจากเอฟ ๕ แต่ทางลาวมีที่ตั้งแข็งแรง และเตรียมการตั้งรับอย่างดี บางรายงานกล่าวว่าเมื่อไม่สามารถเข้าไปตรง ๆ ได้ กองทัพไทย ได้ส่งหน่วยสงครามพิเศษ แทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ของลาว เพื่อทำการโจมตีระบบส่งกำลังบำรุง และค้นหาที่ตั้งปืนใหญ่ ทำให้การปฏิบัติการของลาวถูกกดดันมากยิ่งขึ้น (ซึ่งทางการไทยได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการรบใหม่เนื่องจากมีการสูญเสียกำลังพล และไม่สามารถรุกคืบหน้าได้)
๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๐ กองทัพบกออกแถลงการณ์ว่าขณะนี้กองทัพปลดปล่อยประชาชนลาวได้เคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธอย่างต่อเนื่องเข้ามาในพื้นที่เมืองบ่อแตน แขวงไทรบุรี และได้เข้ามาในพื้นที่ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก เพื่อลาดตระเวนวางกับระเบิดและทุ่นระเบิด พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ บินด่วนเพื่อตรวจสถานการณ์ และหาหนทางคลี่คลายสถานการณ์
๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๐ นายกิทอง วงสาย เอกอัครราชทูตลาวประจำองค์การสหประชาชาติ ยื่นหนังสือประท้วงไทยต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ โดยมีใจความว่า ไทยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแขวงไทรบุรี และมีการระดมยิงปืนใหญ่เข้าไปในพื้นที่อย่างรุนแรง ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ ที่ผ่านมา
๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๐ สำนักข่าวเอพี รายงานว่าการรบระหว่างไทย-ลาว ในวันที่ ๑๕ ธันวาคมที่ผ่านมา นับเป็นการต่อสู้ที่รุนแรงที่สุดของทั้งสองฝ่าย (มีรายงานจากบางหน่วยที่เข้ายึดฐานทหารลาวได้แจ้งว่าพบชุดป้องกันอาวุธเคมี แบบเดียวกันกับที่ยึดได้จากทหารเวียดนามในช่องบก บางรายงานแจ้งว่าทางการลาวมีแผนจะใช้อาวุธเคมีด้วย และในช่วงนั้นหนึ่งกรมทหารราบของลาว จะมี ๑ กองร้อยอาวุธเคมีประจำการอยู่)
๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๐ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประกาศยืนยันว่าพื้นที่บ้านร่มเกล้าเป็นของไทย โดยหลักฐานมีแน่ชัด และได้กล่าวถึงเรื่องการเจรจาปรับความสัมพันธ์นั้น ทางไทยตั้งเงื่อนไขให้ลาวเปลี่ยนตัวหัวหน้าผู้แทนการเจรจา เพราะผู้แทนลาวมักไม่มีความจริงใจในการเจรจา เอาการเจรจาเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อทำลายไทย
๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๐ รายงานข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า ไทยได้เสนอผ่านประเทศที่สาม ให้ลาวแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศลาวคนใหม่แทนท้าวคำพัน สิมาลาวงศ์ ซึ่งมีพฤติกรรมชัดแจ้งหลายอย่างที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ผู้นำไทย และไม่สร้างบรรยากาศการแก้ไขปัญหาพิพาทให้ดีขึ้น

ปืนใหญ่ 130 มม. ลาว

๕ มกราคม ๒๕๓๑ นักศึกษาลาวและพระภิกษุจำนวนหลายร้อยคนเดินขบวนประท้วงไทย ผ่านหน้าสถานทูตไทยประจำเวียงจันทน์ เรียกร้องให้ไทยยุติการโจมตี และให้ไทยถอนกำลังออกจากบ้านร่มเกล้าโดยเร็ว
๒๐ มกราคม ๒๕๓๑ ใกล้บริเวณเนิน ๑๔๒๘ ทหารลาวซุ่มโจมตีรถบรรทุกทหารช่างและทหารพรานเกิดความเสียหายครั้งสำคัญยิ่งของไทย
๒๑ มกราคม ๒๕๓๑ มีการปรับยุทธวิธีการสู้รบครั้งใหญ่ต่อยุทธการภูสอยดาว เพราะไทยเริ่มมีการสูญเสียมากขึ้น และเพื่อลดความสูญเสียดังกล่าว จึงมีการปรับปรุงยุทธการรบให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อยุทธภูมิที่เป็นอยู่ (ทางไทยเริ่มมีการใช้การรบนอกแบบ และได้ผล สร้างความกดดันต่อการปฏิบัติการของฝ่ายลาวเป็นอย่างมาก)
๒๒ มกราคม ๒๕๓๑ พลเอกเปรม ติณสูรานนท์ นายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์ รมว.กระทรวงกลาโหม พลเอกประจวบ สุนทรางกูร รมว.กระทรวงมหาดไทย พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา รมว.กระทรวงการต่างประเทศ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พร้อมทหารระดับสูงอีกหลายนาย เดินทางไปดูสถานการณ์การรบในพื้นที่ และเน้นให้ทหารผลักดันกองกำลังทหารลาวไปให้เร็วที่สุด แต่ก็ให้ทหารทำการรบในขอบเขตจำกัดที่สุด
๒๖-๒๗ มกราคม ๒๕๓๑ ได้มีการเคลื่อนไหวของประชาชนนับแสนคน ในประมาณ ๒๐ จังหวัดทั่วประเทศ ทำการเคลื่อนไหวประท้วงลาวอย่างต่อเนื่อง เช่นที่ เลย หนองคาย มุกดาหาร สงขลา ระนอง และลำปาง เป็นต้น
๒๗ มกราคม ๒๕๓๑ กระทรวงการต่างประเทศนำทูตประจำประเทศไทยจาก ๒๒ ประเทศพร้อมทั้งสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ไปดูสถานการณ์ในพื้นที่บ้านร่มเกล้าท่ามกลางการต่อสู้อย่างหนักของกองกำลังทั้งสองฝ่าย
๒๙-๓๐ มกราคม ๒๕๓๑ สถานการณ์ตึงเครียดรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณเนินยุทธศาสตร์ ๑๔๒๘นายชีวิน สุทธิสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้มีคำสั่งปิดพรมแดนด้านอำเภอปากชม เชียงคาน ภูเรือ ด่านซ้าย และนาแห้ว เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายลาวลักลอบเข้ามาซื้อสินค้ายุทธปัจจัยอันจะเป็นประโยชน์ในการรบของลาวต่อไป (ฐานทหารลาวที่ถูกไทยตีแตกพบว่าอาหารมีการซื้อมาจากฝั่งไทย ด้านจังหวัดเลย)

UAV ไทยที่ตกในการรบครั้งนั้น

๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ การปฏิบัติการทางอากาศของเครื่องบิน เอฟ-๕ อี อย่างหนัก และรุนแรงในวันๆ หนึ่งมีเที่ยวบินไม่ต่ำกว่า ๓๐ เที่ยวบินรบ
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เครื่องบินขับไล่ เอฟ-๕ อี ของไทยลำหนึ่งถูกยิงตกขณะบินปฏิบัติการเหนือยุทธภูมิร่มเกล้า โดยจรวดแซม ๗ ทำจากโซเวียต แต่นักบินปลอดภัย นับเป็นความสูญเสียที่สำคัญอีกครั้งของฝ่ายไทย เครื่องบินถูกยิงที่บริเวณส่วนหางและเครื่องยนต์ด้านขวา ทำให้เครื่องยนต์ระเบิดกลางอากาศ ได้รับความเสียหายอย่างหนักไม่สามารถบังคับเครื่องบินต่อไปได้ จำเป็นต้องสละเครื่องบินเหนือพื้นที่ที่ฝ่ายตรงข้ามครอบครองอยู่และได้ถูกควบคุมตัวโดยกำลังฝ่ายตรงข้าม จนกระทั่งในวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ได้รับนักบินทั้งสองนายกลับประเทศไทย รายงานบางกระแสแจ้งว่าทหารเวียดนามเป็นคนยิง โดยยิงพร้อมกันทีละ ๗ กระบอก การรบครั้งนี้ไทยยังเสียเครื่อง โอวี๑๐ ไปอีก ๑ เครื่องด้วย และมีเครื่องเอฟ ๕ อีกเครื่องหนึ่งโดนจรวดแซมยิงเข้าที่เครื่องยนต์ท้าย ในการเข้าโจมตีของเครื่องเอฟ ๕ จำนวน ๔ เครื่อง ที่เป้าหมายในการเข้าโจมตีทิ้งระเบิดต่อเป้าหมายครั้งหนึ่ง แต่นักบินสามารถนำเครื่องกลับมาลงที่สนามบินได้อย่างปลอดภัย และกองทัพอากาศทำการแก้ไข ซ่อมแซมนำกลับมาบินได้อีกครั้ง
๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ หลังการสูญเสียเครื่องบิน เอฟ – ๕ อี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศกร้าวที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติ อีกทั้งย้ำว่าทุกครั้งที่ทหารไทยที่เสียชีวิต ๑ คน ทหารลาวต้องเสียชีวิตอย่างน้อย ๓ คน และกล่าวถึงว่าถ้าหากจำเป็นจะเปิดศึกข้ามโขงก็ต้องทำ นายฮาเวียร์ เปเรซ เดอ เชอลาร์) (Javier Perez de Cuella ) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้มีสาส์นถึง พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา ขอให้ฝ่ายไทยและลาวใช้ความอดกลั้นให้ถึงที่สุดเพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก และขอให้หาทางยุติปัญหาโดยสันติโดยเร็วที่สุดและพร้อมที่จะช่วยเหลือในการเจรจายุติปัญหาดังกล่าว
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ มีการเปิดเผยโดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูงของกองทัพบกว่า ลาวและกลุ่มประเทศอินโดจีน มีแผนตั้งสหพันธ์อินโดจีน และจะมีการส่งกำลังรบจากลาวบุก ๑๖ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แล้วตัดส่วนที่อยู่เหนือบริเวณ ๓ จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย เป็นรูปตัว L เพื่อเป็นฐานที่มั่นของขบวนการดาวเขียวที่เวียดนามหนุนอยู่
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ มีการประชุม และปรับยุทธการการรบของฝ่ายไทยอย่างเต็มที่ หลังจากมีการสูญเสียมากขึ้นโดยเน้นการประสานงานระหว่างหน่วยต่างๆ ในพื้นที่การรบ และที่สำคัญคือกำลังจากไทยเสียเครื่องบินรบไปในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
๙-๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ คณะผู้แทนฝ่ายไทย นำโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปลาว ซึ่งหลายฝ่ายให้ความเห็นว่าเป็นการเดินทางไปทำงาน ให้รัฐบาลไทยในการหาทางหาข้อยุติในปัญหาพิพาทด้วยการเจรจา
๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ นายไกรสอน พรมวิหาร นายกรัฐมนตรีลาวได้ส่งสาสน์ถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทย เสนอให้ทหารทั้งสองฝ่ายพบแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้โดยเร็ว ลาวพร้อมที่จะส่งคณะผู้แทนทหารมากรุงเทพมหานคร และยินดีที่จะต้อนรับคณะผู้แทนทหารของประเทศไทย ที่จะเดินทางไปนครเวียงจันทน์เพื่อปรึกษาหารือ ดังนี้
๑. ให้ทั้งสองฝ่าย หยุดยิงและแยกกำลังทหารออกไกลจากกันโดยทันทีแล้วตั้งคณะกรรมการทหารผสมของทั้ง ๒ ฝ่ายขึ้น เพื่อตรวจตราการหยุดยิง และแยกกำลังทหารทั้งสองฝ่ายออกไกลจากกันโดยเด็ดขาด
๒. ให้ทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงและหาวิธีการแก้ไขปัญหาชายแดนในบริเวณดังกล่าวนี้ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลทั้งสองฝ่ายต่อไป
๓. ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอข้อร้องเรียนไปยังเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพื่อขอความอุปถัมภ์ให้แก่การปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ตอบตกลงตามข้อเสนอของฝ่ายลาว และได้กำหนดวันพบปะหารือระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายขึ้น ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑

๑๖-๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ คณะผู้แทนลาวนำโดย พล.อ.สีสะหวาด แก้วบุญพัน พร้อมคณะเดินทางถึงไทยเพื่อเจรจาปัญหากับคณะผู้แทนฝ่ายไทย โดยมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าคณะ หลังการเจรจาตกลงได้มี แถลงการณ์ร่วมไทยลาวดังนี้
๑. ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มหยุดยิงในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
๒. ทั้งสองฝ่ายจะแยกทหารออกจากกันฝ่ายละ ๓ กิโลเมตร ภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาหยุดยิง
๓.ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานทางทหารเพื่อพิสูจน์ตรวจตราและประสานการปฏิบัติตาม ข้อตกลง ข้อ ๑ และ ข้อ ๒ อย่างเคร่งครัด
๔. ให้ทั้งสองฝ่าย สั่งทหารของตนให้หลีกเลี่ยงการปะทะด้วยอย่างเคร่งครัด เน้นการประสานความเข้าใจ
๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เริ่มวันแรกของการหยุดยิง และแยกทหารออกจากกัน มีการประชุมฝ่ายปฏิบัติการหยุดยิงทั้งสองฝ่ายที่บ้านร่มเกล้า
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ การแยก และถอนทหารของทั้งสองฝ่ายออกจากพื้นที่การสู้รบ ๓ กิโลเมตร เริ่มขึ้น
๒๓-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และคณะเดินทางไปลาว เพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้แทนลาวมาไทย และเป็นการไปปรึกษาหารือเพื่อหาหนทางแก้ไขให้เพิ่มระดับสันติภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากจะพบกับผู้บริหารประเทศแล้ว พลเอกชวลิต ยังได้เข้าพบเสด็จเจ้าสุภานุวงศ์ ประธานสมัชชาซึ่งมีสายสัมพันธ์กับตัวท่านเองในฐานะ อา-หลาน และตกลงที่จะเจรจาครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๓-๔ มีนาคม ๒๕๓๑ ที่เวียงจันทน์

ปตอ. ลาว Type 65/74 ขนาด 37 มม.

๓-๔ มีนาคม ๒๕๓๑ คณะผู้แทนไทยนำโดย ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปเจรจากับลาวที่เวียงจันทน์โดยฝ่ายลาวมี พลเอกทองไหล กมมะสิด รองหัวหน้ากรมใหญ่การเมืองกองทัพประชาชนเป็นหัวหน้า แต่ยังตกลงกันไม่ได้ในประเด็นของแผนที่ที่จะนำเอามาอ้างชี้เขตแดน และประเด็นเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการปักปันพรมแดน

๖-๑๒ มีนาคม ๒๕๓๑ มีการออกเผยแพร่ใบปลิวลงท้ายว่า “ทหารม้า” โจมตีการปฏิบัติการที่ล้มเหลว และการสร้างความสูญเสียของกองทัพอากาศต่อฝ่ายไทยด้วยกันเอง โดยแจ้งว่าครึ่งหนึ่งของความสูญเสียมาจากการโจมตีผิดเป้าหมายของกองทัพอากาศไทยเอง (สำหรับการสูญเสียของทหารม้า จากตัวเลขที่เปิดเผยของกองพันทหารม้าที่ ๘ ที่จัดกำลัง กองพันทหารม้าผสม ปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศชายแดนไทย – ลาว กรณีบ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลกนั้น กำลังพลของหน่วยได้สละชีวิตในการป้องกันอธิปไตยของชาติไทยไว้ จำนวนทั้งสิ้น ๒๔ นาย และมีผู้ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ จำนวน ๓ นาย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ายอดสูญเสียสูงมาก แค่หน่วยเดียวถึง ๒๕% ของยอดสูญเสียที่ช่องบก ถึงแม้จะมีรายงานว่าจำนวนทหารลาวที่เสียชีวิตจากการรบครั้งนี้มีจำนวนหลายเท่าของทหารไทย กระแสข่าวการสูญเสียดังกล่าวยังคงสร้างความสงสัยให้กับหลายคน)

ในกรณีการทิ้งระเบิดใส่ฝ่ายเดียวกันเองนี้ เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาก มีรายงานหลายกระแส เช่น
๑. เกิดจากความผิดพลาดในการประสานงานระหว่างกองกำลังภาคพื้น และเครื่องบินที่จะเข้าทิ้งระเบิด เช่น ทางภาคพื้นมีการแจ้งยกเลิกการโจมตี แต่กองทัพอากาศไม่ได้รับแจ้ง เมื่อมีการแจ้งยืนยันการทิ้งระเบิดที่เป้าหมาย มีการแจ้งกลับว่าให้ทำการโจมตีได้
๒. เกิดการรบติดพันรุนแรง และประชิด ไม่สามารถระบุเป้าหมายที่แน่นอนได้ (ในสงครามเวียดนามหรือกรณีอิรักครั้งล่าสุดยอดทหารสหรัฐที่เสียชีวิตจากการยิงหรือทิ้งระเบิดฝ่ายเดียวกันมีจำนวนมาก)
๓. ทหารไทยยึดฐานทหารลาวได้ก่อนกำหนดการณ์ และมีการเคลื่อนกำลังปะทะติดพัน ไม่สามารถแยกแนวรบที่ชัดเจนได้ ตอนที่นักบินทิ้งระเบิดลงไปโจมตี
๔. ทางลาวทำการรบกวนระบบการสื่อสารของไทย มีการดักฟัง ทำการถอดรหัส และรวมทั้งมีการเลียนเสียงการสั่งการ ซึ่งได้รับอุปกรณ์ที่ทันสมัยจากรัสเซีย
๕. เกิดการขัดแย้งกันในกองทัพ และสายทางการเมือง ที่ต้องการแย่งอำนาจการเมืองจากทางทหาร เลยทำการสร้างความแตกแยกในกองทัพ และมีการให้ข้อมูลแก่ฝ่ายตรงข้ามเกี่ยวกับแผนการรบ ๆลๆ เนื่องจากในช่วงนั้น ส.ส. หลายคน อดีตเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาก่อนและมีความสัมพันธ์กับทหารบางกลุ่ม บางคนเคยเป็นสมาชิกของเขมรแดง หลังจากนโยบาย ๖๖/๒๓ จึงเข้ามาต่อสู้ทางการเมือง อีกทั้งฝ่ายทหารยังแตกแยกเรื่องการบังคับบัญชา
๖. การวางแผนการรบที่ผิดพลาด ขาดความยืดหยุ่นในการรบและการตั้งรับ และเรื่องยุทโธปกรณ์ที่ไม่พร้อม รวมทั้งการประเมินกำลังและขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้ามต่ำไป


ระหว่างการรบที่ร่มเกล้า F-5B ของฝูง 231 กองบิน 23 อุดร Serial Number 400778 บินโดย น.ต. ธีระพงษ์ วรรณสำเริง (ยศครั้งสุดท้าย พล.อ.ต.) และ ร.ต. ณฤทธิ์ สุดใจธรรม (ยศครั้งสุดท้าย น.อ.) อีกเครื่องก็ถูกยิงด้วยจรวด SAM เครื่องยนต์ด้านขวาพัง นักบินได้นำเครื่องลงจอดอย่างปลอดภัย

บทเรียนและการเปลี่ยนแปลงที่ได้จากสงครามครั้งนี้
๑. หลังจากที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประกาศนโยบาย เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า มีการไปเยี่ยมเยียนกันของผู้นำทางทหารของไทย ที่ลาว และเวียดนาม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ รวมทั้งลดความตึงเครียดทางการทหารระหว่างกัน ปัจจุบันไทยกับลาวมีการร่วมมือกันมากขึ้นในด้านต่าง ๆ และลาวยึดไทยเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเศรษฐกิจ แทนการเดินตามเวียดนาม แต่ลาวก็ดำเนินนโยบายกับไทยอย่างระมัดระวัง เพราะกลัวไทยครอบงำและเข้าแทรกแซงทางสังคม และวัฒนธรรม เนื่องจากขนบธรรมเนียมและประเพณีที่ใกล้เคียงกัน
๒. กองทัพบกได้ทำการปรับปรุงกำลังรบให้มีความคล่องตัวในการเคลื่อนที่เข้าหาพื้นที่ที่เกิดปัญหา ปรับลดกำลังคนลงตามภัยคุกคามที่เปลี่ยนไป และเพิ่มระบบอาวุธให้มีความทันสมัยและคล่องตัวมากขึ้น ตามนโยบาย “จิ๋วแต่แจ๋ว” รวมทั้งมีการจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว
๓. แนวทางในการป้องกันประเทศเปลี่ยนไป มีการดำเนินการของฝ่ายทหารและการเมืองเป็นระบบมากขึ้น ประสานการทำงานกัน โดยฝ่ายทหารทำการรบและสร้างความได้เปรียบและอำนาจการต่อรอง ส่วนฝ่ายการเมืองคือกระทรวงการต่างประเทศจะทำการเจรจา เมื่อมีกรณีปัญหาตามแนวชายแดนกองทัพจะส่งทหารเข้าไปในพื้นที่อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นหน่วยที่มีความคล่องแคล่ว และมีอำนาจในการยิงสูง ตรวจหาและตอบโต้กลับทันที เข้าตีและยึดพื้นที่ชิงความได้เปรียบในยุทธศาสตร์ก่อน อย่างในกรณีกระเหรี่ยงก็อดอาร์มีที่โดนทางการไทยโจมตีและกดดันจนต้องสลายกลุ่มและยอมมอบตัว หรือการปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารพม่าผสมว้า กรณีบ้านปางหนุน อ. แม่ฟ้าหลวง และพื้นที่ปัญหากู่เต็งนาโยง อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่มีการประสานงานระหว่างกองทัพบกและกองทัพอากาศเป็นอย่างดี จากเหตุการณ์นี้มีการใช้เครื่องบินรบแบบ เอฟ ๑๖ เข้าปฏิบัติการด้วย ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน
๔. การจัดหาอาวุธและระบบป้องกันประเทศ เช่น
๔.๑ RTAD เฟส ๑ เฟส ๒
๔.๒ ระบบตรวจจับการยิงปืนใหญ่ ระบบปืนใหญ่แบบอัตตาจร
๔.๓ การพัฒนาและผลิตอาวุธขึ้นมาใช้เอง การพัฒนาระบบสื่อสารระหว่างหน่วยใหม่ที่เป็นความลับมากขึ้น
๔.๔ การจัดตั้งคลังอาวุธร่วมไทย-สหรัฐ ที่สามารถนำอาวุธมาใช้ได้กรณีฉุกเฉิน
๔.๕ การจัดหาเครื่องบินรบเอฟ ๑๖ รถถังหลัก รถสายพานลำเลียงพลจากสหรัฐและจีน เข้าประจำการจำนวนมาก การจัดหาระบบต่อสู้อากาศยานและต่อสู้รถถังที่ทันสมัยเข้าประจำการ
๔.๖ การจัดตั้งหน่วยนาวิกโยธิน (น่าจะเป็นการพัฒนาปรับปรุงมากกว่า)
๔.๗ การฝึกร่วมกับกองทัพสหรัฐและต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้ระบบการรบและพัฒนากองทัพอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการรบและการรักษาสันติภาพ
๔.๘ การซ้อมรบของหน่วยกำลังรบผสมของกองทัพไทย เพื่อสร้างความคุ้นเคยและเพิ่มประสิทธิภาพในการรบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์รุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น (ครั้งล่าสุดมีการเคลื่อนย้ายกำลังพลหลายหมื่นคนและยุทโธปกรณ์จำนวนมากไปฝึกในพื้นที่จริง จนประเทศเพื่อนบ้านขนลุกต้องปิดชายแดนไปก็มี

ขอบคุณที่มา http://isan.mfu.ac.th/romkao.htm

 

2 นักบิน OV-10C (บจ.5) จากฝูงบิน 411 กองบิน 41 เชียงใหม่ที่ถูกยิงตก

ในส่วนของกองทัพอากาศที่ได้เข้าปฏิบัติการระหว่าง วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ ถึง วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ นอกจากเอฟ 5 ซึ่งเป็นเครื่องบินโจมตีหลักแล้ว ยังมีการสนับสนุนด้วยเครื่องโอวี 10 (เครื่องบินที่ผลิตมาเพื่อปราบคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะ) ซึ่งมีวีรกรรมที่น่ายกย่องของเสืออากศไทย ซึ่งท่านทั้ง 2 ได้รับเหรียญกล้าหาญจากสมรภูมินี้ด้วย จึงขอยกมาอ้างถึงในที่นี้เสียด้วยเลย
“ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เวลา ๑๒ นาฬิกา ๕๗ นาที นาวาอากาศโท สมนึก เยี่ยมสถาน ผบ.ฝูง และ เรืออากาศเอก ไพโรจน์ เป้าประยูร นักบินกองบิน ๔๑ ฝูงบิน ๔๑๑ ได้รับมอบภารกิจให้นำเครื่องบินโจมตีแบบ ๕ (OV-10) ปฏิบัติการบินโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายทางทหาร ขณะบินปฏิบัติการเหนือพื้นที่ดังกล่าว เครื่องบินถูกกองกำลังภาคพื้นของฝ่ายตรงข้ามยิงด้วยอาวุธต่อสู้อากาศยานชนิดต่าง ๆ อย่างหนัก นาวาอากาศโท สมนึกฯ และ เรืออากาศเอก ไพโรจน์ฯ ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการบินหลบหลีกการยิงต่อต้านของฝ่ายตรงข้าม โดยมิได้หวาดหวั่นต่ออันตรายใด ๆ คงทำการบินด้วยความมุ่งมั่นให้ภารกิจที่ได้รับมอบสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จนในที่สุดเครื่องบินถูกยิงที่บริเวณส่วนหางและเครื่องยนต์ด้านขวา ทำให้เครื่องยนต์ระเบิดกลางอากาศ ได้รับความเสียหายอย่างหนักไม่สามารถบังคับเครื่องบินต่อไปได้ จำเป็นต้องสละเครื่องบินเหนือพื้นที่ที่ฝ่ายตรงข้ามครอบครองอยู่และได้ถูกควบคุมตัวโดยกำลังฝ่ายตรงข้าม จนกระทั่งในวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ) ได้รับนักบินทั้งสองนายกลับประเทศไทย และทั้ง 2 นายได้รับเหรียญกล้าหาญจากการปฏิบัติภารกิจนี้ด้วย
ขอบคุณที่มา คุณ physics teacher โพสท์ใน http://www.gunsandgames.com/smf/index.php?topic=19203.0;wap2

ปัจจุบัน OV-10C หรือ บจ.5 ณ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ

บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นอีกอันหนึ่ง:
ในตอนค่ำของวันที่ ๑๑ ก.พ.๒๕๓๑ ขณะที่ ฝูงบิน ๔๑๑ มีงานเลี้ยง Combat ready อยู่นั้น ผบ.กองบิน ๔๑ มีคำสั่งด่วนให้นักบินทุกคนกลับไปพักผ่อนเพื่อเตรียมรับภารกิจสำคัญในวันรุ่งขึ้น
๑๒ ก.พ.๒๕๓๑ เวลาประมาณ ๐๔๐๐ ๔ บ.จ.๕ วิ่งขึ้นจาก กองบิน ๔๑ (เชียงใหม่) เพื่อมารับการติดตั้งระเบิดและรับฟังแผนการโจมตี ที่ บน.๔๖ (พิษณุโลก)ในช่วงเวลานั้นสภาพอากาศเหนือเป้าหมายปิด ทำให้ต้องรอจนกว่าสภาพอากาศจะเปิดเสียก่อน
เวลาประมาณ ๑๐๐๐ ได้รับรายงานสภาพอากาศเหนือเป้าหมายเปิด ๔ บ.จ.๕ได้วิ่งขึ้นจากสนามบินพิษณุโลกเพื่อไปโจมตีสนามบินบ้านนากอก สปปล.แต่สภาพอากาศไม่เป็นใจ ไม่สามารถบินข้ามพรมแดนออกไปได้ จึงต้องวนรอบริเวณ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ และในที่สุดก็ต้องละภารกิจกลับมาลงสนามที่พิษณุโลกอีกครั้ง เพื่อรอปฏิบัติภารกิจนี้ใหม่ในวันรุ่งขึ้น
๑๓ ก.พ.๒๕๓๑ ๔ บ.จ.๕ หมู่เดิมนามเรียกขาน “ชบา”วิ่งขึ้นจาก กองบิน ๔๖ (พิษณุโลก)
อีกครั้ง ก่อนวิ่งขึ้นได้รับการแจ้งเตือนจาก ร.อ.ชาญชาย เกิดผล (ยศ ปัจจุบัน พล.อ.อ.) นักบิน บ.ข.๑๘ ข/ค ฝูงบิน ๑๐๒ ว่า สปปล.มีอาวุธต่อสู้อากาศยานที่มีอำนาจการยิงสูง ขอให้ระมัดระวัง
น.ท.สมนึกฯ ผบ.ฝูงบิน ๔๑๑ ได้สั่งปรับแผนใหม่ โดยให้แบ่งหมู่บินออกเป็น ๒ หมู่บินย่อย หมู่บินย่อยแรก (เครื่องหมายเลข ๑ และ ๒) จะบินนำเข้าสู่เป้าหมายและทิ้งระเบิดที่ความสูง ๖,๐๐๐ ฟุต ซึ่งเป็นความสูงที่เหมาะในการทิ้งระเบิด หมู่บินย่อยที่ ๒ (เครื่องหมายเลข ๓ และ๔) ให้บินอยู่เหนือขึ้นไปที่ ความสูง ๘,๐๐๐ ฟุต และจะทำหน้าที่เข้าโจมตีซ้ำหากหมู่บินแรกทิ้งระเบิดพลาดเป้าหมาย
- บ.หมายเลข ๑ มี น.ท.สมนึก เยี่ยมสถาน และร.อ.ไพโรจน์ เป้าประยูร เป็นนักบิน
- บ.หมายเลข ๒ มี ร.อ.อานนท์ จารยะพันธุ์ และ ร.ท.สุรพันธ์ สุวรรณทัต เป็นนักบิน
- บ.หมายเลข ๓ มี ร.อ.วัธน มณีนัย และ ร.ท.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ เป็นนักบิน
- บ.หมายเลข ๔ มี ร.ท.สมศักดิ์ หาญวงศ์ และ ร.อ.อนิรุท กิตติรัต เป็นนักบิน
ก่อนที่หมู่บิน บ.จ.๕ จะมาถึงเป้าหมายได้มีหมู่บิน บ.ข.๑๘ โจมตีกวาดล้างรัง ปตอ.อยู่ก่อนแล้ว เมื่อ บ.จ.๕ มาถึงและกำลังจะเข้าโจมตีเที่ยวแรกต่อเป้าหมายซึ่งเป็นคลังอาวุธ นักบิน บ.หมายเลข ๔ ซึ่งอยู่สูงกว่าสังเกตเห็นกลุ่มควันสีขาวจากพื้นดินพุ่งตรงมายัง บ.หมายเลข ๑ (บ.จ.๕ หมายเลข ทอ.๘/๑๔) คาดว่าจะเป็นจรวดแซม ๗ เครื่องบินเสียการทรงตัว นักบินทั้งสองจึงต้องสละ บ. (เวลาประมาณ ๑๓๐๐) นักบิน บ.หมายเลข ๔ มองเห็นร่มชูชีพกางออกจำนวน ๒ ร่ม ตกลงไปในสนามบินบ้านนากอก บ.จ.๕ ที่เหลืออีก ๓ เครื่อง ถูกระดมยิงจากอาวุธภาคพื้นดินอย่างหนักจนต้องถอนตัวกลับเข้ามาฝั่งไทย

 

มีคำสั่งให้ บ.จ.๕ ทั้ง ๓ เครื่อง กลับไปโจมตีเป้าหมายเดิมอีกครั้ง แต่ไม่อาจกระทำได้เพราะนักบิน ๒ คน ของเราถูกจับตัวไป อาจได้รับอันตรายจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายเรา

ขอขอบคุณที่มา จากการสัมภาษณ์ พล.อ.ต.วัธน มณีนัย ผช.ฝสธ.ประจำ ผบ.ทอ. และ น.อ.อนิรุท กิตติรัต รอง จก.กร.ทอ. เมื่อ ก.พ.๒๕๕๑

S-58T หรือ ฮ.๔ก เฮลิคอปเตอร์ที่ทำหน้าที่ค้นหาและช่วยชีวิตในสมรภูมิร่มเกล้า
ร.อ.ปรีชา ชนะชัย (ปัจจุบัน นอ.) นักบิน ฮ.๔ก
ข้อมูลการปฏิบัติภารกิจของ ฮ.ค้นหาและช่วยชีวิต
มีคำสั่งจาก ศสอต.๓ ให้ชุดค้นหาและช่วยชีวิต ประกอบด้วย ๑ ฮ.๔ก จาก หน่วยบิน ๒๐๑๑ มี น.ท.ธนิต รอดนุสนธิ์ และ ร.อ.ปรีชา ชนะชัย เป็นนักบิน และ ๒ บ.จ.๕ ( บ.คุ้มกัน) ซึ่งบินเตรียมพร้อมในอากาศบริเวณบ้านไร่ (พิกัด QV 090700 ใกล้ชายแดน ทางทิศตะวันตกของเป้าหมาย)ให้บินเข้าไปช่วยเหลือนักบิน บ.จ.๕ ที่ถูกยิงตกที่สนามบินบ้านนากอก

แต่ในขณะที่ ฮ.ค้นหาฯ กำลังจะบินข้ามชายแดนออกไปนั้นได้รับการติดต่อจากหมู่บินบ.จ.๕ นามเรียกขาน “ชบา” ที่กำลังบินกลับออกมา จึงขอให้นำทางไปยังจุด บ.ตกให้ด้วย แต่ได้รับการแจ้งเตือนว่า ข้าศึกมีกำลังอำนาจการยิงสูงและหนาแน่นมากไม่ควรบินข้ามชายแดนเข้าไป ฮ.ค้นหาฯ จึงบินกลับมาวนรอที่จุดเดิม (พิกัด QV 090700) เพื่อรอคำสั่งใหม่ จนกระทั่งเวลา ๑๗๐๐ จึงได้รับคำสั่งให้บินกลับมาลงที่สนามบิน กองบิน ๔๖

ส่วนชุดค้นหาและช่วยชีวิตชุดที่ ๒ ประกอบด้วย ๑ ฮ.๖ก หน่วยบิน ๒๐๓๑ และ ๒ บ.จ.๕ ซึ่งบินเตรียมพร้อมในอากาศทางใต้ของ อ.ท่าลี่ (พิกัด QV 8045 ใกล้ชายแดนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเป้าหมาย) ไม่ได้รับคำสั่งให้เข้าค้นหาฯ

เมื่อ บ.จ.๕ นามเรียกขาน “ชบา” ทั้ง ๓ เครื่อง กลับมาลงสนามที่ กองบิน ๔๖ นักบินทั้งหมดถูกแยกนำตัวไปสอบสวน กรณีขัดคำสั่งไม่กลับไปโจมตีซ้ำที่เป้าหมายเดิม น.ท.สมนึกฯ และ ร.อ.ไพโรจน์ฯ ถูกทหารลาวนำตัวไปควบคุมไว้ที่นครเวียงจันทร์ ภายหลังจากมีการเจรจาสงบศึกแล้ว และเมื่อ พล.อ.ชวลิตฯ ได้เดินทางไปเยือนลาว คณะผู้แทนทหารของไทยจึงได้รับตัว นบ.ทั้งสองกลับมาเมื่อวันที่ ๒๔ ก.พ.๒๕๓๑
ขอขอบคุณที่มา จากการสัมภาษณ์ น.อ.ปรีชา ชนะชัย รอง ผบ.กกล.ทอ.ฉก.๙ (ปัตตานี) เมื่อ มี.ค.๒๕๕๑


 

ข้อมูลตัวเลขความสูญเสียในการรบของทุกฝ่าย
ฝ่ายไทย
-เสียชีวิต147นาย
-พิการ55นาย
-บาดเจ็บสาหัส167นาย
-บาดเจ็บเล็กน้อย550นาย
ฝ่าย สปปล.
-ทหาร สปปล.เสียชีวิต286นาย,บาดเจ็บ301นาย
- ราษฎร สปปล.เสียชีวิต ๒๒ นาย,บาดเจ็บ ๘ นาย
-ทหารเวียดนาม เสียชีวิต157นาย,บาดเจ็บ112นาย
-ทหารโซเวียตเสียชีวิต2นาย,บาดเจ็บ2นาย
-ทหารคิวบา เสียชีวิต2นาย
**ตั้งแต่ ปี 1961-1962 และ ปี 1974-1991 โซเวียตส่งทหารเข้ามาในลาวทั้งหมด 1840 นาย เสียชีวิตในลาว 8 นาย
การที่ สปป.ลาวยอมเจรจาสงบศึก เนื่องการความได้เปรียบทางยุทธวิธีเปลี่ยนไปเดิมในระยะแรกของการรบนั้น ทหารไทยใช้ทหารม้าและทหารพรานรุกคืบหน้าเข้าสู่บริเวณเนิน 1428 ซึ่งพบกับการต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายลาวอย่างคาดไม่ถึงโดยเฉพาะกับระเบิดและการยิงปืนใหญ่จากลาวอย่างหนาแน่นและต่อเนื่อง ทำให้การรุกคืบหน้าเป็นไปได้ช้าและสูญเสียอย่างมาก สาเหตุสำคัญที่เราไม่สามารถเผด็จศึกได้อย่างที่คาดหมาย เนื่องจากทหารลาวมีชัยภูมิที่ได้เปรียบ ที่มั่นบนเนิน 1428 มีความแข็งแรง สามารถส่งกำลังบำรุงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว การยิงอาวุธหนักของฝ่ายลาวมีความแม่นยำและได้ผลมาก การพิชิตเนิน 1428 ให้ได้นั้น ทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดคือต้องโอบอ้อมบุกตะลุยขึ้นจากตีนเนินด้านเขตประเทศลาว และสยบฐานปืนใหญ่ที่อยู่ในฝั่งลาวให้เงียบเสียงเสียก่อน ซึ่งในขั้นแรกทหารไทยมีความคิดที่จะผลักดันทหารลาวออกจากดินแดนไทยเท่านั้น การรบจึงจำกัดเขตอยู่แต่ในประเทศไทย แต่หลังจากการรบในช่วงแรกฝ่ายเราไม่ประสบผลสำเร็จดังที่คาดหมายไว้ คณะนายทหารจึงได้ปรับยุทธการรบเสียใหม่ โดยใช้กำลังปืนใหญ่ระยะยิงไกลแบบ เอ็ม 198 และปืนใหญ่แบบต่างๆ ระดมยิงเข้าไปในดินแดนลาว ที่หมายคือการยิงฐานปืนใหญ่และที่ตั้งกำลังทหาร พร้อมทั้งส่งหน่วยรบพิเศษเข้าไปตัดการส่งกำลังสนับสนุนของฝ่ายลาว จนกระทั่งการสนับสนุนการรบของลาวได้ลดประสิทธิภาพลงไปอย่างมาก ซึ่งคาดว่า หลังจากวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2531 เนิน 1428 จะต้องกลับคืนมาเป็นของไทยอย่างแน่นอน แต่แล้ววันที่ 19 กุมภาพันธ์ ก็ได้มีการเจรจายุติศึกแยกกำลังของทั้ง 2 ฝ่ายออกจากกันฝ่ายละ 3 กม. อันเป็นการสิ้นสุดการรบที่ไม่สามารถชี้ชัดไปได้ว่า ใครคือผู้ชนะ
ขอบคุณที่มา http://variety.teenee.com/world/33412.html

กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑ ครบรอบสามสิบปี สมรภูมิร่มเกล้า


ผมจะเขียนเรื่องของสมรภูมิร่มเกล้าแบบจัดหนักเต็มๆให้อ่านอีกครั้งครับ

http://chaoprayanews.com/blog/yotin/2015/02/19/%e0%b9%91%e0%b9%99-%e0%b8%81%e0%b8%b8%e0%b8%a1%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b9%8c-%e0%b9%92%e0%b9%95%e0%b9%95%e0%b9%98-%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a3/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น