วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พระมหากษัตริย์ไทย (ตอนที่ ๑)





น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ

วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งประกาศผ่านพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

การดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับประชาชนคนไทยนั้น สืบต่อเนื่องกันมายาวนานนับพันปี พระบรมเดชานุภาพและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ต่างนำมาซึ่งความสงบสุข และความเจริญมั่นคงของประเทศชาติตลอดมาจนถึงบัดนี้ พระบารมี พระบรมเดชานุภาพ และพระราชกรณียกิจ เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกดังทราบกันดีทั่วไปในขณะนี้

มองย้อนประวัติศาสตร์ชาติไทยแล้วจะเห็นว่าการก่อตั้งและธำรงไว้ซึ่งราชอาณาจักรไทยนั้น เต็มไปด้วยสงครามตลอดมา เพียงพม่าชาติเดียวเราก็ต้องทำสงครามไม่ว่าใหญ่หรือเล็กไม่น้อยกว่า 44ครั้ง คือครั้งกรุงศรีอยุธยา 24 ครั้ง และครั้งกรุงรัตนโกสินทร์อีก 20 ครั้ง รวมสมัยธนบุรี

พระมหากษัตริย์ทรงนำทัพต่อสู้มาโดยตลอด

จอมทัพของชาติไทยมีอยู่ตลอดเวลา

นับตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ทรงขยายอำนาจออกไปทั่วแหลมทองให้แก่ชาติไทยเป็นครั้งแรก สมเด็จเจ้าสามพระยาผู้ทรงมีชัยชนะเหนืออาณาจักรขอมที่เคยยิ่งใหญ่ได้โดยเด็ดขาดสมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของชาติ และแผ่อำนาจของอยุธยาให้คืนฟื้นในเวลาอันสั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผู้ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากซากปรักหักพัง อีกทั้งสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงย้ายราชธานีมายังที่ตั้งปัจจุบันคือ กรุงเทพฯ ซึ่งมีอายุกว่าสองร้อยปีแล้ว และทรงปกป้องบ้านเมืองอย่างชาญฉลาดมาโดยตลอด

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงเป็นจอมทัพที่แตกต่างจากบุรพกษัตริย์ทั้งหลาย เพราะในรัชสมัยของพระองค์นั้น ชาติไทยถูกคุกคามโดยชาติมหาอำนาจยิ่งกว่าครั้งใดๆ นั่นก็คือพวกจักรวรรดินิยมตะวันตก ซึ่งเราก็ได้เห็นแล้วว่า เพื่อนบ้านของเราใช้วิธีเผชิญหน้ากับพวกจักรวรรดินิยมเหล่านั้นด้วยวิธีเก่าๆ เช่น การตอบโต้ด้วยกำลังหรือการปิดประเทศ ต่างก็ต้องตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดินิยมในที่สุด

การเป็นจอมทัพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ไม่ได้ทรงนำกองทัพออกสู้รบโดยตรง แต่ทรงเน้นการดำเนินงานทางยุทธศาสตร์เพื่อความอยู่รอดของชาติไทย การเป็นจอมทัพของพระองค์เป็นอีกลักษณะหนึ่งตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทรงดำเนินวิเทโศบายทางการทูตผ่อนหนักเป็นเบา ยอมเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ ทรงผูกมิตรกับนานาประเทศ

ส่วนในประเทศนั้น พระองค์ทรงมีพระราโชบายในการบริหารปกครอง คือการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ซึ่งแต่เดิมมานั้นมีเพียงแต่การบำบัดทุกข์ แต่พระองค์ทรงเห็นว่าบำบัดทุกข์อย่างเดียวไม่พอ จะต้องบำรุงสุขแก่ราษฎรทั้งหลายด้วย

ด้วยยุทธศาสตร์ของพระองค์ท่านดังกล่าว ชาติไทยจึงเป็นเพียงชาติเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถคงความเป็นเอกราชไว้ได้ในยุคของจักรวรรดินิยมมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ด้วยความเชื่อในคตินิยมที่ว่า ผู้นำที่ปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุข และบ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์เจริญรุ่งเรืองได้นั้น ต้องมีพื้นฐานในความเชื่อหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นผู้นำที่ต้องใช้หลักธรรมในการปกครอง ดังนั้นฐานะของผู้นำตามคติพราหมณ์และพระพุทธศาสนาตามลัทธิลังกาวงศ์ โดยถือเป็น “สมมุติเทพ” หรือ “พระมหากษัตริย์” แทน

“กษัตริย์” หรือ “พระมหากษัตริย์” นั้นตามความหมายคือ นักรบผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คือ “จอมทัพ” นั่นเอง

ความเป็นพระมหากษัตริย์หรือจอมทัพของแผ่นดินนั้น จะต้องเป็นผู้ทรงไว้ซึ่ง “ทศพิธราชธรรม” อันเป็นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญมาก ในการส่งผลให้พระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมืองได้ยั่งยืน และสามารถใช้เป็นเครื่องป้องกันการใช้อำนาจที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่อาณาประชาราษฎร์

ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาแต่โบราณกาล พระองค์ทรงเป็นนักรบที่กล้าหาญในการนำทัพต่อสู้กับข้าศึกในรูปแบบต่างๆ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันนี้ ได้ทรงอุทิศพระองค์อย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ไม่ว่าในป่าลึก ภูเขาสูง ท้องถิ่นห่างไกลทุรกันดารเพียงใด พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถึงทุกหนทุกแห่งเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์มาโดยตลอด

โครงการตามแนวทางพระราชดำริเกิดขึ้นมากมายกว่าสี่พันโครงการ เพื่อทรงช่วยเหลือประชาชนผู้อยู่ห่างไกลและด้อยโอกาสให้มีชีวิตอยู่รอด และมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ทรงรักราษฎรและราษฎรก็รักและเทิดทูนพระองค์ น้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้ำใจของอาณาประชาราษฎร์นั้น มีความผูกพันกันแน่นแฟ้น ไม่มีพลังใดจะมาแบ่งแยกได้



http://www.chaoprayanews.com/2014/12/02/%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%b1%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a2%e0%b9%8c%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2-%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น