วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

คุณูปการแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน..ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วประเทศ ทรงทราบถึงความเป็นมาของประชาชนคนไทย โดยเฉพาะในชนบทว่ามีชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างไร ประกอบอาชีพอะไร มีอาหารการกินอย่างไรบ้าง ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรและได้ฟังคำบอกเล่าจากเกษตรกรด้วยพระกรรณของพระองค์เองอย่างใกล้ชิด ทำให้พระองค์เข้าใจถึงสภาพปัญหาอุปสรรค ตลอดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยในภูมิภาคต่างๆด้วยพระองค์เอง

จากนั้นในปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้น ด้วยทรงเห็นหน่วยราชการต่างๆมีศูนย์ของราชการมากมาย กระจายกันอยู่หลายแห่งและบางหน่วยงานก็แตกแขนงการดำเนินงานออกไปเป็นประเภทต่างๆ มากมาย ขณะนั้นมีมากกว่า 400-500 ศูนย์ จึงได้พระราชทานพระราชดำริว่า น่าจะมีศูนย์ที่นำหน่วยงานเหล่านี้มารวมกันในที่เดียว ทำงานแบบบูรณาการ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาจำนวน 6 ศูนย์ โดยเลือกจากสภาพภูมิประเทศ ภูมิสังคม และสภาพแวดล้อม ที่แตกต่างกัน

วัตถุประสงค์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริในการจัดตั้ง คือ พระองค์ต้องการให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัย พัฒนา และหาความรู้ในอาชีพแขนงต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร ด้วยจะเอื้อต่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นเป็นอย่างดี การทำงานของศูนย์ศึกษาฯ ก็ให้แตกต่างจากศูนย์ราชการที่มีอยู่ โดยจะมีการบูรณาการกันในระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งพืช สัตว์ ประมง และสิ่งแวดล้อม รวมอยู่ด้วยกันในที่เดียวกัน เป็นการบูรณาการแบบเบ็ดเสร็จ มีข้อมูล องค์ความรู้ต่างๆ ที่เกษตรกรในท้องถิ่นสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ แล้วนำกลับไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ โดยที่เข้ามาเพียงจุดเดียวก็สามารถได้ในสิ่งที่ต้องการจะเรียนรู้ทั้งหมด

32239
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ที่เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา และลำดับต่อมาคือศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และที่สุดท้าย คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งแต่ละศูนย์ฯ ได้เลือกความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน

โดยแต่ละศูนย์ศึกษาฯ นั้นจัดตั้งอยู่ในสภาพภูมิประเทศและมีปัญหาที่ต่างกัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในการแก้ปัญหาในพื้นที่แตกต่างกัน คือ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งขึ้นตามพระราชดำริเป็นแห่งแรกด้วยเดชะพระบารมี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2422 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เขาหินซ้อน ได้เสด็จไปทอดพระเนตรที่ดินที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย แล้วได้พระราชทานพระราชดำริให้ก่อตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ให้เป็น ศูนย์ตัวอย่างรวมการพัฒนาด้านเกษตรกรรมที่สมบูรณ์แบบ เช่น การพัฒนาชุมชน ฟื้นฟูป่าไม้ พัฒนาแหล่งน้ำ การเลี้ยงปศุสัตว์ การประมง งานส่งเสริมการเกษตร การชลประทาน สาธารณสุข การเลี้ยงปศุสัตว์ การประมง งานส่งเสริมการเกษตร การชลประทาน สาธารณสุข ตั้งวิทยาลัยเกษตรกรรม ส่งเสริมศิลปาชีพหัตถกรรมพื้นบ้านเพิ่มพูนรายได้ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่รอบนอกศูนย์ บริเวณลุ่มน้ำโจนให้เจริญขึ้น สำหรับเป็นแบบอย่างการพัฒนาให้ขยายออกไปสู่พื้นที่ตำบลอื่น ๆ โดยงานพัฒนาเน้นไปทางการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งเสื่อมโทรม เนื่องจากอดีตมีความอุดมสมบูรณ์ แต่มีการใช้พื้นที่อย่างผิดวิธี ส่งผลให้ พื้นที่มีความแห้งแล้ง ความชุ่มชื้นลดลง ดินที่เคยดีก็เสื่อมโทรมลงตามมา พระองค์ทรงเป็นห่วงว่าพื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่ร้างไร้ประโยชน์ จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาปรับปรุงดินด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกได้ และประสบความสำเร็จ ปัจจุบันสามารถปลูกพืชนานาชนิดได้ผลผลิตดีขึ้น

450px-ทศ8-03
ทางด้านศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากจังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำขังตลอดปีเรียกว่า ดินพรุ ซึ่งมีอยู่ในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงถึงประมาณ 400,000 ไร่ ดินพรุมีคุณภาพต่ำ แม้ระบายน้ำออกแล้ว ก็เพาะปลูกไม่ได้ผล เพราะดินมีสารประกอบไพไรท์ ทำให้เกิดกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้งทำให้ดินเปรี้ยวจัดเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของพืช เมื่อราษฎรประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่ได้ผล พื้นที่ดินจำนวนมากจึงถูกทิ้งให้รกร้างเปล่าประโยชน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2524 โครงการตั้งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง บ้านโคกสยา ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ห่างจากตัวเมืองไป 8 กิโลเมตร พระองค์พระราชทานพระราชดำริให้จัดทำโครงการแกล้งดิน เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกได้ เป็นต้น

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ที่นั้นเป็นพื้นที่ชายทะเล มีทั้งปลาน้ำเค็ม ปลาน้ำจืด ด้านพืชก็มีทั้งพืชชายฝั่งและพืชห่างฝั่ง ซึ่งเกิดปัญหามาจากอดีตเช่นกัน ทำให้เกิดความแห้งแล้ง การประกอบอาชีพประมงชายฝั่งก็มีปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อม ป่าชายเลนมีจำนวนลดลง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2524 และได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดว่า “ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตร ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล และจังหวัดจันทบุรี” พร้อมกับได้พระราชทานเงินที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสนั้น เป็นทุนเริ่มดำเนินการ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น จึงรับสนองพระราชดำริ ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2524 ที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ฟื้นฟูและปรับปรุงพื้นที่ด้วยวิธีการต่างๆ ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งมีความสมบูรณ์ ป่าชายเลนเพิ่มพื้นที่มากขึ้น เอื้อต่อการเกิดและเจริญเติบโตของสัตว์น้ำเค็ม ด้านป่าไม้ชายฝั่งก็ได้รับการฟื้นฟู พร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชทั้งไม้ยืนต้นและพืชผักตามหลักวิชาการที่ถูกต้องเช่นกัน วันนี้ราษฎรในพื้นที่สามารถทำมาหากินและประกอบอาชีพด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

kingtown
ส่วนศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2525 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ตรงนั้นเป็นภูเขาติดกับที่ราบสูง ก่อนหน้านี้มีการตัดไม้ทำลายป่ากันมาก จนพื้นที่โล่งเตียน เกิดความแห้งแล้ง ทำการเกษตรไม่ได้ผล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้แก้ปัญหาด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ให้ปลูกพืช ทั้งไม้ผลและพืชผัก ควบคู่กับการจัดหาแหล่งน้ำที่มีการบริหารจัดการน้ำอย่างถูกวิธี ปัจจุบันสามารถปลูกพืชยืนต้นได้หลายชนิด เช่นลำไย ลิ้นจี่ ไปจนถึงเงาะ มังคุด แม้แต่สะตอก็ยังสามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2525 ณ บริเวณพื้นที่ต้นน้ำ ห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่โครงการประมาณ 8,500 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าขุนแม่กวง” ภูมิประเทศทั่วไปเป็นป่าเขา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นเรื่องป่าไม้ที่ก่อนหน้านี้โดนตัดโค่นไปมากจนพื้นที่แห้งแล้ง ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ทุกปีหน้าแล้งก็เกิดไฟป่า และได้มีการฟื้นฟูด้วยการจัดทำระบบนิเวศแบบวนเกษตร ทำระบบชลประทานแบบป่าเปียก ปัจจุบันมีความชุ่มชื้น เอื้อต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรโดยรอบได้เป็นอย่างดี

สุดท้ายศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี พระองค์ทรงเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้หากปล่อยทิ้งไว้ไม่นานนักก็จะเป็นทะเลทราย เพราะมีการทำลายป่ามาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาระบบป่าไม้โดยการใช้หญ้าแฝกเข้ามาเป็นตัวช่วยในการปรับปรุงดิน มีการปลูกไม้เบิกนำแล้วตามด้วยต้นไม้หลัก ปัจจุบันมีความสมบูรณ์ และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของผู้คน และได้นำแนวทางการฟื้นฟูเช่นนี้ไปใช้ในที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

12-8
การดำเนินงานของแต่ละศูนย์ฯ ตลอดมานั้น ได้ดำเนินงานตรงตามแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานกับทุกศูนย์ฯ การทำงานของศูนย์การศึกษาฯ นั้น มุ่งไปตามแนวพระราชดำริ พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ซึ่งทุกแห่งประสบความสำเร็จในการศึกษาทดลอง และสามารถแนะนำให้ประชาชน ที่อยู่รอบๆ ศูนย์ฯ นำไปเป็นแบบอย่างเพื่อการประกอบอาชีพของตนเองได้เป็นอย่างดี

ในขณะเดียวกันก็ทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงฟื้นคืนกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเช่นเดิม นับเป็นประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมอย่างแท้จริง

…………………………………………………

ข้อมูลโดย สำนักงาน กปร.

บางส่วนจากการเรียบเรียงของคุณณพาภรณ์ ปรีเสม

http://www.chaoprayanews.com/2014/12/02/%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%93%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%ab%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%ad%e0%b8%a2/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น