เจ้าประคุณรุนช่อง!! 1 ปีผ่านไป ไวเหมือนกระพริบตา เมื่อรู้ตัวอีกทีจึงพบว่า.. เพื่อนๆต่างหนีไปเค้าท์ดาวน์บนยอดดอย สูดอากาศหนาวกันหมดแล้ว! เหลือแต่เราที่ยังคงก้มหน้าก้มตานั่งอัพเดทข่าวลงหน้าเว็บไซต์งกๆๆ เพื่อปรนเปรอความต้องเสพข้อมูลที่ สด ลึก จริง ของมิตรรักนักอ่านข่าวสารทีนิวส์ทุกท่าน ก็ได้แต่หวังว่าสิ้นปีแล้วคงยังไม่หลงลืมกันไปไหนนะจ๊ะ
ผ่านไปอีก 1 ปี หลายคนคงได้ผ่านทั้งเรื่องดีเรื่องร้าย คงไม่ต่างอะไรกับโลกเรา ที่มีช่วงเวลาน่าประทับใจกับฝนดาวตกสวยๆ แสงออโรร่างามเตะตาแถวขั้วโลก แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ!! ถึงเวลาเจอเหตุการณ์ธรรมชาติโหดๆที ผู้เขียนเองก็แทบอยากจะหนีไปอยู่ดาวอังคารเอาเสียให้ได้
ไหนๆก็เม้าท์มาพอสมควร เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ความทรงจำที่ผ่านมากับมหาภัยพิบัติ 10 อันดับที่สร้างความสูญเสียให้กับหายประเทศทั่วโลกชนิดที่เรียกได้ว่า "ลืมไม่ลง และคงไม่อยากจำ" กันเลยทีเดียว !!
อันดับ 10. พายุ "แมตโม" ถล่มฟิลิปปินส์-จีน ดับ 14 ศพ !!
วันที่ 19 ก.ค. พายุไต้ฝุ่นแมตโมได้เข้าพัดถล่มฟิลิปปินส์ ก่อนเข้าป่วนไต้หวันด้วยความเร็วลม 173 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดฝนตกหนัก ทางตะวันออกและเขตภูเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน 31,505 หลัง มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 คน ก่อนเคลื่อนตัวอีกครั้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปบริเวณมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน ทำให้เกิดลมกระโชกแรงและฝนตกหนัก ส่งผลให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ประชาชนในเมืองฝูโจว ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลฝูเจี้ยนต้องเดินลุยน้ำสูงถึงเข่า ส่วนรถยนต์หลายคันจมน้ำไปครึ่งคัน ขณะที่ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมจนใช้การไม่ได้
ด้านเมืองจินเจียง เกิดดินถล่มและก้อนหินกลิ้งตกลงมาจากบนเขา ทำให้ชาวบ้านกว่า 50 คน จาก 10 ครัวเรือน ต้องอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย นอกจากนี้อิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นแมตโมยังทำให้เกิดคลื่นสูง ทำให้เรือหลายลำที่ท่าเรือเฟิงเว่ยพลิกคว่ำ รวมทั้งเรือลำหนึ่งที่มีน้ำหนักเกือบ 1 ตันด้วย
ทั้งนี้ พายุไต้ฝุ่นแมตโม ได้คร่าชีวิตประชาชนในจีนไป 13 ราย ประชาชนเกือบ 290,000 รายต้องอพยพออกจากพื้นที่ และอีก 37,000 ราย ต้องขาดแคลนสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อประทังชีพ แถมยังความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยตรงคิดเป็นเงินสูงถึง 3,370 ล้านหยวน หรือประมาณ 177,227,560 บาท
อันดับ 9. ไต้ฝุ่น"คัลแมกี" ถล่มหนัก 4 ประเทศ ดับ 17 ศพ!! กระทบแม่สายเสียหาย 100 ล้าน!!
วันที่ 13 ก.ย. พายุไต้ฝุ่นคัลแมกี ก่อตัวอยู่ในทะเลจีนใต้ด้วยความเร็วลมศูนย์กลาง 372 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมุ่งหน้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เข้าสู่เมืองลูอัก บนเกาะลูซอน ทางตอนเหนือสุดของประเทศ ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์สั่งอพยพประชาชนกว่า 7,800 คน ตลอดจนปิดโรงเรียนเกือบทั้งหมดบนเกาะลูซอน รวมถึงในกรุงมะนิลา ขณะที่เที่ยวบินหลายสิบเที่ยวระงับให้บริการ เช่นเดียวกับเรือโดยสารข้ามฟากและเรือประมงที่ต้องจอดนิ่งอยู่ที่ท่าเรือตามคำสั่งของทางการ
ทั้งนี้พายุดังกล่าวส่งผลให้กระแสไฟฟ้าดับ น้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่ม มีชาวฟิลิปปินส์เสียชีวิต 10 ราย
ต่อมา พายุไต้ฝุ่นคัลแมกี ได้เข้าพัดถล่มไต้หวัน และเกาะไห่หนาน หรือไหหลำ ของจีน ด้วยความเร็วลมสูงถึง 159 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 29 ราย และเกิดภาวะฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันเป็นบริเวณกว้าง เกิดเหตุดินถล่มในบางพื้นที่ ทางการท้องถิ่นเกาะไหหลำ ได้สั่งอพยพประชาชนที่พักอาศัยบริเวณชายฝั่งทางตะวันออก จำนวน 90,000 คน ออกจากพื้นที่ไปยังสถานที่หลบภัยชั่วคราว
ก่อนที่พายุดังกล่าวจะเข้าพัดถล่มทางตอนเหนือของเวียดนามอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ดินถล่ม มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 5 ราย ทางการเวียดนามได้อพยพประชาชนราว55,000 คนออกจากพื้นที่ใน 4 จังหวัดชายฝั่งทางตอนเหนือ
นอกจากนี้ หางของพายุลูกดังกล่าวยังส่งผลกระทบให้เกิดพายุฝนตกลงมาอย่างหนัก จนเกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาจากดอยกูเต็งนาโย่ง ในประเทศพม่า เขตติดต่อ อ.แม่สาย จ.เชียงราย จนทำให้น้ำป่าพัดท่อนไม้ ไหลมาตามลำน้ำ มีระดับสูงกว่า 4 เมตร ทะลักเข้าท่วมพื้นที่สองฝั่ง ทั้งไทยและพม่า เป็นเหตุให้บ้านเรือนราษฎรสองฝั่งกว่า 200 หลังคาเรือน และเข้าท่วม ย่านการค้าท่าขี้เหล็ก จนเข้าท่วมขังสูงกว่า 2 เมตร เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า 100 ล้านบาท
อันดับ 8. น้ำท่วม-ดินถล่มหนัก "ศรีลังกา" ดับ 24 ราย สูญหาย 8 ราย !!
วันที่ 29 ธ.ค. เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ซึ่งเป็นผลมาจากฝนตกหนัก จนเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิต 24 คน อีก 8 คน ยังไม่ทราบชะตากรรม ทั้งยังมีประชาชนอีกราว 1.8 แสนคน ต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย หรือต้องอพยพย้ายที่อยู่ ทางการต้องเร่งย้ายผู้ต้องขังในเรือนจำ รวมทั้งอพยพผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพื่อหนีน้ำท่วม
อันดับ 7. ซูเปอร์ไต้ฝุ่น "ฮากูปิต" ซัดฟิลิปปินส์น่วม ดับ 27 ราย กระทบเกือบ 4 แสนชีวิต!!!
วันที่ 3 ธ.ค. ซูเปอร์พายุไต้ฝุ่น "ฮากูปิต" ความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลางอยู่ที่ 287 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จ่อถล่มเมืองทาโคลบัน ของฟิลิปปินส์ ทางการฟิลิปปินส์ได้เริ่มสั่งปิดโรงเรียน และสั่งการกองทัพเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ รวมทั้งอพยพประชาชนราว 2.5 ล้านคน ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตจากพายุลูกดังกล่าว 27 ราย ประเมินความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 704 ล้านบาท
อันดับ 6. พายุโซนร้อน "ชังมี" ถล่มฟิลิปปินส์อ่วม!! ดับ 31 !!
วันที่ 29 ธ.ค. นับเป็นพายุลูกสุดท้ายที่มาทักทายปี 2557 ให้ยังคงมีเรื่องว้าวุ่นอยู่ โดย พายุโซนร้อนชังมี หรือภาษาท้องถิ่นของฟิลิปปินส์เรียกว่า พายุเซเนียง ขึ้นฝั่งบนเกาะมินดาเนาในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ด้วยความแรงลม 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีความเร็วลมที่จุดศูนย์กลาง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน สะพานและถนนหลวงถูกน้ำพัดทำลายเสียหายมากมาย ชาวบ้านต้องพึ่งพาศูนย์อพยพผู้ประสบอุทกภัย หลังจากขึ้นฝั่งแล้วพายุชังมีเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกและภาคกลาง ลมกระโชกแรงเป็นวงกว้าง ประชาชาชนกว่า 4,000 คนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย และอาจทำให้ประชาชนอีกราว 6,000 คนอพยพตาม
ล่าสุด มีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 31 ราย และพายุลูกดังกล่าวยังมีแนวโน้มเคลื่อนตัวมาใกล้ชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ซึ่งนั่นหมายความว่า ทางภาคใต้ของประเทศไทยจะได้รับผลกระทบไปด้วย โดยอาจมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 3 - 4 ม.ค. 2558
อันดับ 5. พายุหิมะถล่มเทือกเขา "หิมาลัย" เสียชีวิต 43 เจ็บ 215 ราย !!!
วันที่ 15 ต.ค. เกิดพายุหิมะถล่มบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ทางตอนกลางของประเทศเนปาล สูงถึงประมาณ 91 เซนติเมตร ซึ่งปกติแล้ว ขณะนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะเกิดพายุหิมะ จึงมีนักท่องเที่ยวมาเดินป่าและปีเขาเป็นจำนวนมากจากหลายประเทศทั้งอิสราเอล โปแลนด์ แคนาดา ฝรั่งเศส และอินเดีย ได้มาลงทะเบียน เพื่อขออนุญาตปีนยอดเขาอันนาปูร์นา ซึ่งเป็นยอดเขาสูงในเทือกเขาหิมาลัย มีความสูงถึง 6,993 เมตร
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 43 ราย บาดเจ็บ 215 ราย ถือเป็นตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สูงที่สุดที่เคยเกิดขึ้น จากหิมะถล่มบริเวณเขตอันนาปูร์นา และเป็นหนึ่งในเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดที่เกิดจากสภาพอากาศเท่าที่เคยเกิดขึ้นในภูมิภาค
หลายฝ่ายสันนิษฐานเป็นผลจากอิทธิพลของพายุไซโคลนฮุดฮุด ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับภาคตะวันออกของอินเดีย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว
อันดับ 4. สังเวยดินถล่ม "อินโดฯ" 56 ศพ!! หาย 66 ราย!!
วันที่ 13 ธ.ค. ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซีย รายงานการเกิดดินถล่มทับหมู่บ้านเจ็มบลัก บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น โดยมีบ้านเพียง 2 หลังเท่านั้น ที่รอดพ้นจากการไหลบ่าของดินโคลนจากภูเขา โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นผลจากพายุฝนที่ตกกระหน่ำลงมาอย่างหนัก หลังเกิดเหตุ ทางการอินโดนีเซียระดมเจ้าหน้าที่กู้ภัยราว 200 นาย และอาสาสมัครอีก 500 คน ลงพื้นที่และกระจายกำลังกันค้นหาผู้สูญหาย
ด้านนายกันจาร์ ปราโนโว่ ผู้ว่าราชการจังหวัดชวากลาง ตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านภัยพิบัติ ในพื้นที่เกิดเหตุดินถล่ม เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเปิดทางให้ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย รวมทั้งการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้อง เป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น
ล่าสุด เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิตได้ทั้งหมด 17 ศพ ในนั้นมีเด็ก 4 ราย โดยในขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 56 คน สูญหายอีก 66 ราย
อันดับ 3. ภูเขาไฟ "ออนตาเกะ" ปะทุเดือด!!! ชาวญี่ปุ่นดับ 56 ราย !!
วันที่ 27 ก.ย. เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น เกิดกลุ่มควันหนาทึบ และหินร้อนพวยพุ่งออกมาจาก ภูเขาไฟออนตาเกะ ความสูง 3,067 เมตร ตั้งอยู่ระหว่างจังหวัดนากาโนะและจังหวัดกิฟุ ทางตอนกลางของประเทศ กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นต้องประกาศให้บริเวณรอบภูเขาไฟในรัศมี 4 กิโลเมตร เป็นพื้นที่อันตราย และสั่งให้ประชาชนทั้งหมดอพยพออกจากพื้นที่
ส่งผลให้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยต่างต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อเร่งช่วยเหลือนักปีนเขาที่ติดค้างอยู่ และพบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 56 ศพ เหลือนักปีนเขาอีก 7 คนที่ยังไม่พบร่าง กระทั่งทางการต้องระงับการค้นหาเหยื่อจากเหตุภูเขาไฟปะทุครั้งนี้ลง เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ประกอบกับหิมะและสภาพอากาศอันเลวร้าย
อันดับ 2. ไต้ฝุ่น "รามสูร" กวาดเรียบ!! ฟิลิปปินส์ - จีน - เวียดนาม ดับ 186 ศพ !!!
วันที่ 15 ก.ค. พายุไต้ฝุ่นรามสูร พัดขึ้นฝั่งที่เขตไบโคล ประเทศฟิลิปปินส์ ด้วยความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลางจาก 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รัฐบาลได้ประกาศปิดการเรียนการสอนทั้งในกรุงมะนิลาและเขตไบโคล สั่งอพยพชาวบ้านกว่า 1.5 แสนคน รวมถึงยกเลิกเที่ยวบินในประเทศ 47 เที่ยว เที่ยวบินระหว่างประเทศ 4 เที่ยวส่วนเจ้าหน้าที่ยามฝั่งได้ปิดให้บริการเรือข้ามฟาก 41 ลำ ใน 11 จังหวัด ทำให้ผู้โดยสารมากกว่า 1,600 คน ติดอยู่ที่ท่าเรือ สร้างความเสียหายแก่ภาคการเกษตรประมาณ 1,599 ล้านบาท มีรายงานผู้เสียชีวิต 97 ราย สูญหาย 6 ราย เจ็บ 437 ราย ประชาชนอย่างน้อย 1,006,360 คน ได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งทางการยังต้องเตรียมศูนย์พักพิงอย่างน้อย 1,219 แห่ง เพื่อรองรับผู้ประสบภัยจากพายุ
จากนั้น พายุลูกดังกล่าวได้ทวีกำลังขึ้นเป็น "ซูเปอร์ไต้ฝุ่น" ก่อนพัดถล่มทางตอนใต้ของจีน ทำให้เกิดฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตลอดระยะเวลา 3 วันที่มณฑลหูหนาน ทำให้เกิดดินสไลด์ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไป 5 ราย ส่วนที่มณฑลกุ้ยโจวพบว่ามีผู้เสียชีวิต 7 ราย เกิดน้ำท่วมขึ้นที่มณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทั้งนี้ฝนตกหนักที่กรุงปักกิ่งเมื่อกลางดึกที่ผ่านมาทำให้เกิดน้ำท่วมขังตามถนนบางแห่ง นับว่าเป็นพายุที่มีกำลังแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในมณฑลไห่หนานในรอบ 40 ปี โดยมียอดรวมผู้เสียชีวิตในจีน 62 ราย สูญหาย 21 คน ขณะมีประชาชนเดือดร้อนจากไต้ฝุ่นสูงถึง 8.6 แสนคน ทั้งยังสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโดยตรงถึง 6.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ เวียดนาม ได้รับความเสียหายด้านทรัพย์สินมีมูลค่าประมาณ 125,000 ล้านด็อง หรือประมาณ 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บ้านเรือนพังทลาย 700 หลัง เสียหายเกือบ 500 หลัง พื้นที่นาข้าว 4,000 เฮกเตอร์ และสวนผัก 200 เฮกเตอร์ ถูกน้ำท่วม มีผู้เสียชีวิต 24 คน ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศ
ในส่วนของประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบจากพายุลูกดังกล่าวเช่นกัน โดยเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 ม.2 ต.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีดินถล่มทับเส้นทางสายแม่อาย - ดอยแหลม แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
อันดับ 1. "ยูนนาน" เขย่าแรง!! แผ่นดินไหวขนาด 6.3 เสียชีวิตกว่า 400 ราย เจ็บกว่า 1,800 คน
วันที่ 3 ส.ค. เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้น ที่มณฑลยูนนาน และพื้นที่ใกล้เคียงทางภาคใต้ของประเทศจีน แรงสั่นสะเทือนขนาด 6.3 ที่ความลึก 7 กิโลเมตรจากผิวดิน มีรายงานผู้เสียชีวิตกว่า 400 ราย บาดเจ็บ1,800 ราย และสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนพังยับกว่า 12,000 หลัง และอีกกว่า 30,000 หลัง ได้รับความเสียหาย
หลังจากเกิดเหตุดังกล่าว ยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกกว่า 626 ครั้ง ผู้คนต้องอพยพถิ่นฐานกว่าอีก 230,000 คน
***** ของแถมทิ้งท้าย!!! ภัยพิบัติสุดช็อก ในประเทศไทย!! *****
เหตุการณ์ภัยพิบัติสุดช็อกในประเทศไทย ประจำปี 2557 คงหนี ไม่พ้น "แผ่นดินไหวใหญ่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย แรงสั่นสะเทือนขนาด 6.3!!" จนเป็นเหตุให้ทุกวันนี้ ยังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
แผ่นดินไหวที่อำเภอพาน พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.08.43 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศไทย ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ต่อมา กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า การใช้เครื่องมือตรวจวัดได้ข้อสรุปใหม่ว่าศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ที่ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เนื่องจากพบแนวรอยแยกปรากฏอยู่จำนวนมาก ส่วน USGS รายงานว่าจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากอำเภอแม่ลาวไปทางใต้ 9 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงรายไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 27 กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิต 2 คน
ขนาดของแผ่นดินไหว ทางสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา วัดขนาดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.3 USGS ของสหรัฐฯ วัดขนาดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.0 EMSC ของยุโรป วัดขนาดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.2
ความเสียหาย ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายด้านอาคารสถานที่ ทั้งโบราณสถาน สถานที่ราชการ เส้นทางคมนาคมและบ้านเรือนของประชาชน ในพื้นที่ที่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนโดยมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง และกำแพงเพชร
ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย สรุปสถานการณ์พื้นที่ประสบภัยในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ว่ามีพื้นที่ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งสิ้น 7 อำเภอ 47 ตำบล 478 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหายรวม 8,935 หลัง โดยที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง 116 หลัง ได้รับความเสียหายบางส่วน 8,463 หลัง, วัด 99 แห่ง, โบสตถ์คริสต์ 7 แห่ง, โรงเรียน 35 แห่ง, มหาวิทยาลัย 1 แห่ง, สถานพยาบาล 25 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรม 6 แห่ง, โรงแรม 1 แห่ง, ถนน 5 สาย ตลิ่งพัง 1 แห่ง สะพาน 1 แห่ง และคอสะพาน 5 แห่ง
http://disaster.tnews.co.th/content/122904/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น