ตลอดสิบปีที่ไฟลุกโชน ณ ปลายด้ามขวาน ข่าวสารจากพื้นที่มีแต่ชาวบ้านขับไล่เจ้าหน้าที่ หรือไม่ก็มีหลายพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่เข้าไม่ได้
เมื่อเร็วๆ นี้เหตุการณ์ลักษณะแบบนานๆ เกิดที ได้เกิดขึ้นแล้วที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพราะมีพี่น้องประชาชนหลายร้อยคนจาก ต.ตุยง และเขตเทศบาลตำบลหนองจิก ไปรวมตัวเรียกร้องขอให้โรงพัก สภ.หนองจิก ตั้งอยู่ที่เดิม ไม่ย้ายไปสถานที่ใหม่
แม้ดูเผินๆ เรื่องนี้จะเป็นเรื่องดีที่เจ้าหน้าที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน แต่หากมองลึกลงไป ยังมีประเด็นที่ต้องตั้งคำถาม โดยเฉพาะการบริหารงานแบบ "ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง" ดังที่นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกมาพูดหลายครั้งในช่วงหลัง
โดยเฉพาะประโยคที่ออกจากบ้านชาวบ้านแบบตรงไปตรงมาว่า "จะสร้างใหม่เคยถามชาวบ้านสักคำไหม ไม่ใช่ว่าคิดแค่ได้งบมาจะไปสร้างที่ไหนก็คิดเอง เข้าใจว่างบนี้ได้มาสมัยนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว ทำไมตอนนั้นไม่มีการคุยกับชาวบ้าน เพราะโรงพักเป็นของประชาชน ต้องถามว่าประชาชนต้องการอะไร ไม่ใช่คิดเองเออเอง"
การชุมนุมของชาวบ้านเพื่อคัดค้านการย้ายโรงพักหนองจิก จึงเป็นทางบทเรียนและบททดสอบทฤษฎี "การใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง" ไปด้วย
โรงพัก สภ.หนองจิก ปัจจุบันตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ช่วงหนองจิก-ปัตตานี ห่างจาก อ.เมืองไม่กี่กิโลเมตร เป็นอาคารไม้หลังเก่าแก่ ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านฝนมาหลายสิบปี หนำซ้ำยังผ่านเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วง 10 ปีหลังนี้มาก็หลายครั้ง
กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้จัดสรรงบประมาณการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สภ.หนองจิก แห่งใหม่ขึ้นที่บริเวณหมู่ 1 บ้านทุ่งนเรนท์ ต.บ่อทอง อ.หนองจิก อยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 (ปัตตานี-หาดใหญ่) ห่างจากโรงพักเดิมประมาณ 10 กิโลเมตร และมีกำหนดเปิดโรงพักใหม่เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
หากเป็นการย้ายส่วนราชการประเภทอื่นอาจไม่มีปัญหา แต่นี่คือโรงพักซึ่งผูกพันใกล้ชิดกับประชาชน เมื่อต้องย้ายห่างออกไปอีกถึง 10 กิโลฯ ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่ยินยอม และออกมาชุมนุมแสดงพลังกันในที่สุด
งานนี้ไม่ใช่แสดงพลังขับไล่ แต่แสดงพลังว่าอย่าจากไปไหน!
พ.ต.อ มานิตย์ ยิ้มซ้าย ผู้กำกับการ สภ.หนองจิก กล่าวว่า จะแก้ปัญหาด้วยการแบ่งงานกันทำ ไม่ย้ายไปทำงานที่ใหม่ทั้งหมด เราจะยกเฉพาะงานด้านธุรการไป ส่วนโรงพักหลังเก่าจะยังมีชุดบริการประชาชนอยู่เหมือนเดิม เพราะบริเวณละแวกโรงพักเก่ามีชุมชน มีวัด โรงเรียน มีสนามกีฬา มีที่ว่าการอำเภอ และมีประชาชนพี่น้องไทยพุทธอาศัยอยู่ราว 500 คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการบำนาญที่ไปทำงานที่อื่นแล้วกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ จะอยู่แถวๆ วัดตุยง หรือวัดมุจลินทวาปีวิหาร ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ ตำรวจเราก็ยังต้องดูแลความปลอดภัยตรงนี้อยู่เป็นปกติ ส่วนพี่น้องมุสลิมเราก็ดูแลอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
สำหรับการชุมนุมแสดงพลังนั้น ไม่มีปัญหาอะไร เพราะ พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (ผบก.ภ.จว.ปัตตานี) ได้ลงมาพูดคุยกับกลุ่มประชาชนด้วยตนเอง ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเราจะยังดูแลความปลอดภัยและบริการพี่น้องเหมือนเดิม
"แผนนี้เรามีอยู่เดิมแล้ว ก่อนที่ชาวบ้านจะมาเรียกร้องขอให้เราคงเจ้าหน้าที่ไว้ที่นี่ เพียงแต่ทางเราไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบ จึงทำให้ชาวบ้านคิดว่าเราจะยกกันไปทั้งหมด ตอนนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ทุกอย่างเป็นไปอย่างปกติ"
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลตำบลหนองจิกรายหนึ่ง เผยความรู้สึกว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะย้ายโรงพักเดิมที่ดีอยู่แล้วไปสร้างที่ใหม่ สมมติว่าได้งบมาจะสร้างใหม่ ก็ควรสร้างที่เดิม จะสร้างเป็นอาคาร 4-5 ชั้นก็ยังได้ คิดอะไรก็ไม่รู้ถึงไปสร้างที่ใหม่ซึ่งห่างไกลจากชุมชน เดินทางลำบาก รถรับจ้างหรือรถโดยสารก็ไม่มี ชาวบ้านจะไปใช้บริการกันทีก็ต้องมีรายจ่ายมากขึ้น
"โรงพักหลังนี้สร้างมานานกว่า 30 ปีแล้ว ก็ต้องผุพังไปตามกาลเวลา แต่ในความรู้สึกของชาวบ้านรู้สึกว่ารักและผูกพันกับโรงพัก เพราะได้รับความสะดวกสบาย ไม่ต้องมีรายจ่ายในการเดินทางเมื่อต้องใช้บริการโรงพัก ตลอดกว่า 30 ปีเรารู้สึกดี รู้สึกอบอุ่นใจ"
"จะสร้างใหม่เคยถามชาวบ้านสักคำไหม ไม่ใช่ว่าคิดแค่ได้งบมาจะไปสร้างที่ไหนก็คิดเอง เข้าใจว่างบนี้ได้มาสมัยนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว ทำไมตอนนั้นไม่มีการคุยกับชาวบ้าน เพราะโรงพักเป็นของประชาชน ต้องถามว่าประชาชนต้องการอะไร ไม่ใช่คิดเองเออเอง"
เขาบอกด้วยว่า ระยะหลังมีปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้น ชาวบ้านยิ่งต้องการพึ่งพาอาศัยเจ้าหน้าที่ ถ้าตำรวจไม่อยู่ที่เดิม ถามว่าใครจะมารับผิดชอบเมื่อชาวบ้านถูกทำร้าย
"เพื่อนที่เป็นตำรวจคุยให้ฟังว่า เขาเครียดที่ต้องไปอยู่ที่ใหม่ เพราะที่นั่นอยู่ห่างจากชุมชน ไม่มีใครเลย ง่ายต่อการถูกโจมตี เวลาเดินทางไปกลับจากบ้านไปโรงพักก็อันตราย ไม่มีความปลอดภัยเลย เสี่ยงกว่าที่เดิม แถมรายจ่ายก็ต้องเพิ่ม เราชาวบ้านฟังแล้วก็สงสาร แต่ก็ได้แค่ปลอบใจ เพราะทุกอย่างต้องทำตามผู้บังคับบัญชา"
"พวกเราชาวบ้านก็มานั่งๆ คุยกันนะ อย่างไรเสียที่เดิมก็ดีที่สุด เป็นศูนย์รวมทุกอย่างของคนหนองจิก ถ้าแยกไป การใช้บริการต่างๆ ก็ต้องสะดุด"
นายอิสมาแอ (สงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี ชาวบ้านหนองจิกอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นมุสลิม กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่โรงพักจะย้ายไปอยู่สถานที่ใหม่ สงสารชาวบ้านที่ต้องใช้บริการไม่สะดวก เวลาแจ้งคนตาย แจ้งความต่างๆ ก็ต้องขึ้นลงระหว่างอำเภอกับโรงพัก
"ที่ผ่านมาก็สะดวก ง่าย และรวดเร็ว แต่ถ้าอยู่แยกแบบนี้ ชาวบ้านก็ต้องใช้เวลา มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทุกวันพี่น้องประชาชนบริเวณชุมชนต่างๆ ในหนองจิกยังอยู่ปลอดภัยดี เพราะที่นี่มีโรงพัก ถ้าไม่มีโรงพัก อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น ก็ยังรู้สึกดีใจที่ตำรวจฟังความเห็นประชาชน ยอมคงเจ้าหน้าที่และงานสำคัญๆ ไว้ที่เดิม"
เป็นอีกหนึ่งบททดสอบทฤษฎี "ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง" ณ ดินแดนปลายด้ามขวานที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนอยู่ปลายทาง ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1, 2, 4 การชุมนุมของประชาชนชาวหนองจิก คัดค้านการย้ายโรงพัก
3 โรงพักแห่งใหม่
http://www.isranews.org/south-news/documentary/item/34467-move.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น