มีการกำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี เป็น วันพยาบาลแห่งชาติ, วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ, วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ, วันรักต้นไม้แห่งชาติ และ วันอาสาสมัครไทย
พระองค์ทรงมีพระราชคุณูปการแก่ประเทศชาติและประชาชนเป็นอันมาก ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนไทยเป็นอย่างมาก
จึงขอนำหลักคําสอนของพระองค์ซึ่งถือเป็นแบบอย่างดําเนินชีวิตอย่างมีสุขมาฝากไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย” ทรงเป็นแบบอย่างอันน่ายกย่อง ในเรื่องการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง และรู้จักกตัญญูกตเวทีต่อแผ่นดิน สมัยที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ มักจะทรงสอนผู้ใกล้ชิดเสมอๆ ว่า ถ้าอยากมีความสุข ต้องรู้จักใช้ชีวิตอย่างพอเพียงในตนเอง
ถือเป็นแนวพระราชดำริสำคัญ ที่นำมาปรับใช้ ได้ทุกยุคทุกสมัย โดย เฉพาะในยุคปัจจุบัน ซึ่งสังคมไทยกำลังถูกครอบงำด้วยกระแสทุนนิยม !!
ที่จริงแล้ว หลักการดำเนินชีวิตให้มีความสุข ตามแนวพระราชดำริของ “สมเด็จย่า” ไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่า การใช้ชีวิตอย่างรู้จักพอเพียงในตนเอง ขณะเดียวกัน ก็ต้องหมั่นสำรวจตัวเองด้วย ฝึกอบรมจิตให้ทำแต่ความดี
โดยนำธรรมะเรื่อง “การถือสันโดษ” ซึ่งหมายถึงความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ มาใช้ในชีวิตประจำวัน
ในหนังสือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดทำโดยโครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาฯ ได้มีการหยิบยกความหมายของการ ถือสันโดษตามแนวพระราชดำริของ “สมเด็จย่า” มาอธิบาย ว่า ทรงหมายถึงการถือสันโดษ 4 ประเภท ได้แก่ สันโดษในความคิด คือระงับความคิดที่ฟุ้งซ่าน, สันโดษในการแสวงหา ต้องยินดีที่จะแสวงหาแต่สิ่งที่ควรค่าแก่กำลังฐานะ, สันโดษในการรับ เวลารับควรรับแต่พอประมาณ และรับเฉพาะสิ่งที่ควรรับ และสันโดษในการบริโภค คือยินดีใช้สอยแต่สิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ มากกว่าจะแสวงหาเพื่อสนองตัณหา
นอกจากการวางพระองค์เป็นแบบอย่างอันดีแก่พระบรมวงศานุวงศ์แล้ว หลักคุณธรรมของ “สมเด็จย่า” ยังเป็นคติสอนใจในการดำเนินชีวิตของเหล่าข้าราชบริพารที่ถวายงานรับใช้อย่างใกล้ชิด รวมถึงพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศด้วย
“พระองค์ท่านคือแบบอย่างให้กับเราในการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ประหยัด มีเหตุผล และมีน้ำใจ รู้จักเมตตากรุณาต่อบุคคลรอบข้าง และเพื่อนมนุษย์ ไม่ยึดติดในลาภยศสรรเสริญ พระองค์ท่านอยู่สูงถึงขนาดนี้ ยังยอมลำบากเพื่อผู้อื่น เพื่อส่วนรวม พระองค์ท่านมักจะคิดถึงคนอื่นก่อนเสมอ ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย พระสติปัญญา เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ท่านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข แล้วนี่เราเป็นใคร เราได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น เพื่อสังคมบ้างแล้วหรือยัง?! คิดได้อย่างนี้เลยทำให้เปลี่ยนความคิดใหม่ เปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนอะไรหลายๆอย่างโดยไม่รู้ตัว” ศ.พญ.คุณหญิงสำอาง คุรุรัตน์พันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวเฉียว ซึ่งมีโอกาสถวายการรักษา “สมเด็จย่า” เล่าถึงแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน ที่ซึมซับ และนำมาปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
ด้าน คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา ข้าหลวงในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ถวายงานรับใช้พระองค์ท่านมายาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 จนกระทั่งเสด็จสวรรคต ย้อนรำลึกถึงความทรงจำเกี่ยวกับพระราชจริยาวัตรอันงดงามของ “สมเด็จย่า”
… “พระองค์ ท่านทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างเรียบง่าย ทรงมัธยัสถ์ และไม่โปรดความฟุ่มเฟือย อย่างเวลาประทับที่วังสระปทุม ก็จะทรงเดินปิดไฟที่ไม่จำเป็นต้องใช้ และจะทรงสอนข้าราชบริพารเสมอๆ ว่า เวลาตักข้าว ต้องตักแต่พอดีทาน ถ้าไม่พอค่อยตักเพิ่ม อย่าตักมาเยอะจนเหลือทิ้ง เพราะยังมีคนที่ไม่มีข้าวทานอีกเยอะ!! หรืออย่างเวลาล้างถ้วยล้างชาม พระองค์ท่านจะทรงสอนว่า ให้เอาน้ำใส่กะละมัง แล้วค่อยล้างทีเดียว จะได้ไม่ต้องเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้ให้เปลือง ในเรื่องของสำนึกต่อแผ่นดิน พระองค์ท่านจะรับสั่งอยู่เสมอว่า เรื่องของความรับผิดชอบเกิดมาในครอบครัว ไม่ใช่สิ่งที่ต้องมาพูดกัน จะทรงสอนทุกคนว่า ให้ คิดถึงประเทศชาติก่อน ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเราคนเดียว”
และแม้จะไม่มีโอกาสได้ถวายงานรับใช้ “สมเด็จย่า” ใกล้ชิดนัก แต่ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ชฎาทิพ จูตระกูล ผู้บริหารหญิงคนเก่งแห่งค่ายสยามพิวรรธน์ ได้นำแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านมาเป็นหลักสำคัญในการบริหารงานด้วย…
“สมเด็จย่าทรงเป็นพระบรมราชชนนี ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก!! พระองค์ท่านทรงเสียสละและตรากตรำพระวรกาย เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย แนวพระราชดำริสำคัญของพระองค์ท่าน ที่รับสั่งไว้ถึงเรื่อง “ทศพิธสามัคคีธรรม” สามารถนำมาใช้ในการบริหารได้จริง โดยทรงมีรับสั่งว่า ทศพิธราชธรรม ถือเป็นธรรมของราชา แต่ที่จริงต้องถือว่าเป็นธรรมของคนทั่วไปด้วย จึงขอเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น “ทศพิธสามัคคีธรรม” คือทำอะไรทำด้วยกัน ถ้าเราไม่ทำด้วยกัน ด้วยความสามัคคี สิ่งต่างๆ ก็จะไม่สำเร็จ ซึ่งตรงนี้คนไทยทุกคนควรจะน้อมนำมาเป็นแนวทางการทำงานอย่างยิ่ง!!”
พระราชดำรัสและหลักปรัชญา ที่ให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตของสมเด็จย่า เป็นภาพสะท้อนเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและนำเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ
สังคมไทยคงจะมีแต่ความผาสุก ถ้าคนไทยทุกคนน้อมนำพระราชดำริของ “สมเด็จย่า” มาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างจริงจังและจริงใจ!!
……………………………………………
ที่มา : บางส่วนจากบันทึกของ Chonticha Assuchalitthee ใน www.l3nr.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น