วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อากาศยานพระราชพาหนะที่กองทัพไทยโดยเหล่าทัพต่างๆและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดถวายเพื่อทรงงานและเสด็จเยี่ยมอาณาประชาราษฎร์ (๑)


กว่า ๖๐ ปีที่ครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ต่างทรงงานอย่างหนัก เพื่อความสงบร่มเย็นและความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมือง ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยม ทรงศึกษาปัญหาตามแต่ละภูมิภาคและท้องถิ่น และพระราชทานพระชดำริเพื่อแก้ไขปัดเป่าปัญหาเหล่านั้น ซึ่งหากเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถยนต์พระที่นั่งแล้ว จะทำให้เกิดความล่าช้า ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงนั้นบ่อยครั้งที่ต้องทรงงานในพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลกันถึงคนละจังหวัดก็มี ทั้งยังต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่อันห่างไกล และทุรกันดารหรือพื้นที่ที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ นับแต่ปีพ.ศ. ๒๔๘๙ จวบจนปัจจุบัน ไม่มีตำบลหรืออำเภอใดๆในท้องถิ่นของผืนแผ่นดินประเทศไทยที่ทั้งสองพระองค์จะยังมิเคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึงเพื่อทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาราช และมักจะเสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ซึ่งสามารถร่อนลงจอดใน พื้นที่ที่เป็นป่าเขา หรือ ชายแดนอันห่างไกลจากเมืองหลวงเพื่อเยี่ยมราษฎรของทั้งสองพระองค์เสมอมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จพระราชดำเนิน จึงต้องจัดเตรียมยานพาหนะที่ ใช้ถวายเป็นเครื่องบินพระที่นั่งหรือรถยนต์พระที่นั่งเพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็วและมีความปลอดภัยอย่างสูงสุด

ดังนั้นกองทัพไทยโดยกองทัพอากาศ กองทัพบก กองทัพเรือ และสำนักงานตำรวจ จึงได้จัดอากาศยานพระราชพาหนะเพื่อรับสนองพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดเป็นสำคัญ ซึ่งการจัดอากาศยานพระราชพาหนะนั้นผู้รับผิดชอบแต่ละเหล่าทัพต้องทำการประสานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งการเตรียม อากาศยาน นักบินและบุคลากรต้องมีความพร้อมสูงสุด

เครื่องบินพระที่นั่งตามคำอธิบายในราชาศัพท์หมายถึงยานพาหนะสำหรับพระมหากษัตริย์ทรง หรือประทับเพื่อเสด็จพระราชดำเนินในพระราชกรณียกิจต่างๆ โดยกล่าวถึงเครื่องบินทั้งประเภทใบพัด-ไอพ่นและเฮลิคอปเตอร์ในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ ให้ต่อท้ายคำว่า “พระที่นั่ง”โดยใช้คำต่อท้ายเช่น “เครื่องบินพระที่นั่ง” และ “เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง” โดยคำว่า “พระที่นั่ง” ใช้เฉพาะยานพาหนะสำหรับพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสีสมเด็จพระบรมราชชนนีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฏราชกุมารและสมเด็จพระบรมราชกุมารี ส่วนเจ้านายพระองค์อื่นใช้คำว่า”ที่นั่ง” แทนคำว่า”พระที่นั่ง”

เครื่องบินพระที่นั่งในอดีต

เครื่องบินพระที่นั่งแบบ C-47 Skytrain กองทัพอากาศอังกฤษ

เป้นเครื่องบินทหารของรัฐบาลอังกฤษ ที่จัดถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ใช้เสด็จนิวัติพระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ เสด็จออกจากเจนีวาในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ใช้เวลา ๖ วันจึงเดินทางถึงสนามบินดอนเมือง ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เวลา ๑๑.๐๐ น. ระหว่างทางทรงแวะประทับค้างคืนที่ลิเบีย และกัลกัตตา อินเดีย เครื่องบินลำนี้เดิมเป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรใช้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

เครื่องบินพระที่นั่งแบบ C-47 Skytrain กองทัพอากาศไทย

เครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๒ (บ.ล.๒) เครื่องบินลำนี้เดิมเป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งของนายพลหลุยส์ เมาท์แบตเตน ผู้บัญชาการทหารสัมพันธมิตรภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย ใช้เป็นเครื่องบินพระที่นั่งลำแรกของไทย ปัจจุบันเครื่องบินลำนี้ปลดประจำการแล้ว เหลือเพียงส่วนหางจัดแสดงอยู่ที่ฝูงบิน ๖๐๓ กองบิน ๖ ดอนเมือง

 

เครื่องบินพระที่นั่งแบบ C-54 Skymaster กองทัพอากาศไทย

เครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๓ (บ.ล.๓) เครื่องบินลำนี้เดิมเป็นเครื่องบินโดยสารของบริษัท เดินอากาศไทย กองทัพอากาศไทยซื้อต่อมาเพื่อใช้เป็นพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระดำเนินเยือนต่างประเทศ

ภายหลังได้ใช้ในภารกิจของพลอากาศโท เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ผู้บัญชาการทหารอากาศและคณะ การประชุมกองทัพอากาศภาคพื้นแปซิฟิกที่ประเทศไต้หวัน และเกิดอุบัติเหตุชนภูเขา ใกล้กับสนามบินไทเป

 

เครื่องบินพระที่นั่งแบบ แฟร์ไชลด์ ฮิลเลอร์ C-123B Provider กองทัพอากาศไทย

เครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๔ (บ.ล.๔) เครื่องบิน C-123B 2ใบพัดนี้กองทัพอากาศไทยได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวน ๒๒ ลำ และได้น้อมเกล้าฯ ถวาย ใช้เป็นเครื่องบินพระที่นั่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖

เครื่องบินพระที่นั่งแบบ แฟร์ไชลด์ ฮิลเลอร์ C-123K Provider กองทัพอากาศไทย

เครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๔ก (บ.ล.๔ก) เครื่องบิน C-123K เป็นเครื่องบิน ๒ใบพัด และติดตั้งเครื่องยนต์ไอพ่นที่ใต้ปีก กองทัพอากาศไทยได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวน ๒๔ ลำ ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย ใช้เป็นเครื่องบินพระที่นั่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙

 

เครื่องบินพระที่นั่งแบบ แอฟโร Avro 748 กองทัพอากาศไทย

เครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๕ (บ.ล.๕) เครื่องบินลำนี้เป็นเครื่องบินรุ่นเดียวกับที่บริษัทเดินอากาศไทยใช้งาน โดยได้รับการตกแต่งเป็นพิเศษ กองทัพอากาศไทยได้จัดซื้อมาจากประเทศอังกฤษ และน้อมเกล้าฯ ถวาย ใช้เป็นเครื่องบินพระที่นั่ง ปัจจุบันได้ลดระดับใช้เป็นเครื่องบินรับส่งบุคคลสำคัญ เครื่องบินลำนี้ได้รับมอบจากผู้ผลิตเมื่อ ๒๑ ธ.ค. ๒๕๐๗ และเดินทางถึงประเทศไทยเมื่อ ๒๐ ม.ค. ๒๕๐๘

 

แอฟโร Avro 748 กองทัพอากาศไทย

เครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๕ (บ.ล.๕) เครื่องบินลำนี้กองทัพอากาศไทยได้จัดซื้อเพิ่มเติมจากประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ และน้อมเกล้าฯ ถวาย ใช้เป็นเครื่องบินพระที่นั่ง ปัจจุบันได้ลดระดับใช้เป็นเครื่องบินรับส่งบุคคลสำคัญ

เครื่องบินพระที่นั่งแบบ แฟร์ไชลด์ Merlin IVA กองทัพอากาศไทย

เครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๖ (บ.ล.๖) เครื่องบินลำนี้กองทัพอากาศไทยได้จัดซื้อมาจากสหรัฐอเมริกา จำนวน ๒ ลำ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ และน้อมเกล้าฯ ถวายใช้เป็นเครื่องบินพระที่นั่ง ประสบอุบัติเหตุขณะฝึกบินที่สนามบินสกลนคร เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ และอีกลำประสบอุบัติเหตุขณะฝึกบินที่สนามบินหาดใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕

เครื่องบินพระที่นั่งแบบ สหรัฐอเมริกา โบอิง 737-3Z6 กองทัพอากาศไทย

เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 11ก (บ.ล.11ก) เครื่องบินลำนี้กองทัพอากาศไทยจัดถวายเป็นเครื่องบินพระที่นั่ง หมายเลข 33-333 มีรหัสเรียกขาน “วิหกตองสาม” ประสบอุบัติเหตุตกขณะทำการบินทดสอบระบบ Stabilizer Trim Electric ที่ขัดข้อง ที่บ้านหนองกุง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖

 

เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งแบบ ซิคอร์สกี H-19 หรือ S-55 กองทัพอากาศไทย

เฮลิคอปเตอร์แบบที่ 3 (ฮ.3) เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่กองทัพอากาศจัดถวายเป็นเครื่องบินพระที่นั่ง ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคอีสานเป็นครั้งแรก โดยเสด็จจากจังหวัดขอนแก่นไปภูกระดึง จังหวัดเลย และจังหวัดอุดรธานี

เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งแบบ ซิคอร์สกี H-34 หรือ S-58 กองทัพอากาศไทย

เฮลิคอปเตอร์แบบที่ ๔ (ฮ.๔) เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐอเมริกา จำนวน ๖๕ ลำ กองทัพอากาศจัดถวายเป็นเครื่องบินพระที่นั่ง ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน โดยกองทัพอากาศจัดถวายจำนวน ๒ ลำ ที่กองบิน ๖ ดอนเมือง และ กองบิน ๓ นครราชสีมา (ฝูงบิน ๓๒ กองบิน ๓ โคราช พ.ศ. ๒๕๑๐)

ในห้วงที่ พล.อ.อ.บุญชู จันทรุเบกษาเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ ท่านมักจะปฏิบัติหน้าที่เป้นนักบินเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งด้วยตนเอง (ฮ.๔ และ ฮ.๖) จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ

เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งแบบ เบลล์ UH-1 H กองทัพอากาศไทย

วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๑๒ ตอนเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ไปทอดพระเนตรการฝึก ทักษิณ ๑๒ ของกองทัพเรือ ณ จังหวัดสงขลาและจังหวัดนราธิวาส

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯจอมทัพไทย พร้อมด้วยเรือตรีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ(พระอิสริยยศขณะนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การฝึกยกพลขึ้นบกของกองทัพเรือ ณ หาดบ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ในการฝึก “ทักษิณ ๑๒” เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๑๒ การเสด็จพระราชดำเนินในวันนั้น ทั้งสองพระองค์ประทับที่รถสะเทินน้ำสะเทินบกพระที่นั่ง (LVTP MK-4) หมายเลข ๑๐๑ ทั้งสองพระองค์ทรงเครื่องในชุดเครื่องแบบฝึกทหารนาวิโยธิน ซึ่งเป็นชุดเขียวแขนยาว กระเป๋าด้านซ้ายปัก นาวิกโยธิน และทรงสพายพระแสงปืน M.16 ผู้บังคับรถสะเทินน้ำสะเทินบกพระที่นั่ง คือ เรือเอก ทรงพล วงศ์นิวัติขจร รองผู้บังคับกองร้อยรถขึ้นบก ในรถสะเทินน้ำสะเทินบกพระที่นั่งมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ตามเสด็จหลายท่าน เช่น พล.ร.อ.หม่อมเจ้า กาฬวรรณดิส ดิสกุล สรอ., พล.ร.อ.จรูญ เฉลิมเตียรณ ผบ.ทร., พล.ร.ท.โสภณ สุญานเศรษฐกร ผบ.นย., พล.ร.ต.จริง จุลสุขุม ผบ.กยบ. รถสะเทินน้ำสะเทินบกพระที่นั่งได้แล่นเกยหาดยกพลขึ้นบกทางขวาของช่องทางเรือเล็ก (BOAT LANE) ประมาณ ๕๐หลา เมื่อเวลา ๐๘๐๑ หลังจากรถสะเทินน้ำสะเทินบกคลื่นแรก ๙ คัน เกยหาด ๑ นาที (เวลา – น. คือ ๐๘๐๐) ที่บริเวณหาดมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชการฝ่ายบ้านเมืองรอเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกรมนาวิกโยธินที่รอเฝ้ารับเสด็จ ฯ ด้วย คือ น.อ.ยุธยา เชิดบุญเมือง (พล.ร.อ.อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ) เสนาธิการกรมนาวิกโยธินในขณะนั้น ในการฝึกครั้งนี้ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับหน่วยประสานการฝึกทางบก เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินลงจากรถสะเทินน้ำสะเทินบกพระที่นั่ง ก็ได้เสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งเพื่อทอดพระเนตรการยึดหัวหาดของหน่วยทหารนาวิกโยธิน (กำลังบกยกพลขึ้นบก) ที่บริเวณหาดยกพลขึ้นบก และทอดพระเนตรการฝึกดำรงชีพในป่าของกองร้อยลาดตระเวน ผู้ที่กราบบังคมทูลบรรยาย คือ ร.อ.วิสุทธิ พิทักษ์เขตต์ ผู้บังคับกองร้อยลาดตระเวนกองพันกองบังคับการ กรมผสมนาวิกโยธิน หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ทรงพระแสงปืน M.16 ที่สนามยิงปืนชายหาด และทรงมีพระราชดำรัสว่า”ทหารนาวิกโยธินควรจะมาอยู่ที่นี่”การเสด็จ ฯ ในวันนั้น ข้าราชการและประชาชนจังหวัดนราธิวาสมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเป็นล้นพ้น และมีความปรารถนาร่วมกันที่จะเห็นพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นมิ่งขวัญของชาวจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดชายแดนภาคใต้สืบไป ในวันนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับโดยเครื่องบินพระที่นั่งที่สนามบินบ้านทอน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ที่สนามบินบ้านทอนได้มีข้าราชการทหาร ตำรวจ และประชาชนมาส่งเสด็จ ฯ เป็นจำนวนมาก เมื่อ น.อ.ยุธยา เชิดบุญเมือง เสนาธิการกรมนาวิกโยธิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรมที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นมิ่งขวัญของชาวจังหวัดนราธิวาส และชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้สืบไป ต่อมาสำนักพระราชวังได้สร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ที่ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ เมื่อพระตำหนักเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรมตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๖

พล.อ.อ.บุญชู จันทรุเบกษาได้เขียนบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการบินอากาศยานพระที่นั่ง ไว้ในเรื่อง “ การควบคุม และ บินอากาศยานพระที่นั่ง “ และได้ลงพิมพ์ไว้ในหนังสือ “ พระราชภารกิจเกี่ยวกับกองทัพอากาศ “ ซึ่งกล่าวถึงข้อบกพร่องและข้อขัดข้อง ไว้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดถวายการเสด็จพระราชดำเนิน ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีความปลอดภัยในทุกโอกาส ดังเช่นเรื่องนี้ เป็นการถวายการบินด้วย ฮ.๖ พระที่นั่ง ในปีแรก (ปี พ.ศ. ๒๕๑๒)

การบินรับส่งเสด็จฯ ทอดพระเนตรการฝึกทักษิณ ๑๒ ที่ จ.นราธิวาส เมื่อ ๒ ส.ค. ๒๕๑๒

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ จากดอนเมืองโดย บ.ล.๕ พระที่นั่ง ไปยัง จ.สงขลา จาก จ.สงขลา ได้เสด็จพระราชดำเนินและประทับแรมในเรือรบของ ทร. เพื่อทรงร่วมการฝึกจนถึง จ.นราธิวาส โดยทรงร่วมการฝึกยกพลขึ้นบกจากเรือรบขึ้นชายหาด จนถึงสนามบิน จว.นราธิวาส ในตอนเช้าเมื่อเสร็จสิ้นการฝึกแล้ว ได้เสวยพระกระยาหารกลางวันที่สนามบิน และเสด็จ ฯ จากสนามบิน จ.นราธิวาส กลับ จ.สงขลา โดย ฮ.พระที่นั่ง ในตอนบ่าย

ผบ.ทอ. ได้บิน ฮ.๖ จากสงขลา ไปดูการฝึกทักษิณ ๑๒ ที่ชายหาด จว.นราธิวาส เมื่อนำ ฮ. ลงที่ชายหาดแล้ว ก็มอบให้นักบินนำ ฮ. ไปรอที่สนามบิน จว.นราธิวาส เพื่อรับเสด็จ ฯ กลับในตอนบ่าย

เมื่อตอนบินจากสงขลาไปชายหาดนราธิวาสนั้น ใช้เวลาบิน ๔๐ นาที และเมื่อไปถึงนราธิวาสแล้วไม่ได้เติมเชื้อเพลิง คงบินรับเสด็จ ฯ กลับสงขลาด้วยเชื้อเพลิงที่เหลือนั้น ประกอบกับวันนั้นสภาพอากาศไม่ดี จึงเกิดเป็นข้อบกพร่องขึ้น

ผบ.ทอ. ได้บิน ฮ.พระที่นั่ง ขึ้นจากสนามบินนราธิวาส พร้อมด้วย ฮ. ติดตามอีก ๔ เครื่อง เมื่อบินมาได้ประมาณ ๕ นาที พบว่าสภาพอากาศในเส้นทางบินมีฝนตกอย่างหนัก และมีเมฆหนากับได้รับการติดต่อจาก บ. ตำรวจ ซึ่งบินล่วงหน้าว่า สภาพอากาศในเส้นทางเลวมาก แต่ทางทะเลมีสภาพอากาศดี จึงตัดสินใจบินออกทะเลด้วยความจำเป็น เพื่อหลบเมฆหนาและพายุฝน ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวเข้ามาและบังเส้นทางบินอยู่ข้างหน้า เนื่องจากลมแรงทำให้พัด ฮ. ออกทะเลไปมาก และความเร็วเดินทางลดลงด้วย พอบินมาในทะเลได้ประมาณ ๓๐ นาที ไฟแดงของ Master Caution ก็เปิดขึ้น ผู้โดยสารต่างพากันตกใจ โดยเฉพาะสมุหราชองครักษ์ และ พล.ต. ม.ล. จินดา สนิทวงศ์ แพทย์ประจำพระองค์ ตกพระทัยและตกใจมาก สมุหราชองครักษ์ ถึงกับทรงอุทานว่า เครื่องยนต์จะดับหรือ

ขณะนั้น ฮ. ทั้งหมู่บินอยู่ในระยะสูงประมาณ ๑๔๐๐ ฟุต อยู่ในอาการโคลงเคลงและต้องใช้การบังคับมาก เพราะต้องต่อสู้กับพายุฝนตลอดเวลา การที่ไฟแดงเปิด แสดงถึงมีเชื้อเพลิงเหลือน้อย เพียงประมาณ ๑/๔ ของถัง (๓๐๐ ปอนด์) สามารถบินได้อีกประมาณ ๒๐ นาทีเท่านั้น จึงได้ปิดสวิทช์ไฟและแจ้งผู้โดยสารทราบข้อเท็จจริงว่า ไฟแดงนั้นเป็นการ Warning เรื่องเชื้อเพลิง มิใช่เครื่องยนต์จะดับ และมีเวลาพอที่จะบินถึงสงขลาได้ เพราะเห็นแหลมสงขลาอยู่แล้วไม่ต้องตกใจ

หลังจากนั้น ก็หลุดจากพายุฝนเข้าสู่สภาพอากาศโปร่งเป็นปกติ ปรากฏว่า ฮ. ทั้งหมู่ออกมาห่างฝั่งมาก แต่ยังอยู่ในระยะมองเห็นฝั่งด้วยสายตา และพิจารณาเห็นว่าหากจะบินตัดเข้าฝั่งก่อน แล้วบินเลียบชายฝั่งมาสงขลา จะทำให้เสียเวลาและเชื้อเพลิงอาจไม่พอ จึงตัดสินใจบินตัดตรงข้ามทะเลมายังสงขลาเลยทีเดียว และก็บินถึงสงขลาด้วยความเรียบร้อย

เมื่อนำ ฮ. ลงที่หน่วย ตชด. สงขลาแล้ว จึงทราบว่า บ.ตำรวจ ที่บินตรงมาตามเส้นทางบนพื้นดิน ไม่สามารถฝ่าพายุฝนมาได้ ต้องลงพักระหว่างทาง

ได้สังเกตุดูพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ เมื่อไฟแดงที่ Master Caution เปิดขึ้น ไม่ปรากฏว่า ทั้งสองพระองค์ทรงแสดงพระอาการวิตกแต่ประการใด

ส่วนผู้โดยสารอื่นๆ รู้สึกว่า จะตกใจกันมาก เมื่อไฟแดงที่ Master Caution เปิดขึ้น โดยเฉพาะ พล.ต. ม.ล. จินดา สนิทวงศ์ แพทย์ประจำพระองค์ ถึงกับยกพระที่ห้อยคอภาวนาปลุกเศก

ข้อบกพร่องสำหรับ Mission นี้ ก็คือ การที่ไม่ได้เติมเชื้อเพลิงให้เต็มที่ก่อนบินกลับจากสนามบินนราธิวาส ทำให้เชื้อเพลิงเกือบจะไม่พอสำหรับการบินที่ต้องหลบหลีกสภาพอากาศเช่นนี้ แต่ก็ได้คำนวณแล้วว่าถังเชื้อเพลิงเหลือน้อย ก็สามารถที่จะบินถึงสงขลา จุดหมายปลายทางได้โดยปลอดภัย

เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งแบบ เบลล์ UH-1 H เป็นเฮลิคอปเตอร์แบบที่ ๖ (ฮ.๖) ของกองทัพอากาศไทย ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ กองทัพอากาศจัดถวายเป็นเครื่องบินพระที่นั่ง จำนวน ๒ ลำ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๙ กองทัพอากาศจึงได้จัดถวายเครื่อง UH-1 N จำนวน ๒ ลำ มาใช้งานแทน เฮลิคอปเตอร์ ๒ ลำนี้จึงลดระดับมาใช้รับส่งบุคคลสำคัญ

เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งแบบ เบลล์ UH-1 N กองทัพอากาศไทย (พ.ศ. ๒๕๑๙ - พ.ศ. ๒๕๒๕)

เฮลิคอปเตอร์แบบที่ ๖ก (ฮ.๖ก) เป็นเฮลิคอปเตอร์แบบสองเครื่องยนต์ กองทัพอากาศจัดถวายเป็นเครื่องบินพระที่นั่ง จำนวน ๒ ลำ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ ต่อมากองทัพอากาศได้จัดถวายเครื่อง Bell 412 มาใช้งานแทน เฮลิคอปเตอร์ ๒ ลำนี้จึงลดระดับมาใช้รับส่งบุคคลสำคัญ

เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งแบบ เบลล์ 412 กองทัพอากาศไทย (พ.ศ. ๒๕๒๕ – พ.ศ. ๒๕๓๔)

เฮลิคอปเตอร์แบบที่ ๖ข (ฮ.๖ข) กองทัพอากาศจัดถวายเป็นเครื่องบินพระที่นั่ง จำนวน ๒ ลำ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ ต่อมากองทัพอากาศได้จัดถวายเครื่อง Bell 412 HP/SP มาใช้งานแทน เฮลิคอปเตอร์ ๒ ลำนี้จึงลดระดับใช้เป็นเฮลิคอปเตอร์ติดตามขบวนเสด็จ

เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งแบบ ยูโรคอปเตอร์ ซูเปอร์พูม่า AS-332L2 Mk-II กองทัพอากาศไทย พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๔๗

เฮลิคอปเตอร์แบบที่ 9 (ฮ.9) กองทัพอากาศจัดถวายเป็นเครื่องบินพระที่นั่ง จำนวน ๓ ลำ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่เกิดอุบัติเหตุตกเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงไม่ได้ใช้งานอีก ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีได้นำเครื่องที่เหลือ ๒ เครื่อง ไปแลกซื้อเครื่องแอร์บัส A319-115X CJ “ไทยคู่ฟ้า”

ทรงพระเจริญ

คาวาซากิ KV-107 IIA

กองทัพบกไทย เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ 107 (ฮ.ท.๑๐๗) เป็นเฮลิคอปเตอร์แบบสองใบพัดที่รัฐบาลไทยจัดหาโดยใช้งบประมาณของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถวายเป็นเครื่องบินพระที่นั่ง จำนวน ๓ ลำ ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชน และหน่วยทหารที่อยู่ห่างไกล โดยอยู่ในความดูแลของกองทัพบก เครื่องบินรุ่นนี้เป็นรุ่นพิเศษที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น โดยพัฒนามาจากเครื่อง CH-46 Sea Knight ของโบอิง

สหรัฐอเมริกา โบอิง CH-47 D ชินุค รุ่น VIP กองทัพบกไทย

เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ 47 (ฮ.ท.๔๗) เป็นเฮลิคอปเตอร์แบบสองใบพัด ที่จัดซื้อโดยใช้งบประมาณของกองทัพบก จำนวน ๘ เครื่อง โดยเครื่องหนึ่งเป็นรุ่น VIP ถวายเป็นเครื่องบินพระที่นั่ง ส่วนรุ่นทั่วไปนำมาใช้บรรทุกรถบรรทุก รถถัง หรือปืนใหญ่ และใช้ในภารกิจบรรเทาสาธารณภัย ดับไฟป่า ฯลฯ

บรรดาเครื่องบินพระที่นั่งที่กล่าวมานั้น นอกจากได้รับสนองเบื้องพระยุคลบาทแล้ว เมื่อพ้นระยะการใช้งานตามที่กำหนดเพื่อเป็นพระราชพาหนะแล้ว เหล่าทัพต่างๆก็ได้นำไปใช้ในราชการต่อจนปลดประจำการไป

การเสด็จเพื่อทรงงานและทรงเยี่ยมอาณาประชาราษฏร์นั้น ผลสัมฤทธิ์ที่เห็นอยู่จนทุกวันนี้คือ ความสุขความเจริญของราษฏรในพื้นที่ห่างไกลทั่วทั้งราชอาณาจักร ความสงบร่มเย็นของผืนแผ่นดินไทยที่ทำให้สงครามความขัดแย้งทางความคิดสงบลง ปราศจากสงครามที่เกิดจากความแตกต่างทางชนชาติเผ่าพันธุ์ กระทั่งเอกราชของชาติไทยคราวที่เราเผชิญภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสม์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ (วันเสียงปืนแตก) และสงบลงด้วยพระบารมี ทั้งภัยคุกคามของประเทศรอบข้างหมดลง จนทุกวันนี้

ยังมีภาค ๒ ของเรื่องนี้ เป็นเรื่องของอากาศยานพระราชพาหนะที่ยังใช้ในราชการอยู่ครับ

ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล

thaiwikipedia.com

เว็บไซต์ต่างๆที่เขียนโดย พจอ.รัชต์ รัตนวิจารณ์ (ท้าวทองไหล)

http://www.wings-aviation.ch/11-RTAF/200-Aircraft/Boeing-737-300/Transport.htm

http://www.thaifighterclub.org/

http://www.thaiarmedforce.com/

http://chaoprayanews.com/blog/yotin/2014/10/27/%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a8%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%9e%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b0%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88/

ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น