เมื่อปลายเดือนกันยายนสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จัด “โครงการเครือข่ายสถาบันการศึกษาสืบสานพระราชดำริ” รุ่นที่ 1 โดยมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวนกว่า 90 คน เข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้
เพื่อเป็นการขยายเครือข่ายในการนำองค์ความรู้จากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศ์ ให้แก่คณาจารย์จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ได้มีความรู้ความเข้าใจในแนวพระราชดำริและผลสัมฤทธิ์จากการพัฒนาในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและต่อยอดสู่ผู้อื่นต่อไป
นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการ กปร.ในขณะนั้น กล่าวว่า นับเป็นเวลากว่า 65 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติ พระองค์เอง พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ล้วนอุทิศพระวรกาย พระราชทรัพย์ ด้วยพระวิริยอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กว่า 4,447 โครงการในทุกภูมิภาคเพื่อเป็นต้นแบบดำเนินชีวิตแก่ ทุกกลุ่มประชาชน ทุกสาขาของการพัฒนา ด้วยพระปรีชาสามารถที่ทรงนำหลักวิชาการต่างๆ มาประสานประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตคนไทย
จนเป็นศาสตร์พระราชา ที่ครอบคลุมทุกด้าน
“สำนักงาน กปร เล็งเห็นว่าคณาจารย์ทั่วประเทศ เป็นส่วนสำคัญในการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางสำคัญในการถ่ายทอด ปลูกฝังความรู้จากแนวพระราชดำริ ตลอดรวมถึงนำผลสำเร็จจากการพัฒนาส่งต่อยังนิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการสร้างความเจริญและมั่นคงให้แก่ประเทศชาติให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถน้อมนำพร้อมกับร่วมสืบสานพระราชดำริได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและชัดเจน อันจะส่งผลถึงการพัฒนาที่สอดรับกับการสร้างรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาประเทศต่อไปจึงจัด” โครงการเครือข่ายสถาบันการศึกษาสืบสานพระราชดำริ” ขึ้น” เลขาฯ กปร. กล่าว
ในการจัดอบรมครั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้ถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรอยู่ดีกินดี จึงได้จัดตั้งโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ขึ้นในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในปี 2504
เรียนรู้แนวพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำจากโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แหล่งน้ำแห่งแรกที่เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ปี 2496
รวมถึงได้เรียนรู้ผลสำเร็จของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เป็นเสมือนโรงเรียนนอกระบบที่ให้ความรู้ด้านการพัฒนาดินน้ำ ป่า อาชีพ แบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว และได้ขยายผลความสำเร็จจากการพัฒนาไปสู่ราษฎร จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยได้เรียนรู้การทำการเกษตรผสมผสานจากเกษตรกรต้นแบบ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริจนประสบผลสำเร็จในการดำเนินชีวิตอันสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติเองได้อย่างง่ายและเป็นไปตามหลักวิชาการอีกด้วย
ผู้เข้ารับการอบรม ยังได้เรียนรู้ถึงแนวทางในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติของส่วนราชการที่ประสบผลสำเร็จจนกระทั่งได้เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จากรางวัลผลงานดีเด่นรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากการประกวดผลงานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯ ของสำนักงาน กปร.
พร้อมกับได้เยี่ยมชมโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โครงการที่ปัจจุบันประสบผลสำเร็จเป็นต้นแบบการบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะโดยวิธีธรรมชาติตลอดจนสามารถฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นในอดีตอีกด้วย
นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีซึ่งเป็นประธานเปิดโครงการ กล่าวในพิธีว่า องค์ความรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริเกิดขึ้นด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิริยอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมุ่งมั่นพระราชหฤทัยนำประโยชน์สุขสู่พสกนิกรชาวไทยตลอดระยะเวลาที่ครองสิริราชสมบัติ
พระองค์ทรงเป็น ‘ครูของแผ่นดิน’ ตามความหมายของคำว่า ‘ครู’ ด้วยการทรงงานอย่างหนัก ทรงเป็นอาจารย์แห่งแผ่นดิน ตามความหมายของคำว่า อาจาริยะ ซึ่งหมายถึงผู้ถ่ายทอดความรู้ และธรรมจรรยาแก่ศิษย์
ดั่งที่ทุกท่านได้ประจักษ์แจ้งถึงพระราชจริยวัตรอันงดงามตามหลักทศพิศราชธรรม
“พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของครูทั้งหลาย ด้วยการทรงงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรของพระองค์ ด้วยการถ่ายทอดความรู้ที่สั่งสมจากการทรงงาน ทั้งที่เป็นพระบรมราโชวาท ทั้งที่เป็นพระราชดำรัส สมดังที่รัฐบาลถวายพระราชสมัญญานามว่า ‘พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน’ ไม่เพียงแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เท่านั้นที่ทรงได้รับการถวายราชสมัญญานาม แต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอดก็ได้รับการถวายพระราชสมัญญานามจากรัฐบาลว่า ‘พระผู้ทรงเป็นแม่และเป็นครูแห่งแผ่นดิน’ เช่นกัน”
องคมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ที่เป็นครูเป็นอาจารย์ทั้งหลายควรที่จะภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทสืบสานหน้าที่ความเป็นครู ในการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจ ขัดเกลาจรรยา ความประพฤติให้แก่เยาวชนของชาติ
ซึ่งการเข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และช่วยเผยแพร่สู่ นักเรียน นักศึกษา เยาวชนต่อไป.
………………………………..
รายงานโดย คุณณพาภรณ์ ปรีเสม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น