วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

8 สิ่งน่าคิดจากบ้านใน “ประเทศไทย”



ปัจจัยหนึ่งที่เราต้องนำมาคิดวิเคราะห์สำหรับการออกแบบงานสถาปัตยกรรมก็คือ “ที่ตั้ง” ซึ่งในที่นี้หมายถึงบ้านหรืออาคารนั้นตั้งอยู่ในประเทศใด มีภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร คอลัมน์ “สถาปัตยกรรม”ฉบับนี้ ขอนำเสนอรายละเอียดของบ้านที่เหมาะกับภูมิประเทศของเมืองไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองร้อนชื้น และมีฝนตกชุก มาดูกันว่ามีไอเดียการออกแบบอะไรบ้างที่น่าสนใจ


1. ยกพื้นดีกว่า
เรือนไทยหรือเรือนพื้นถิ่นสมัยก่อนมักยกพื้นบ้านสูงจากพื้นดิน ปัจจุบันบ้านพักอาศัยโดยทั่วไปจะสูงจากพื้นประมาณ 40 - 70 เซนติเมตร บางบ้านกลัวปัญหาน้ำท่วมจึงยกพื้นสูงกว่านั้น ส่วนใหญ่นิยมยกพื้นชั้นล่างสูงขึ้น 1 เมตร เพราะเป็นตัวเลขที่ลงตัว แต่ความจริงแล้วมีค่าใช้จ่ายแพงมาก เนื่องจากระยะนี้ต้องใช้ทรายถมแทนไม้แบบ หากใช้ไม้แบบก็ต้องทิ้งไม้แบบนั้นไปเลย เพราะความสูงใต้พื้นคานไม่พอที่จะคลานเข้าไปนำไม้แบบออกมา ถ้าอยากประหยัดขอแนะนำให้ยกพื้นขึ้นอย่างน้อย 1.20 เมตร ซึ่งจะมีความสูงใต้พื้นคานเพียงพอที่จะนำไม้แบบออกมา หรือไม่ก็ต่ำกว่า 1 เมตร ไปเลย จะได้เสียค่าทรายถมแทนไม้แบบน้อยลง แต่กรณีเป็นพื้นสำเร็จอาจใช้ระยะสูง 1 เมตรได้ เพราะใต้พื้นสำเร็จมีเฉพาะเสาเล็กๆ ค้ำยันอยู่ การย้ายออกมาจึงง่ายและไม่จำเป็นต้องถมทรายสูงจนถึงท้องพื้น


2. ชายคาบังแดดกันฝนได้จริง
บ้านไทยต้องมีชายคายาว แต่ระยะของชายคาที่เราเห็นจนชินตามักยื่นออกมาจากผนังอาคารประมาณ 50 - 60 เซนติเมตร ตัวเลขนี้ได้รับอิทธิพลจากระยะยื่นชายคาของบ้านแบบตะวันตก ซึ่งในเมืองหนาวจะมีข้อจำกัดด้านสภาพภูมิอากาศและวัสดุ (น้ำหนักของหิมะและไม้เนื้ออ่อน) สำหรับระยะการยื่นชายคาที่เหมาะสมของบ้านเราก็คือ 1 - 1.20 เมตร ตัวเลขนี้เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและวัสดุอีกเช่นกัน ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น กล่าวคือมีอากาศร้อนและฝนตกชุก จึงควรยื่นชายคาออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความร้อนจากแสงอาทิตย์และน้ำฝนที่จะโดนผนัง ขณะเดียวกันประเทศไทยก็โชคดีที่มีไม้เนื้อแข็ง ซึ่งสามารถรับน้ำหนักของชายคาที่ยื่นยาว 1 - 1.20 เมตรได้โดยไม่ต้องมีค้ำยัน ปัจจุบันยังมีวัสดุเหล็กที่มีความแข็งแกร่ง จึงทำให้ยื่นชายคาได้มากยิ่งขึ้น


3. ช่องว่างใต้หลังคาให้ลมผ่าน
คนสมัยโบราณคิดถึงความเป็นจริงที่ว่าอากาศร้อนลอยขึ้นสู่ที่สูง บริเวณหน้าจั่วของบ้านทรงไทยจึงมีการออกแบบให้สามารถระบายอากาศได้ เช่น หน้าจั่วรูปดวงอาทิตย์ หน้าจั่วใบเรือ แต่สมัยนี้การใช้หน้าจั่วลักษณะดังกล่าวอาจดูเชยและไม่เข้ากับตัวอาคาร อย่างไรก็ตามเราอาจนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ได้ เช่น การออกแบบหลังคาสองชั้น โดยให้หนังคาชั้นล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กปกติ แต่ทำหลังคาซ้อนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้เกิดช่องอากาศใต้หลังคาทั้งสอง เป็นการป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้เป็นอย่างดี


4. บ้านเย็นด้วยช่องแสงใต้หลังคาหรือคอสอง
คอสอง คือ องค์ประกอบของอาคารนับตั้งแต่คาน หรือคร่าวผนังส่วนบนสุดจนถึงโครงสร้างรับหลังคา ช่องว่างที่เกิดขึ้นนี้นิยมเปิดให้ลมระบายหรือให้แสงเข้า พบได้มากในเรือนไทยประเพณีของภาคใต้ นิยมแกะสลักลายฉลุสวยงามและโปร่ง เพื่อให้ถ่ายเทอากาศได้ดี ถ้าสังเกตจะเห็นเป็นช่องแสงอยู่ใต้หลังคาติดกับฝ้าชายคา หากนำไปประยุกต์กับบ้านสมัยใหม่ที่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ก็อาจต้องติดกระจกใสด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันอากาศเย็นไหลออก

5. ผนังระบายอากาศ
“ฝาไหล” คือ การทำฝาไม้สองชั้นตีเว้นช่องสลับกัน หากเลื่อนมาซ้อนกันก็จะเป็นฝาผนังทึบตัน แต่หากเลื่อนขยับฝาชั้นในก็จะทำให้เกิดรูที่ฝานั้น แสงและลมจึงผ่านเข้า-ออกได้ ไอเดียนี้แสดงให้เห็นเรื่องการเลือกให้ผนังบางส่วนเปิดรับแสงและลมได้บ้างในบริเวณที่ต้องการให้เป็นช่องมองผ่านออกจากตัวบ้านหรืออยากระบายอากาศ อาจประยุกต์ให้ดูทันสมัยขึ้นด้วยการใช้เส้นสายแนวตั้งหรือแนวนอน และใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น

6. ช่องแมวลอดมีอยู่จริง
ช่องแมวลอด หรือร่องตีนแมว คือ ช่องระหว่างพื้นของเรือนไทยที่ยกระดับแตกต่างกัน เช่น จากชานเรือนกับระเบียงหน้าห้อง ส่วนใหญ่จะสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นทางให้ลมโกรกผ่านกระจายไปทั่วเรือน มีความสูงพอจะทำให้คนเดินอย่างระมัดระวัง อีกทั้งเหมาะกับการนั่งห้อยขาพักผ่อนหรือทำงาน รวมถึงยังมองลอดระหว่างชานเรือนกับใต้ถุนได้ด้วย หากพิจารณาดีๆช่องแมวลอดนี้ถือเป็นการใช้พลังงานให้เกิดสภาวะน่าสบาย เรียกได้ว่าเป็นภูมิปัญญาขั้นสูงของเรือนไทย เพราะเป็นช่องรีดลม เพิ่มความเร็วของลม ถ่ายเทอากาศ และช่วยไล่ความชื้นที่สะสมในตัวเรือน (ความชื้นทำให้เรารู้สึกอึดอัด เพราะเหงื่อตามผิวกายไม่ระเหยออก) ดังนั้น หากใครคิดจะทำเรือนไทย อย่าไปปิดช่องแมวลอด เนื่องจากจะทำให้อากาศถ่ายเทลำบาก และผู้อยู่อาศัยอาจรู้สึกร้อนหรืออึดอัด

7. ครัวไทยต่างจากครัวฝรั่ง
บ้านไหนที่คิดว่าจะมีการทำอาหารแบบจริงจัง ใช้งานหนัก ใช้งานประจำ การออกแบบครัวแยกออกมาจากตัวบ้านเหมือนเรือนไทยสมัยก่อนเป็นสิ่งที่เหมาะสมและใช้งานได้สะดวกที่สุด เพราะการทำอาหารไทยจะได้กลิ่นฉุนจากเครื่องปรุง หากมีการตำน้ำพริกก็ต้องใช้เคาน์เตอร์ครัวที่แข็งแรงหรืออาจตำที่พื้น อีกทั้งเรื่องความร้อนที่เกิดจากการปรุงอาหาร การแยกครัวออกมาจากตัวบ้านโดยอยู่ไม่ห่างกันมากนักจึงเป็นทางออกที่ดี

8. พื้นที่โล่งรอบบ้านสำหรับการพักผ่อน
เพื่อให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ เรายอมแลกกับความไม่สบายบางอย่าง เช่น การเปิดพื้นที่โล่งรอบบ้านให้แสงแดดและลมเข้ามาภายในบริเวณบ้านได้ ก็อาจต้องแลกกับการมีฝนสาดเข้ามา คนสมัยก่อนเข้าใจธรรมชาติดี บ้านเรือนไทยจึงมีการเชื่อมพื้นที่ห้องต่างๆด้วยชานโล่ง ถือเป็นพื้นที่เปิดโล่งที่ช่วยให้บ้านเย็นสบายและน่าอยู่ หรือจะเป็นพื้นที่พักผ่อนนอกบ้านอย่างศาลาหรือแพริมน้ำ ในยามแดดร่มลมตกก็เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของทุกคนในบ้านได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ยังหมายถึงการมีระยะเว้นว่างระหว่างตัวบ้าน จากห้องถึงห้อง จากอาคารถึงอาคาร เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวตัวอาคารให้สามารถระบายความร้อนออกไปได้ดีขึ้นด้วย


ข้อมูลจาก
http://www.baanlaesuan.com/House.aspx?pid=1&cid=27

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น