น้ำยมกัดเซาะพนังกั้นทะลักท่วมตลาดสดเทศบาลเมืองสุโขทัย ภาพโดย คุณอำนาจ
วันที่ส่ง: 2012-09-10 09:37:37
สภาพน้ำท่วมขังตลาดสด ในตัวเมืองสุโขทัย ภาพโดย คุณเฉลิม
สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยโพสต์, ครอบครัวข่าว 3, ครอบครัวข่าว 3
ยิ่งลักษณ์ เรียก กบอ. ถกด่วน หลังมีแววซ้ำรอยมหาอุทกภัย เตรียมลงพื้นที่ในภาคเหนือ 13 กันยายนนี้ พร้อมยกมือไหว้ขอโทษชาวบ้านที่เงินเยียวยายังไม่ถึงมือ ด้าน รอยล ลั่นไม่น่าห่วง แต่ให้จับตา เขื่อนวชิราลงกรณ์ - ป่าสักชลสิทธิ์ ระทึก! มีน้ำทุ่งเจ้าพระยารอปล่อยผ่าน กทม. ชี้ฝนตกเมื่อวันที่ 6 กันยายน กรุงเทพฯ ยังต้องใช้เวลา 4 วันถึงระบายหมด
สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด เริ่มทำให้เกิดความวิตกกังวลในวงกว้างว่าอาจซ้ำรอยเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 จนทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) อย่างเร่งด่วนวานนี้ (10 กันยายน 2555) โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
ต่อมานายรอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และจัดสรรน้ำใน กบอ., นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ร่วมแถลงผลประชุมดังกล่าว โดยนายรอยล ระบุว่า สถานการณ์น้ำและคูคลองยังไม่มีเรื่องน่าห่วง ส่วนกรณีจังหวัดสุโขทัยที่น้ำท่วมเทศบาลนั้น มาจากน้ำเซาะใต้กำแพงกันน้ำเข้ามา ซึ่งกำแพงมีขีดความสามารถในการรับน้ำ 800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที แต่ปริมาณน้ำยังต่ำกว่ากำแพงเกือบ 1 เมตร
นายรอยล กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือเขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งปริมาณน้ำเข้าเขื่อนค่อนข้างเยอะ แม้ปริมาณน้ำฝนปีนี้ยังถือว่าน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 20% แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ เรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพราะมีพื้นที่ระบายน้ำที่แคบ โดยเมื่อวันที่ 6 กันยายน ซึ่งฝนตกหนักใน กทม. ยังต้องใช้เวลาถึง 4 วันกว่าจะระบายน้ำให้สถานการณ์คลี่คลายได้ และขณะนี้ยังมีน้ำที่อยู่บนทุ่งเจ้าพระยาที่รอปล่อยผ่าน กทม. เพื่อลงสู่ทะเลอีกปริมาณมาก แต่มั่นใจว่าคณะทำงานจะประเมินประสิทธิภาพของคันกั้นน้ำ และประตูระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำให้เกิดความสมดุลกับศักยภาพที่ กทม. มีอยู่ได้
นายรอยล ยังระบุว่า นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) ของ กทม. ได้มาร่วมประชุมด้วย ซึ่งได้ขอบคุณ กบอ. ที่ช่วยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในคลองลาดพร้าวเมื่อคืนวันที่ 6 กันยายน เพื่อทดสอบการระบายน้ำในวันที่ 7 กันยายน จึงได้ใช้จริง และถือว่า กบอ. ได้ซักซ้อมระบายน้ำที่คลองลาดพร้าวไปในตัว ซึ่งเป็นไปได้ด้วยดี หากไม่มีการทดสอบในวันนั้น พื้นที่แถวย่านประชาชื่นอาจเกิดน้ำท่วมได้
จับตา 13 - 14 กันยายน
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า นายกฯ ได้ย้ำให้ดูสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากวันที่ 13 - 14 กันยายนนี้ คาดว่าจะมีฝนตกหนัก ซึ่งการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาของกรมชลประทานนั้น ได้ระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุดที่ 1,800 ลบ.ม.ต่อวินาที จากประสิทธิภาพสูงสุดที่ทำได้ถึง 2,500 ลบ.ม. โดยจะควบคุมการปล่อยน้ำระดับ 1,800 ลบ.ม.ต่อวินาทีไปอีก 2 - 3 วันในสัปดาห์นี้ ควบคู่ไปกับการระบายน้ำจากคลองระพีพัฒน์ และระบายน้ำผ่านประตูน้ำเสาวภาผ่องศรี จ.นครนายก ด้วย ส่วนการทดสอบระบายน้ำในพื้นที่ กทม. ฝั่งตะวันออกนั้น ต้องหาวันเวลาที่เหมาะสม โดยให้รอหลังสถานการณ์น้ำฝนและน้ำป่าในภาคเหนือเริ่มคลี่คลายลง
ขณะที่นายวิบูลย์ กล่าวว่า นายกฯ ได้ย้ำให้แก้ไขปัญหาใน จ.สุโขทัยเร็วที่สุด ซึ่งได้ประสานผู้ว่าฯ แล้ว โดยกำแพงกั้นน้ำที่ชำรุดเป็นสิ่งที่ท้องถิ่นต้องเร่งแก้โดยเร็ว ส่วนที่ จ.ลำพูน ที่มีปัญหาน้ำป่าเซาะทางรถไฟขาด ไม่สามารถเดินทางต่อไปยังสายเหนือได้นั้น วิศวกรใหญ่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเร่งแก้ไขให้เสร็จภายในวันที่ 11 กันยายน เพื่อให้การเดินทางโดยรถไฟไปยังสายเหนือกลับมาใช้ได้ตามปกติ
13 กันยายน นายกฯ ลงตรวจน้ำ
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า สถานการณ์ไม่น่ากังวลอะไร เพราะการรับน้ำจากลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ ยังสามารถรับน้ำได้อีก ยกเว้นแม่น้ำยมที่ยังไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำ ทำให้ส่งผลกระทบไปยัง จ.สุโขทัย ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างแก้ไขอยู่ โดยในวัน 13 กันยายนนี้ นายกฯ จะเดินทางไปดูสถานการณ์น้ำในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ
นายกฯ รับปากเร่งเงินเยียวยาให้ชาวท่าอิฐ
ในช่วงเช้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางไปเป็นประธานพิธีเปิดอาคารสำนักงานเทศบาลนครนนทบุรีหลังใหม่ ทั้งนี้ได้มีกลุ่มชาวบ้าน ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี กว่า 10 หมู่บ้าน เข้ายื่นหนังสือต่อนายกฯ พร้อมสอบถามถึงเงินเยียวยาที่ยังไม่ได้รับ ซึ่งเมื่อนายกฯ ได้รับฟังปัญหาแล้วจึงยกมือไหว้และกล่าวขอโทษชาวบ้าน ที่รัฐบาลดูแลเยียวยาประชาชนไม่ทั่วถึง พร้อมระบุว่า ตอนนี้เราได้รับเรื่องทั้งหมดแล้ว ฉะนั้นไม่ต้องห่วง ทุกคนที่ยื่นเรื่องกับจังหวัดและจังหวัดรับเรื่องแล้วจะได้รับเงินทั้งหมด โดยรับปากว่าจะเร่งให้เร็วที่สุด และจะมอบหมายให้ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกฯ เป็นผู้ประสานกับผู้ว่าฯ เรื่องการจ่ายเงิน แต่ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าจะจ่ายเงินได้วันไหน ขอให้เจ้าหน้าที่ดูรายละเอียดก่อน เพราะถ้ารับปากวันนี้แล้วไม่มีข้อมูลก็จะไม่สบายใจ
"ดิฉันขอรับปากและรับประกัน ใครที่ยื่นเรื่องแล้วไม่ได้เงินให้แจ้งโดยตรงกับรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาได้เลย" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวกับประชาชนที่มาร้องเรียน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ย้ำอีกครั้งว่า เรื่องเงินเยียวยาอาจเป็นเรื่องขั้นตอนที่ตกหล่นและความเข้าใจไม่ตรงกัน แต่ได้กำชับกับผู้ว่าราชการทุกจังหวัดให้ชี้แจงประชาชน เพราะบางครั้งยังมีขั้นตอนท้องถิ่นด้วย ยืนยันว่างานทุกอย่างถ้าเป็นความเดือดร้อนของประชาชน เราต้องรับเรื่องนี้ไว้ทั้งหมด
สถานการณ์อุทกภัย
โดยเฉพาะที่ จ.สุโขทัยนั้น น้ำยมยังคงทะลักท่วมไม่หยุด ระดับน้ำเพิ่มต่อเนื่อง โดยย่านกลางเมืองมีปริมาณน้ำสูงกว่า 1 เมตรแล้ว ถนนหลายสายในตัวเมืองต้องกลายเป็นอัมพาต รวมทั้งสถานที่ราชการสำคัญ ทั้งศาลากลาง อบจ. และโรงเรียนก็มีน้ำท่วมขังสูงกว่า 50 เซนติเมตร
ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา สถานการณ์น้ำก็ใกล้วิกฤติ เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ได้เร่งระบายน้ำมายังท้ายเขื่อนด้วยปริมาณ 2,000 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับแม่น้ำน้อยที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสูง 30-50 เซนติเมตร โดยได้ไหลเข้าท่วม ต.ท่าดินแดง ต.ตาลาน ต.กุฎี ต.ลาดชิด ต.ผักไห่ อำเภอผักไห่ อ.เสนา อ.บางบาล ซึ่งจังหวัดได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนขนของขึ้นที่สูง เพราะระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
นายสมศักดิ์ สงฆ์เจริญ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56 หมู่ 4 ต.ตาลาน อ.ผักไห่ กล่าวว่า ได้ทยอยขนของมา 2 วันแล้ว เพราะมีเจ้าหน้าที่เตือนว่าน้ำจะท่วม แต่ไม่นึกว่าน้ำจะมาเร็ว ส่วนนายธงชัย ขันธบัณฑิต กล่าวว่า น้ำขึ้นเร็วมาก ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบหลายสิบปี คืนเดียวน้ำจากคลองบางหลวง สูงขึ้นเกือบ 1 เมตร ชาวบ้านต้องขนของหนีน้ำกันจ้าละหวั่น ซึ่งเจ้าหน้าที่เตือนล่าช้า ทำให้ขนของหนีน้ำไม่ทัน ขณะนี้ถนนในหมู่บ้านหลายสายเริ่มทยอยจมน้ำ ถูกตัดขาด รถยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถวิ่งเข้าออกได้ ต้องหันมาใช้รถไถนาขับขนของเข้าออกแทน
ส่วนที่ จ.อุตรดิตถ์ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน รองผู้ว่าฯ พร้อมคณะได้นำถุงยังชีพ 1,500 ชุดไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน ที่ประสบภัยน้ำป่าจากห้วยปูเจ้าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ อ.ลับแล ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้ประชาชนกว่า 1,500 ครัวเรือน ใน 28 หมู่บ้าน 5 ตำบล พร้อมทั้งเตือนชาวบ้านว่ายังต้องเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่ม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น