วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

“ผ้าไหม”สายใยรักจาก“พระราชินี”ถึง“ราษฎร”



ภาพราษฎรที่หมอบกราบ นำผ้าไหมผืนงามขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อาจเป็นภาพที่คุ้นตาประชาชนทั่วไป

แต่เบื้องหลังภาพเหล่านั้น ยังมีความเป็นมา มีความรักและความผูกพันระหว่าง พระราชินีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถกับ ราษฎรที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี

ห้องทรงงาน

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เล่าว่า ห้องทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นั้น เต็มไปด้วย ผ้าไหมไทยหลากสีหลากลวดลาย ที่เดินทางมาจากภูมิภาคต่างๆ กันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515

ผ้าไหมไทยเดินทางมาสู่ ห้องทรงงานได้ก็เพราะน้ำพระทัยห่วงใยและแน่วแน่ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงต้องการจะช่วยเหลือราษฎรที่ทุกข์ยากเดือดร้อน ให้สามารถช่วยเหลือตัวเอง และยืนอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างมั่นคง

เป็นการสนองพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ในภาคอีสาน ที่จังหวัดนครพนม เมื่อปี พ.ศ.2513 ครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทอดพระเนตรฯเห็นราษฎรที่มาเฝ้าฯ ล้วนนุ่งห่มผ้าไหมไทยที่ทอใช้เองอย่างงดงาม

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงสนพระทัยศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการทอผ้าไหม

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ผู้สนองงานในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มาแต่เริ่มแรกเล่าว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ อดีตราชเลขานุการในพระองค์ฯ นำคณะออกไปเลือกซื้อผ้าที่ชาวบ้านทอเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2515

ครั้งแรกไปที่เรณูนคร ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวคล้ายสันกำแพง แต่เรณูนครสมัยนั้นยังเล็กๆ ก็ซื้อผ้ากลับมาได้ไม่กี่ผืน ส่วนมากเป็นผ้าฝ้ายย้อมคราม ผ้าไหมก็พอมีบ้างแต่ไม่มาก

พอนำกลับมาทูลเกล้าฯ ถวาย รับสั่งว่าไม่ใช่ผ้าที่ได้ทอดพระเนตรรับสั่งให้ท่านผู้หญิงสุประภาดาและดิฉันกลับไปใหม่ คราวนี้ ให้ไปเดินตามบ้านชาวบ้าน แล้วไปขอซื้อผ้าจากชาวบ้าน

เลยมาคิดว่า ครั้งแรก ทั้งท่านผู้หญิงสุประภาดาและดิฉันคงยังไม่เข้าใจในพระราชประสงค์อย่างถ่องแท้

การเดินทางไปขอซื้อผ้าถึงบ้านชาวบ้านครั้งต่อ ๆ มานั้น ทำให้ท่านผู้หญิงสุประภาดาและดิฉันได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านพร้อมกันไปด้วย

ชาวบ้านอีสานสมัยนั้นเขายากจนจริงๆ ดังที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงคาดไว้ อยู่บ้านใต้ถุนสูงเก่าๆ หลังเล็กๆ และใช้เสาสองเสาของบ้านเป็นส่วนหนึ่งของกี่ทอผ้าไปด้วย

ส่วนที่นอกชานก็จะมีกระจาดเลี้ยงไหม คลุมด้วยผ้าขาวม้าเก่าๆ แต่สะอาด

และส่วนใหญ่ก็จะมีแต่คนแก่นั่งทอผ้า ส่วนสาวๆ ก็เริ่มไปทำงานโรงงาน หรือไม่ก็ไปรับจ้าง

การขอซื้อผ้าจากชาวบ้านในครั้งแรกๆ นั้น ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์เล่าว่าเต็มไปด้วยความลำบาก ต้องไปอ้อนวอนขอซื้อ เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านเขาจะทำไว้นุ่งเองเราไปขอซื้อ เขาก็ถามว่าจะซื้อไปทำไม เราก็บอกสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะทรงช่วยเหลือ รับสั่งให้มาซื้อผ้ากลับไปถวาย ปัญหาอีกอย่างคือชาวบ้านขายไม่เป็น เพราะเขาไม่เคยขาย เคยแต่นำผ้าที่ทอแล้วไปแลกข้าว

ซึ่งพอคิดไปคิดมาแล้ว ราคาผ้าตกผืนละ 50 บาท 80 บาท เท่านั้นเอง ในปี พ.ศ.2515 เมื่อทรงทราบก็รับสั่งให้ราคาแค่นี้ไม่ได้ ก็ให้ชาวบ้านไปผืนละ 200-300 บาท ชาวบ้านก็ตกใจบอกว่าไม่มีผ้าให้เท่ากับจำนวนเงินนี้

เราต้องบอกนี้เป็นเงินพระราชทาน ให้เก็บไว้เป็นขวัญถุง จะได้มีกินแล้วก็งอกเงย ชาวบ้านเขาถึงยอมรับเงิน

เมื่อนำผ้าไหมที่ซื้อจากชาวบ้านกลับมาทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงสอนและพระราชทานให้ความรู้เรื่องผ้าไหมไทย

ทรงสอนว่าเส้นไหมไทยที่คุณภาพเลิศที่สุดเรียกว่า ไหมน้อยซึ่งอยู่ชั้นในสุดของรังไหม เป็นเส้นไหมที่เล็กละเอียด ส่วนเส้นที่เป็นปุ่มปมจะอยู่ชั้นนอก

ทรงสอนว่าผ้าไหมไทยที่ทำจากไหมน้อยจะนุ่ม และสามารถใส่ผ้าเข้าไปในรูแหวนและดึงลอดออกมาทั้งผืนได้ ซึ่งแสดงถึงความละเอียดของ แพรไหมสิ่งเหล่านี้ทรงศึกษาและทรงสอนพระราชทานทั้งสิ้น

จากนั้นก็รับสั่งให้ท่านผู้หญิงสุประภาดานำคณะกลับไปหาผู้ทอคนเดิม นำผ้าชิ้นเดิมกลับไป แล้วบอกให้เขาทอเพิ่มอีก จะทรงรับซื้อ

จากหมู่บ้านหนึ่ง การซื้อผ้าไหมจากชาวบ้านของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ก็เริ่มขยับขยายไปยังอีกหมู่บ้าน ตามทางเกวียน และเสียงปู๊นที่ลากยาวของชาวบ้าน บอกระยะทางที่ห่างไกลระหว่างหมู่บ้านหนึ่งกับอีกหมู่บ้านหนึ่ง

และขยับขยายไปยังจังหวัดต่างๆ จนทั่วภาคอีสานทั้ง 16 จังหวัด กระทั่ง ห้องทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินาถ เต็มไปด้วย ผ้าไหมไทย

พร้อม ๆ กับ ผ้าไหมก็ขยับขายไปสู่การส่งเสริมงานฝีมือแขนงอื่นๆ ที่ชาวบ้านทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยบรรจงสรรค์สร้างขึ้นด้วยหัวใจซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

พระกุศโลบาย ผ่าน ใยไหม

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์เล่าว่า คำสอนอีกอย่างของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือทรงสอนให้รักษา สัญญาที่ให้ไว้กับชาวบ้าน บ้านไหน เรื่องอะไร ต้องกลับไปทำตามสัญญา และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ก็ดำเนินตามพระดำรัสในเรื่องนี้มาตลอด

อย่างครั้งแรก ๆ ที่เรากลับไปให้ชาวบ้านทอผ้าผืนใหม่ให้ ชาวบ้านก็บอกโอย..ไม่มีเวลา ต้องทำนา ทำสวน ต้องหาเช้ากินค่ำ

จะทอผ้าได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ จะเลี้ยงไหมได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะสมัยก่อนต้องทำตั้งแต่เลี้ยงไหม และทำทุกอย่างครบวงจรอยู่ในบ้าน เราก็บอกไม่เป็นไร ได้เมื่อไรก็เมื่อนั้น

แต่ปีหน้า เดือนนี้จะกลับมานะ ถ้ามาแล้วได้ผ้าก็เอาไป ถ้าไม่ได้ก็รอไปอีกปีหนึ่ง

แล้วรับสั่งว่า ต้องให้เงินชาวบ้านไว้ล่วงหน้าเป็นมัดจำก่อน เขาจะได้มีเงินใช้จ่ายในช่วงที่นั่งทอผ้าไหม แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับเงินล่วงหน้าง่ายๆนะคะ ต้องคะยั้นคะยอกัน เพราะชาวบ้านกลัวว่ารับเงินแล้ว ไม่ได้ทำจะผิดสัญญา

รับสั่งเสมอว่า ถ้าฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ก็ต้องให้ชาวบ้านออกทำไร่ ทำนาของเขา แต่ยามที่คอยข้าวออกรวง คอยข้าวสุก ชาวบ้านจะมีเวลาว่างก็ค่อยให้เขาทอผ้า เขาจะได้ไม่ต้องออกไปรับจ้างหางานนอกบ้าน

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังพระราชทานเกียรติช่างทอผ้าชาวบ้านอย่างสูงยิ่ง ดังที่ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์เล่าว่า

ทรงสอนให้สังเกต ให้เรียนรู้จากชาวบ้าน รับสั่งว่า ชาวบ้านคือ ครูที่ดีที่สุด ให้เรียนรู้จากเขา

นอกจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงสนับสนุนให้ชาวบ้านทอผ้าไหมเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวแล้ว ยังทรงสอนให้ชาวบ้านเป็นนักอนุรักษ์

คืออนุรักษ์ลวดลายผ้าไหมไทยแต่โบราณไว้ไม่ให้สูญหาย รวมถึงอนุรักษ์พันธุ์ไหมไทยแท้ ๆ ควบคู่กันไปด้วย

ทรงสนับสนุนให้ชาวบ้านอนุรักษ์การทอผ้าลวดลายโบราณ รับสั่งว่า ผ้าขี้ริ้วที่ชาวบ้านถูเรือนก็ต้องดูด้วย เพราะลายผ้าจะอยู่ตรงนั้น คือธรรมชาติของคนเรามักจะนำผ้าเก่ามาทำผ้าขี้ริ้ว

เราไปถึงเห็นผ้าขี้ริ้วก็รีบคลี่ดู แล้วก็เห็นว่าลายสวยจริงๆ พอถามว่าผืนนี้ใครทอ เขาก็บอกว่ายายทอไว้ แม่ทอไว้ มันเก่าแล้วเลยนำมาทำผ้าขี้ริ้วเราก็บอกให้ชาวบ้านทอลายนั้นเลย ลายนี่ละสวย ชาวบ้านเขาก็ทอมา

และทรงกำชับเสมอว่า อย่าไปออกแบบสี ออกแบบลายให้ชาวบ้าน แต่ต้องพยายามไม่ให้เขาทิ้งลวดลายเก่า

ต่อมา จึงทรงจัดให้มีการประกวดผ้าไหมทุกปี ที่พระตำหนักภูพานฯ จังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านทอผ้าลายโบราณอย่างน้อย 1 ชิ้นใน 1 ปี

ผ้าไหม ยังช่วยให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทราบถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎร กระทั่งทรงหาหนทางแก้ปัญหานานาประการให้แก่ราษฎรของพระองค์ได้

ทรงสอนว่า เวลาไปซื้อผ้าไหมให้ดูความเป็นอยู่ของเขาด้วย ดูว่าเขารับประทานอะไร เขามีข้าวอยู่ในบ้านไหม มีมากมีน้อยแค่ไหน ดูว่าเขาหามาได้วันหนึ่งแล้วรับประทานหมดไปวันหนึ่งหรือเปล่า มีเก็บมีเหลือไหม

และเมื่อทรงทราบปัญหาของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจ็บไข้ไม่สบาย ไม่มีเงินให้ลูกเรียนหนังสือ ทำนาทำไร่ไม่ได้ผล ก็โปรดฯให้ขยายคณะซื้อผ้าไหมให้มีคนเพิ่มมากขึ้น

คือมีหมอไปด้วย มียาไปด้วยจำนวนหนึ่ง จากรถคันหนึ่งกลายเป็นรถ 2 คัน 3 คัน ต่อมาก็มีนักเกษตรในพระองค์ที่จบปริญญาด้านเกษตรพืชไร่ สาขาต่างๆ เพื่อให้ความรู้และแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน ลูกหลานครอบครัวใดเรียนดีแต่ยากจน ก็ทรงสนับสนุนให้ทุนการศึกษา

ส่วนการตั้งราคาผ้าไหมให้ชาวบ้านนั้นทรงแนะให้ตั้งราคาที่ร้านผ้าไหมขายให้คนซื้อเพราะแสดงว่าเป็นราคาที่ร้านค้าบวกกำไรไว้แล้วชาวบ้านก็จะได้ราคาเดียวกับร้านค้า

โปรดฯ ให้ตั้งราคาผ้าไหมให้ชาวบ้านอย่างสมเหตุสมผล แต่ไม่ให้ตั้งราคาขายผ้าไหมแพงเกินควร เพราะไม่ได้ทรงทำธุรกิจ ทรงหวังให้คนไทยทุกคนมีโอกาสใช้ผ้าไหมไทย

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์เล่าจากประสบการณ์ที่ได้จากการออกร้านขายผ้าไหมศิลปาชีพตามงานต่างๆ มาเป็นเวลานานว่า

เป็นที่น่าปลื้มใจคือ มีหลายคนบอกว่าอยากร่วมถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล แต่ไม่มีเงินมาก ได้ซื้อผ้าไหมศิลปาชีพไปใส่ ก็ถือว่าโดยเสด็จพระราชกุศลเหมือนกัน

ผ้าไหมสายใยแห่งความผูกพัน

คนไทยหลายคนอาจไม่ทราบว่า เมื่อเริ่มแรกที่ทรงตั้งโครงการ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตรวจตรา ผ้าไหมและงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ด้วยพระองค์เองทุกชิ้น ทุกผืนมาเป็นระยะเวลายาวนาน

และตลอดเวลายาวนานนั้นมีพระอาการ แพ้ฝุ่นที่สะสมอยู่ในผืนผ้า แต่ก็ทรงอุตสาหะและทรงอดทนที่จะ ทรงงานเพื่อราษฎรของพระองค์ตลอดมา

และเมื่อใดทรงพบปัญหา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็จะพระราชทานแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาทุกครั้งไป

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์เล่าว่า

ปัญหาของผ้าไหมไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากเรื่องคุณภาพของเส้นไหม แต่ก่อนชาวบ้านปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ซึ่งเป็นไหมพันธุ์ไทยแท้ ๆ กันเองไม่มีปัญหา

มาเริ่มมีปัญหาเมื่อมีคนนำเส้นไหมเข้าไปขายให้ชาวบ้าน ซึ่งแต่ก่อนชาวบ้านที่ไม่ได้เลี้ยงไหมเอง จะไปขอซื้อไหมจากบ้านที่เลี้ยงไหมอย่างเดียว แต่ไม่ได้ทอผ้า เพราะว่าแก่แล้ว ทอผ้าไม่ไหว โดยวิธีนี้ชาวบ้านก็ได้ช่วยเหลือจุนเจือกันเองในหมู่บ้านเดียวกัน

แต่เส้นไหมที่พ่อค้านำเข้าไปขาย ไม่ใช่ไหมพันธุ์พื้นเมืองเหมือนก่อน แต่เป็นไหมพันธุ์ผสม หรือไหมก็เป็นไหมที่ลักลอบนำเข้ามาจากชายแดน

หากเป็นไหมพันธุ์ผสมคุณภาพดียังไม่เป็นไร แต่ส่วนใหญ่พ่อค้าจะนำไหมพันธุ์ผสมที่คุณภาพไม่ดีไปขาย

พ่อค้าจะบอกให้ชาวบ้านเอาเส้นไหมไว้ก่อน แล้วบอกว่าพอถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะมีงานผ้าไหมที่พระตำหนักภูพานฯ พอชาวบ้านขายผ้าไหมให้ พระราชินีได้ ก็จะมาเก็บเงิน

แต่เมื่อคุณภาพของผ้าไหมเปลี่ยน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ก็ไม่รับซื้อ

ชาวบ้านก็ร้องห่มร้องไห้ มาสารภาพความจริงให้ฟัง และบอกว่าจะเอาเงินไปใช้หนี้ แต่เราก็ต้องใจแข็ง ให้ไปเฉพาะค่ารถ แล้วก็บอกว่าอย่าทำอย่างนี้อีก ให้นำผ้าชิ้นนั้นกลับไปให้พ่อค้าก็แล้วกัน พอปีต่อไปก็ดีขึ้น

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้เนื้อผ้าไหมแตกต่างไปจากเดิมนั้น ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์เล่าว่าเกิดจากกรรมวิธีในการ สาวไหม

เมื่อก่อนชาวบ้านจะสาวไหมลงกระบุง สาวออกมาก็จะได้ไหมเส้นกลม ๆ หยิกๆ ชาวบ้านจะเอาทรายหรือก้อนกรวดใส่ลงไปทีละกำมือ เพื่อไม่ให้เส้นไหมพันกัน สาวไหมแล้วก็ใส่ทรายสลับกันไปเรื่อย ๆ จากนั้นจึงจะนำไหมที่สาวได้มาใส่ถุง เพื่อทำเป็นไจไหม

แต่สมัยใหม่ สาวไหมปุ๊บเอาเข้าวงล้อเลย ไม่ได้ลงกระบุงก่อนเส้นไหมเลยแบนเรียบ ไม่กลมเหมือนเดิม เพราะเส้นไหมโดนกดทับกัน ทำให้เนื้อผ้าไม่เหมือนก่อน

เมื่อไหมเกิดปัญหา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถก็มีพระราชดำริว่าน่าจะมีสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องหม่อนไหม เพื่อสร้างมาตรฐานให้ผ้าไหมไทย รวมถึงอนุรักษ์และดูแลไม่ให้ไหมพันธุ์ไทยแท้สูญหายไป

และยังเป็นการยกระดับคุณภาพผ้าไหมไทยแต่ละประเภท เพราะจะทำให้ทราบถึงที่มาของไหมแต่ละชนิด

จากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถจึงได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2547

หน้าที่หลักของสถาบันก็คือ การรักษาพันธุ์ไหมและพัฒนาพันธุ์หม่อนให้มีคุณภาพดีขึ้น และกระจายไหมพันธุ์ไทยแท้ให้ชาวบ้าน รวมถึงแยกประเภทของผ้าไหม ตามคุณลักษณะของไหมและกระบวนการผลิต เพื่อผู้ซื้อจะได้เลือกซื้อตามความพอใจ

ผู้อำนวยการสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พีระพงศ์ เชาน์เสฎฐกุล เล่าว่า ความจริงชาวบ้านไทยรู้จักวิธีการพัฒนาพันธุ์ไหมมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยนำไหมจากหมู่บ้านหนึ่งไปผสมกับพันธุ์ไหมของอีกหมู่บ้านเพื่อให้ไหมรุ่นต่อมามีคุณภาพที่ดีขึ้น

ปัญหาคือสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเอื้อต่อการฟักเป็นตัวของหนอนไหม พอหนอนไหมในกลุ่มเดียวกันฟักออกมา ก็มีการผสมกันเองอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณภาพของสายพันธุ์ด้อยลงไป

สถาบันฯ จึงเข้ามาแก้ปัญหาโดยพยายามรักษาพันธุ์ไหมไทยชนิดต่างๆไว้ เวลาจะเลี้ยงในรอบใหม่ ก็มารับไข่ไหมจากสถาบันฯ ไปใหม่ วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาความด้อยของสายพันธุ์ที่เกิดการผสมกันเองของหนอนไหมในกลุ่มเดียวกันได้

โดยชาวบ้านสามารถขอรับไข่ไหมจากสถาบันฯ ซึ่งมีหน่วยงานกระจายอยู่ใน 24 จังหวัด ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ได้

สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ยังมีหน้าที่ดูแลเรื่อง ตรานกยูงซึ่งเป็นตราที่ขอพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงวัสดุ และกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันของผ้าไหมแต่ละชนิด

สีของ ตรานกยูงที่แตกต่างกัน จะบ่งบอกชนิดของเส้นไหม การสาวไหม การทอ ไปจนถึงขึ้นตอนการย้อม เพื่อให้ผู้ซื้อมั่นใจว่าซื้อผ้าไหมได้ตรงตามวัตถุประสงค์และยังสร้างมาตรฐานให้ผ้าไหมไทย

สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ คิดค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนเพียง 500 บาท ต่อความยาวของผ้า 1 พันเมตร และยังอนุญาตชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันทอผ้าไหม ลงทะเบียนร่วมกันได้

สำหรับ ตรานกยูงนั้นจะติดอยู่ที่ผ้าไหมทุกเมตร โดยก่อนจะมีการให้ ตรานกยูงสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จะเข้าไปตรวจสอบการทอผ้าไหมทุกกระบวนการผลิต และพิจารณาว่าผ้าที่ทอสำเร็จนั้นเข้าข่ายการใช้ ตรานกยูงสีใดในจำนวน ตรานกยูง”4 สี

หน่วยงานไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน จะได้ประโยชน์จากมาตรฐานที่ชัดเจนนี้ แม้แต่สมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ก็ต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อขอรับ ตรานกยูงจากสถาบันฯ เช่นเดียวกัน

ผ้าไหม…เรื่องของ สายใยที่ไม่สิ้นสุด

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ยังเล่าว่า เส้นใยของผ้าไหมยังช่วยกระชับตวามสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้น จากเดิมที่ผู้ชายเห็นว่างานเลี้ยงไหมเป็นของผู้หญิง แต่มาผู้ชายเริ่มหันมาช่วยรดน้ำพรวนดินต้นหม่อน ช่วยภรรยาเก็บใบหม่อน ล้างใบหม่อน ช่วยหั่นใบหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม

ขณะนี้ผู้ชายบางครอบครัวลงมือ มัดหมี่เอง และผู้ชายบางบ้านทอผ้าเองก็มี สุขอนามัยในครอบครัวก็ดีขึ้น เพราะไหมชอบความสะอาด มีแมลงวันไม่ได้ เพราะมีเมื่อไหร่ตายยกกระด้ง แล้วไหมแพ้ควันบุหรี่ โดนควันบุหรี่ไหมก็ตาย ผู้ชายบางบ้านจึงเลิกสูบบุหรี่ไปเลยก็มี

ฉะนั้นเวลามีงานผ้าไหมที่พระตำหนักภูพานฯ ชาวบ้านที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณจึงเก็บผ้าไว้ไม่ยอมขายให้ใคร แม้เราจะบอกให้เขาขายเถอะ ถ้าขายแล้วได้ราคาดี แต่เขาก็อยากรอขาย พระราชินี อยากให้มูลนิธิฯของ พระราชินีได้ผ้าชิ้นที่ดี ๆไป.

นำมาจาก www.chaoprayanews.com/wp-




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น