วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บทบาททางการเมืองของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน หลังสิ้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์



บางส่วนจาก ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม ๒๕๕๕ เรื่อง คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระบอบใหม่ พ.ศ. ๒๔๗๘-๙๔ : ที่มา แบบแผน และการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

..............................................




การปฏิวัติสยามของคณะราษฎร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย มาสู่ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ถูกจำกัดพระราชอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นความกล้าหาญและคุณูปการอันใหญ่หลวงของคณะราษฎรที่ได้วางรากฐานการปกครองของประเทศชาติด้วยหลักวิชาที่แน่นอน โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดในการปกครอง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ระบุอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร รวมถึงได้กำหนดสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจแทนราษฎรได้แก่ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล

อย่างไรก็ตามจากการจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ กลับก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ให้แก่คณะราษฎรว่า จะจัดวางบทบาทและหน้าที่ขององค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยึดโยงกับราษฎรที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในระบอบใหม่อย่างไร เนื่องจากสิ่งนี้ไม่เคยมีมาก่อนในสยาม ขณะเดียวกันบทบาทและหน้าที่ขององค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดเป็นลายลักษณ์ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีบทบาทบางอย่างที่เป็นขนบประเพณี อาทิธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับอำนาจการเมืองอื่นๆ ซึ่งหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎรต้องรับภาระหลักในการแสวงหาบทบาทอันเหมาะสมของสถาบันและองค์พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

แม้ว่าในระยะแรกคณะราษฎรจะพยายามกำหนดบทบาทของสถาบันและองค์พระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕) ที่เพิ่มพระราชอำนาจบางส่วนให้แก่พระมหากษัตริย์ แต่จากความขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ ๗ กับคณะราษฎรที่จบลงด้วยการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ ๗ ย่อมสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัชกาลที่ ๗ ในการปรับตัวเข้าสู่ระบอบใหม่ ตลอดจนความไม่ราบรื่นในการแสวงหาบทบาทของสถาบันและองค์พระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ



ดังนั้นคณะราษฎรจึงต้องเริ่มต้นแสวงหาบทบาทดังกล่าวใหม่อีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แต่เนื่องจากขณะนั้นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์ ทางคณะราษฎรจึงตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่ปฏิบัติพระราชกิจในพระบรมนามาภิไธยพระมหากษัตริย์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คณะผู้สำเร็จราชการฯ เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของสถาบันพระมหากษัตริย์ และส่งผลให้คณะผู้สำเร็จราชการฯได้มีส่วนร่วมกับชนชั้นนำระบอบใหม่แสวงหาบทบาทที่เหมาะสมของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เกือบตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันรวมระยะเวลาเกือบ ๑๖ ปี

ทั้งนี้ในการศึกษาบทบาทของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงหลังการปฏิวัติสยาม อาจกล่าวได้ว่ามีงานวิชาการที่ศึกษาประเด็นนี้น้อยมาก โดยงานที่ศึกษาพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญของ ธงทอง จันทรางศุ เสนอว่าพระราชอำนาจในช่วงที่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีลักษณะไม่แน่นอนตายตัว รวมถึงไม่มีบรรทัดฐานที่มั่นคง เนื่องจากพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงบริหารพระราชภาระด้วยพระองค์เองและมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองบ่อยครั้ง ขณะที่งานของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้พิจารณาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในฐานะสถาบันการเมืองของระบอบใหม่ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๘ ว่ามีส่วนเกื้อหนุนให้ระบอบใหม่มีความมั่นคงมากขึ้น





ส่วนงาน ๒ ชิ้นของ กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร ได้ศึกษาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในฐานะตัวแทนอย่างเป็นทางการของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ ๘ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของคณะราษฎร โดยใช้เอกสารการทูตร่วมสมัยบรรยายความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลคณะราษฎร แต่งานที่โดดเด่นที่สุดคือ งานของ ณัฐพล ใจจริง ที่ศึกษาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์/คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในฐานะสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ ว่ามีปฏิสัมพันธ์กับสถาบันการเมืองต่างๆ ในระบอบใหม่อย่างไร และปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบอบการเมืองอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาของนักวิชาการข้างต้นกลับมีข้อจำกัดคือ การไม่สามารถเข้าถึงเอกสารชั้นต้นของไทยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาจะพยายามรวบรวมเอกสารชั้นต้นที่กระจัดกระจายทั้งจากแหล่งต่างๆ อาทิ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (หจช.) ห้องสมุดสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และห้องสมุดสภา มาช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ของนักวิชาการข้างต้นให้มีความกระจ่างชัดมากขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาที่มา บทบาท และการปรับตัวของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระบอบใหม่ อันจะทำให้เข้าใจประสบการณ์ทางการเมืองของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นสถาบันการเมืองที่เกิดขึ้นพร้อมกับระบอบใหม่ เพื่อทำความเข้าใจสถานะและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ





ในส่วนขอบเขตของช่วงเวลาในการศึกษาครั้งนี้คือ ปี พ.ศ. ๒๔๗๘-๙๔ อันเป็นช่วงเวลาที่มีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯ หรือผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยปี พ.ศ. ๒๔๗๘ คือปีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ส่วนปี พ.ศ. ๒๔๙๔ คือปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จนิวัตและประทับในประเทศไทยถาวร อันยุติบทบาทของผู้สำเร็จราชการฯ โดยสมมติฐานของการศึกษาครั้งนี้คือ



๑. บทบาทและสถานะของคณะผู้สำเร็จราชการฯ หรือผู้สำเร็จราชการฯ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามเงื่อนไขทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย และประสบการณ์ทางการเมืองของผู้สำเร็จราชการฯ และ



๒. คณะผู้สำเร็จราชการฯ หรือผู้สำเร็จราชการมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดแบบแผนบางอย่างเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญขึ้น





บทความชิ้นนี้ได้พยายามเผยให้เห็นที่มา บทบาท และการปรับตัวของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กับการเมืองไทย โดยในช่วง พ.ศ. ๒๔๗๘-๙๐ คณะผู้สำเร็จราชการฯ เป็นสถาบันการเมืองที่อยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยที่ผูกพันกับรัฐธรรมนูญและประชาชน รวมถึงมีสถานะเหนือการเมืองอย่างชัดเจน อันเป็นแบบแผนของสถาบันพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่คณะผู้สำเร็จราชการฯ และคณะราษฎรร่วมกันกำหนดขึ้น



แต่อย่างไรก็ตามแบบแผนดังกล่าวกลับอันตรธานไป เมื่อเครือข่ายสถาบันกษัตริย์หลังการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้ฟื้นฟูพระราชอำนาจอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งได้ปรับปรุงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ให้อยู่ใต้การควบคุมของกลุ่มกษัตริย์นิยม โดยเชื่อมโยงตำแหน่งนี้กับอภิรัฐมนตรีหรือองคมนตรี ดังนั้นผู้สำเร็จราชการฯ ในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๐-๙๔ จึงกลายเป็นตัวแทนที่โดดเด่นที่สุดของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ รวมถึงแสดงบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจน ซึ่งขัดแย้งกับหลักการจำกัดอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ของคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ตลอดจนนำไปสู่ความขัดแย้งกับกลุ่มจอมพล ป. และสิ้นสุดด้วยการทำรัฐประหารของกลุ่มจอมพล ป. ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เพื่อจำกัดอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อีกครั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕


อย่างไรก็ตามการจำกัดอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์หลังการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๔ กลับเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียง ๓ เดือน เนื่องจากกลุ่มกษัตริย์นิยมต่อรองกับกลุ่มจอมพล ป. จนสามารถนำหลักการบางอย่างในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๒ มาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้สำเร็จ ส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นรัฐธรรมนูญที่มีแนวคิดของกลุ่มนั้นแอบแฝง โดยยังคงมีตำแหน่งองคมนตรี รวมถึงการตั้งผู้สำเร็จราชการฯ ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มกษัตริย์นิยม อันสะท้อนถึงพัฒนาการของการปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ จนถึงปัจจุบัน ที่สถานะและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่หวนกลับไปหาแบบแผนที่ร่วมกันกำหนดโดยคณะราษฎรและคณะผู้สำเร็จราชการฯ ในช่วงก่อนการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐


หลักฐานยืนยันที่ชัดเจนคือ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๒ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๑๑ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๑๗ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๑ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ และฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๐ ล้วนกำหนดให้คณะองคมนตรีมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงตั้ง ตลอดจนให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ชั่วคราวในระหว่างที่ยังไม่สามารถตั้งผู้สำเร็จราชการฯ




http://www.matichon.co.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น