ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
เปิดพื้นที่แก้มลิง2ล้านไร่ป้องน้ำท่วมกทม.
ผ่าแผนยุทธศาสตร์บรรเทาอุทกภัย เปิดพื้นที่แก้มลิง 2 ล้านไร่ รับน้ำท่วม ปกป้องพื้นที่กทม.ปริมณฑล
อนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) ได้จัดทำแผนงานหลัก (Back bone)และโครงการที่จะต้องจัดทำตามยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบบูรณาการและยั่งยืน เพื่อเสนอกนย.โดยจะมีหลายส่วนงาน"กรุงเทพธุรกิจ"เสนอเป็นตอนๆ
การจัดทำแก้มลิงรับน้ำ ปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือนครสวรรค์และเหนืออยุธยา เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราวประมาณ 6,000 ถึง 10,000 ล้าน ลบ.ม.รวมทั้งปรับปรุงให้สามารถเพิ่มผลิตผลด้านเกษตรกรรม ประมง ฯลฯ งบดำเนินการ 60,000 ล้านบาท
1. พื้นที่ดำเนินการ คือ พื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่น้ำท่วมถึง (floodplain)พื้นที่ประมาณ 2,000,000 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ที่ตั้งอยู่เหนือนครสวรรค์ ประมาณ 1,000,000 ไร่และพื้นที่ที่ตั้งอยู่เหนืออยุธยาประมาณ 1,000,000 ไร่ ที่จะนำมาปรับปรุงเพื่อใช้เก็บกักปริมาณน้ำหลาก ส่วนที่เกี่ยวขีดความสามารถของแม่น้ำไว้เป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะระบายกลับสู่แม่น้ำภายหลัง ดังนี้
1.1 พื้นที่เหนือนครสวรรค์พื้นที่ประมาณ 1,000,000 ไร่ ประกอบด้วย
(1) พื้นที่ระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่ถนนเลียบแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก ถึง ถนนเลียบแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย อำเภอเมืองอำเภอชุมแสง อำเภอเก้าเลี้ยว และอำเภอท่าตะโก ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าบัวและอื่นๆ
(2) พื้นที่ระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านในเขตจังหวัดพิจิตร ตั้งแต่ถนนนครสวรรค์-พิษณุโลกถึงถนนเลียบแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย อำเภอบางมูลนากอำเภอตะพานหิน อำเภอเมือง อำเภอโพทะเล อำเภอบึงนาราง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอสามง่าม และอำเภอวชิรบารมี ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดงเศรษฐีและอื่นๆ
(3) พื้นที่ระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านในเขตจังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่ถนนนครสวรรค์-พิษณุโลกถึงถนนเลียบแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอพรหมพิราม และอำเภอบางระกำ ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล ฯลฯ)
(4) พื้นที่ระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านในเขตจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดอุตรดิตถ์ ประกอบด้วย อำเภอพิชัย อำเภอตรอน อำเภอลับแล และอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอกงไกรลาศ อำเภอคีรีมาศ อำเภอเมือง อำเภอศรีสำโรง อำเภอสวรรคโลกอำเภอศรีนคร และอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดยใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรกรรม (บริเวณอำเภอศรีสำโรง อำเภอสวรรคโลก อำเภอพิชัย ฯลฯ)
1.2 พื้นที่เหนืออยุธยาพื้นที่ประมาณ 1,000,000 ไร่ ประกอบด้วย
(1) พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราชของกรมชลประทาน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง และอยุธยา
(2) พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมของกรมชลประทาน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดลพบุรี สระบุรี และอยุธยา
(3) พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแคบางส่วน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดลพบุรี
(4) พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสระบุรี และอยุธยา
(5) พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุบางส่วน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี
(6) พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และอยุธยา
(7) พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และอยุธยา
(8) พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอยุธยา และสุพรรณบุรี
(9) พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี
(10) พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอยุธยา
(11) พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอยุธยา และสุพรรณบุรี
(12) พื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษาบางเลน ซึ่งต้องอยู่ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีและนครปฐม
1.3 งานที่ต้องดำเนินการในพื้นที่เหนือนครสวรรค์และเหนืออยุธยา ประกอบด้วย
(1) ปรับปรุงคันปิดล้อมพื้นที่เกษตรชลประทาน รวมทั้ง ประตูน้ำ คลองระบายน้ำ เส้นทางน้ำหลาก สถานีสูบน้ำออก ให้พร้อมใช้งานในการควบคุมการนำน้ำเข้า การกักเก็บน้ำและการระบายน้ำ และจัดทำสถานีสูบน้ำเข้าคลองชลประทานให้พร้อมใช้งานในการส่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรม ดังตัวอย่างที่ได้ดำเนินการในพื้นที่บางบาล
(2) ประชุมชี้แจงราษฎร / เกษตรกรให้เกิดความเข้าใจ และเห็นถึงความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ดังกล่าวในการเก็บกักน้ำ
(3) กำหนดมาตรการเยียวยา / ช่วยเหลือระหว่างน้ำท่วม / ฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ที่ชัดเจนตามความเป็นจริงและทันกาล และประกาศให้ทราบตั้งแต่เริ่มแรก
(4) กำหนดเกณฑ์การผันน้ำและเวลาที่จะผันน้ำเข้าไปในพื้นที่ / การแจ้งข่าว / การติดตาม/ การประสานงาน / การให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน
(5) ปรับปรุงระบบพื้นที่ปิดล้อมชุมชนในพื้นที่ในข้อ 1) ให้พร้อมใช้งาน (คัน ประตูน้ำสถานีสูบน้ำ คลองระบายน้ำ ท่อ ฯลฯ) โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับจังหวัด เทศบาล และ อบต. ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
(6) กำหนดระดับและปรับปรุงคันป้องกันพื้นที่เกษตรกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งอาคารปากคลองแยก และคลองระบายน้ำ (รับน้ำจาก ปตร. ปากคลอง) ที่อยู่นอกพื้นที่ในข้อ 1) ให้ได้ตามที่กำหนดและพร้อมใช้งาน โดยมอบหมายให้ กรมชลประทาน ประสานกับจังหวัด อบจ. และ อบต. ดำเนินการ และห้ามมีการเสริมคันชั่วคราว (เช่นคันดิน/กระสอบทราย) เพิ่มเติมก่อนได้รับอนุญาต
2. หน่วยงานดำเนินการหน่วยงานดำเนินการ คือ กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (เช่น กรมชลประทาน) ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (เช่น จังหวัด) ในกระทรวงมหาดไทย กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระทรวงคมนาคม รวมทั้งองค์กรเอกชน และมูลนิธิต่างๆ เป็นต้น
3. ระยะเวลาดำเนินการจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป ใช้เวลาดำเนินการ 3 ถึง 5 ปี
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น