"โจรปล้น 10 ครั้งไม่เท่ากับไฟไหม้ครั้งเดียว" คำกล่าวนี้คงไม่ผิดนัก เพราะจากข่าวไฟไหม้ที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อย ๆ ก็ทำให้เราเห็นภาพของผลกระทบจากไฟไหม้ชัดเจนว่า มันได้ทำลายทรัพย์สินมหาศาลเพียงใด และบางเหตุการณ์ก็ได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก
และเมื่อพูดถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากที่สุดครั้งหนึ่ง หลายคนคงนึกถึงเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว อัคคีภัยครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายมหาศาล เพราะเพลิงได้ย่างสดคนงานโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์จนเสียชีวิตถึง 188 คน และมีผู้บาดเจ็บเกือบ 500 คน นับเป็นตำนานไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่คนไม่เคยลืมเลือน
ย้อนกลับไปเมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2536 ณ บริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานตุ๊กตาขนาดใหญ่ ประกอบด้วยอาคาร 5 ชั้น จำนวน 4 อาคาร ตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ขณะที่คนงานกำลังทำงานอยู่ภายในอาคาร ได้เกิดเพลิงไหม้ชั้นล่างของอาคาร 1 ทำให้คนงานกว่า 1,400 ชีวิต พยายามวิ่งหนีตายออกจากอาคารอย่างอลหม่าน แต่ทว่า ไฟกลับลุกลามอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสถานที่เกิดเหตุเป็นโรงงานตุ๊กตาผ้าที่มีเศษผ้า และวัสดุไวไฟอยู่เป็นจำนวนมาก
ในขณะที่หลายร้อยชีวิตกำลังหาทางเอาตัวรอดจากควันไฟที่ลุกโชนอยู่นั้น เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นซ้ำสอง เมื่อเพลิงที่ลุกไหม้ได้เพียง 15 นาที ได้ทำให้ตัวอาคารถล่มลงมาในพริบตา ฝังคนงานที่กำลังหนีตายไว้ใต้ซากปรักหักพังที่ถูกไฟไหม้ พนักงานดับเพลิงต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงจึงจะสามารถควบคุมเพลิงได้ในที่สุด ก่อนที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยจะเร่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในซากอาคาร พร้อมกับลำเลียงร่างของผู้เสียชีวิตออกมา
ที่น่าเศร้าคือ โศกนาฏกรรมครั้งนี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนมากถึง 188 ราย ขณะที่มีผู้บาดเจ็บถึง 469 ราย ซึ่งหลายรายได้รับบาดเจ็บสาหัส บางรายต้องกลายเป็นคนพิการ หรือเป็นอัมพาตตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังมีเด็ก ๆ อีกกว่า 50-60 คน ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาในสังคม
สุดท้ายแล้ว เจ้าหน้าที่ได้สืบสวนสาเหตุของเพลิงมรณะครั้งนี้ และพบว่า เกิดจากความประมาทของพนักงานที่สูบบุหรี่ในโรงงาน ทำให้เกิดไฟลุกไหม้วัสดุที่ใช้ผลิตตุ๊กตา นอกจากนั้น เมื่อตรวจสอบในเชิงลึก กลับพบว่า โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยหลายประการ ทั้งไม่มีบันไดหนีไฟ ประตูทางออกฉุกเฉินกว้างไม่ได้มาตรฐาน และยังมีจำนวนน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนของพนักงาน รวมทั้งโรงงานไม่เคยซักซ้อมการหนีไฟอย่างเป็นระบบให้กับพนักงาน
ขณะเดียวกันก็มีการวิเคราะห์กันด้วยว่า สาเหตุที่อาคารพังถล่มลงมาอย่างรวดเร็วหลังเกิดเพลิงไหม้เพียง 15 นาที เป็นเพราะโครงสร้างของอาคารไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากโรงงานแห่งนี้ต้องการประหยัดต้นทุน จึงก่อสร้างด้วยโครงเหล็กสำเร็จรูป ซึ่งไม่ทนไฟ
เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนั้นได้ผลักดันให้ภาคแรงงาน และพนักงานจากโรงงานหลาย ๆ แห่ง ผนึกกำลังกันออกมารณรงค์และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยภายในโรงงานมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดซ้ำรอยโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์อีก
จากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ก็ทำให้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2540 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่เกิดเพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เป็น "วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ" เพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมดังกล่าว และย้ำเตือนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันอันตราย และการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ
โศกนาฏกรรมเพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จึงกลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการผลักดันเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยของพนักงานในสังคม ซึ่งต้องแลกมาด้วยหลายร้อยชีวิต กว่าที่สังคมจะตระหนักและตื่นตัว...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น