ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ Thailand > เรื่องทั่วๆไปที่คนไทยควรรู้ >
วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555
คนจีนโพ้นทะเลในไทยอยู่ตรงไหนในโลก?
ชาวจีนโพ้นทะเล หรือ หัวเฉียว (華僑) คือคนเชื้อสายจีนที่อพยพไปอยู่นอกประเทศจีนหลายระลอกเพื่อหนีภัยสงครามและความอดอยาก โดยมากไปเป็นกุลีแรงงานตามท่าเรือ โดยยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของเชื้อชาติตนไว้ เมื่อชาวจีนโพ้นทะเลไปอาศัยอยู่ประเทศใดแล้ว ก็มักจะเป็นชนชั้นที่ทำการค้าแลกเปลี่ยน ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเป็นลำดับ และรวมตัวกันเป็นชุมชนชาวจีนในแต่ละประเทศขึ้นมา ดังปรากฏว่ามีไชน่าทาวน์ตามเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วโลก
ประเทศไทยก็เป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งในการอพยพนั้น เนื่องจากคำร่ำลือปากต่อปากว่า เมืองสยามหรือเซี่ยมล้อ เป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ โยนเมล็ดพืชลงไปก็ปลูกขึ้นเป็นต้น ชาวจีนจึงทยอยอพยพมาทำมาหากินในดินแดนนี้ตั้งแต่สมัยนครรัฐสุโขทัยและอาณาจักรอยุธยา จนมีกองอาสาจีนและกุฎีจีน ขึ้นตรงกับกรมท่าซ้าย มีหัวหน้ากินตำแหน่งขุนนางเป็นที่พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ควบคุมการค้าสำเภาและการติดต่อกับจีน
แผนที่ของ The Economist แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีชาวจีนโพ้นทะเลจำนวน 7.06 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากอินโดนีเซียที่มี 7.67 ล้านคน แต่หากพิจารณาตามสัดส่วนประชากรแล้ว คนจีนในเมืองไทยคิดเป็นประมาณ 10% ของประชากร ส่วนคนจีนในอินโดนีเซียมีเพียง 3% ของประชากร ถือได้ว่าไทยมีสัดส่วนชาวจีนที่สูงที่สุดเป็นอันดับสามในโลกนอกจากดินแดนที่เป็นของชาวจีน (แผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) โดยเป็นรองเพียงสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งแม้จะมีจำนวนคนจีนน้อยกว่าไทย แต่ก็มีประชากรน้อยกว่าด้วยจึงมีคนจีนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า
กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลไทยจึงมีบทบาททางสังคมและวัฒนธรรมเป็นอันมาก ไม่ใช่เพียงเศรษฐกิจเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็เป็นลูกครึ่งจีน (พระนามเดิมคือแต้เจียว ราชสำนักชิงขนานพระนามว่าแต้อ๋อง-พระเจ้าแผ่นดินแซ่แต้) แม้กระทั่งพระราชวงศ์จักรีเองก็ยังยอมรับนับถือวัฒนธรรมจีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชประเพณี ดังปรากฏพระราชพิธีสังเวยพระป้ายสถิตวิญญาณบุรพกษัตริย์ ณ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญและพระที่นั่งอัมพรสถานทุกวันตรุษจีน
ผู้นำทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของไทยหลายท่านก็เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน เช่น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร(แซ่คู) สนธิ ลิ้มทองกุล(แซ่ลิ้ม) สุทธิชัย หยุ่น(แซ่หยุ่นหรือหลุน) ชิน โสภณพนิช(แซ่ตั้ง) ธนินท์ เจียรวนนท์ (แซ่เจี๋ย) และชนชั้นกลางทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นตลาดหลักของการบริโภคส่วนใหญ่ก็มีเชื้อสายจีน ความเป็นจีนและความเป็นไทย จึงผสานกลมกลืนกันอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันอย่างแยกไม่ออก
การเปิดรับชาวจีนโพ้นทะเลของแผ่นดินสยาม สร้างความเจริญพัฒนาให้ชาวไทยไปพร้อมกับชาวจีน ส่งผลถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีน-ไทยที่ยั่งยืนนาน
ไม่แน่ว่าในอนาคต เมื่อชาวพม่า เขมร ลาว แรงงานอพยพในปัจจุบัน หรือ ชาวตะวันตกที่เข้ามาแต่งงานกับสาวไทย ผ่านไปหลายชั่วรุ่น วัฒนธรรมการใช้ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นอาจจะกลืนเข้าเป็นเนื้อเดียวกับวัฒนธรรมไทยเช่นเดียวกับวัฒนธรรมจีน
ที่มา : มติชนออนไลน์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น